Foot clinic


พระภิกษุกลัวฆราวาส มองพระภิกษุไม่ดี ไม่เข้าใจพระภิกษุสงฆ์ และขาดความศรัทธาในพระภิกษุและพระพุทธศาสนา

Foot clinic

               

เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาพวกเรานักศึกษาแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ได้มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ที่ใหม่และน่าสนใจนั่นก็คือ foot clinic นั่นเอง ซึ่งทำให้พวกเราได้เรียนรู้ทั้งแนวคิดและประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นเบาหวานมากขึ้น ซึ่งสรุปได้เป็นดังนี้

(ควรอ่านประเด็นอื่น ๆ ที่เพื่อนนักศึกษาแพทย์ได้ทำการบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้ได้มีความเข้าใจที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น)

 

ฟังอาจารย์เชิดพงศ์บรรยายเรื่องพื้นรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานอย่างตั้งใจ!!

 

สรุปประเด็นการเรียนรู้ ที่ Foot clinic รพ.สงฆ์

ปัญหาในการดูแลรักษาสุขภาพเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ทั้งบุคคลทั่วไป และพระสงฆ์) 2 กรณีหลัก

a.       ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจในการดูแลแผลที่เท้า เช่น แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ หรือตัวผู้ป่วยเอง เมื่อพบว่ามีแผลเกิดขึ้นที่เท้าแล้ว จะพยายามทำแผลโดยการนำ gauze หรือ สำลีที่นุ่ม มารองบริเวณที่มีแผลนั้น ในความเป็นจริงแล้ว การนำสิ่งของที่นุ่มมารองบริเวณแผลไม่ได้ช่วยทำให้แผลนั้นหายดีขึ้น เพราะว่าแรงที่กระทำต่อแผลนั้นยังมีเท่าเดิม(กรุณาอ่าน http://gotoknow.org/blog/footcareclinic/268665 เพื่อให้เข้าใจถึงแรงกระทำต่อเท้า ในขณะที่เดิน และ phase ต่างของการเดิน)

b.       เจตคติของพุทธศาสนิกชน ต่อการใส่รองเท้าเดินบิณฑบาตของพระสงฆ์ (โดยเฉพาะในต่างจังหวัด) เนื่องจาก รองเท้า (กายอุปกรณ์เสริม หรือ Orthosis) ที่ผลิตให้พระสงฆ์ที่มีปัญหาเรื่องแผลเบาหวานเรื้อรัง มีลักษณะเหมือนกับรองเท้าทั่วไป ทำให้พุทธศาสนิกชนที่มาใส่บาตรไม่ศรัทธา และไม่อยากทำบุญกับพระสงฆ์รูปนั้น จึงเกิดคำถามว่า ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

 

ประเด็นแรก เรื่องการขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลแผลที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

            การนำของนุ่ม ๆ มารองบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยให้แผลนั้นถูกแรงกดทับน้อยลง ขณะที่เดิน เมื่อส่วนของแผลที่มีของแผ่นสำลีสัมผัสกับพื้น จะมีแรงกระทำเท้าส่วนนั้นลงไปที่พื้น ในขณะเดียวกันจะมีแรงจากพื้นกระทำขึ้นมาที่เท้าด้วยตามหลักการทางกลศาสตร์ การที่แผลจะหายดี เราจะต้องพยายามลดแรงกระทำต่อแผลนั้นให้มากที่สุด โดยอาศัยการกระจายแรงไปให้บริเวณอื่นที่ไม่มีแผล (ส่วนที่ปกติ) รับแรงแทน

           

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหานิ้วเท้างุ้ม เวลาเดินส่วนของนิ้วเท้าที่งุ้มลงจะเป็นส่วนที่รับน้ำหนัก (มีแรงกระทำ) มากขึ้น เมื่อเทียบกับบริเวณนิ้วเดียวกันของเท้าที่ปกติ ร่วมกับอาการชาตามปลายเท้าที่พบในผู้ป่วยเบาหวานทำให้ส่วนนั้นเป็นแผลง่ายขึ้น

จากรูป แสดงลักษณะปลายเท้าที่มีนิ้วงุ้มลง จะมีแรงกระทำมากบริเวณที่มีปลายนิ้วงุ้ม หากเทียบกับเท้าปกติ การแก้ไขที่ถูกต้องควรทำการ กระจายแรงไปที่ส่วนอื่นแทน ในกรณีนี้ทำได้โดยการใช้ สำลีปั้นเป็นก้อนแล้วทำเป็นหัวแหวน และใช้กระดาษกาวทำเป็นตัวแหวนเพื่อสวมให้นิ้วเท้า โดยหันส่วนหัวแหวนลงกับพื้น ในบริเวณข้อนิ้วที่ยกงอ (สีแดง) ทำให้ส่วนของปลายนิ้วที่เป็นแผลไม่ถูกแรงกระทำ โดยจะไปกระทำตรงบริเวณก้อนสำลีแทน ตามลักษณะการเรียงตัวของลูกศรที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งที่ใช้ออกแบบรองเท้าให้ผู้ป่วยเบาหวานนั่นเอง

 

ประเด็นที่สอง เรื่องภาพลักษณ์ของรองเท้า (Orthosis) ที่ใช้ในพระสงฆ์ที่เป็นเบาหวาน

ประเด็นนี้เกิดจากการที่มีพระสงฆ์ที่มารับการรักษา และได้รองเท้าที่ทำใหม่แล้วนำไปใช้ในขณะที่เดินบิณฑบาตในต่างจังหวัด เมื่อมีคนจะมาใส่บาตรเห็นพระสงฆ์รูปนี้ซึ่งใส่รองเท้าเดินบิณฑบาตก็ไม่เลื่อมใส บางคนถึงกับเก็บโต๊ะที่นำมาตั้งรอตักบาตรทันที เนื่องจากไม่เข้าใจว่ารองเท้านั้นเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนึ่ง จึงเกิดความคิดที่ว่าจะช่วยกันทำอย่างไรดีเพื่อแก้ไข้ปัญหานี้ ประจวบกับมีนักศึกษาสถาปัตยกรรม (สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์) ปี 5 สนใจจะทำวิทยานิพนธ์ ในการออกแบบรองเท้าให้มีลักษณะที่สามารถสื่อได้ว่ารองเท้าที่ใช้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยแก้ปัญหา ก็อาจจะได้รองเท้าแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้ปัญหาความเข้าใจผิดเหล่านี้หมดไป

ร่วมกับการนำบทความนี้ลงไว้ใน Internet ก็จะทำให้ผู้ที่เข้ามาอ่านผ่านตา ช่วยกันกระจายต่อด้วย จะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งก็จะช่วยให้ความเข้าใจผิดนั้นลดลงไปโดยทางอ้อมด้วย

เท้าของพระสงฆ์รูปที่เป็นเบาหวานซึ่งเป็นแผลเรื้อรังทำให้ต้องถูกตัดนิ้วค่ะ

            หวังว่าทุกท่านที่ผ่านเข้ามาอ่านจะเข้าใจมากขึ้นนะคะ ครั้งหน้าถ้าท่านเห็นว่าพระสงฆ์รูปใดสวมรองเท้าอย่ายืมตักบาตรด้วยอาหารที่น้ำตาลน้อย งดขนมหวานนะคะ

นศพ.วริษา/รวิวรรณ/ศรายุธ/สลิล

ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

 

            จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่านอกจากพวกเรานักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 แล้วยังมีนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาศึกษาพร้อมกับพวกเราด้วย ซึ่งจากแนวคิดของนักประดิษฐ์แล้วเขามองเรื่องนี้อย่างไรติดตามอ่านต่อได้เลยค่ะ

 

            สวัสดีครับ ผมนายอรรถวัต เตโชตานนท์ เป็นนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial design) ชั้นปีที่ 5 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องรองเท้าของพระภิกษุที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ครับ

            เริ่มแรกผมได้ติดต่อไปหาคุณหมอเชิดพงศ์เรื่องผมอยากทำรองเท้าให้คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน  ซึ่งบังเอิญคุณหมอเชิดพงศ์กำลังเริ่มทำโครงการสร้างรองเท้าสำหรับพระภิกษุสงฆ์อยู่พอดี  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาที่ยังไม่มีใครเข้ามาแก้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากเลยครับ และดีอย่างยิ่งที่คุณหมอได้เห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้

สถิติพระภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้ มีพระที่ป่วยเป็นแผลเรื้อรังและโดนตัดขาทิ้ง/ปี มากขึ้นเรื่อยๆ  คุณหมอเชิดพงศ์บอกว่า ถ้าหากผู้ป่วยสวมรองเท้าสำหรับเบาหวานตลอดเวลาแล้วจะสามารถลดความเสี่ยงในการตัดขาได้มากถึง 85% เลยครับ(ปีที่แล้วสถิติคนไทยโดนตัดขาเพราะแผลเรื้อรังจากเบาหวาน 28,000 คน) แต่ผู้ป่วยต้องใส่ตลอดเวลานะครับ   เพราะคนที่ป่วยจะมีอาการมือชาเท้าชาไม่ค่อยมีความรู้สึกอะไรทำให้เกิดความเสี่ยงสูงครับ และจากที่พระภิกษุส่วนใหญ่ถอดรองเท้าตลอดเวลาในกิจวัตรประจำวัน ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อพระภิกษุสงฆ์  แต่การใส่รองเท้าสามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้

แต่ปัญหาอยู่ที่พระสงฆ์ที่ได้รองเท้าเบาหวานไป จำนวนมากกลับไม่ใส่รองเท้าเบาหวานที่คุณหมอสั่งทำให้   จากการสอบถามพระภิกษุสงฆ์ถึงสาเหตุหลักที่ไม่ใส่รองเท้า  ส่วนมากสาเหตุคือ  พระภิกษุกลัวฆราวาส มองพระภิกษุไม่ดี  ไม่เข้าใจพระภิกษุสงฆ์ และขาดความศรัทธาในพระภิกษุและพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น ฆราวาสเลือกทำบุญตักบาตรแต่พระภิกษุที่ถอดรองเท้าบิณฑบาต ทำให้พระที่จำเป็นต้องใส่รองเท้าเพราะเป็นเบาหวาน รู้สึกไม่ดีและหลายๆรูปถึงกับไม่ใส่รองเท้าที่คุณหมอสั่งทำให้

ตัวอย่างรองเท้าพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบัน

 

จากปัญหาที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่า ปัญหาเกิดจากรองเท้าเบาหวานของพระภิกษุสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ มีภาพลักษณ์เหมือนรองเท้าทั่วไปของฆราวาส มีหลายแบบ หลายดีไซน์ และสังเกตได้ว่า ยังไม่มีรองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธเบาหวานโดยเฉพาะ จึงทำให้เกิดปัญหาดังที่ได้กล่าวมา จึงเป็นช่องทางในการออกแบบ รองเท้าสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธเป็นโรคเบาหวาน

หลายๆคนอาจสงสัยว่า พระภิกษุ ใส่รองเท้าแล้วผิดหรือไม่ ความจริงแล้ว  พระสงฆ์นิกาย มหานิกาย (มีอยู่ประมาณ 91% จากพระทั่วประเทศ)  สามารถสวมใส่รองเท้าได้หากอาพาธ

เป้าหมายในการออกแบบภาพลักษณ์รองเท้าของพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธเป็นโรคเบาหวานคือ ออกแบบอย่างไรเพื่อให้พระภิกษุใส่รองเท้าเบาหวานตลอดเวลา    โดยมีประเด็นศึกษาสำคัญคือ

1.ออกแบบอย่างไรให้ฆราวาสรับรู้และเข้าใจพระภิกษุสงฆ์ได้อย่างรวดเร็ว

2.ออกแบบอย่างไรให้พระภิกษุสงฆ์ สามารถใส่รองเท้าได้ตลอดเวลา

3.ออกแบบอย่างไรให้พระภิกษุสงฆ์เข้าใจและยอมรับรองเท้าใหม่ได้

และเมื่อคุณหมอเชิดพงศ์กำลังเริ่มทำโครงการนี้แล้ วและยังเกิดปัญหาการออกแบบภาพลักษณ์ที่ยังขาดคนแก้อยู่ตอนนี้  จึงถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผมได้รับโอกาสนี้ เพื่อช่วยเสนอแนะแนวทางการออกแบบภาพลักษณ์ภายนอกร่วมกับทีมงานของคุณหมอและรพ.สงฆ์  และร่วมกับคุณหมอเพื่อแก้ปัญหาความทุกทรมานของพระภิกษุสงฆ์ที่มีอยู่ตอนนี้ให้ได้มากที่สุดครับ

ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆจากคุณหมอเชิดพงศ์ และโรงพยาบาลสงฆ์อย่างมากมายครับ ผมได้สัมภาษณ์ พระภิกษุสงฆ์ เจ้าหน้าที่หลายๆฝ่าย รวมทั้งคุณหมอ   ทุกคนให้ความร่วมมือดีมากครับ ประทับใจมากครับ  ถ้าหากโครงการนี้ ผมนำเสนออาจารย์ผ่าน ผมหวังว่าจะได้ร่วมงานกับคุณหมอ และทุกๆท่าน เพื่อแก้ปัญหาดังที่ได้กล่าวมาแล้วต่อไปครับ

รูปผมกับคุณหมอเชิดพงศ์ครับ

 

 

 

           

 

หมายเลขบันทึก: 271356เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2009 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้ามาอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้ครับ

เข้ามาอ่านค่ะ

มีประโยชน์มากค่ะ

น่าสนับสนุน

ผลงานความคิด ดีดีขอบนศ.ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท