เทคนิคการเขียนกลุ่มตัวอย่างจากประชากรห้องเรียนเดียว


เรียนรู้จากห้องเรียน...เขียนจากความเข้าใจ

          ในการเขียนบทความครั้งนี้  จะขอกล่าวถึงเฉพาะวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในชั้นเรียนนะคะ  เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ดีจะต้องมีลักษณะเหมือนกับประชากร  มีจำนวนพอเหมาะ และทุกหน่วยของประชากรมีโอกาสที่จะถูกสุ่ม  ซึ่งในการทำวิจัยในชั้นเรียนที่มีลักษณะเป็นการวิจัยเชิงทดลองนั้น  ผู้วิจัยนิยมศึกษากับนักเรียนเพียงบางส่วน หรือ    1 - 2  ห้องเรียนเท่านั้น  ส่วนการวิจัยในชั้นเรียนที่มีลักษณะเป็นการวิจัยเชิงสำรวจต้องศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากพอ จึงจะทำให้งานวิจัยเชื่อถือได้  

          ในการวิจัยในชั้นเรียน  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่สอน  ซึ่งอาจจะมีจำนวนเพียงห้องเดียวหรือมากกว่านั้น  ดังนั้นถ้านักเรียนมีมากกว่า  1  ห้อง  ก็ควรจะทำการสุ่ม  เพราะจะทำให้ผลงานวิจัยเป็นที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  แต่ถ้ามีเพียงหนึ่งห้องเรียนเราจะเขียนอย่างไรในกรณีที่งานวิจัยของเรามีวัตถุประสงค์เพื่อการเปรียบเทียบและมีการทดสอบสมมุติฐาน  สำหรับเทคนิคการเขียนและการกำหนดประชากร  และกลุ่มตัวอย่างจากประชากรห้องเรียนเดียวนี้  ผู้เขียนได้เรียนรู้มาจากท่านอาจารย์อนุวัติ  คูณแก้ว ในรายวิชาการวิจัยในชั้นเรียน  ซึ่งมีหลักการเขียนดังนี้

          1.   หลักการกำหนดกลุ่มประชากร   มีดังนี้

                เป็นนักเรียนชั้นใด  เช่น  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  2

                เรียนอยู่ที่ใด  เช่น  โรงเรียนกล้วย  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1

                มีจำนวนเท่าใด  เช่น  มีจำนวน  3  ห้อง  มีนักเรียน  120  คน

          2.   หลักการกำหนดกลุ่มกลุ่มตัวอย่าง   มีดังนี้

                2.1  เป็นนักเรียนชั้นใด   เช่น  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2

                2.2  เรียนอยู่ที่ใด  เช่น   โรงเรียนบ้านกล้วย  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบูรณ์    เขต 1

                2.3  มีจำนวนเท่าใด  เช่น   มีจำนวน  3  ห้อง  มีนักเรียน  120  คน

              สุ่มอย่างไร

                 -  สุ่มโดยวิธีใด  เช่น  โดยการสุ่มอย่างง่าย

                 -  ใช้อะไรเป็นหน่วยในการสุ่ม   เช่น  ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม

                 -  ถ้าสุ่มเป็นกลุ่ม/ห้องเรียน ได้กลุ่มละกี่คน  เช่น  สุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

   โดยวิธีจับฉลากจาก  2  ห้องเรียน  คือ  ห้องเรียนที่ 1  สอนแบบสาธิต  ส่วนห้องเรียนที่  2  สอนแบบปกติ

          3.   ตัวอย่างการเขียน  และการกำหนดประชากร  และกลุ่มตัวอย่าง

                3.1  การวิจัยที่ทำการศึกษากับนักเรียนทั้งหมดในชั้นนั้น ซึ่งมีนักเรียนเพียงห้องเดียว 

                      3.1.1  ถ้าไม่มีการทดสอบสมมุติฐาน  ให้กำหนดประชากรอย่างเดียว 

                      ตัวอย่าง

                      ประชากร   เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  ของโรงเรียนบ้านกล้วย  จังหวัดเพชรบูรณ์ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา  2552  จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน  25   คน

 

                      3.1.2  แต่ถ้ามีการทดสอบสมมุติฐาน  ให้กำหนดทั้งประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                      ประชากร  เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านกล้วย  จังหวัดเพชรบูรณ์  

                      กลุ่มตัวอย่าง  เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  2 โรงเรียนบ้านกล้วย จังหวัดเพชรบูรณ์  ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา  2552  จำนวน  1  ห้องเรียน   มีนักเรียน  25  คน

                      เนื่องจากการทดสอบสมมุติฐานต้องใช้กับกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น   ดังนั้นเพื่อให้ถูกต้องตามหลักการทดสอบสมมุติฐาน  จึงขอเสนอแนวทางการเขียนตามข้อ 3.1.2  ซึ่งแสดงว่า  ผู้วิจัยได้มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง  โดยมีประชากรเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  2  ของโรงเรียนบ้านกล้วย  จังหวัดเพชรบูรณ์  ที่เรียนในภาคเรียนหรือปีการศึกษาใดก็ได้  แล้วผู้วิจัยได้ทำการสุ่มได้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา  2552

                หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณครูทุก ๆ ท่านที่กำลังสนใจหรือกำลังริเริ่มทำวิจัยในชั้นเรียนและที่ไม่ว่าจะกี่ปีการศึกษาก็มีนักเรียนเพียงห้องเดียว (โรงเรียนขนาดเล็ก) เหมือนกับผู้เขียนนะคะ

                                                                                   (อ้างอิงจาก  อนุวัติ คูณแก้ว : 93 - 94)

หมายเลขบันทึก: 267094เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

หากเราได้ประยุกต์ใช้วิจัยเชิงคุณภาพมาใช้ในการวิจัยในชั้นก็น่าจะทำให้งานวิจัยน่าสนใจมีชีวิตมีณภาพมากขึ้นนะครับ

ขอบคุณค่ะคุณจักรกฤษณ์ที่แสดงความคิดเห็น

ใช่ค่ะ ถ้างานวิจัยนั้นถูกออกแบบการวิจัยเป็นอย่างดี

คงจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาการเรียนการสอนไม่น้อยเลยทีเดียว

หากประชากรเรามีเพียงห้องเดียวแต่เราต้องทดสอบสมมติฐานเราควรสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ๆ คือการให้นักเรียนนับตัวเลขก็ได้

สวัสดีค่ะ

.แวะเข้ามาอ่านบันทึก นับว่ามีประโยชน์มากทีเดียวค่ะ ขอบคุณค่ะ

  • รอดูการจัดกระบวนการนะครับ
  • อย่าลืมเอารูปมาให้ดูด้วยนะครับ

ขอบคุณค่ะ เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท