เพลง...ที่ไม่มีวันจบ


เสียงเพลงจบลง...แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีใครบอกได้... ตราบใดที่เรายังไม่มีตัวยาที่รักษาโรคชราได้อย่างแท้จริง หรือว่าไม่มี...จริงๆ

ไอ้เรื่องความดัน ไขมันเบาหวาน พี่น้องทุกท่าน ควรระวังไว้ เวลากินอาหาร อย่าให้เค็มหนัก ปลาร้าปลาหมัก เบา ๆ ไว้

เรื่องอาหารการกิน ดังที่ฉันว่า ทั้งกะปิน้ำปลา นั้นก็ร้าย มันจะไปกระตุ้น ทำให้ตีบตัน เป็นอัมพาตหลายท่าน แล้วนะจะบอกให้ ห่วงท่านที่เลี้ยง ลูกหลาน เพราะมันติดสันดาน ด้วยความเสียดาย ชอบกินของหลาน

เค็มมันไม่ว่า ถ้ากินไม่เป็นเวลา ความดันก็จะกลาย เรื่องการกิน ควรระวังไว้หนอ ไม่เชื่อ อสม. ก็แล้วไป

ชะ... ชะ.... ช่า... หนอยแนะ....ลูกคู่รัองรับ

เสียงขลุ่ย ตะโพน ฉิ่ง ให้จังหวะ พ่อเพลงร่ายรำประกอบ
การร้อง

จากประสบการณ์ในวัยเด็ก ที่เคยร้องเล่น ได้กลับ
หวนมาอีกครั้ง

"ผมเกิดที่นี่ ในวัยเด็ก ที่หมู่บ้าน พวกผู้ใหญ่เขาฝึกร้องเพลงฉ่อยกัน เราเห็นบ่อยๆ ก็เข้าไปหัดร้องรำตามแต่ผู้ใหญ่ให้ทำ"

คุณลุงเสมศักดิ์เล่าถึงความชอบในวัยเด็ก

ผ่านมานับสิบปี...ความชอบไม่เคยจางหายไปตามวัย จนเมื่อมีโอกาสของกลุ่ม อสม. ที่ลุงเป็นเครือข่ายจึงได้นำเพลงฉ่อยที่เคยร้องเล่นกลับมาอีกครั้ง ถึงแม้นจะใช้เวลาในการฝึกซ้อมไม่นาน แต่ก็เป็นที่กล่าวขวัญกันไม่น้อย จนเมื่อกลุ่มสุขภาพ ของ สสจ.พิจิตรได้เล็งเห็นจึงสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ อนามัย โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ ซึ่งคนในชุมชนเป็นกันมาก โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผนวกกับท่วงทำนองสนุกๆ ของเพลงฉ่อยที่คุ้นเคย จึงเข้าถึงได้ไม่ยาก นอกเหนือจากเอกสารและวิธีการดูแลตัวเองที่สาธารณสุขแนะนำ กิจกรรมสุขภาพการออกกำลังกาย

เสื้อลายดอกสีสดใส โจงกระเบนสีเข้ม ขับเน้นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกลุ่มที่จะทำประโยชน์เพื่อชุมชน

ผมได้เห็นรอยยิ้ม ท่วงท่าการฟ้อนรำ ที่บ่งบอกถึงสุขภาพจิตใจ สุขภาพร่างกาย ที่ยาก็ไม่ให้ได้นอกจากยาที่จิตใจ อีกทั้งเป็นการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมพื้นบ้านที่กำลังจะศูนย์หายไปพร้อมกับวันเวลา

ผมได้พูดคุยกับคุณหมอจิตราพร (หมอแหวว) หัวหน้าสถานีอนามัยตำบลคลองคูณ

"ที่นี่เรามีปัญหาเรื่องสุขภาพของผู้สูงวัย โรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เบาหวาน ความดัน หัวใจ การที่จะรักษาไม่ได้หมายถึงการใช้ยาเท่านั้น เพราะยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคืออาหาร เราแนะนำให้ชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษไว้รับประทานเองอย่างน้อย ครัวเรือนละ 5 ชนิด หากเหลือจากบริโภคก็สามารถนำไปขายหรือสามารถนำไปแบ่งเพื่อนบ้าน และนำไปขายได้ เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าอาหารเป็นแหล่งที่ก่อเกิดของสารตกค้างจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง หากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้าง"

"เรามีกิจกรรม หลากหลาย อย่างเช่น ชมรมขี่จักรยาน จะขี่กันในวันเสาร์-อาทิตย์ ครั้งละประมาณ 20-30 คัน ขี่ไปเรื่อยๆ เข้าไปในเมืองตะพานหิน แล้ววกกลับมา รวมๆ ระยะทางประมาณ 7-8 กิโลเมตร"

นอกจากกิจกรรมการขี่จักรยานแล้ว การออกกำลังกาย หรือแอโรบิค โดยใช้ยางยืด (หนังยาง) ซึ่งมีขายตามร้านค้าทั่วไป นำมาร้อยต่อกันให้เป็นเส้นยาวพอประมาณเมตรกว่าๆ ผสมกับท่าการบริหารง่ายๆ ประกอบเสียงเพลง ต้อง
เลือกท่าทางที่เหมาะสมเพราะการออกกำลังกาย ท่ายากๆ แทนที่จะเป็นผลดีกลับเกิดผลเสียได้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นการบำบัดรักษาโรค ใครจะคิดว่าเจ้ากะลามะพร้าวที่ทิ้งกันเกลื่อนกลาดสามารถนำมาบำบัดจนเกิดประโยชน์ วิธีการก็ง่ายๆ นำกะลามาเรียงต่อกัน สองแถวให้ห่างพอประมาณเท้าที่พอก้าวได้ สักแถวละ 5 กะลาแต่ต้องเป็นกะลาที่มีตาเพราะจะทำให้เลือดลมเดินได้สะดวกเวลาเหยียบ ส่วนวิธีการเรียกว่าเดินกะลาเราจะหาราวจับเพื่อสะดวกในการเดิน เดินไปกลับช้าๆ ประมาณ15 นาที หรือครึ่งชั่วโมงในแต่ละวัน เช้า-เย็น เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า การเดินนี่รักษาหลากหลายโรค ปวดหัว ปวดขา นอนไม่หลับก็สามารถรักษาหรือบำบัดได้ ไม่ต้องไปรับประทานยาแก้ปวดให้เสียเงินเสียทอง เช่น หากเดินด้วยปลายเท้า อุ้มเท้า หรือส้นเท้า เพราะเส้นประสาทต่างๆ จะรวมอยู่ที่เท้าเป็นส่วนใหญ่ นี่แหละใครจะคิดว่ายาเท่านั้นที่รักษาโรคได้จะเรียกว่าวิธีการหนียาก็ไม่ผิด ไม่ใช่เอะอะก็กินแต่ยาเมื่อมีคุณก็มีโทษเช่นกัน สารตกค้างในร่างกายที่เราไม่รู้เป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ ตามมา วิธีง่ายๆ ถึงจะได้ผลช้ากว่าแต่ว่าแน่นอนกว่า ไม่เหมือนยาปฏิชีวนะ ที่ได้ผลรวดเร็วแต่ผลข้างเคียงมากมาย

ผมได้เห็นกิจกรรมหลากหลายกิจกรรม ที่ต่างมุ่งไปสู่การดูแลรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจให้แข็งแรง คงเป็นวิธีการเสริมแรงต่อต้านกับโรคที่เป็นการป้องกันสำหรับคน
ที่ยังไม่เกิด และเป็นการป้องปรามสำหรับคนที่เกิดขึ้นมาแล้วให้รู้จักดูแลรักษาไม่ให้เป็นมากขึ้น

ชาวตำบล... มีหลายกลุ่ม หลายหน่วยที่ช่วยกันไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม อสม. กลุ่มผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่สาถานีอนามัยทุกคนทำงานไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี สุขภาพดี ที่เรียกว่าดีกันทั่วหน้า

เสียงเพลงจบลง...

แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีใครบอกได้... ตราบใดที่เรายังไม่มีตัวยาที่รักษาโรคชราได้อย่างแท้จริง หรือว่าไม่มี...จริงๆ

 

ขอขอบคุณ

สถานีอนามัยคลองคูณสำหรับกิจกรรมดีๆ เพื่อนชาวบ้าน หัวหน้าสถานีฯ เจ้าหน้าที่ ทุกท่านที่ทำงานเหมือนกับดูแลดังญาติ

สสจ.จังหวัดพิจิตร ที่ได้ทราบถึงความคิดและความตั้งใจเพื่อให้คำว่า ดี มิใช่แค่คิด

กลุ่มต่างๆ ที่ทำงานเพื่อชุมชนคนในหมู่บ้าน

หมายเลขบันทึก: 272760เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2009 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาชม

เป็นเพลงที่ยังไม่จบนะครับ...

ขอคารวะทุกท่านที่ทำงานเพื่อชาวบ้านและผู้สูงวัยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท