นพ.ศิษฏิคม เบ็ญจขันธ์


ผลลัพธ์จาการอยู่อย่างพอเพียง

ผลลัพธ์สำคัญของการสร้างสังคมที่อยู่อย่างพอเพียง

        ดูเหมือนผลลัพธ์จะเกิดต่อเนื่องจาก  อริยสัจสี่  คือทุกข์  สมุหทัย  นิโรธ  และมรรค  ต่อด้วยผล  ภาษาพระมักจะพูดคำว่า “มรรคผล” เป็นคำเดียวกัน  แต่จริงๆแล้วผลเป็นสิ่งที่ตามจากมรรค  เพราะมรรคเป็นวิธีการหรือกระบวนการทั้งหลายที่ใช้แก้ปัญหา  

        ผลลัพธ์ที่สำคัญของการจัดการปัญหาของชาวอำเภออุบลรัตน์  คุณหมออภิสิทธิ์ได้ใช้แนวทางของ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  ที่ได้อธิบายสังคมที่ประสบความสำเร็จมีลักษณะ 5 ประการ  คือเป็นสังคม 5ส. ซึ่งได้แก่  สัมมาอาชีพ  สิ่งแวดล้อมดี   สังคมเอื้ออาทร   สมองดี   และสุขภาพดี   จะขอขยายความเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นดังนี้

       สัมมาอาชีพ  ประชาชนมีอาชีพที่แน่นอน  คืออาชีพการเกษตรปลอดภัย  มีแปลงผัก  สวนผัก  สวนสมุนไพร มีต้นไม้ที่เป็นเสมือนทุนที่ฝากไว้ใช้ในวันข้างหน้า  พึ่งตนเองได้  ไม่พึ่งนายทุน    ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน   ผลผลิตใช้กินใช้อยู่   เหลือกินก็สามารถแลกเปลี่ยนกันหรือจำหน่ายก็ได้   ไม่เป็นหนี้    มีเงินออม  ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานต่างถิ่น  ครอบครัวอบอุ่น  มีคุณภาพชีวิตที่ดี

       สิ่งแวดล้อมดี   ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีเจือปนในดิน  อากาศบริสุทธิ์  ดินดี  น้ำดี   ไม่มีแหล่งเพราะพันธุ์เชื้อโรค   มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์    มีสัตว์ป่า   มีเห็ดและผักที่สะอาด   อาหารดี   ยาสมุนไพรที่ดี  มีธรรมชาติและนิเวศน์วิทยาที่สมดุล  

       สังคมเอื้ออาทร   ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ไม่มุ่งร้ายต่อกัน  ไม่เห็นแก่ตัว  อยากให้มากว่าอยากรับ    เห็นอกเห็นใจคนอื่นโดยเฉพาะคนจน  คนด้อยโอกาส  คนพิการ  คนไร้ที่พึ่ง   และช่วยเหลือตนเองไม่ได้   สังคมปองดองและสมานฉันท์

       สมองดี  เมื่อได้ทำงานสุจริต  มีอาชีพที่มั่นคง  อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  อาหารดี  อากาศดี  และอยู่ท่ามกลางความอบอุ่นของผู้คนที่เอื้ออาทรต่อกัน   จิตใจก็จะดี  สบายใจ  ไม่เครียด    สมองก็ดี  คิดดี  ทำดี  มีความสุข  

       สุขภาพดี  ถ้าทุกอย่างที่กล่าวมาดี  สุขภาพก็จะดีตามมาเป็นผลลัพธ์บั้นปลายที่ทุกคนอยากได้  สุขภาพนี้ซ้อไม่ได้  แต่ได้มาจากการสั่งสมและพัฒนาจากการมีอาชีพที่สุจริต  อยู่ในสังคมที่ดี  มีสมองดี  คิดดี  และทำดีนั่นเอง

 

     บทสรุป

       ปัญหาสาธารณสุข  สัมพันธ์กับปัญอื่นๆทั้งทางเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม  และวัฒนธรรม   การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ปัญหาของตน   รู้สาเหตุแห่งปัญหา  แล้วเสาะแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง  โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านที่มีประสบการณ์  ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงที่จะก้าวตามกระแสการพัฒนาแบบก้าวกระโดดที่มุ่งแต่บริโภคเชิงวัตถุและยึดเอาเงินเป็นตัวตั้ง  เพราะจะทำให้ชีวิตและสังคมเสื่อมและเกิดภาวะล้มเหลวทั้งระดับครอบครัวและระดับชุมชน  การใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนรู้จักประมาณตน  ประมาณฐานะไม่ใช้จ่ายเกินตัว  และการร่วมกันสร้างสิ่งแวเล้อมที่ดี   การทำเกษตรอินทรีย์  ปลูกพืชและไม้ยืนต้นแบบผสมผสาน   การหลีกเลี่ยงปุ๋ยเคมี  ยาปราบศัตรูพืช  การส่งเสริมการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน  และการรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม  ฯลฯ  ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนเป็นปัญญาปฏิบัติที่เกิดจาการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง  และมีการทบทวนประเมินผลเป็นระยะๆ  ลองผิดลองถูก  อะไรที่ทำได้ดีแล้วก็ทำต่อไปและทำเพิ่ม  อะไรที่ทำแล้วไม่ได้ผล  ก็ลดลงหรือเลิกไป   จนได้แนวทางและหรือวิธีที่ดีที่สุดเข้ากับบริบทของท้องถิ่นมากที่สุด   ผลลัพธ์ที่สำคัญ  ได้แก่   ประชาชนพึ่งตนเองได้   ชุมชนเข้มแข็ง  มีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เครือข่ายกลัยาณมิตร  เกิดการจัดการความรู้ภาคชุมชน       สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ประชาชนไปรักษาที่โรงพยาบาลน้อยลง  ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก  ผู้คนมีสุขภาวะทั้งร่างกาย  จิตใต  สังคมและปัญญา   จะเกิดเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขอย่างพอเพียงและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 277095เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ชุมชนชาวบ้านต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองนะคะ

การแก้ปัญหาสาธารณสุขอาจต้องเริ่มต้นที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท