อบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน


เมื่อครูมีปัญหาต้องใช้ปัญญาในการแก้ไข

              ระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2552   กศน.เขตห้วยขวาง  ร่วมกับเขตวังทองหลาง  บึงกุ่ม  สะพานสูง และเขตสายไหม  ได้จัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากร  โดยจัดโครงการอบรมการทำวิจัยใจชั้นเรียนให้กับครู ที่ทำหน้าที่สอน รวมทั้งบุคลากรที่ปฏิบัติงานหน้าที่อื่นด้วย  โดยได้รับเกียรติจาก  อาจารย์ขจิต  ฝอยทอง  จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  ซึ่งชาว gotoknow ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี  มาเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้ในครั้งนี้

             เป็นเรื่องที่ดูเหมือนยากแต่กลับง่ายมากที่จะได้รู้จักกับวิทยากรเก่ง อารมณ์ดีคนนี้ เป็นเพราะเราได้เรียนรู้กันทางบล็อก จึงได้เรียนเชิญอาจารย์ผ่านบล็อก โดยเลือกวันว่างของอาจารย์เป็นวันจัดอบรมของเรา (เป็นวิธีการทำงานแบบหนึ่ง คือ ถ้าต้องการได้วิทยากรมาให้ความรู้กับเราต้องให้วิทยากรเป็นคนกำหนดวันให้ เพราะนั่นหมายถึง ท่านว่างจริง แต่ถ้ากำหนดวันแล้วเลือกวิทยากรรับรองได้ว่าไม่ได้ตัวจริงเสียงจริงอย่างที่คิดแน่นอน)

             อาจารย์ส่งตาราง ส่งเอกสารที่จะใช้มาให้ทางเมล์ เรารับแล้วก็ดำเนินการรออาจารย์ เมื่อถึงวันที่จะอบรมก็ประสานกันอีกครั้ง  ด้วยความที่อาจารย์เป็นคนน่ารักมาก อารมณ์ดี ไม่มีพิธีรีตรองมากมายนัก เพราะมุ่งงานเป็นหลัก  อาจารย์จึงเดินทางมาห้วยขวางเองโดยรถประจำทาง  (เก่งมาก ๆ เพราะห้วยขวางรถติดสุด ๆ ) ข้อสำคัญคือ มาถึงก่อนผู้เข้ารับการอบรมเสียอีก  ดีนะ ไม่มาถึงก่อนผู้จัด ไม่งั้นเสียหน้าแย่เลย

            ถ้าพูดถึงเรื่องการทำวิจัย ถึงแม้จะเป็นวิจัยในชั้นเรียน หรือวิจัยอย่างง่ายก็เถอะ แค่พูดว่า "วิจัย" คนก็รู้สึกยากแล้ว  แต่ทุกคนก็ต้องมา เพราะอยากรู้อยากเป็น  เพราะต้องประเมินคุณภาพภายนอก และเพราะ ผอ.สั่ง

             แต่เมื่อทุกคนมาแล้วปรากฏว่า อาจารย์พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย จริง ๆ ต้องบอกว่าอาจารย์ไม่ได้พูด ไม่ได้อบรม แต่อาจารย์ให้ทำกิจกรรมสนุก ๆ  แปลก ๆ  (แต่จริง ๆ แล้วคือวิธีการอบรมของนักฝึกอบรมชั้นครู) ซึ่งเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมแล้ว อาจารย์ก็จะสรุปให้ว่าได้อะไร จะนำไปใช้ในการทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างไร  โดยค่อย ๆ เริ่มจากหาปัญหา วิเคราะห์ปัญหา  หาทางแก้ไข  โดยในระหว่างนั้นก็จะค่อย ๆ เอาทฤษฎีและหลักการวิจัยใส่เข้าไปแบบผู้เข้ารับการอบรมไม่รู้ตัว 

             ด้วยความที่อาจารย์เป็นมืออาชีพ  อาจารย์จึงอบรมไปด้วย ทำกิจกรรมไปด้วย  ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ และส่งขึ้นบล็อกตลอดเวลา  แล้วก็เปิดบล็อกให้พวกเราดูว่ามีใครเข้ามาดูเราอบรมกันบ้าง แต่ละคนแสดงความคิดเห็นกันอย่างไร   จึงเป็นเรื่องที่หือหา และและแปลกใหม่ของครู กศน.กทม. พอสมควร (ฟังดูแล้ว ครู กศน.กทม.เชยจัง!)

             ในระหว่างการอบรม อาจารย์จะให้แต่ละคนแต่ละกล่มได้นำเสนองานของตนเอง  เพื่อให้ทุกคนร่วมกันวิพากษ์  เป็นการช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอแนะ แล้วอาจารย์ก็จะสรุปให้อีกครั้ง  เมื่อสิ้นสุดการอบรมวันแรกพวกเราก็ได้หัวข้อ ได้จุดประสงค์ของการวิธีจัย  ได้ประชากร กลุ่มตัวอย่าง ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม นวัตกรรม และได้เครื่องมือ  ให้อาจารย์เป็นการบ้านกลับไปนอนตรวจที่โรงแรม  กิจกรรมวันนี้จบลงเมื่อ เวลา 17:00 น. มีสองสามคนบ่นนิดหน่อยว่าเลิกเย็น รถติด กลับไปบ้านช้า  (เป็นวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ)

             วันรุ่งขึ้นอาจารย์ก็นำงานกลับมาให้ทุกคนได้แก้ไขตามข้อเสนอแนะ หลังจากนั้น พวกเราก็เรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจารย์นำมาอบรมในลักษณะของเกม เช่น World Cafe  ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องงานวิจัยให้กันฟัง และสุดท้ายก็ให้มาสรุป  แล้วบอกว่าเป็นงานของใคร  ก็จะเห็นได้ทันทีว่าหากใครฟังเพื่อเล่างานวิจัยของตนเอง ก็จะรู้และไปเล่าต่อได้ รวมทั้งยังบอกได้อีกว่าเป็นของใคร  แต่หากใครไม่สนใจฟังก็เล่าไม่ได้  หรือถ้าได้ก็ผสมกัน 2-3 เรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน แถมยังบอกชื่อคนทำวิจัยไม่ถูกอีก  ก็เป็นที่สนุกสนานเฮฮากันมาก

              แต่บทสรุปของเกมนี้ก็คือ การไปค้นคว้างานวิจัย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใส่ในบทที่ 2 นั่นเอง

              หลังจากที่ได้สังเกตุวิธีการอบรมของอาจารย์มาตลอด  จึงพบได้ว่า

              1.  ครู กศน.ดูเหมือนเดินผิดทาง เพราะทุกวันนี้ครูสอนอย่างเดียว ไม่ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้จริง ๆ เหมือนตามวิธีการสอนของ กศน.ที่กำหนด

              2.  ครู กศน. บอกว่าใช้สื่อที่หลากหลาย  แต่เมื่อได้อบรมร่วมกันครั้งนี้  จึงพบได้ว่าเรายังไม่ได้นำสื่อมาใช้อย่างหลากหลายจริง ๆ เช่น ไม่ได้เปิดวีซีดี ให้นักศึกษาได้เรียนรู้  ไม่ได้ศึกษาจากผู้รู้หรือภูมิปัญญา  ไม่ได้ใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

              3. ครู กศน.ขาดการพัฒนาด้านการถ่ายทอด  โดยเฉพาะการเป็นวิทยากรกระบวนการที่เลือกใช้กิจกรรมหรือเกมสนุก  มาเป็นตัวนำในการเข้าสู่บทเรียน นักศึกษาจึงไม่สนใจที่จะเรียนจึงต้องหาวิธีการกระตุ้นต่างๆ  มากมายเพื่อให้ผู้เรียนอยากมาเรียน

               เหตุที่พบประเด็นเหล่านี้ ก็เพราะว่า  อาจารย์ใช้สื่อ ใช้กิจกรรมต่าง ๆ เป็นตัวนำในการอบรม และถอดองค์ความรู้จากกิจกรรม เกม มาเป็นความรู้ในเชิงวิชาการอีกครั้ง ตลอดเวลา  ดังนั้น ทั้งสื่อ เกมและกิจกรรมต่างๆ  จึงเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เข้ารับการอบรมไม่รู้สึกเบื่อ
เกิดอาการตื่นตัวตลอดเวลา

              อีกประเด็นหนึ่งที่พบก็คือ  อาจารย์เรียนเอกภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ปริญญาตรี โท ถึงปริญญาเอก  แต่อาจารย์จะอบรมด้วยภาษาไทยตลอด จะไม่พูดทับศัพท์ไทยคำอังกฤษคำ และไม่ใช้ศัพท์ทางทฤษฎีวิจัย ที่ยาก ๆ ผู้เข้ารับการอบรมฟังแล้วไม่รู้เรื่อง  หากจะบอกหัวข้อหรือศัพท์ทางวิจัยทีเป็นภาษาอังกฤษ  อาจารย์ก็จะแปล และบอกที่มาของคำเหล่านั้นให้ฟัง ทำให้ทุกคนไม่เครียด

            เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมทั้งสองวัน  ก็พบว่าผู้เข้ารับการอบรมมีพัฒนาการทางการวิจัยที่ดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัดเจน  ทุกคนสามารถเขียนเค้าโครงวิจัย และนำเสนอให้เพื่อน ๆ รวมทั้ง ผอ.ได้ร่วมกันวิพากษ์  โดยมีอาจารย์เป็นผู้อธิบายหรือตอบข้อสงสัยที่ไม่เข้าใจหลักการวิจัยให้อีกครั้ง 

            กิจกรรมของวันสุดท้าย จบลงเมื่อเวลา 17:00 น. แต่วันนี้ไม่มีเสียงบ่น เหมือนเมื่อวาน ทุกคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส  เพราะได้เค้าโครงวิจัยกันไปแล้ว เหลือแต่ไปทำบทที่ 1- 3  กันต่อ หลังจากนั้นก็คาดว่าจะมาเจอกันอีกครั้ง เพื่อนำเสนอทั้ง 3 บท ให้ช่วยกันวิพากษ์  และกลับมาทำบทที่ 4  และ 5 ต่อ  ให้จบ   เมื่อครบทั้ง 5 บท ก็จะจัดสัมมนางานวิจัย เพื่อให้ทุกคนได้ช่วยกันดู ปรับปรุงแก้ไข และจัดทำให้เป็นฉบับที่สมบูรณ์ต่อไป 

                 เมื่อสิ้นสุดโครงการ ครู ทุกคนก็จะมีงานวิจัยกันคนละ 1 เล่ม ซึ่งจะสามารถนำไปแก้ปัญหาการสอนได้ในครั้งหน้า  รวมทั้งยังนำไปสู่การประเมินภายนอกได้ด้วย

                 ผอ.ทั้ง 5  คน กล่าวขอบคุณอาจารย์ ที่ได้รับความรู้ในครั้งนี้  ซึ่งก็คงมีหลายคนที่อยากจะขอบคุณอาจารย์อีก แต่จนด้วยเวลา  แต่ทุกคนก็น่าจะได้เก็บความประทับในครั้งนี้ไปตลอดกับวิทยากรใจดี มากไปด้วยความรู้ที่ชื่อ ขจิต  ฝอยทอง   ขอกราบขอบพระคุณอีกครั้งกับเสียงปรบมือดัง  ๆ  จากครู กศน.กรุงเทพมหานคร

                                  สุพรพรรณ  นาคปานเอี่ยม

                                    ผอ.กศน.เขตห้วยขวาง

ปล. ไม่ได้แนบรูปมาให้ดู เพราะขณะที่เขียนบล็อก รูปอยู่ในกล้องที่ลูกน้องอีกคนนำไปถ่ายระหว่างการอบรมอาสายุวกาชาดที่ กศน.เขตสวนหลวง  หากใครต้องการชมภาพเปิดไปดูที่บล็อกของอาจารย์ ขจิต ได้เลยค่ะ

               

หมายเลขบันทึก: 277390เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • โอโห ผอ เล่าได้ละเอียดมากๆๆ
  • ผมดึงเอาความรู้ครูออกมาครับ
  • ครู กศน เราเก่งๆๆหลายท่านทีเดียว

ขอบคุณค่ะ ที่เข้ามาแวะทักทาย ครู กศน.ห้วยขวาง คิดถึงอาจารย์กันทุกคนเลยค่ะ

สงกรานต์...พี่น้องครับ

..............เยี่ยมมากเลยครับ ผมเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่คาดว่าจะจบในภาคเรียนนี้ ในระยะที่ผมเรียนมา4เทอม ผมรู้สึกว่า

.......พวกผมถูกโดดเดี่ยวการสอนแบบปฏิบัติจริงในชั้นเรียน เช่นภาคเรียนหน้าจะมีวิชาอังกฤษ ผมอยากให้อาจารย์สอน-

...แบบปฏิบัติ คือให้นักศึกษาจับคู่กันหัดพูดอังกฤษ ควบคู่กับหนังสือเรียนกันไปเลย เพราะจะทำให้นักเรียนมีความคุ้นเคย

.......กับภาษาจริงๆเพื่อความเคยชิน เมื่อเจอชาวต่างชาติก็จะไม่อาย ไม่ประหม่ามากเกินไป เมื่อสนทนา...ยกผมเป็นตัวอย่าง

.....คือแม้ตอนนี้ผมผ่านภาษาอังกฤษไปแล้ว...........................แต่ผมพูดภาษาอังกฤษได้ประมาณ30เปอร์เซ็นเองครับ

..............................แต่ถึงอย่างไรผมก็ขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านทีให้โอกาสในการศึกษา เพื่อที่จะให้ผมได้พัฒนาการ

.....ได้ดีขึ้นไป โดยเฉพาะอาจารย์ วิราวรรณ........(ชึ่งตอนนี้ไม่รู้อยู่ไหน)....ขอบคุณมากครับ

.............................Goodbye see you next time ..........

.............................From MR. Songkrant Burasri 9745-5023-0161-6 Thank you

สวัสดีค่ะ คุณสงกรานต์

แค่คุณสงกรานต์ ตั้งใจเรียน พวกเราชาว กศน.ก็รู้สึกดีใจและหายเหนื่อยแล้ว และยิ่งเห็นพัฒนาการของคุณสงกรานต์ ก็ทำให้นึกถึงภาพของคุณสงกรานต์ที่อีกไม่กี่ปีก็คงจะได้มีโอกาสจบระดับปริญญาตรีอย่างแน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้ และขอให้ความดีส่งผลให้คุณสงกรานต์มีความเจริญก้าวหน้ามีกับความหมายของคำว่า "การศึกษา" ค่ะ

สุพรพรรณ นาคปานเอี่ยม

กศน.ห้วยขวาง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท