ทุนวิจัย วช. ร้อนๆ จ้า....


          วันนี้ (วันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2552) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ : วช. จัดประชุมชี้แจงกรอบการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ปีงบประมาณ 2553 (สัญจร) ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก

          อันที่จริง วช.จัดประชุม แบบนี้ไปแล้วรอบหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น กทม. ทางคณะสหเวชฯ ก็ส่ง อาจารย์ศุภวิทู  สุขเพ็ง  รองคณบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ เข้าร่วมประชุมด้วย

         หลังจากกลับจากการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวของ อ.กอล์ฟ (อาจารย์ศุภวิทู สุขเพ็ง)  วันที่ 2 มิ.ย. อ. กอล์ฟ ก็รายงานคณาจารย์ทุกท่านผ่านทาง E-Office โดยละเอียด  ดังนี้


เรื่อง  ประชาสัมพันธ์ทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2553 ของ วช.(ทุนโดยตรง)....ด่วน

เรียน  คณาจารย์ทุกท่าน

 เนื่องด้วยดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมชี้แจงกรอบการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยปีงบประมาณ 2553 ของ วช. ในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2552  ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นั้น จึงขอประชาสัมพันธ์ทุนการวิจัยดังกล่าวให้ทราบ โดยสรุปดังนี้

  1. กรอบการให้ทุนตามประกาศ  มีทั้งหมด 11 เรื่องของคณะสหเวชฯ ดูเหมือนจะเข้าได้ในกลุ่มเรื่องที่ 4 (4.1) เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่ออุตสาหกรรม และ 10  (10.2) แผนวิจัยสุขภาพและเทคโนโลยี  โดยอาจารย์สามารถดูได้จากเอกสารกรอบการให้ทุนที่แนบมานะคะ
  2. การให้ทุนครั้งนี้ ให้ในลักษณะของชุดโครงการ  ซึ่งต้องมีโครงการย่อย 2-6 โครงการ และมีการบูรณาการของ 2 หน่วยงาน ร่วมมือกัน
  3.  อาจารย์เป็นผู้อำนวยการชุดโครงการได้เพียง 1 ชุดและเป็นหัวหน้าโครงการย่อยได้ 1 โครงการ
    หรือถ้าเป็นเฉพาะหัวหน้าโครงการย่อยสามารถเป็นได้ 2 โครงการแต่ต้องอยู่ต่างชุดโครงการกัน
  4.  ใช้แบบเสนอโครงการสำหรับแผนงานคือแบบฟอร์ม ภค-1ช/52 และโครงการย่อยคือแบบฟอร์ม ภค-1ย/52 โดยดาวน์โหลดได้ที่ www.nrct.go.th
  5. ส่งข้อเสนอโครงการวิจัยผ่าน www.nrct.go.th โดยลงทะเบียน ภายใน 31 กรกฎาคม 2552 (24.00น.)
    และต้องส่งเอกสารภายใน 15 วัน นับตั้งแต่มีการตอบรับการลงทะเบียนทาง website
  6. กรณีที่ส่งข้อเสนอฯ ไปทางไปรษณีย์ ต้องไม่เกิน 3 สิงหาคม 2552 (ดูจากตราประทับ)
  7. วช. จะแจ้งผลภายใน ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553


หมายเหตุ

** ข้อเสนอโครงการวิจัยให้ใช้ font Angsana New ขนาด 16 **
** ข้อเสนอที่เกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์ต้องผ่านคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์จากสถาบันก่อน**
** ทุนนี้ เน้นการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่  เน้นการบูรณาการและการใช้ประโยชน์ได้จริง**
** สามารถส่งข้อเสนองานวิจัยได้ เพียง 1 ข้อเสนอเท่านั้น**
** ถ้าผู้วิจัยร่วมอยู่ต่างหน่วยงาน ต้องมีผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทุกหน่วยงาน รับรองโครงการด้วย**

รายละเอียดอื่น ๆ ดูได้จากเอกสารแนบ <Click1>  <Click2>  หากมีคำถามใด ๆ สามารถสอบถามได้ค่ะ
ศุภวิทู  


          ดิฉันคาดไม่ผิดว่า การประชาสัมพันธ์ของ อ.กอล์ฟ ข้างต้น ช่วยให้อาจารย์ของคณะหลายท่านตื่นตัวกันมาก  ที่กล่าวได้ดังนี้ก็เพราะ ในการสัญจร ของ วช. มาถึงพิษณุโลกคราวนี้  มีอาจารย์ของคณะหลายท่านเข้าร่วมรับฟังด้วย  เท่าที่วันนี้ดิฉันเหลือบไปเห็นเข้า (เพราะดิฉันก็ไปกับเขาด้วย) ก็มี  ผศ.ดร.สุรพล  ตั้งวรสิทธิชัย / ผศ.ดร.อรทัย  ตั้งวรสิทธิชัย / อาจารย์ ดร. สุวรรณา  ถาวรรุ่งโรจน์ / อาจารย์พจน์   พงศ์เผ่าพัฒนกุล  และอาจารย์ ดร.ศิริลักษณ์  ธีระภูธร  น่าชื่นใจเสียจริง!!

          สำหรับดิฉัน  รู้สึกดีใจที่ วช. ให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดอย่างเราๆ  และรู้สึกชื่นชมกับยุทธศาสตร์เชิงรุกเช่นนี้  ซึ่งผิดกับยุคสมัยเดิม ที่หน่วยงานให้ทุนดูเหมือนอยู่บนหอคอยที่เราไม่กล้าปีนเข้าไปหา  และคว้าไม่ถึง

          โดยส่วนตัว... ดิฉันกำลังผลักดันตัวเองให้ทำงานวิจัยด้วย

          ในฐานะผู้บริหาร ซึ่งต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง (เสียทุกเรื่องกระมัง) งั้นหรือ?  

          ไม่.... ไม่ใช่...ดอกค่ะ   ดิฉันอยากทำด้วยใจของตัวเองจริงๆ นะ  (เชื่อเถอะ).............

          ดิฉันไม่ได้อยู่ร่วมประชุมในช่วงบ่าย.....เพราะมีงานรออยู่อีกมาก  ขานั่งรถกลับ มน. ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนที่อยู่ไกล  โทรมาทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ  และบอกว่าให้เขียน Blog จะได้เข้ามา comment  แรงคึกในการเขียน Blog ของดิฉันจึงได้คุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง..........เป็นเหตุของบันทึกวันนี้ 

ปล.  

วันนี้แวะร้านขายหนังสือที่โรงแรมท็อปแลนด์ แป๊ปนึง (ตรงกองหนังสือลดราคา) ได้หนังสือสุดยอดทรงคุณค่ามาอีกเล่ม คือ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์  โดยท่านพุทธทาสภิกขุ แปลและรวบรวมจากพระไตรปิฎกภาษาบาลี  เพิ่งพลิกๆ อ่านไปบ้างวันนี้  (อ่านยากชะมัด)  แต่ที่ทึ่งมากและอยากบอกก็คือ  พออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว  ทำให้ดิฉันเข้าใจ วิธีวิจัยที่แท้นั้นเป็นอย่างไร  ท่านพุทธทาสนี่แหละนักวิจัยชั้นเทพ สกัดแก่นธรรมออกมาได้อย่างที่ต้องให้รางวัลโนเบลทีเดียว (โชคร้ายของฝรั่ง ที่อ่านภาษาไทยไม่ออก) 

             

คำสำคัญ (Tags): #ทุนวิจัย วช.
หมายเลขบันทึก: 272667เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บันทึกแถม

ท่านอาจารย์สุวิมล  ว่องวานิช  กล่าวถึงประสบการณ์ในการตรวจ Porposal ว่า

  • เรื่องที่จะทำวิจัยต้องเป็นเรื่องที่สนองนโยบาย และมี impact สูง
  • คุณค่าของงานวิจัย อยู่ที่ การค้นหาองค์ความรู้ใหม่  หรือประโยชน์ที่จะได้รับ  ไม่ใช่งาน Routine
  • การบรรยายความเป็นมาหรือความสำคัญของงานวิจัยที่จะทำ จะทำให้ผู้ประเมิน proposal วิเคราะห์ได้ว่าผู้วิจัยคิดเป็น Logic หรือเปล่า
  • ส่วนใหญ่ชอบเขียนวัตถุประสงค์  เป็น ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  ซึ่งไม่เหมือนกัน
  • การทบทวนวรรณกรรม  ควรสืบค้นมาจาก Journal ไม่ใช่ Text book หรือ พรบ. ฯลฯ
  • conceptual framwork หรือ Scope of Study   ไม่ใช่ ขั้นตอนการวิจัย
  • ประวัติของผู้วิจัย / ผู้ร่วมวิจัย ควรให้ข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย 
  • งบประมาณ  ควรแสดงให้เห็นถึงการทุ่มเทไปที่กิจกรรมที่ทำ  ไม่ใช่การจัดทำรายงาน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท