พอกเกตบุค 5x6จากแม่อาย สู่อันดามัน


เรื่องราวของต้นแบบที่เรียกสั้นๆว่า ‘ห้าคูณหก’ ซึ่งถักทอขึ้นที่ แม่อาย ได้เดินทางมาสู่...อันดามัน

ปกหน้า-พอกเกตบุค 5x6 จากแม่อาย สู่อันดามัน


 

จากบรรณาธิการ 

แด่แม่อาย...และอันดามัน 

จากแม่อาย...สู่อันดามัน

คงยากที่จะจินตนาการว่าบัตรประชาชนสักใบ กับความเป็นคนสัญชาติไทยที่จู่ๆมันหายไปสำหรับคนคนหนึ่งนั้น มันจะนำพาสิ่งใดตามมา

เกือบ 7 ปี ที่แล้ว ชาวแม่อายนับพันคน ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนสถานะจาก “คนสัญชาติไทย”สู่ “คนต่างด้าว” และสิ่งสำคัญที่ตามมาจากนั้นคือความยากลำบากต่างๆที่ประเดประดังเข้ามาสู่เงื่อนไขของแต่ละชีวิต

และนับจากนั้นมาถนนที่มุ่งสู่แม่อายก็ไม่เคยเงียบเหงา ปีแล้วปีเล่าที่มวลมิตรที่คุ้นหน้าคุ้นตาในการทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติเทียวเข้าออกแม่อาย กระทั่งเมฆฝนร้ายที่ปกคลุมอยู่เริ่มผ่านพ้นไป เมื่อได้กลับคืนสู่ทะเบียนราษฎรของคนสัญชาติไทยอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าบททดสอบสำหรับ...แม่อายมันยังไม่จบสิ้น
การเกิดขึ้นของ “คลินิกกฎหมายชาวบ้าน(ด้านสถานะบุคคลและสิทธิ)” ที่แม่อาย ในปี 2550 พร้อมกับ “ทนายความตีนเปล่า” ที่ผันตัวเองจากชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย มาเป็นกำลังหลักในการประคับประคองและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่ชุมชนต้องเผชิญเรื่องสถานะบุคคลและสิทธิ จึงเป็นสิ่งที่ใครต่อใครคงยากจะนึกถึง ว่าต้องใช้แรงกายแรงใจมากมายเพียงใด

บันทึกหน้าล่าสุดของแม่อาย ในรูปแบบ “ห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย” เพื่อหว่านกล้าเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้มแข็งให้กับเยาวชนที่เป็นผู้มีปัญหา ไปสู่ผู้รู้ปัญหา และใช้สองมือน้อยๆนั้นพยุงตนเองและคนรอบข้างสู่ทางออก และเพื่อเป็นห้องเรียนในการสร้างและทดสอบต้นแบบในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ที่เรียกสั้นๆว่า ‘ห้าคูณหก’ (5 x 6)

 โดย ห้า นั้นหมายถึง การจำแนกประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยออกเป็น 5 กลุ่ม โดยใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้เพื่อที่จะคูณ หก อันหมายถึง 6 แนวคิดในการจัดการปัญหาให้คลี่คลาย กล่าวคือ คิดวิธีการที่จะทำให้ “คนที่มีปัญหาสถานะบุคคล” เป็น “คนไม่มีปัญหาสถานะบุคคล” หรือทำให้ “คนไร้รัฐ” เป็น “คนมีรัฐ” หรือทำให้ “คนไร้สัญชาติ” เป็น “คนมีสัญชาติ” หรือทำให้ “คนที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง” เป็น “คนที่ถูกกฎหมายคนเข้าเมือง” นั่นเอง

แล้วเรื่องราวของต้นแบบที่เรียกสั้นๆว่า ‘ห้าคูณหก’  ซึ่งถักทอขึ้นที่ แม่อาย ก็ได้เดินทางมาสู่...อันดามัน ห่างลงไปร่วม 1,500 กิโลเมตร ท่ามกลางการพลิกฟื้นชุมชน และจิตใจของผู้คนในแถบอันดามัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากพิบัติภัยครั้งยิ่งใหญ่ในนาม “สึนามิ” ที่เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น ร่องรอยหนึ่งที่ปรากฎขึ้นและยังรอการเยียวยาแก้ไขคือ การปรากฏตัวขึ้นของ “คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ”  ซึ่งพบว่ามีทั้ง คนสัญชาติไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร  คนเชื้อสายไทยจากประเทศพม่าคนเล(มอแกน มอเกล็น อุลักลาโว้ย) คนกะเหรี่ยง  คนต่างด้าว(พม่า ลาว มอญ)  ไปจนถึงคนที่สืบค้นรากเหง้าตัวเองไม่ได้  ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้มีมาก่อนเหตุการณ์คลื่นสึนามิ เพียงแต่หลังจากคลื่นลมร้ายพัดผ่าน ท่ามกลางซากปรักหักพัง..พวกเขาได้ถูกมองเห็นอย่างแจ่มชัดขึ้น

อย่างไรก็ตามความพยายามในการแก้ไขปัญหา คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามันนั้น ก็มีมาโดยตลอด ทั้งจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ ไปจนถึงเจ้าของปัญหาเอง และเครือข่ายของผู้ประสบปัญหาเอง แต่ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลายไปเท่าที่ควร ทำให้การเดินทางไกลของ “ห้าคูณหก” จากแม่อายเริ่มต้นขึ้นภายใต้ “โครงการขยายองค์ความรู้แม่อายสู่อันดามันเพื่อการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามัน” เพื่อทดสอบแนวคิดและแนวทางการแก้ปัญหาสถานะบุคคลของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติในรัฐไทย

บันทึกหน้าต่อไป แด่แม่อาย..และอันดามัน

“หากเราพบสูตรสำเร็จในการทำ ยารักษาโรค  สักอย่างหนึ่ง เราก็ควรจะเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนมิใช่หรือ? และยิ่งเราตระหนักว่า ยารักษาโรค ที่เราค้นพบนั้นสามารถช่วยให้คนที่เป็นโรคร้ายแรงพ้นจากความเจ็บปวดทรมานได้ เราก็ควรจะต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะผลิตยาขนานนั้นให้มากที่สุด เพื่อรักษาชีวิตของเพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด...”
(ส่วนหนึ่งของคำนิยมเพื่อ หนังสือ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ใน..แม่อาย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร หรือ อาจารย์แหวว, 4 มกราคม 2552)

อาจารย์แหวว เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคนหนึ่งของการสร้างและพัฒนา ตลอดจนการทดสอบ ยาขนานที่ชื่อ “5x6( ห้าคูณหก)” และทำให้การถ่ายทอดบทเรียนของการทดลองใช้ยาซึ่งเป็นที่มาของบันทึกจากนี้ หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการรักษาโรคของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เล่มนี้ได้เกิดขึ้น

แล้วเราก็ได้ ระดมพลกันอีกครั้งโดยเพื่อนพ้องที่ทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิ  เพื่อนำทุกท่านสู่บันทึก ที่จะบอกเล่า

...เรื่องราวการปรุงยาขนานหนึ่งสำหรับรักษาโรคไร้รัฐไร้สัญชาติ 
...เรื่องเล่าของการเดินทางสู่อันดามันเพื่อเผยโฉมของปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ 
...และการรักษาผู้คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไร้รัฐไร้สัญชาติ ด้วยยาขนาน 5x6

ด้วยความเชื่อมั่นว่า แรงกายแรงใจที่เราทุ่มลงไปอีกครั้ง ของเพื่อนพ้องทุกท่าน การสนับสนุนให้ความมุ่งมั่นก่อเกิดเป็นรูปเป็นร่างโดยมูลนิธิเอเชีย ที่สำคัญคือหมอและยารักษาโรคจากแม่อายขนานนี้ จะทำให้เรามุ่งหวังได้ว่า

..สักวัน ความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ จะหมดไปจากแผ่นดินไทย แทนที่ด้วย ตัวตนของผู้คน ที่เบ่งบาน ยืนหยัด อย่างงดงามและเต็มภาคภูมิ

ปีที่สี่บนหนทางกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ
พฤษภาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 270177เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบปกอันนี้จัง

มันบอกเจตนารมย์ของหนังสือ

สวัสดีค่ะคุณจันลอง

ห่างหายไปนานเลยนะคะ ดีใจที่ได้อ่านบันทึกเรื่องนี้อีกครั้ง

น่าสนใจมากๆ ค่ะ มาอ่านความรู้ จะติดตามเป็นกำลังใจให้นะคะ ขอบคุณค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท