ปลัดพร้อย


เรารักกันแม้จะต่างศาสนากันก็อยู่ได้อย่างมีความสุข

เช้านี้ได้คุยกับลูกที่เรียนเอกภาษาอังกฤษ เขาถามว่าเขาจะทำเรียงความเรื่องอะไรดี ผมก็แนะนำว่าลองทำเรื่อง Peach เขาบอกว่าจะเป็นเรื่องเล่าชีวิตจริง ผมก็บอก่าเขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปู่กับปลัดพร้อยซิ .. ลูกงง.. เพราะเขาไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ผมก็เล่าคร่าวๆให้ลูกฟังประวัติของปลัดพร้อยที่มาอยู่กับเรา ถ้าจะรู้อย่างละเอียดต้องถามคนเก่าคนแก่อย่างยายหรือโต๊ะอิหมามที่เขาอยู่กับพ่อตลอดเหมือนกัน

ปลัดพร้อยเป็นปลัดตำบล มาดูแลตำบลบาโงยซิแน (ผมรู้สึกว่าผมเคยได้ยินเขาเล่ามาแบบนี้ จริงเท็จยังไงนั้นผมก็ไม่รู้รายเอียดเหมือนกัน) ท่านมีชื่อเต็มว่า พร้อย ดำนาคแก้ว เป็นคนนับถือศาสนาพุทธและบ้านเดิมอยู่ที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

พ่อของผมเป็นโต๊ะครู ก็เป็นเรื่องปกติที่ผมรู้สึกว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าเป็นโต๊ะครูแล้ว จะถูกเพ่งเล่ง แม้กระทั้งตัวผมเองก็รู้สึกว่ามีอะไรแปลกๆ จากฝ่ายความมั่นคง บางครั้งรายงานที่ผมได้อ่านจากเพื่อนเอามาให้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการคาดเดา จากความรู้สึก หรือเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์จิตอย่างที่สหรัฐถล่มอัฟกานีสถาน ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ที่แน่ๆ ไม่เป็นความจริงเลย จะเป็นความจริงบ้างที่ผมเป็นครูสอนอยู่ปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา

ว่ากันว่าปลัดพร้อยถูกส่งมาหาพ่อเพื่อเป็นเพื่อความมั่นคง.. แต่ด้วยความเป็นตัวตัวตนที่แท้จริงของพ่อ จุดยืนที่มั่นคงไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่เคยคิดทางลบกับเพื่อนมนุษย์ มีแต่ทำดีและให้ความไว้วางใจ .. ด้วยเหตุนี้บ้านผมเสมือนกับว่ามีญาติที่เป็นพุทธคนหนึ่ง มานอนกินที่บ้านผมเป็นประจำ เวลาท่านปลัดไปไหนมาไหนกับผมผมจะรู้สึกว่าท่านทำผมเสมือนลูกของท่านคนหนึ่ง จำได้ว่าครั้งหนึ่ง..ท่านพูดเสมือนว่าท่านเป็นมุสลิมคนหนึ่ง ทั้งๆท่านไม่ใช่มุสลิม และในช่วงปลายของชีวิตท่านกลับไปตั้งหลักแหล่งที่อำเภอชะอวด วันที่คุณพ่อเสียชีวิตท่านมาเยี่ยมพร้อมครอบครัว คุณแม่เล่าว่าภรรยาท่านบอกว่า ช่วงปลายๆของชีวิตท่านปลัดอยากมาอยู่กับพ่อ .. แต่คุณพ่อเสียชีวิตก่อน..

ท่านปลัดก็เสียชีวิตไปแล้วในช่วงเวลาที่ผมอยู่ต่างประเทศ.. และยังรู้สึกเสียดายว่า เราไม่ได้สานต่อความสันพันธ์ของท่านกับคุณพ่อ.. เพราะความจริงที่เป็นความจริงไม่อาจลบล้างได้ คือ ความสัมพันธ์กัน ความรักกัน จะมีแต่ให้สิ่งดีๆกับสิ่งดีๆเท่านั้น  

หมายเลขบันทึก: 277633เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ความจริงเรื่องราวแบบนี้ควรได้รับการถ่ายทอดนะครับ ความเข้าใจของการอยู่ร่วมกันในมิติที่ผ่านมาที่มากกว่าประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อๆกันมามันจะช่วยสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้อีกทาง
  • ผมเชื่อว่าหลายคนไม่เคยรู้มาก่อน
  • ดูแลสุขภาพด้วยครับ อัลลอฮฺคุ้มครองครับ

พ่อผมเป็นลูกคนจีนแต่ก็มีเกลอเป็นมุสลิมอยู่ที่เกาะไม้ไผ่ครับ เวลาผมไปบรรยายให้ความรู้ทางกฎหมายแถวพังงา พอเอ่ยถึงป๊ะที่เกาะไม่ไผ่ทุกคนให้การต้อนรับผมดีมากเลยครับ ใครจะนับถือศาสนาอะไรก็เป็นเรื่องความเชื่อทางาสนา แต่คำว่าเพื่อนมันเป็นอีกมิติหนึ่ง

น้องชายผมมีเพื่อนสนิทเป็นมุสลิมอยู่ที่จังหวัดตรัง เขามาร่วมงานที่บ้านทุกปี เราจัดอาหารอิสลามให้เขา เขารักกันมากจนถึงทุกวันนี้ น้องผมอยู่แกรมมี่เป็นศิลปิน ชื่อโกไข่ ร้องเพลงคู่กับนายสน ส่วนเพื่อนรักของน้องชายก็คือศิลปินอยู่ที่จ.ตรัง ที่ชิ่อ บังแดง ครับ

ครับ อ.

1. เสียงเล็กๆ

มีมากมายเลยครับเรื่องราวลักษณะนี้ ควรเผยแพร่ด้วย ผมกำลังหาคนทำวิจัยการทำงานของพ่อผม .. จะทำเอง ดร.เย็ง(คณบดีบัณฑิตฯ)บอกว่าไม่ควรทำเอง เลยยังไม่มีใครมาสนใจติดต่อ .. คิดว่าจะลองสะกิดให้ อ.บ้านใหญ่ๆหน้ามัสยิด ทำดู บางทีเขาอาจสนใจ

ผมเห็นด้วยเลยครับที่อาจารย์จะแนะนำให้ใครสักคนทำวิจัยชิ้นนี้...มันจะเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นในการร่วมสร้างความสันติสุขครับ ซึ่งยังไม่มีใครทำเท่าที่ทราบ ชักจะอยากเห็นงานวิจัยแนวนี้ของเราบ้างแล้วครับ

ขอบคุณมากครับ ท่าน

2. อัยการชาวเกาะ

เรื่องลักษณะนี้ควรจะมีขึ้น ขอเพียงว่า บางอย่างเราต้องเคารพกันและกัน ตอนผมเป็นนักศึกษา เพื่อนผมเข้าไปทำบุญในวัดผมก็รออยู่ในวัด และเมื่อผมไปละหมาดเขาก็เราผมหน้ามัสยิด

  • สลามครับ ได้อ่านบันทึกท่านอุซตาซมีความสุขมาก
  • เพื่อนผมเข้าไปทำบุญในวัดผมก็รออยู่ในวัด และเมื่อผมไปละหมาดเขาก็เราผมหน้ามัสยิด

ขอบคุณมากครับ เบดีอีน

  • เมื่อเบดูอินกอปมามองเห็นทันทีว่าผมพิมพ์ผิด
  • เพื่อนผมเข้าไปทำบุญในวัดผมก็รออยู่ในวัด และเมื่อผมไปละหมาดเขาก็เรารอผมหน้ามัสยิด
  • กลุ่มที่ผมสอนอยู่ทุกวันนี้มีกลุ่มหนึ่งมีพุทธด้วยหนึ่งคน เมื่อปีก่อนโน้นมีอยู่สองคนมาเรียนกับเราที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ผมก็มีความสุขที่พวกเขาอยู่ร่วมก้บเราได้อย่างมีความสุข
  • วันก่อนท่านอธิการบดี(ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา) ท่านได้พูดฝากฝังแก่พวกเราว่า ถ้าอาจารย์ที่มาสอนที่มหาวิทยาลัยเราที่ไม่ใช่มุสลิม กลับบ้านไปอย่างไม่มีความสุข เพราะการกระทำของพวกเรา ท่านจะไม่สบายใจมาก

ตอนไปจัดแสดงนิทรรศการที่นราธิวาส มีสองเกลอเก่ามาเจอกันที่บูทของผมครับ หญิงเป็นพุทธ ชายเป็นมุสลิม เรียนประถมมาด้วยกัน แล้วก็ไม่เจอกันช้านาน ทั้งคู่จำชื่อกันไม่ค่อยจะได้ครับ แต่ที่จำแม่นคือ สมญานาม

วันนั้นฟังสองท่านนี้เล่าประวัติกันแล้ว สนุกและมีความสุขครับ เฉกเช่นวันนี้ที่ได้อ่านบันทึกอาจารย์เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท