หนังสือ Revolutionary Wealth ของ Alvin Toffler (1)


ทอฟเลอร์นำเสนอคำใหม่ ปัจจัยที่ยิ่งกว่าพื้นฐาน หรือ Deep Fundamental ซึ่งประกอบไปด้วย เวลา พื้นที่ และความรู้

หนังสือเล่มล่าสุดของทอฟเลอร์ ก็คือ หนังสือ Revolutionary Wealth (หรือ เล่มแปลชื่อ ความมั่งคั่งปฏิวัติ)

 

แอมมี่ขออนุญาตนำรีวิว บางส่วน ของคุณ house มาให้อ่านกันค่ะ

ความมั่งคั่งปฏิวัติ  (Revolutionary Wealth) ของอัลวิล และไฮดี้ ทอฟเลอร์ แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล(Fringer) เป็นหนังสือดีที่อ่านจบแล้วผมพบว่าไม่สามารถเขียนรีวิว ให้กระชับได้

ดังนั้นก็เลยกะเขียนไปเรื่อยๆ จบตรงไหน ก็ตรงนั้น ก็แล้วกัน

ทอฟเลอร์ไม่ได้ใช้คำว่า "มั่งคั่ง "(Wealth)ในความหมายทั่วๆไปเช่นเงินทอง แต่ใช้่ในความหมายที่กว้างกว่านั้นมาก ผมอยากจะเรียกว่าความ "อยู่ดีกินดี" มากกว่า ดัีงนั้น ความมั่งคั่งปฏิวัติ โดยรวมแล้ว จึงกล่าวถึง กระบวนการที่ทำมนุษย์อยู่ดีกินดี นั่นเองที่เปลี่ยนไปอย่างพลิกโฉม ทั้งที่เริ่มขึ้่นแล้ว และจะเริ่มต่อไป

ทอฟเลอร์นำเสนอคำใหม่ ปัจจัยที่ยิ่งกว่าพื้นฐาน หรือ Deep Fundamental ซึ่งประกอบไปด้วย เวลา พื้นที่ และความรู้

1. เวลา

ไม่มีเศรษฐกิจใดก้าวหน้าไปได้ โดยไม่หอบเอาสังคมไปด้วย ในขณะที่วงล้อของภาคธุรกิจหมุนเร็วขึ้นๆมันก็ยิ่งทิ้งส่วนอื่นๆไว้ไกลขึ้นทุกที ลองดูที่ทอฟเลอร์เปรียบเปรยสิ

 - 100 miles/hour บริษัท วิ่งเร็วสุดขีดด้วยอำนาจของการแข่งขัน และทุกครั้งที่บริษัทหนึ่งเร็วขึ้นมันก็ลากคู่แข่ง และซัพพลายเออร์ ให้เร็วขึ้นด้วย 

- 90 miles/hour ภาคสังคม ทั้ง NGO รากหญ้า และสมาพันธ์อีกล้านแปด วิ่งตามภาคธุรกิจมาติดๆ มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุน และกลุ่มที่คัดค้าน หลายๆคนในนี้เรียกร้องอย่างสิ้นหวังที่จะ้เห็นภาครัฐตามมาเสียที

 - 60 miles/hour ครอบครัว วิถีชีวิตกำลังเปลี่ยนเพื่อตอบรับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างวัยที่เปลี่ยนไป จนถึงความถี่ของการหย่าร้าง

 - 30 miles/hour สหภาพแรงงาน  สหภาพติดหล่มของโครงสร้างเก่าแก่ ในขณะที่บริษัทสรรหา นวัตกรรม และพนักงานดาวเด่น งานแบบสัญญาจ้าง(subcontract) เพิ่มขึ้นทุกที พนักงานและระบบของสหภาพก็ล้าหลังลงทุกวัน

 - 25 miles/hour ราชการ คงหาคำประชดที่เจ็บกว่าของทอฟเลอร์ไม่ได้แล้ว ระบบราชการมีทักษะในการปัดเสียงวิจารณ์และชะลอการเปลี่ยนแปลงทีละเป็นสิบๆปี กำลังพยายามชะลอความเร็วของภาคธุรกิจอย่างมุ่งมั่น

และที่ช้าสุดๆ

 - 10 miles/hour ระบบโรงเรียน อันนี้ดูหน้าหนังสือพิมพ์เราเร็วๆนี้ก็คงรู้ 

 - 5 miles/hourสถาบันไร้ความสามารถ ในลิสต์มีทั้ง สหประชาชาติื ไอเอ็มเอฟ องค์การค้าโลก

- 3 miles/hour สถาบันการเมือง ล้าหลัง ไร้ความสามารถ เวลาสองในสามหมดไปกับแึคมเปญหาเสียง และอีก 1 ใน 3 หมดไปกับการแก่งแย่งอำนาจ

- 1 miles/hour ระบบกฏหมาย กฏหมายไม่เคยเปลี่ยนแปลงทันสภาพสังคม ดูการไล่ตามบล็อกอินเตอร์เน็ตอย่างสิ้นหวังของรัฐบาลสิ ดูกฏหมายลิขสิทธิ์ที่ไร้ประสิทธิภาพสิ กฏหมายภาษีที่ดินอีกกี่ชาติถึงจะบังคับใช้ได้?

 ความเหลื่อมล้ำของความเร็วเหล่านี้ ทำให้การประสานงาน(Synchronization) ผิดเพี้ยน ความพยายามในยุคอุตสาหกรรม คือทำให้ทุกอย่างเข้าจังหวะกัน ระบบต่างๆเช่น JIT ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อการนั้น แต่ยิ่งกระบวนการเข้าจังหวะจำเป็นต้องแม่นยำมากเท่าไหร่ ความซับซ้อนของมันก็มากขึ้นเท่านั้น

วันนี้ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะเวลากำลังจะผิดจังหวะกันอีกครั้ง ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นความจงใจ

คนหลายคน ไม่ทำงาน 9 โมงถึง 5 โมงเย็นอีกแล้ว เขามาทำงานตามเวลาที่เขากำหนด ไม่ใช่นายจ้่างกำหนด(หมายถึงพวกฟรีแลนซ์)

บรรเทิงล่ะ? ทีวีกำลังสูญเสียความสามารถในการกำหนดตาราง คนดูต่างหากที่เป็นผู้กำหนด ผ่านเคเบิ้ลทีวี หรือ ไอพีทีวี 

ครอบครัว? เวลาแสนสุขที่ทุกคนได้กินข้าวเย็นด้วยกันผันผ่านไปแล้ว เดี๋ยวนี้ตารางเวลาไม่มีมาตรฐาน โอกาส เจอกันพร้อมหน้าช่างยากเย็น

ทุกอย่างกำลังกลายเป็น 24/7

และนี่คือปัจจัยพื้นฐานประการแรกที่ทอฟเลอร์พูดถึง!

ถัดจากเวลา ทอฟเลอร์ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยอย่างที่สองที่พลิกผันอย่างรุนแรงคือ

2. พื้นที่ 

ในอดีต คลีฟแลนด์เคยเป็นต้นแหล่งอุตสาหกรรมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ วันนี้ มันกลับลดความสำคัญลง งานไหลบ่าไปยังเอเชีย เขตอุตสาหกรรมใหม่ในจีน และอินเดีย กำลังเปลี่ยนทุกอย่างไป

เดิม เม็กซิโกเคยได้เปรียบอย่างมากเนื่องจากความสะดวกในการขนส่ง เศรษฐกิจที่วางรากฐานอยู่บนความรู้ก็แสดงให้เห็นว่านั่นไม่จำเป็นอีกต่อไป งานสามารถโยกย้ายไปครึ่งโลกได้โดยไม่มีผลกระทบ เขตแดนต่างๆกำลังหมดความหมาย คนห้าร้อยล้านเดินทางข้ามประเทศของตนทุกปี

บริษัทขนาดใหญ่ และองค์กรต่างๆ(ทั้งสว่างและมืด) ขยายตัวไปทั่วโลก  ธุรกิจยาผิดกฏหมายมีขนาดกว่าสี่แสนล้านดอลลาห์ และโยกย้ายอย่างอิสระ ในขณะที่ประเทศต่างๆร่ำไห้ด้วยความสิ้นหวัง แทบไม่เหลือทางในการจัดการกับเครือข่ายข้ามชาติขนาดใหญ่

ปัจจัยสุดท้ายคือ

3. ความรู้

ความรู้เป็นปัจจัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นตัวการที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กินไม่ได้นอนไม่หลับ

ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ตั้งขึ้นบนพื้นฐานของความขาดแคลน(ทุกสิ่งต้องมีต้นทุน) แต่ความรู้นั้น
1. ไม่มีการแย่งชิง ผมเรียนฟิสิกส์ คุณก็เรียนได้
2. เป็นนามธรรม
3. ไม่เป็นเส้นตรง ความคิดเล็กๆอาจให้ผลลัพธฺ์ที่ยิ่งใหญ่
4. เป็นเรื่องสัมพัทธ์  และผสมผเสกับความรู้อื่นๆได้
5. เคลื่อนย้ายได้ บีบอัดเป็นสัญลักษณ์ได้
6. จัดเก็บง่าย และเล็กลงเรื่อยๆ
และ 7. กักขังยาก เมื่อคนหนึ่งรู้อีกไม่นานทุกคนก็จะรู้

ทอฟเลอร์เรียกความรู้ว่าเป็น "น้ำมันของวันพรุ่ง" ยิ่งใช้เท่าไหร่ยิ่งเพิ่ม ยึ่งมีคนรู้มาก ยิ่งมีคนช่วยคิดมาก และก็ยิ่งสร้างความรู้ใหม่ๆมากขึ้นไปอีก(ผมนั่งพิมพ์อยู่นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งน่ะนะ :D)

ปัญหาที่ตามมาคือ
คุณจะย่อยความรู้มหาศาลนี้ได้อย่างไร คุณจะสร้างองค์ความรู้เจ๋งๆใหม่ได้อย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลใดเป็นจริงหรือเท็จ?

ยังมีต่อค่ะ แล้วจะขออนุญาตนำมาลงต่อนะคะ  ^^

หมายเลขบันทึก: 273293เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2009 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นหนังสือที่น่าสนใจมากค่ะ รออ่านต่ออยู่นะคะ ^^

ขอบคุณมากค่ะ คุณ Mayo

เดี๋ยวจะโพสต์ให้อ่านต่อนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณ นวลจิรา รุจิเรศ

น่าอ่านจริงๆ ค่ะ ขนาดแอมมี่อ่านรีวิวก็ยังชอบเลย

แต่มีเวลาอ่านได้แค่รีวิว เพราะเวลามีจำกัดค่ะ

แค่นี้ก็ได้ประโยชน์เยอะแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท