sha-รพ.หนองจิก
โรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี

กว่าจะมีวันนี้


กว่าจะมีวันนี้

อังคณา     วังทอง

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

Ward  งานประชาสัมพันธ์  คัดกรองผู้ป่วย  และงานเยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต

โรงพยาบาลหนองจิก  จังหวัดปัตตานี

 

                การดูแลจิตใจผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งเป็นผู้สูญเสียที่ตกอยู่ในภาวะโศกเศร้าเสียใจ  การรับความทุกข์จากผู้อื่นเข้ามาในห้วงคิดบ่อยครั้งที่ก่อให้เกิดความเครียดและกดดัน แต่ด้วยความเป็นผู้ให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์มุ่งเอาใจเขามาใส่ใจเรา ข้าพเจ้าจึงจัดการตนเองด้วยความมุ่งมั่น เพื่อให้งานและชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีความสุขเพื่อเป็นที่พึ่งพาของ     ผู้เป็นทุกข์ต่อไป

 

เรื่องราวของฉัน...ผ่านวันเวลา

อังคณา     วังทอง

 

ตัวฉัน เรื่องราวในสิ่งที่ฉันมี

                ตัวฉันเกิดจากความรัก ความห่วงใย ความอบอุ่น ความพร้อมของครอบครัว ที่ต้องการมีฉัน เพื่อเป็นสมาชิกในครอบครัว

 

ฉันได้เรียนรู้  กระบวนการเรียนรู้ของฉันผ่านวันเวลา

                ชีวิต จิตใจ ของมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา บริบท สิ่งแวดล้อมรอบข้างและเราสามารถกำหนดมันได้ ถ้าเรายังมีหวัง...

 

ฉันเติบโต  ปรากฏการณ์ที่เข้ามาในชีวิตที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้และเติบโต

                ครอบครัวของฉันมีครบทุกรส (รัก โลภ โกรธ หลง) ทำให้เติบโตท่ามกลางความเข้าใจว่า ความยืดหยุ่น ความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ และสิ่งประกอบเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามไป ทำให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

 

 

จุดเปลี่ยนของฉัน

                ฉันได้เรียนรู้งานมากมาย ล้มลุกคลุกคลานก็มากจนกระทั่งได้เรียนอาชีพพยาบาล ทำให้เข้าใจ เห็นใจ และสามารถหาประสบการณ์ เก็บการเรียนรู้ที่ต้องดูแล รักษา ช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความคิดแตกต่างกัน ความเจ็บปวด และหลากหลายวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี

 

สิ่งที่ฉันภาคภูมิใจ

                ฉันเป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีความแตกต่างกับผู้อื่น แต่การทำงานของดิฉันสามารถช่วยให้ผู้รับบริการมีความสุข สามารถประยุกต์การดูแลที่ดิฉันแนะนำไปใช้กับคนในครอบครัว และกลับมาหาดิฉันพร้อมรอยยิ้ม ความอบอุ่น ความจริงใจที่มีให้กัน

 

บริบทการพัฒนาจิตปัญญา

                1. ดูแลผู้ป่วยเหมือนญาติ  หลักคิดในการทำงานของข้าพเจ้า คือ คิดถึงใจเขาใจเราให้บริการด้วยใจประหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคนในครอบครัว เวลาคัดกรองคนไข้ เราก็จะดูแลเปรียบเสมือนญาติ โดยเฉพาะเวลาคนแก่ ๆ มา เราก็จะประคอง ก็จะไปรับถึงข้างหน้า เปิดประตูรถให้เลยนะคะ เราดูเหมือนว่าเค้าน่ะเป็นเสมือนญาติเรา เวลาเราไปรับบริการที่โรงพยาบาลอื่น เราต้องการ การรับบริการอย่างไร  เวลาคนที่เค้ามาใช้บริการที่เราก็ต้องการเช่นเดียวกับเรา เอาใจเค้ามาใส่ใจเราคะ

                2. พัฒนาศักยภาพตนเอง  การศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าเลือกใช้ในการพัฒนาตนเองเพื่อนำมาสู่การพัฒนางานในการทำงานเยียวยาผู้ป่วย โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบ มีการสูญเสีย โดยรับบทบาทเป็นทีมเยียวยาเข้าไปให้กำลังใจครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบ  ยอมรับว่ากลัวแต่ก็ต้องทำ เพราะเราดูเบื้องต้นแล้ว ด้านจิตใจที่เค้าอึ้ง เค้าอาจมีวิกฤติทางด้านจิตใจ อาจเกิดบาดแผลด้านจิตใจลึกแค่ไหนก็ไม่รู้ เราต้องตามไปที่บ้าน...เราไม่รู้จักทางเราก็ไป ต้องมุ่งมั่นว่าจะไป ไปดูแลเค้าต่อที่บ้านเพราะถ้าเราไม่ไปก็ไม่รู้ว่าใครจะดูแลเค้า

                3. การต่อสู้กับสภาพจิตใจของตัวเอง  บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าต้องเผชิญกับภาวะความกดดันเมื่อได้พบกับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบฯ จนต้องมีการเยียวยาจิตใจเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองด้วย ได้รับการสอนมาว่า เราจะไม่ร้องไห้ต่อหน้าคนไข้ พอเสร็จแล้วก็ไปนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว ทุกครั้งที่ไปเยียวยา เราต้องเรียกทีมเรามาเยียวยาจิตใจตัวเองไปด้วย เพราะว่าหลังเราไปเยียวยาเค้า จิตใจเราก็หดหู่และเศร้าไปตามเค้า ถึงแม้เราไม่รู้ความรู้สึกที่แท้จริงเป็นยังไง แต่เรารับรู้ถึงความรู้สึกได้ตรงนั้น เราก็เรียกน้อง ๆ มาดูแลจิตใจตัวเองเราต้อง Support กันและกัน เนื่องจากต้องดูแลและต้องทำงานอีกนาน ถ้าเราเอาใจตัวเองไม่ได้ ไม่ทำให้จิตใจเข้มแข็ง เราก็จะอยู่ไม่ได้ เราจะช่วยคนไข้ไม่ได้

                4. ความภูมิใจจากการมองเห็นความดี  โรงพยาบาลหนองจิกได้รับเลือกเป็นศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตดีเด่น ชนะเลิศระดับโรงพยาบาลชุมชนในปี พ.ศ.2551 และรางวัลชนะเลิศการพัฒนางานประจำ (Oral Presentation ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2551) ของวิกฤติสุขภาพจิตนานาชาติ และอังคณาได้รับเลือกเป็นเจ้าหน้าที่ดีเด่นของเพื่อนร่วมงานและกลุ่มผู้ได้ผลกระทบฯ ใจจริงตนเองไม่หวังว่าอยากได้ รางวัลอะไรต่าง ๆ แต่พอเราทำแล้ว...ทำให้โอกาสต่าง ๆ ก็เข้ามาโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ  โดยรูปแบบการทำกลุ่มยึดหลักการให้การช่วยเหลือ ให้กำลังลักษณะ Self help group ให้กลุ่มผู้สูญเสียเหมือนกันดูแลกันเอง เพื่อว่าพวกเขาจะได้เข้าใจกันเองได้ดีกว่า และทางบุคลากรสาธารณสุขก็เป็นพี่เลี้ยง

 

วิธีคิดและจุดเปลี่ยน

                1. ความมั่นใจในความตั้งใจของตนเอง  ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำงานทุก ๆ เรื่อง จนบางครั้งมีคนสบประมาทว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ด้วยความมั่นใจในตนเองทำให้สามารถทำงานได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในทุก ๆ งานที่ได้รับมอบหมาย โดยยึดหลักความมั่นใจและมุ่งมั่น ถ้าทุกคนมัวแต่กลัว คนไข้ก็จะไม่มีคนดูแล กลัว ยอมรับว่ากลัว แต่เราต้องชนะความกลัว แล้วเราต้องมองข้างหน้าว่ามีคนไข้รออยู่ ถึงแม้จะเป็นคนไข้เรื้อรังหรือว่าคนไข้ผู้ได้รับผลกระทบหรือคนไข้ทั่วไปก็เถอะ เค้ารอเราอยู่ รอให้เราไปดูแล ให้ไปให้ความรู้ให้ไปให้สุขศึกษา ไม่ใช่ว่างานเยียวยาอย่างเดียวรวมไปถึงงานทั่ว ๆ ไปด้วย เราเน้นรับที่โรงพยาบาลอย่างเดียวก็คงไม่ได้เราต้องเน้นรุกด้วย

                2. การได้รับกำลังใจครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน  สามีและเพื่อนร่วมงานเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ทำงานทุ่มเท ก็เลยบอกแฟนว่าเดี๋ยวค่อย ๆ ทำ แต่ว่าต้องคอยให้กำลังใจให้ด้วยนะ ถ้าคนรอบข้างไม่คอยให้กำลังใจดิฉัน ดิฉันก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ต้องขอบคุณพ่อแม่ด้วยนะคะ ที่คอยสอนดิฉันมาให้เป็นคนที่มีจิตสาธารณะ ให้ชอบการบริการ ขอบคุณแฟนที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดด้วยคะ ที่ให้กำลังใจอย่างเสมอต้น เสมอปลาย

                3. ใช้ศาสนาเพื่อก้าวพ้นความกลัว  การละหมดและสอนหลักศาสนาให้ผู้ป่วยเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างสติ และกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบกับปัญหาที่มากมายในการทำงานในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับความไม่สงบ ความทุกข์กายของผู้ป่วยและความทุกข์ใจของผู้สูญเสีย

 

 

 

ความภาคภูมิใจหรือความประทับใจในการทำงาน

                อย่างแรกประทับใจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ในการบริหารงาน ซึ่งพยายามคัดเลือกบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน เนื่องจากข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่ที่  ER  ประกอบกับช่วงนั้นมีการคัดเลือกพยาบาลประชาสัมพันธ์  ข้าพเจ้าอาสา เนื่องจากชอบงานบริการ คอยดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยผู้สูงอายุ และเด็ก หลาย ๆ คนอาจไม่ชอบงานตรงนี้ เพราะเป็นงานที่ต้องคอยรับอารมณ์ทั้งผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ ข้าพเจ้าทำงานได้ระยะหนึ่ง ได้รับเสียงสะท้อนที่ดีจากชาวบ้านทั้งในโรงพยาบาล และชุมชน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ มีความสุขที่ได้คอยช่วยเหลือ ณ จุดตรงนี้

 

ประสบการณ์การทำงานหรือประสบการณ์ชีวิตที่อยากเปิดเผยให้รู้

                ดิฉันเริ่มปฏิบัติงานด้วยตำแหน่ง จพ.สสช. ที่สถานีอนามัยแห่งหนึ่งในอำเภอปะนาเระ และเป็นแหล่งที่มีผู้ก่อการร้ายมาก แต่ดิฉันสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยดี หลังจาก 1 ปี ข้าพเจ้าก็ย้ายมาอยู่สถานีอนามัยในตัวเมืองปัตตานี ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน ปฏิบัติงานได้ 9 ปี ลาศึกษาต่อหลังจากนั้นก็ย้ายไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลหนองจิก ช่วงแรกลง ER และย้ายไปทำงานจุดประชาสัมพันธ์คัดกรอง พร้อมกับรับงานสิทธิประโยชน์ผู้ป่วย ข้อร้องเรียน งานสุขภาพจิต ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต รับงานพฤติกรรมบริการ งานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ ประกอบกับช่วงนี้กำลังศึกษาต่อคณะพยาบาลศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช

                จากประสบการณ์การทำงานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพบปัญหาอุปสรรค พร้อมความสุขค่อนข้างมาก ดิฉันนำตรงนี้มาพัฒนาตนเอง พัฒนางาน พัฒนาเพื่อนร่วมงาน พัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น ผู้รับบริการมีความสุข พึงพอใจในการมารับบริการที่โรงพยาบาลหนองจิก เจ้าหน้าที่พึงพอใจในการให้บริการอย่างมีศักยภาพและประสิทธิภาพ

 

บทบาทของข้าพเจ้าต่อการพัฒนา

                นำเสนอบทบาทของตนเองที่มีส่วนต่อการพัฒนาจิตของตนเอง และพัฒนางานในโรงพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ไว้ใน 4 ประเด็น ได้แก่

                1. การวิเคราะห์ตัวเอง  เป็นการพิจารณาถึงลักษณะของตนเองซึ่งพบว่าเป็นคนใจร้อน ลุย มีปัญหาจะไม่ปล่อยให้ค้างคาใจต้องลุยเพื่อจัดการให้ปัญหาจบไป หากแต่สังคมไทยไม่ได้มีการยอมรับลักษณะการแก้ปัญหาของข้าพเจ้า ดังนั้นเมื่อได้หันมาพิจารณาลักษณะนิสัยของตนเองกับผลแห่งการกระทำ จึงทำการวิเคราะห์และค้นพบว่า ควรมั่นคง มีสติ รอบคอบ และเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น จากการปรับเปลี่ยนตนเอง พัฒนาสู่การพัฒนาจิตใจและการแสดงออกมาเป็นลำดับ

                2. การดูแลสุขภาพของผู้ป่วย มุ่งการดูแลดุจญาติมิตร เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ดูแลแบบองค์รวม ดังคำกล่าวที่ว่า ดูแลอย่างอ่อนโยน ดุจญาติมิตร สิ่งที่ได้รับคือความชื่นชมและอยากกลับมาใช้บริการอีกครั้งอันเป็นกำลังใจในการทำงานให้ก้าวเดินต่อไปได้

                3. องค์กร การทำงานในโรงพยาบาลมุ่งให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ประสานงาน และสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ผู้ป่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในมิติของการดูแลแบบองค์รวมจากทีมสหสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

                4. รูปแบบการบริการศาสนานำการสาธารณสุข เป็นการประยุกต์การบริการให้เข้ากับศาสนาและวัฒนธรรมโดยให้ความสำคัญกับการสร้างความคุ้นเคยกับชุมชนเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยญาติผู้ป่วย และชุมชน

                กล่าวโดยสรุป การให้ความสำคัญกับการพัฒนา การสื่อสาร และการประสานงาน ดังคำกล่าว การบริการไม่หยุดนิ่ง นวตกรรมเกิดขึ้นเสมอต้องเรียนรู้และประสานงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและบทบาทการทำงานของตนแล้ว ยังได้นำเสนอถึงการนำไปใช้หรือพัฒนาต่อยอดสำหรับบุคคลอื่นว่า การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ สื่อสารให้เกิดความเข้าใจในการทำงาน สื่อสารเพื่อจูงใจด้วยเหตุผล และสื่อสารเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 266614เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2009 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ฝากความคิดถึงล้นเหลือถึงพี่ศรีนะคะ

เจอกันพรุ่งนี้ที่ OM หาดใหญ่ค่ะ

สวัสดีค่ะ แวะมาอ่าน เขียนเก่งจังค่ะ

สวัสดีคะ

น้องอังคณา

เป้นวิธีคิดที่มีประโยชน์มากคะ

และถอดบทเรียนในการ สานต่อไปได้อีกมากมาย

ขอเป็นกำลังใจและอย่าลืม ส่งเรื่องราวดีดี มาลงอีกนะคะ

คิดถึงคะ

เท่าที่ได้ร่วมงานกะพี่เค้ามา..รู้สึกว่าพี่เค้าเป็นคนจริงจังมากในการทำงาน..เป็นขวัญใจของคนไข้..ไม่ว่าจะไปประจำอยู่ที่ไหน..อยากให้พี่เค้าทำงานโดยยึดคนไข้เป็นหลักอย่างนี้ตลอดไป..เพราะบางคนมาทำอาชีพนี้เพราะความโก้หรู..เพราะมีคนให้ความนับถือ.เมื่อมาทำงานจริงกลับแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี ..อยากให้พยาบาลใน 3 จังหวัด ปฏิบัติได้สักครึ่งหนึ่งอย่างพี่เค้าคงดี..เป็นกำลังใจ สู้ ๆ ต่อไปน่ะค่ะ

ยินดีด้วยค่ะกับความสำเร็จทั้งในอาชีพการงานและครอบครัว ร่วมเป็นกำลังจัยค่ะ สู้ สู้ นะค่ะ แล้วเล่าเรื่องดี ดี มาอีกนะคะ คิดถึงมาก .....มากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท