โครงการ LLEN
ประโยชน์ โครงการ LLEN คุปต์กาญจนากุล

บ้านตะโละใส .....ปฏิรูปการเรียนรู้ (1)


บ้านตะโละใส...ปฏิรูปการเรียนรู้(1)

โรงเรียนบ้านตะโละใส กับ Action Learning / Active Leaning

 

         คุณหมอวิจารณ์ ได้แนะนำให้ศึกษาการปฏิรูปการเรียนรู้จากโรงเรียนบ้านตะโละใส คณะผู้วิจัยจึงได้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะครูของโรงเรียนบ้านตะโละใส เป็นการเปิดหู เปิดตา เปิดใจ และเปิดสมองที่ดีมากจริงๆ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ผมเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเอาผลสัมฤทธิ์เป็นตัวตั้งเสมอไป สำหรับคณะครูของตะโละใส ความสุขจากการเรียน  การเรียนรู้ที่มีความหมาย และการสร้างแรงดลใจบันดาลใจของนักเรียนสำคัญกว่าผลสัมฤทธิ์ ท้ายที่สุดผลสัมฤทธิ์จะตามมาร่วมสมทบเองอย่างแน่นอน

ครูโรงเรียนบ้านตะโละใสพัฒนาการสอนจากการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ (ปรับใจ) เน้นการมีส่วนร่วมของ
นักเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง ผ่านการบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอน  โดยเริ่มจากนักเรียนเสนอประเด็นการเรียนรู้ วิธีการศึกษาหาความรู้ตามความสนใจและพัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวนำไปสู่การเชื่อมโยงองค์ความรู้ตามเนื้อหาสาระการเรียนรู้ หัวใจของความสำเร็จคือ ทำต่อเนื่องและเน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ด้วยความเชื่อที่ว่าการเรียนรู้จากการลงมือทำ เป็นการพัฒนางานที่ดีที่สุด

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดแบบ ถอนรากถอนโคน นี้ มาจาก แรงผลักดัน ของชุนชนที่อยากให้มีหลักสูตรขนมท้องถิ่นในการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อให้สิ่งที่เป็น สมบัติของชุมชน ถูกถ่ายทอดไปยังลูกหลายของคนในชุมชนผ่านการเรียนการสอนในโรงเรียน

จากการร่วมมือกันทำหลักสูตรท้องถิ่น พัฒนาสู่การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่สอดแทรกการวิจัยในชั้นเรียนให้กับเด็ก และการทำชุมชนสัมพันธ์ที่ให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนการสอน และพัฒนาเด็กนักเรียนควบคู่ไปด้วย

หลังจากผ่านการลองผิดลองถูกและผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คณะครูของโรงเรียนบ้านตะโละใสก็สามารถสรุปได้ว่า ท่าไม้ตาย ของกระบวนการเรียนการสอนก็คือ การเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ปรับวิธีคิดของครู และใช้ธรรมชาติของเด็กเป็นแรงขับในการเรียนรู้ โดยการสร้างความอยากรู้ให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใช้กระบวนการวิจัยในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และคิดของเด็ก นำไปสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอน

สำหรับเด็กนักเรียนของโรงเรียนบ้านตะโละใส การวิจัยเป็นเรื่องน่าสนุก และอยากให้มีชั่วโมงวิจัยทุกวันด้วยซ้ำไปแทนที่จะเป็นเฉพาะวันจันทร์และวันอังคาร เด็กนักเรียนเตรียมตัว แต่งกายให้เหมาะสมกับการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลในวันนี้ ครูคนหนึ่งที่เพิ่งย้ายมาถามว่าวันนี้จะทำอะไรกัน นักเรียนตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า “ครูครับวันนี้ผมจะไปวิจัยครับ” คำว่า   “วิจัย เป็นคำปกติพื้นๆ สำหรับวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนซึ่งมีคุณค่ามากกว่าวัฒนธรรมเดิมที่เรียกสวยหรูว่า “ทัศนศึกษา หรือ ศึกษานอกสถานที่”

          วัฒนธรรม ทำงานด้วยใจ เน้นลงมือทำมากกว่าทำงานด้วยปาก ของครูโรงเรียนนี้น่าชื่นชม ที่สำคัญครูได้พัฒนาตนเองจากการ ทำงานจริงๆ ไม่ใช่จากการ ทำผลงาน และการสอนเด็กอย่างทุ่มเทและให้ใจนี่แหละที่เป็นวิธีธรรมชาติที่พัฒนาเด็กได้ดีที่สุด และในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีพัฒนาครูได้ดีที่สุดและยั่งยืนอีกด้วย

ถ้าได้ใจครูและครูเอาด้วย

ประโยชน์  คุปต์กาญจนากุล

ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์

จิระรัตน์  คุปต์กาญจนากุล

คำสำคัญ (Tags): #บ้านตะโละใส
หมายเลขบันทึก: 275856เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2009 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท