การจัดการปัญหาคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย (ตอนที่1) : 3 องค์ความรู้


 

บทนำ

บทความฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ที่ค้นพบจากการศึกษาวิทยานิพนธ์สาขากฎหมายระหว่างประเทศ ในหัวข้อ คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย ซึ่งเป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นการแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรไทยซึ่งเป็นคนต่างด้าว โดยทำการศึกษาถึงสิทธิในทะเบียนราษฎรไทยของคนต่างด้าว โดยศึกษาผ่านประสบการณ์ตรงของคนต่างด้าวและผู้สนับสนุนคนต่างด้าวที่ยอมตนเป็นกรณีศึกษา รวมถึงประสบการณ์ตรงของผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์ในการทำห้องทดลองทางสังคมร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่คนต่างด้าวในประเทศไทย จากการศึกษาค้นคว้าผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์ได้พบข้อค้นพบหลายประการ ซึ่งสามารถสรุปองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย ได้ดังต่อไปนี้

 

3 องค์ความรู้ที่สังคมไทยควรรู้เกี่ยวกับคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย

องค์ความรู้ประการที่หนึ่ง : สิทธิในทะเบียนราษฎรไทยนั้นเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทย[1]และตามกฎหมายระหว่างประเทศ[2] คนต่างด้าวมีสิทธิที่จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย

จากการศึกษาพบว่าคนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าคนสัญชาติไทยเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ทั้งที่จริงแล้วคนต่างด้าวก็มีสิทธิไม่ต่างไปจากคนสัญชาติไทย โดยสิทธิดังกล่าวก็ไม่ได้ผูกติดกับการมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเท่านั้น[3] ดังจะเห็นได้จากกรณีที่รัฐไทยยอมรับบันทึกแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย และแต่เนื่องจากความต้องการของสังคม (social need) ที่ต้องการแรงงานในงาน 3ส คือ เสี่ยง สกปรก และ(ลำบากแสน)สาหัส (3D-Dangerous, Dirty and Difficult) ทำให้รัฐไทยยอมให้แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้มาแสดงตนเพื่อบันทึกในทะเบียนทะเบียนประวัติท.ร.38/1 และผ่อนผันให้แรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน(human rights) โดยคำนึงถึงมนุษยธรรม รัฐไทยยังสมัครใจบันทึกคนต่างด้าวไร้รัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยเข้มข้น เช่น คนต่างด้าวซึ่งเป็นญาติกับชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว(รวมถึงบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทย) คนต่างด้าวซึ่งเป็นเด็กหรือบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย คนต่างด้าวซึ่งเป็นบุคคลไร้รากเหง้าไม่ทราบที่มาหรือไม่มีจุดเกาะเกี่ยวที่ชัดเจน อาทิ เด็กที่ขาดบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้ง คนต่างด้าวซึ่งเป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ  แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน และคนต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ คือ กลุ่มคที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร และยังไม่เคยได้รับ การสำรวจ โดยการบันทึกตัวคนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ท.ร.38ก เนื่องจากรัฐไทยเล็งเห็นว่าการบันทึกตัวคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะช่วยเยียวยาความ “ไร้รัฐ” หรือความไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางประชากรอันนำไปสู่ความมั่นคงแห่งรัฐในที่สุด

องค์ความรู้ประการที่สอง : “ราษฎรไทย” มีทั้งคนสัญชาติไทยและคนต่างด้าว[4]

จากการศึกษาพบว่ามีคนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าราษฎรไทย หมายถึง คนสัญชาติไทย เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว “ราษฎรไทย” หมายถึง คนที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ซึ่งมีทั้งคนสัญชาติไทยและคนต่างด้าว เราเรียกคนต่างด้าวกลุ่มนี้ว่า “คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎร” ซึ่งมีทั้งบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐอื่นและไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลย ทั้งที่เกิดนอกประเทศไทยและเกิดในประเทศไทย ดังเช่นกรณีครอบครัวสุขเสน่ห์ อันประกอบด้วยนายบุญยืน นางวาสนา นายอุดม นาย... และนางสาวฟองจันทร์ สุขเสน่ห์[5]

นายบุญยืน และนางวาสนา เป็นคนสัญชาติอเมริกันซึ่งเกิดและเติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากแต่งงานและให้กำเนิดนายอุดม บุตรชายคนโตแล้วทั้งครอบครัวก็ได้เดินทางเข้ามากับคณะมิชชันนารีเพื่อเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2522 โดยทุกคนได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวและตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทยมาโดยตลอด ต่อมานางวาสนาได้ให้กำเนิดนาย...และนางสาวฟองจันทร์ ที่ รพ.แมคคอมิค จ.เชียงใหม่ ซึ่งในขณะเกิดนั้นบุตรทั้งสองคนไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน ตามข้อ 2[6] แห่งประกาศคณะปฏิวัติที่ 337 จึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเช่นเดียวกับบิดามารดาและพี่ชายคนโต จะเห็นได้ว่าในขณะนั้นสมาชิกในครอบครัวสุขเสน่ห์ทุกคนมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวแท้ที่มีสัญชาติอเมริกัน[7] เป็นต้น  

องค์ความรู้ประการที่สาม : คนสัญชาติไทยจำนวนหนึ่งได้รับการบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย[8]

จากการศึกษาพบว่ามีบุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วมีสัญชาติไทยแต่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรเป็นคนต่างด้าว เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า“คนต่างด้าวเทียม” ดังเช่นกรณีนางสาวธนิษฐา จองคำ[9] และบิดาคือนายห่าน จองคำ ซึ่งได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรประเภททะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว(ท.ร.38/1)ว่ามีสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา แต่เพราะนายห่านเป็นบุตรของนายคำคนสัญชาติไทย แต่นายห่านเกิดในประเทศพม่าโดยบิดาไม่ได้รับรองความเป็นบุตร ดังนั้นเมื่อนายห่านและนางสาวขนิษฐาเดินทางกลับมาอาศัยในประเทศไทย รัฐไทยซึ่งไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญนี้จึงได้บันทึกบุคคลทั้งคู่ในทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวเช่นเดียวกับแรงงานที่เดินทางเข้ามาจากพม่า แต่ใช่ว่าหนทางในการพิสูจน์ความเป็นคนสัญชาติไทยของทั้งคู่จะมืดบอดเสียทีเดียว เพราะตอนนี้นายห่านได้รับผลการตรวจดีเอ็นเอเพื่อยืนยันความความเป็นบุตรระหว่างนายห่านกับนายคำผู้เป็นบิดาเรียบร้อยแล้ว จึงเหลือเพียงกระบวนการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร โดยฝ่ายปกครองเท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่นายห่านได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรในฐานะคนสัญชาติไทยเมื่อนั้นปัญหาของนางสาวขนิษฐาย่อมได้รับการแก้ไขเช่นเดียวกัน ถึงตอนนั้นทั้งคู่ก็จะพ้นจากสถานะคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรและก้าวไปสู่ความเป็นคนสัญชาติไทยที่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย มีความสามารถในการใช้สิทธิและมีหน้าที่เช่นเดียวกับคนสัญชาติไทยอื่นๆ



[1] เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 36 และมาตรา 38  แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และในปัจจุบันเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 36 และมาตรา 38  แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2551

[2] เป็นไปตามข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 และข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการการเมือง ค.ศ.1966

[3] โปรดดูรายละเอียด เพิ่มเติมในบทที่ 3 การเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทยของคนต่างด้าว
กิติวรญา รัตนมณี,คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
2552 หน้า 39-88.

[4] โปรดอ่านแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย ใน กิติวรญา รัตนมณี,คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย,วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2552,หน้า 9-38.

[5] กรณีศึกษานี้เป็นเรื่องจริงของสมาชิกในครอบครัวสุขเสน่ห์ ที่ร้องเข้ามาภายใต้โครงการแสวงหาองค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อการจัดการประชากรไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งร้องเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2548 โปรดดูรายละเอียด เพิ่มเติมใน กิติวรญา รัตนมณี,คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2552  หน้า 13.

[6]

[7] นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา นางสาวฟองจันทร์ สุขเสน่ห์ ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด(โดยการตีความของ)โดยผลของบทบัญญัติมาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

[8] โปรดดูรายละเอียด เพิ่มเติมในบทที่ 4 การออกจากทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทยกิติวรญา รัตนมณี,คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2552 หน้า 89-112.

[9] กรณีศึกษานี้เป็นเรื่องจริงใน พ.ศ. 2551 ของนางสาวธนิษฐา จองคำ นักเรียนห้องเรียนที่ 5 (รุ่นที่1) ว่าด้วยบุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ภายใต้โครงการต่อยอดคลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยพายัพ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โปรดดูรายละเอียด เพิ่มเติมใน กิติวรญา รัตนมณี,คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2552 หน้า 24.

หมายเลขบันทึก: 269078เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท