ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ รู้ไว้ใช้เป็นแนว ตอนที่ 1


คนจะมีความสุขได้จะต้องมีการสร้างเป้าหมาย หรือจุดหมายในชีวิต

 

.

.

.

.

ครับ ก่อนจะเขียนเรื่องพัฒนาการวัยรุ่น วุ่นละโว้ย

ก่อนอื่น ขอเขียนสรุปทฤษฎี พัฒนาการของ นักทฤษฎีท่านต่างๆ ให้ทราบกันก่อน

อันนี้ เป็นโดยสรุปนะครับ โดยได้ผู้ช่วยแสนดี (แฟนผมเอง) ที่ช่วยให้คำแนะนำ และแลกเปลี่ยนกันถึงองค์ความรู้ด้านจิตวิทยา(คลินิก) ที่เธอพอจะมี

ช่วยให้ผมเห็นภาพพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น

 

ทีนี้ แบ่งปันกันสองคน ไม่เห็นว่าคนอื่นจะได้ประโยชน์ เลยต้องเขียนบันทึกนี่แหละครับ และ อันนี้ ผมเขียนโดยสรุปจริงๆ นะครับ ถ้าท่านไหนอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยก็เชิญมาร่วมแบ่งปันกันเลยนะครับ ผมเองก็อยากเรียนรู้กับท่านต่างๆ เช่นกัน เด้อครับ

 

เริ่มที่ทฤษฎีของพี่แอ๊ด...

 

แอดเลอร์

ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคม เริ่มจากครอบครัวเป็นหลัก บุคคลอยู่ในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่จะต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา และบุคคลนั้นจะต้องมีการยอมรับว่าสังคมมีความคาดหวังอะไรจากตน ฉะนั้น เด็กจึงควรต้องมีการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามกฎเกณฑ์ของสังคม เมื่อเด็กได้ปฏิบัติตามสังคมแล้วจะทำให้สังคมยอมรับ และบุคคลจะมีโอกาสเข้าร่วมอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี  

ทฤษฎีพัฒนาการของแอดเลอร์ เน้นในเรื่องของปมด้อยเป็นสำคัญเพราะมนุษย์ทุกคนจะมีความรู้สึกที่เป็นปมด้อย พอมีปมด้อยก็พยายามสร้างปมเด่นมาแทนที่ ดังนั้น คนจะมีความสุขได้จะต้องมีการสร้างเป้าหมาย หรือจุดหมายในชีวิต และการเดินตามทางชีวิตที่แต่ละคนเลือกก็จะแตกต่างกันออกไป

หลักของทฤษฎีนี้ ประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 4 อย่าง คือ

  • การเข้าร่วมสังคม
  • ความรู้สึกมีปมด้อย
  • วิถีชีวิต(วิถีสังคม)
  • เป้าหมายในชีวิต

การเข้าร่วมสังคม

ระยะที่ 1 อายุ 1 – 3 ขวบ เด็กไม่สามารถเคลื่อนไหวและสื่อสารได้ ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกมีปมด้อย เด็กจึงไม่ยอมอยู่นิ่งๆ (เพราะพยายามจะกลบปมด้อยของตัวเอง พอวิ่งได้เดินได้เท่านั้นแหละ เหมือนกับว่า... โอ้อดทนมานานแล้ว ขอวิ่งซักทีเถอะ อะไรทำนองนี้ ฮ่าๆ) เด็กจะพยายามทำความเข้าใจกับผู้อื่นโดยใช้ร่างกายและจิตใจเข้าช่วย

ระยะที่ 2 อายุ 4 – 5 ขวบ เด็กจะเริ่มมีความคาดหวัง เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ผ่านมา และแสดงออกตามความคาดหวัง ลักษณะการแสดงออกของเด็กวัยนี้ จะเป็นรากฐานของการตั้งเป้าหมายชีวิตในอนาคตของเด็ก เพราะเมื่อเด็กเกิดปมด้อยขึ้นมา เด็กจะวางแบบแผนการดำเนินชีวิตเพื่อที่จะเอาชนะปมเด่นนั้นให้ได้

ความรู้สึกมีปมด้อย

แบ่งความรู้สึกมีปมด้อยออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

ปมด้อยทางร่างกาย ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเห็นได้ชัดเจน เช่น มีความพิการ แขนขาไม่มี จมูกแหว่ง ฯลฯ เด็กจะชดเชยปมด้อย ให้กลายเป็นปมเด่นขึ้นมา เช่น มือไม่มี ก็ใช้อวัยวะส่วนอื่นนั้นเล่นดนตรี หรือเขียนแทนมือ เช่น ใช้เท้าแทน เป็นต้น ในบางครั้งอาจสร้างปมเด่นอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เช่น ตาบอด แต่หูดี การฟังเสียงจะได้ยินชัดเป็นสองเท่า

ปมด้อยทางสังคม ลักษณะสังคมมีผลต่อบุคคลมากที่สุด สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดอารมณ์กังวลใจ ความตึงเครียด ร่าเริงฯลฯ ตลอดเวลา ปมด้อยทางสังคมที่จะมีผลต่อเด็กมากที่สุดเป็นผลเนื่องมาจากครอบครัว มีลักษณะต่างๆ

·        ลำดับการเกิด ลำดับการเกิดส่งผลต่อความรู้สึกเป็นปมด้อยมาก เช่น ลูกคนโตพ่อแม่ชื่นชม ได้ความรักมากมาย แต่พอมีน้องความเป็นลูกคนโตก็จะลดลง ความสนใจที่พ่อแม่มีให้ก็ลดลง เลยต้องพยายามเรียกร้องความสนใจ อาจมีพฤติกรรมถดถอย เช่น ฉี่รดที่นอน เป็นต้น ลำดับการเกิดไม่ว่าจะคนโต คนกลาง คนเล็ก คนเล็กๆ หรือแม้แต่ลูกคนเดียว ย่อมมีความรู้สึกมีปมด้อยที่ต่างกันไป  

·        บรรยากาศในครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูก ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องภายในครอบครัว ลักษณะของบรรยากาศควรราบรื่น เพื่อจะช่วยสร้างทัศนคติ ค่านิยม การมองโลกในแง่ดีให้แก่เด็ก ถ้าบรรยากาศไม่ดี พ่อแม่ทะเลาะกัน ตีกันให้ลูกเห็น ก็จะทำให้เด็กมีลักษณะส่วนที่ไม่ดี บางครั้งอาจมองโลกแง่ร้ายก็ได้  

·        ลักษณะการอบรมเลี้ยงดูแบบต่างๆ การเลี้ยงดูเด็ก มีหลายแบบ ทั้งแบบรักมากเกินไป  เลี้ยงควบคุมมากเกินไป  เลี้ยงไม่ให้ความสนใจใส่ใจเลย เลี้ยงแบบทิ้งๆขว้างๆ  หรืออาจเลี้ยงดูก็จริงแต่ไม่ยอมรับ  หรือเกลียดชังบุตรของตน   ทั้งหมดที่ว่ามา ล้วนส่งผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมเด็ก ... พอรักมากเกินไป อาจแสดงออกโดยการสัมผัสและความใกล้ชิดทางกาย หรือมีความรู้สึกว่าลูกเป็นของตนตลอดเวลา จะตัดสินใจและช่วยเหลือในทุกกรณี พบว่า เด็กจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่มีความสุข รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง เด็กแบบนี้จะชอบอยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว บางครั้งก็เรียกร้องความสนใจ อาจเกิดอาการป่วยทางกาย(ที่เป็นผลเนื่องมาจากจิตใจ)ด้วย เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ฯลฯ

·        ความไม่เสมอภาคทางเพศ อันนี้เด็กจะรู้สึกแตกต่างออกไปตามแต่ลักษณะของสังคม บางแห่งให้ความสำคัญกับเพศชายมากไป เพศหญิงจะรู้สึกเกิดปมด้อย บางสังคมคาดหวังว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง กล้าหาญ เป็นผู้นำ ฯลฯ แบบนี้ เด็กชายก็จะรู้สึกมีปมด้อย (ถ้าหากเด็กเกิดคิดว่าตนเองไม่มีลักษณะสมความเป็นชาย) เช่นเดียวกัน เพศหญิงอาจจะรู้สึกเป็นปมด้อยได้มากเหมือนกันนะ ถ้าเกิดคิดว่าบทบาทความเหมาะสมทางเพศของตัวเองไม่สมบูรณ์ ความเสมอภาคทางเพศส่งผลต่อพฤติกรรมบุคคลไม่ว่าหญิงหรือชาย

วิถีชีวิต(วิถีสังคม)

แต่ละคนจะพยายามสร้างปมเด่น และลดปมด้อยของตนเอง แรงผลักสำคัญ 2 อย่าง คือ

แรงขับภายในร่างกาย มีอิทธิพลของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องสติปัญญา ไอคิวดีกว่าเรียนรู้ได้เร็วกว่า และจะทำให้มีวิถีชีวิตต่างจากคนที่สติปัญญาด้อยกว่า เป็นต้น  

อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมภายนอก จัดว่าเป็นประสบการณ์ตั้งแต่แรกคลอดออกมา และเป็นประสบการณ์ต่างๆ ที่คอยหล่อหลอมบุคลิกภาพที่จะคอยส่งเสริมพัฒนาการของแต่ละคนให้มีวิถีทางชีวิตและการแสดงออกพฤติกรรมตามประสบการณ์ที่ตัวเองได้รับมาทั้งสิ้น

เป้าหมายในชีวิต หรือจุดมุ่งหมายในชีวิต

เป็นการผสมผสานระหว่างแรงขับภายในกับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมภายนอก การตั้งเป้าหมายชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่ที่สำคัญของการตั้งเป้าหมายของบุคคลก็คือ จะต้องคำนึงถึงความพอใจของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ  

 


อันนี้ แค่พี่แอ๊ดคนเดียว ยังเสียวได้ขนาดนี้ แต่...อย่าพึ่งเชื่อนะครับ

พระพุทธเจ้าสอนไว้ในเรื่องหลัก กาลามสูตร 10 ประการ

เพราะว่า ท่านบอกไว้ว่า มา นยเหตุอย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่ามันถูกต้องเหตุผลทางนยะ (มันก็คือ Philosophy หลักการ หรือหลักปรัชญา ซึ่งเป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆ เป็นศาสตร์ที่ใช้ในการคำนวณ โดยมีสมมุติฐานหรือ Hypothesis ซึ่งมันก็ยังผิดได้ อาจจะเพราะคำนวณผิด หรือมีสมมุติฐาน ที่ไม่เหมาะสม)

 

ขอให้อ่านด้วยจิตปัญญารู้เท่าทัน อ่านอย่างมีสติ สงบระงับอารมณ์ ดีใจ เสียใจ ปีติ ลุ่มหลง ออกไปเสียก่อน เมื่อเท่าทันแล้ว ก็จะมองเห็นความจริง และความไม่เที่ยงของทฤษฎีใดๆ ก็ตาม ในโลก

 

ขอให้ทฤษฎีของพี่แอ๊ด เป็นเพียงแนวทาง หรือเป็นหลัก ให้ท่านบลอกเกอร์ใน G2K ที่อาจนำไปทดลองปฏิบัติได้ เป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา แต่สำคัญที่สุดขอให้เกิดปัญญาจาก ภาวนามยปัญญา กันทุกผู้ทุกคนนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 279681เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2009 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมสนใจเรื่องกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนมาก...มีโครงการต้นแบบอะไรดีๆ ..อย่าลืมแนะนำนะครับ บางทีผมก็มองไม่ชัดนัก  ส่วนใหญ่เราตั้งประเด็นให้นิสิตได้คิดและลงมือทำ  น้อยนักที่จะกำหนดรูปทรงใดๆ ให้กับพวกเขา...

ขอบคุณครับ

เด๋วจามาอ่านนะคะ

แระจาเม้นอีกที (เขียน เยอะอะ ทำไงดีพี่ เปงเด็กขี้เกียจอ่ะ)

ขอบคุณนะคะที่แบ่งปันความรู้

ดีมากๆเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท