เทคนิคการอภิปรายผลการวิจัย


เทคนิคเล็กๆ..ที่เก็บเกี่ยวมาฝากครูผู้สอนด้วยกัน

เทคนิคการอภิปรายผลงานวิจัย

 

@  การอภิปรายผล  เป็นส่วนที่นำผลการวิจัยมาเสนอพร้อมกับบอกเหตุผลว่าทำไมผลจึงเป็นเช่นนั้น  เป็นส่วนที่ผู้วิจัยสามารถแสดงความคิดเห็น  ประกอบกับการเสนอข้อมูลและงานวิจัยของบุคคลอื่นทั้งที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องไว้อย่างมีเหตุผล

เทคนิคการเขียน

                1.   อภิปรายผลตามผลการวิจัยที่เรียงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย  เริ่มจากผลการวิจัยที่ตอบวัตถุประสงค์ข้อ  1  ก่อน  โดยเสนอผลการวิจัยในภาพรวมเพื่อตอบวัตถุประสงค์การวิจัย  และถ้าวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีสมมุติฐาน  ระบุว่าผลการวิจัยเป็นไปตามสมมุติฐานหรือไม่

                2.  อภิปรายผลว่าที่เป็นผลดังนั้นเพราะเหตุใด  สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับคำกล่าวและงานวิจัยของใครไว้ว่าอย่างไร  สอดคล้องและไม่สอดคล้องอย่างไร  เพราะเหตุใด  อาจจะเสนอข้อมูลประกอบเพื่อการยืนยัน  และความน่าเชื่อถือ  แต่ควรเสนอไว้เป็นความเรียง  ไม่ควรเสนอเป็นตาราง  ไม่ควรเสนอเป็นตาราง  แผนภาพ  หรือแผนภูมิ  ถ้าเสนอเป็นความเรียงไม่ได้  จำเป็นต้องเสนอเป็นตารางแผนภาพ  หรือแผนภูมิให้ใส่ไว้ในภาคผนวก  โดยระบุให้ผู้อ่านศึกษารายละเอียดจากภาคผนวก

                3.  แต่ละข้อถ้ามีผลการวิจัยที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม  เช่น  จำแนกเป็นรายด้าน  ให้เสนอต่อจากภาพรวมในข้อเดียวกัน  ใช้หลักการเดียวกันคือ  เสนอผลการวิจัยแล้วตามด้วยอภิปรายผล  ระวังการอภิปรายผลการวิจัยในข้อย่อยต้องไม่ขัดกับผลในภาพรวมและข้อย่อยข้ออื่น  ถ้าจำเป็นเพราะผลการวิจัยเป็นเช่นนั้น   ผู้วิจัยต้องให้ตุผลอภิปรายอย่างสมเหตุผล  เช่น  งบประมาณน้อยแต่ไม่เป็นปัญหา  เพราะเหตุใด  เป็นต้น

                4.  คำกล่าวหรืองานวิจัยที่นำมาอ้างอิงเพื่อประกอบการอภิปรายผลต้องมีสาระอยู่ในบทที่  2

 

ตัวอย่างการอภิปรายผลการวิจัย

เรื่อง       การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนดงไผ่วิทยาคม  ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้และการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้และการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้

อภิปรายผล

          การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้และการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ อภิปรายผลดังนี้

         1. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้และการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อที่  1 สามารถอภิปรายผลการวิจัยได้ดังนี้

           การจัดการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดำเนินการตามแนวทางการสร้างองค์ความรู้ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีลักษณะการจัดการเรียนรู้ที่เน้นบทบาทของผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง โดยการสร้างความรู้ใหม่ด้วยตนเอง จากการเชื่อมโยงโครงสร้างความรู้เดิมของแต่ละคนกับความรู้ใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว โดยแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม เชื่อว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในบุคคล  บุคคลเป็นผู้สร้างความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม (วัฒนา ระงับทุกข์. 2542: 15)  ซึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้ มีขั้นตอน 5  ขั้น  ซึ่งได้แก่   ขั้นกำหนดปัญหา   ขั้นปฏิบัติการแก้ปัญหา   ขั้นสะท้อนความคิด   ขั้นปรับกระบวนการแก้ปัญหา   และขั้นประยุกต์ความรู้ โดยผู้สอนเป็นผู้จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  กระตุ้นและสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ   และตระหนักถึงความรู้พื้นฐานและประสบการณ์เดิมของผู้เรียน โดยผู้สอนได้ใช้กิจกรรมเพื่อดึงความรู้พื้นฐานและประสบการณ์เดิมของผู้เรียนแทนที่การถามตอบของผู้เรียนกับผู้สอน   จากนั้นให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ใหม่จากการเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของแต่ละคน  ที่ได้จากการปฏิบัติในขั้นปฏิบัติการแก้ปัญหา  ที่มีการระบุปัญหา ตั้งสมมติฐาน  ทดลอง และการสรุปผลการทดลองภายในกลุ่ม   ขั้นการสะท้อนความคิดที่ให้ผู้เรียนได้มีการเสนอความคิดแลกเปลี่ยนความรู้ซึ้งกันและกัน   ขั้นปรับกระบวนการแก้ปัญหาที่ให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และขั้นประยุกต์ความรู้ที่ให้ผู้เรียนได้คิดหาวิธีแก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ ทำให้ผู้เรียนได้มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ตัดสินใจร่วมกัน ให้เหตุผลซึ่งกันและกัน   มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เรียนกับเพื่อนและกับผู้สอน   และได้แก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ที่ผู้สอนกำหนดให้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ กระบวนการคิด การแก้ปัญหา การตัดสินใจ ซึ่งตรงกับ สุวัฒน์   นิยมค้า (2531: 25-26) ที่กล่าวว่า  ในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์นั้น ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้นคว้าความรู้นั้น  มากกว่าการบอกให้ผู้เรียนรู้   ทำให้ผู้เรียนมีการพัฒนาในด้านความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี   สอดคล้องกับงานวิจัยของ สาคร ธรรมศักดิ $(2541: 81) ซึ่งพบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิซึมแบบร่วมมือและการสอนตามคู่มือครู มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 

           การจัดการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้ ที่ให้นักเรียนได้เป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง จากการเชื่อมโยงความรู้เดิมที่มีอยู่กับความรู้ใหม่ที่พบจากสถานการณ์ที่กำหนดให้   โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในลักษณะของกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันร่วมมือกันจึงมีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้และการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

 

หมายเลขบันทึก: 272418เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท