ข้อสังเกตการจัดอาชีวศึกษา ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว : จังหวัดเชียงใหม่


การจัดอาชีวศึกษา ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 การจัดการอาชีวศึกษาในจังหวัดใหญ่ ๆ ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่  เชียงราย ลำปาง และจังหวัดที่อยู่รายรอบจังหวัดเหล่านี้ ซึ่งมีกลุ่มสถานศึกษาที่จัดการอาชีวศึกษาที่อยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี  วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพและวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยี นอกจากนั้นยังมี โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน   มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตต่าง ๆ  มหาวิทยาลัยเอกชนต่าง ๆ มีกลุ่มลูกค้าเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนระดับ ปวช. นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6   สถานศึกษาและสถาบันการศึกษาดังกล่าวที่จัดการด้านอาชีวศึกษา เปิดสาขาวิชาที่หลากหลาย   สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน  ที่เปิดสอนในประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยใช้หลักสูตรของ สอศ.   ลองมาดูว่า มีข้อสังเกตอะไรกันบ้างเมื่อจะต้องเปิดสอนสาขานี้ 

 

Photobucket

 

 bottom สาขายอดฮิตของอาชีวศึกษาเอกชน   ปวช. สาขางานการท่องเที่ยว  ปวส. สาขาวิชาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว  จาก 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่  ได้เปิดสาขาเหล่านี้ เหมือนจะปูพรมเปิดกันทุกแห่ง เพื่อต้อนรับการท่องเที่ยวของภาคเหนือของเรา เริ่มตั้งแต่หลังกระแสงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549   ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงราย อย่างชัดเจนมาก ทั้ง สถานที่ท่องเที่ยวอื่น สถานที่พัก ระบบการขนส่ง ของที่ระลึกและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว  รวมถึงมีการกำหนดสถานที่จนกลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวของคนตั้งแต่ระดับรากหญ้าขึ้นไปตามลำดับ

 

 bottom การจัดแผนการเรียน  โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการศึกษาด้านนี้ ทั้ง ๆ ที่ คู่แข่งในตลาดโดยเฉพาะระดับ ปวส. ที่เข้มข้นทั้งของภาคเอกชนด้วยกันเองและสถานศึกษาของภาครัฐ  ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่รองรับนักศึกษาในระดับ ปวส. สาขานี้  สิ่งที่น่าสนใจคือ โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนหลายแห่งได้จัดแผนการเรียน นอกเหนือจากวิชาภาษาอังกฤษที่จะต้องมีทุกภาคเรียนอยู่แล้ว ยังได้เลือกรายวิชาภาษาจีน  ซึ่งเป็นภาษาที่มีบทบาทอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้   อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญคือ  แผนการเรียนจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรของสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ เพื่อจะได้ขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ การจัดแผนการเรียนในประเภทวิชานี้ต้องยึดว่า การท่องเที่ยวนั้น จะประกอบด้วยเรื่องหลัก ๆ อยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ  การท่องเที่ยว  ที่พักและการขนส่ง

 

 Photobucket

 

 bottom ความพร้อมของบุคลากร  โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนต้องเตรียมคนทางด้านนี้ไว้พอสมควร ผิดกับสถานศึกษาของรัฐในสังกัดอาชีวศึกษา สามารถใช้บุคลากรในสาขาการโรงแรม หรือ สาขาอาหารและโภชนาการ ช่วยในการจัดการเรียนการสอนร่วมกันได้ เนื่องจากเนื้อหาสาระที่ใกล้เคียงกัน  หากสถานศึกษานั้น มีบุคลากรเฉพาะสาขาเพียง 1 คน จะเกิดอะไรขึ้น   เมื่อภาคเรียนถัดมาที่จะลงในรายวิชาเฉพาะสาขาวิชาหรือสาขางาน  หรือการนำบุคลากรในสาขาอื่น ซึ่งไม่ได้ผ่านการพัฒนาเฉพาะด้านมาจัดการเรียนการสอน  ท้ายที่สุดก็มาลงที่คุณภาพของนักเรียน/นักศึกษาที่ต้องการผลิตออกมา หน้าตาจะสะสวยแค่ไหน เรื่องความพร้อมของบุคลากรก็เป็นเรื่องที่จะต้องใส่ใจเช่นกัน

 

bottom การฝึกงาน  เนื่องจากการจัดอาชีวศึกษาได้กำหนดให้นักเรียน/นักศึกษาได้ฝึกงาน เพื่อหาประสบการณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะได้ฝึกงานในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ  อย่างที่เข้าใจกันว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบนอีกจังหวัดหนึ่ง  ความสะดวกในเรื่องการคมนาคมทั้งทางอากาศและทางบก มีสถานประกอบการจำนวนมาก แต่การเลือกหาสถานประกอบการที่มีความจำเป็นจะรับนักเรียน/นักศึกษาเข้าฝึกงานนั้น ก็มีข้อจำกัดทั้งเรื่องความเหมาะสม ปลอดภัย และได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องคิดวางแผนกันล่วงหน้า  ไม่นับรวมจำนวนนักเรียนนักศึกษาสาขาท่องเที่ยวที่ต้องฝึกงานพร้อมกันในช่วงภาคฤดูร้อนของโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน สถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนสาขานี้  ดังนั้น การจัดแผนการเรียน ก็เป็นสิ่งไม่อาจมองข้ามได้  และอีกเรื่องที่สำคัญคือ  ไฮซีชั่นของภาคเหนือ  จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ในขณะที่แผนการฝึกงานของโรงเรียนฯ อยู่ในภาคฤดูร้อน  ซึ่งมีเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น ที่สถานประกอบการจะต้องการบุคลากรด้านนี้

Photobucket

 

bottom สถานประกอบการ   อย่างที่เรารับรู้กันแล้วว่า  ช่วงนี้ทั่วโลกโดยเฉพาะอเมริกา ต้องเจอพิษแฮมเบอร์เกอร์ ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทั้งในยุโรปและเอเชีย  ไม่นับโรคไข้หวัดนก ตามมาด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศในแถบเอเชีย  รวมทั้งประเทศไทยก็ไม่ได้หลุดพ้นจากผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่หน้าด่านภาคเหนือ ถึงแม้จังหวัดนี้จะมีสนามบินนานาชาติที่บินตรงกับหลายประเทศในย่านนี้  การเลิกจ้าง  การชะลอการรับพนักงาน  การจัดการที่จะทำอย่างไรให้มีการรักษาบุคลากรเหล่านั้นไว้โดยที่ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด   ดังนั้น หลายแห่งปฏิเสธรับนักเรียน/นักศึกษาเข้าฝึกงาน เนื่องจากจะต้องใช้บุคลากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ หากรับนักเรียน/นักศึกษาเข้าไป ก็เท่ากับต้องแบ่งคนที่จะมาช่วยฝึกช่วยสอนคนกลุ่มนี้ด้วย  เป็นเรื่องที่สถานศึกษาจะต้องเตรียมวางแผนในระยะยาวไว้เผื่อเวลาฟื้นตัวซึ่งเราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นหนึ่งหรือสองปี หรือยาวกว่านั้น หรือ จนกว่านโยบายภาครัฐที่ชัดเจน ที่จะมีโครงการหรือมีกิจกรรมต่าง ๆ  มาสนับสนุนการท่องเที่ยวให้กระเตื้องขึ้น ซึ่งเราก็ได้เห็นความพยายามในหลายเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งจะตรงกับเป้าหรือไม่ก็ต้องคอยติดตามกัน  และก็เป็นที่น่ายินดีของจังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุดกระแสแพนด้าน้อย  จะมาช่วยกู้สถานการณ์ได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งหมดคงจะเป็นบางส่วนที่เป็นข้อสังเกตที่ได้จากการจัดการเรียนการสอนในประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยังมีรายละเอียดอื่นอีกที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้  ซึ่งการวางแผนทั้งหมด ก็ไม่พ้นในเรื่อง ของคน สถานที่และการจัดการ  ย้อนกลับมามองการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  ที่จัดการเรียนการสอนในประเภทวิชานี้   ส่วนใหญ่ไม่ได้มีคณะกรรมการมาช่วยตรวจสอบความเหมาะ สม เช่นเดียวกันกับของโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน  ดังนั้น ผู้เขียนจึงหวังว่า ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น อาจจะมีประโยชน์ที่ใช้นำไปทบทวนวิธีการจัดการให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัดและสถานศึกษาของ สอศ. แห่งนั้น ๆ  เพื่อให้เราได้ผลผลิตเป็นนักเรียน/นักศึกษาที่ได้คุณภาพตรงกับที่สถานประกอบการเขาต้องการ

อ้างอิง :
 
1.  สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ, http://www.pgathaiguide.com/   (9 กรกฎาคม 2552)
 
2หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง   ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
http://bsq.vec.go.th/course/data_new/3702.pdf (9 กรกฎาคม 2552)

 นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์ ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่  9 กรกฎาคม  2552
 
จากการร่วมเป็นคณะกรรมการรวจสอบความเหมาะสมของโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน ร่วมกับ
 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1

 บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคเหนือ
 ผู้ที่จะนำบทความ รูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น
 ผลงานและสิ่งพิมพ์ของผู้เขียน ปรับปรุงข้อมูล วันพฤหัสบดี, 09 กรกฎาคม 2552
 ติดต่อผู้เขียนที่  [email protected] 

หมายเลขบันทึก: 274700เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท