วันไหว้ครู : วัฒนธรรมไทยอันควรค่าแก่การสืบทอด


          วันนี้เป็นวันดี  วันพฤหัสบดีที่ 9  เดือนกรกฎาคม 2552  องค์กรนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดพิธีไหว้ครู ณ อาคารเอนกประสงค์อย่างเช่นทุกปี

          พิธีสั้นๆ ง่ายๆ  แต่ประทับใจ หัวใจคนเป็นครูทุกคน รวมถึงครูที่เรียกว่า "อาจารย์" ในมหาวิทยาลัยอย่างดิฉันด้วย

          ดิฉันพยายามหาความหมายของทุกอย่างในวันครู   บันทึก ไว้ใน "วันดี"  วันนี้

  1. วันครู ตามประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี
  2. วันไหว้ครู ของมหาวิทยาลัย นิยมจัดในเดือน มิถุนายน  เพราะเป็นเดือนแรกของการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษาใหม่ 
  3. วันไหว้ครู โดยทั่วไปนิยมจัดวันพฤหัสบดี เพราะตามความเชื่อของไทยถือว่าวันพฤหัสบดี คือ วันครู หรือ ครุวาร
  4. ขั้นตอนหนึ่งของพิธีการ นิสิตทุกคนจะต้อง วดไหว้ครูทำนองสรภัญญะ ที่ไพเราะจับใจด้วย ดังนี้

ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตะรานุสาสกา
(ครูอาจารย์เป็นผู้ทรงคุณอันประเสริฐยิ่ง   เป็นผู้พร่ำสอนศิลปวิทยา)

ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ ผู้ก่อเกิดประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าฯ ในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ข้าฯ และประเทศไทยเทอญ

ปัญญาวุฒิ กะเรเตเต ทินโนวาเท นะมามิหัง
(ข้าพเจ้าขอนอบน้อมเหล่านั้น ผู้ให้โอวาท ผู้ทำให้ปัญญาเจริญ ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ครูอาจารย์เหล่านั้นด้วยความเคารพ)  

          แล้วก็ร้องเพลง "พระคุณที่สาม" ให้ครูฟัง ดังกระหึ่มไปถึงก้นบึ้งของหัวใจครูทีเดียวเจียว.......

   ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้
อบรมจิตใจให้รู้ผิดชอบชั่วดี 
ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที      
ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น
 
   ครูมีบุญคุณจะต้องเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า 
ท่านสั่งสอนเราอบรมให้เราไม่เว้น 
ท่านอุทิศไม่คิดถึงความยากเย็น        
สอนให้รู้จัดเจนเฝ้าแนะเฝ้าเน้นมิได้อำพรางอำพราง

   *พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส 
แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง 
ถ้าหากจะคิดยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง 
มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู
 
   บุญเคยทำมาตั้งแต่ปางใดเรายกให้ท่าน 
ตั้งใจกราบกรานเคารพคุณท่านกตัญญู 
โรคและภัยอย่ามาแผ้วพานคุณครู 
ขอกุศลผลบุญค้ำชูให้ครูเป็นสุขชั่วนิรันดร 

คำร้อง/ทำนอง : ครูอร่าม ขาวสะอาด

ความหมายของดอกไม้ ที่นำมาไหว้ครู

  1. ดอกเข็ม  มีลักษณะแหลม มีความหมายว่า ศิษย์จะมีสติปัญญาเฉียบแหลมและฉลาดรอบรู้ได้ ก็ด้วยอาศัยครูเป็นผู้ ฝึกฝนเช่นเดียวกับการทำของที่แหลมคม ย่อมต้องมีการฝนหรือลับซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ครูเป็นบุคคลที่มี ความพยายามและอดทนในการให้การฝึกฝนศิษย์ จึงสมควรที่ศิษย์จะต้องบูชาและเคารพยกย่อง

     
       
  2. ดอกมะเขือ  เป็นดอกไม้ที่บานแล้วคว่ำดอกลงสู่พื้นดิน ไม่หงายขึ้นรับแสงอาทิตย์เช่นดอกไม้ชนิด อื่น ๆ เป็นเครื่องสักการะที่เตือนให้ศิษย์ระลึกได้อยู่เสมอว่า ศิษย์จักต้องก้มหน้าและน้อมรับคำสั่งสอนของครูเสมอ การโต้เถียงครูด้วยความโกรธ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

     
  3. หญ้าแพรก  เป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งและการเหยียบย่ำ  และขยายพันธุ์ได้ดีในพื้นที่ทุกชนิดหญ้าชนิดนี้ จึงมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง แม้ถูกเหยียบย่ำก็ไม่ตาย ได้รับน้ำฝนก็จะแตกใบขยายพันธุ์ขึ้นอีก มีความหมายว่า ศิษย์จะต้อง อดทนต่อการเคี่ยวเข็ญดุว่า เฆี่ยนตีของครูโดยไม่ถือโกรธ ดุจดังหญ้าแพรกที่ถูกเหยียบย่ำ ฉะนั้น การมีความอดทนต่อ การเคี่ยวเข็ญดุว่า เฆี่ยนตีของครูนั้น จะทำให้ศิษย์เป็นคนมีมานะอดทน รู้จักปรับตัว และแก้ไข ความประพฤติที่บกพร่องให้ดีขึ้นเมื่อเติบโตขึ้นย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยดีในทุกหมู่ชนและทุกสถานที่ดุจดังหญ้าแพรกที่สามารถ เจริญและขยายพันธุ์ได้ในพื้นที่ทุกแห่ง

       
  4. ข้าวตอก  ทำมาจากข้าวเปลือกโดยนำข้าวเปลือกไปแช่น้ำให้นิมแล้วนำไปคั่วด้วยความร้อนจนเม็ดข้าวแตกและ บานออกมีสีขาวบริสุทธิ์มีความหมายว่า ครูย่อมสอนศิษย์ทั้งด้วยวิธีปลอบโยนเปรียบได้กับน้ำที่ทำให้ข้าวเปลือกนิ่ม และวิธีการเคี่ยวเข็ญที่เข้มงวด มีการลงโทษเมื่อศิษย์ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามเปรียบได้กับความร้อนที่คั่วข้าวเปลือก ทั้งนี้เพื่อให้ศิษย์มีความขยันขันแข็งและเอาใจใส่ในการเล่าเรียนจะได้เป็นผู้มีชีวิตที่สมบูรณ์ปราศจากความประพฤติ ชั่วทั้งปวง เปรียบได้กับสีขาวของข้าวตอกและมีความเจริญเฟื่องฟูในการประกอบสัมมาอาชีพเปรียบได้กับการแตก บาน ของข้าวตอก        

           วันนี้ มีพานดอกไม้ และพานธูปเทียน สวยงามละลานตา  บางพานก็ใหญ่โต อลังการ จนสงสาร นิสิตเชิญพานที่ประคองกันแทบไม่ไหว  บ้างก็เป็นพานดอกกุหลาบ บ้างก็นำวัสดุอื่นๆ มาดัดแปลงทำเป็นสัญลักษณ์ของคณะวิชา / สาขาวิชา ซึ่งล้วนเป็นความคิดสร้างสรรค์ ที่น่าชื่นชมยิ่ง

          อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้ช่วยกันจดจำ ความหมายอันลึกซึ้งต่างๆ ของบรรพชนคนไทยที่แฝงอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามเช่นนี้ อย่างที่ไม่มีชนชาติใดในโลกเสมอเหมือน

          ดีใจจัง...ที่เกิดเป็นคนไทย....

 

หมายเลขบันทึก: 274853เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท