มุมมืดของงาน Open House ในโรงเรียน


การเปิดบ้านในโรงเรียน

มุมมืดของงาน  Open  House   ในโรงเรียน

 

                ผู้เขียนได้อ่านบทความของผู้ที่ใช้นามปากกาว่า  ครูเฒ่า  ชาวเหนือ  ซึ่งลงพิมพ์ในวารสารดอกไม้วัยเยาว์  เมื่อเดือนเมษายน   โดยท่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงาน  Open  House  ในโรงเรียนไว้อย่างน่าสนใจโดยสรุปได้ดังนี้

                Open  House  แปลว่า  เปิดบ้าน   จุดมุ่งหมายในการเปิดบ้าน  ก็เพื่อให้คนภายนอกได้เข้าไปเยี่ยมเยือน  เข้าไปดู  ไปเรียนรู้  ไปชื่นชม ในความมีระเบียบของการจัดบ้าน    รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต่าง ๆ  นอกจากนั้นยังได้เข้าไปสนทนาแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการเลี้ยงดูลูก ๆ  ให้เป็นคนน่ารัก  มีระเบียบวินัย  มีคุณธรรม  และเป็นคนดีของสังคม  หรือที่เรียกกันว่า  คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคน   เพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง หรือเป็นความรู้ไว้ประดับสติปัญญาของตน  ซึ่งความหมายของการ เปิดบ้าน ขึ้นในโรงเรียน  ก็มีความหมายคล้ายคลึงกันนี้

                ประเพณีการเปิดบ้านขึ้นในโรงเรียน  มีมาพร้อม ๆ กับการปฏิรูปการศึกษา   เพราะกระแสสังคม  คิดว่าคนไทยด้อยคุณภาพ  คิดวิเคราะห์อย่างมีระบบไม่เป็น  ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน  ขาดความกระตือรือร้น  ขาดความรับผิดชอบ  และขาดคุณภาพด้านอื่น ๆ อีกมากมาย   ผลสุดท้ายก็สรุปว่าการศึกษาของไทยยังล้าหลัง ผลผลิตจึงออกมาเป็นคนแบบนี้  ซึ่งวิธีการแก้ไขก็คือ  โรงเรียนทุกโรงเรียนและครูทุกคนต้องมีการประกันคุณภาพการศึกษาให้เห็นชัดเจน  ทั้งยังมีวิธีการตรวจสอบการทำงานสารพัดรูปแบบ  เพื่อพิสูจน์ว่า ครูสอนนักเรียนให้มีคุณภาพจริงหรือไม่  ซึ่ง  Open  House   ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการตรวจสอบนั่นเอง  

                ด้วยเหตุนี้แต่ละโรงเรียนจึงต้องหาวิธีการพัฒนาทุกรูปแบบเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม  เช่น   กำหนดแผนงาน หรือสร้างธรรมนูญโรงเรียนขึ้นมา  เพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพ  สามารถแสดงให้ดูได้ด้วยเอกสาร  ภาพถ่าย  ภาพเคลื่อนไหว  ชิ้นงาน  หรือมีแฟ้มหลักฐานต่าง ๆ  ให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา  และเมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็นำมาแสดงในวัน  Open  House 

          ส่วนครูผู้สอนก็ต้องปรับตัวเข้าสู่แนวการปฏิรูปความคิดและพฤติกรรมตามแนวใหม่  คือต้องคิดวิเคราะห์สภาพการณ์ และองค์ประกอบต่าง ๆ ในโรงเรียน เพื่อนำมาประกอบกัน  แล้วสร้างให้เกิดเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ได้ประกันฯนั้น   เมื่อเข้าใจแล้วจึงสร้างหลักสูตร  สร้างหน่วยการเรียนรู้  ออกแบบกระบวนการเรียนรู้  และเอกสารประกอบในแต่ละขั้นตอนของการเรียนรู้ที่เรียกว่าสื่อการเรียนรู้  รวมทั้งคิดวิธีวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง โดยเน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติจริง  จึงจะสามารถคิดค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง  เรียกว่า  เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  การทำงานทุกขั้นตอนควรมีหลักฐานพยานแวดล้อมชัดเจน ตรวจสอบได้ เช่น แฟ้มสะสมผลงานของผู้เรียน แล้วนำมาจัดแสดงเป็นหมวดหมู่  หรือจัดในรูปของนิทรรศการสรุปงาน  เพื่อให้แขกที่เข้ามาชมบ้านในโรงเรียนได้เข้าใจง่ายขึ้น  ภายในเวลาอันรวดเร็วในวันเปิดบ้าน

                ครูเฒ่า  ชาวเหนือ  ได้แสดงความคิดเห็นว่า  กว่าจะได้งานออกมาแต่ละชิ้นครูต้องทุ่มเท  เสียสละ  และใช้ความเพียรพยายามอย่างมาก  เพราะฉะนั้นในงานเปิดบ้านของโรงเรียน  ควรจะมีแต่บรรยากาศทางวิชาการท่านั้น  ไม่ควรมีมหรสพใด ๆ มาแสดง  เพราะแขกที่มาร่วมงานจะมัวชมมหรสพเพลินจนลืมเข้าไปชมของดีในบ้าน  ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นมุมมืดของงาน  Open  House  ในโรงเรียน

                จากบทความเรื่อง มุมมืดของงาน Open  House ในโรงเรียน  ผู้เขียนเห็นด้วยกับความคิดของครูเฒ่า  ชาวเหนือ  ที่บอกว่า  ครูผู้สอนต้องปรับตัวเข้าสู่แนวการปฏิรูปความคิดและพฤติกรรมตามแนวใหม่  เพราะการทำงานในปัจจุบันต้องมีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา  สะดวกสำหรับผู้ประเมิน  และยุติธรรมสำหรับผู้ที่ได้รับการประเมิน   แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าการเปิดบ้านในโรงเรียนไม่ควรมีมหรสพใด ๆ มาแสดง   เพราะมหรสพ  คือ สีสันของงาน  เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจที่ดี โดยเฉพาะมหรสพที่เกิดจากความสามารถทางการแสดงของเด็กนักเรียนในโรงเรียน  เช่น  การแสดงดนตรี  นาฏศิลป์  การแสดงละครที่แฝงคุณธรรม  แต่โรงเรียนควรจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม  เพื่อคืนกำไรให้กับผู้มาชมงาน ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่  ทำให้พวกเขาได้ทั้งความรู้เชิงวิชาการจากการจัดนิทรรศการของกลุ่มสาระต่าง ๆ  และได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการแสดงความสามารถของนักเรียนในรูปของมหรสพอีกด้วย

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องทั่วไป
หมายเลขบันทึก: 274442เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2009 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นอกจากงดมหรสพแล้ว งานวิชาการต่าง ๆ ที่จัดควรงดสินค้าต่าง ๆ ที่มาขายด้วยนะค่ะเพราะครูไทยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะครูหญิง) จะช็อปจนลืมว่ามาดูงานวิชาการ ที่รู้เพราะเคยเป็นค่ะ

ความสนใจของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะคะ ถ้าเขาตั้งใจมาดูงานวิชาการเขาจะมุ่งไปที่เต็นท์วิชาการแต่ละเต็นท์ทันที แต่ถ้ามาเพราะภารกิจต้องมาส่งลูก ๆ แสดง หรือมาเพราะอยากดูสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ เขาก็อาจจะเห็นว่าความรู้ทางวิชาการเป็นผลพลอยได้ ก็ยังดีกว่าไม่มาเสียเลย ไม่ใช่หรือคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท