ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ รู้ไว้ใช้เป็นแนว ตอนที่ 2


ความต้องการของมนุษย์จะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับเข้ามา

♠ 

ครับ มาว่ากันต่อ เรื่องทฤษฎีที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก เยาวชน

และวัยรุ่น แต่จะว่าไป ทฤษฎีเหล่านี้ ก็มีความเกี่ยวข้องกับพวกเราเหมือนกันนะ

 

ต่อมา ว่าด้วยเรื่องความต้องการของคนเรากันดีกว่า

อีตาคนที่ศึกษาและเขียนไว้ คือ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow, 1908-1970) เค้ากล่าวถึงลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ว่ามีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ ทุกคนต่างมีความต้องการอย่างมากมายและมีระดับความต้องการเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งบรรลุความต้องการสูงสุดของมนุษย์

 

หลักการสำคัญของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow, 1954) เชื่อว่าความต้องการของมนุษย์จะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับเข้ามา และมีความเชื่อว่าถ้าความต้องการขั้นแรกของบุคคลยังไม่ได้รับการตอบสนองจะทำให้พัฒนาการความต้องการในขั้นต่อไปเกิดขึ้นไม่ได้ การจะพัฒนาไปให้สูงสุดได้ ขึ้นอยู่กับ วุฒิภาวะทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคม และสติปัญญา

 

ความต้องการของมนุษย์ ของมาสโลว์ มี 7 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1.     ความต้องการด้านร่างกาย (Physiological needs)

        ความต้องการขั้นนี้ จำเป็นสำหรับการมีชีวิตรอด การได้กินเพื่อผ่อนคลายความหิว ดื่มน้ำเพื่อดับความกระหาย ร่างกายต้องการ น้ำ อาหาร อากาศ เพศ และลักษณะทางชีวภาพทั้งหมด ขั้นนี้ มนุษย์ทุกคนต้องการ

(ในความเกี่ยวข้องกับทฤษฎี ข้อนี้ มีหลายข้อในอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่เน้นให้มีการดูแลเด็ก ให้อยู่สภาวะที่อยู่รอด ด้วยการดูแลขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการด้านร่างกาย และย่อมเป็นที่ตระหนักดีว่า มันจำเป็นจริงๆ สำหรับมนุษย์ทุกเพศ วัย สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่จำเป็นต้องอยู่รอด)

ขั้นที่ 2.     ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs)

        เนื่องจากมนุษย์ต้องแสวงหาอาหาร หาวิธีการต่างๆ ให้ตัวเองมีชีวิตรอด และอยู่ได้ด้วยความปลอดภัย จึงเกิดความต้องการนี้ขึ้น ความต้องการให้ชิวิตอยู่ได้ด้วยความมั่นใจ อบอุ่น มีความรู้สึกที่ปลอดภัย รวมทั้งความพยายามทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับภาวะที่เป็นอันตรายหรือความเจ็บปวดต่างๆ

(มนุษย์ โดยปกติเป็นสัตว์สังคม และมีความรู้สึกว่าตนเองอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ยกเว้นในกรณีที่ฝึกฝนตนเองมาอย่างดี ดังนั้น มนุษย์ก็เรียนรู้ที่จะแสวงหาความปลอดภัยให้ตัวเอง เช่น ต้องการหางานดีๆ ทำ ต้องการงานที่มั่นคง ต้องการดูแลครอบครัว เพื่อให้รู้สึกว่า ตัวเองปลอดภัยจากการกระทำดังกล่าว

ดังนั้น ในบางกรณี การทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย ก็อาจเกิดจากการทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นได้ด้วย เช่น มันจะเด่นจะดังกว่ากูแล้ว ต้องจัดการมัน อะไรทำนองนี้)    

ขั้นที่ 3.     ความต้องการเป็นเจ้าของและต้องการได้รับความรัก (Belongingness and Love needs)

        เมื่อคนได้รับความปลอดภัย ก็จะต้องการได้รับความรักและความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เกิดความรู้สึกหวงแหน อยากเป็นเจ้าของในกลุ่ม เช่น กลุ่มการทำงาน กลุ่มครอบครัว เป็นต้น  

(อันนี้ ก็สืบเนื่องมาจากข้อที่ต้องการความปลอดภัยนั่นแหละ พอรู้สึกว่าปลอดภัยก็จะเริ่มครอบครอง เหมือนความรัก ... ตอนแรกคบกัน ก็ยังไม่วางใจ หาทางเอาชนะใจเค้า พอชนะใจได้ก็เริ่มที่จะอยากครอบครองอยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ คนนี้เรารักเค้า เค้าต้องเราบ้างสิ ...

ในกรณีไม่มีคู่รักก็หาความรักอย่างอื่นด้านอื่นมาทดแทน เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมั่นคงปลอดภัย เช่น การเป็นสมาชิกของกลุ่ม ของเครือข่าย แล้วได้รับบัตรสมาชิก เป็นกรรมการนี่นั่นโน่น แล้วได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ เป็นต้น)

ขั้นที่ 4.     ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือ (Esteem needs)

        ความต้องการได้รับการยกย่อง จะเกิดขึ้นภายหลังจากประสบความสำเร็จในการเข้ากลุ่มและมีความรู้สึกหวงแหนอยากเป็นเจ้าของ เพราะว่า การยกย่องนั้นจะทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงและความภาคภูมิใจ ดังนั้น ทำให้คนมีพฤติกรรมอย่างมากมายเพื่อทำให้คนอื่นยอมรับ

(ในขั้นนี้ คนเราเมื่อทำอะไรไปเรื่อยๆ ก็อยากได้รับความชื่นชมยินดี ยกตัวอย่าง การเข้ามาเขียนบลอกนี่ก็เป็นนะครับ แรกๆ เขียนไปไม่มีคนอ่าน พอมีเพื่อนมาคอมเม้นต์นี่ดีใจมากเลย โอ้ มีคนอ่านคอมเม้นต์เราแล้ว รู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ภูมิใจมาก แบบนี้ต้องเขียนบทความอันใหม่ ผมก็แอบเป็นด้วยนะ นิดส์นึง ฮ่าๆๆ   หรือ

อาจเป็นกรณีของเด็ก เยาวชน ว่าทำไมเราต้องส่งเสริมกิจกรรมลักษณะกลุ่ม และกระบวนการทำงานเชิงบวก เพราะเค้าจะได้เกิดการหนุนเสริมกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ในขั้นนี้ให้กับตัวเอง ... บางทีเด็กที่ไปแว๊น เค้าก็ได้รับการยอมรับ การชื่นชมจากกลุ่มของเค้า การทำพฤติกรรมแบบนั้น ยอมรับได้ในกลุ่มเด็กแว๊น และเค้าได้รับการชื่นชม ก็ไม่เห็นจะแปลก ถ้าเด็กรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด ...

ที่สำคัญก็คือ สังคมต้องเริ่มหันสร้างกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของวัยรุ่น และต้องใช้กระบวนการเชิงบวกเพื่อการหนุนเสริมนะจ๊ะ

อ้อ ในการใช้ชีวิตจริงๆของพวกเราก็มีการนำทฤษฎีนี้ไปประยุกต์มากมายนะ เช่น การให้รางวัล ประกาศชื่นชมหน้าเสาธง การแสดงความชื่นชมในห้องเรียน ในบ้าน การมอบใบประกาศนียบัตร เป็นต้น)

ขั้นที่ 5.     ความต้องการให้มีความสามารถทางสติปัญญา (Cognitive needs)

        เป็นความต้องการให้ตนมีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ สามารถสำรวจ ค้นคว้า และแสวงหาคำตอบด้วยความถูกต้องและมีคุณค่า มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

(นี่ไง ตรงเป๊ะ หลังจากผมเขียนเรื่องราวมากมาย ผมก็เริ่มรู้สึกว่า เอ มันมีประโยชน์กับเพื่อนๆ คนอื่นมั้ยนะ ผมก็เลยเริมเขียนเรื่องราวที่อาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ฮ่าๆๆ  

อ่ะ อ่ะ แล้วคนเรา ก็จะเริ่มสร้างคุณค่าให้ตัวเอง เริ่มเรียนรู้เรื่องที่ตัวเองสนใจ พัฒนาความสามารถของตัวเอง ทดลองทำสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองอยาก และทำให้เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้น เป็นการสร้างคุณค่าให้ตัวเองและเป็นเรื่องดีที่ทำได้ บางคนอาจสร้างคุณค่าในทางไม่ดีก็ได้

เริ่มมีความต้องการ อ้าว ทำงานไปๆมาๆ อยากเรียนรู้เรื่องการประเมิน การทำตัวชี้วัด การพัฒนาศักยภาพด้านKM การเขียนบทความ การเขียนข่าว การไปเรียนภาษาอังกฤษ หรือทำอะไรเพื่อเพิ่มเติมศักยภาพของตนเอง)

ขั้นที่ 6.     ความต้องการด้านสุนทรียะ (Aesthetic Needs)

        เป็นความต้องการในแง่ของความสวยงามทางด้านร่างกาย ต้องการให้ตนเองดูดี หล่อสวย รูปร่างดี ต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสวยงาม

(อันนี้ ไม่รู้จะเล่าเพิ่มเติมยังไง นั่นแหละ สุนทรียะ ทั้งกายและใจ ดีแล้ว)

ขั้นที่ 7.     ความต้องการที่จะบรรลุถึงความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization needs)

        เป็นความต้องการที่อยู่ในระดับสูงสุดของมนุษย์ ประกอบด้วยความต้องการที่จะค้นหาและตระหนักในความสามารถอันสูงสุดของตนเอง และพัฒนาศักยภาพที่ตนมีอยู่นั้นไปให้ถึงขั้นสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

(สุดท้ายคนเราก็เข้ามาสู่เรื่องภายในตัวตน อย่างแท้จริง กลับมาสู่จุดสูงสุด ที่พระพุทธเจ้าบอก ก็คือการเข้ามามองที่ตัวตนภายใน พัฒนาตัวตนภายในของเรา เพื่อหาหนทางแห่งความหลุดพ้น

แต่ถ้าทำตามทฤษฎีของมาสโลว์ เราก็ยังอยู่ในบ่วง ความรัก โลภ โกรธ หลง ต่างๆ แต่กว่าจะผ่านมาถึงขั้นนี้ได้ ก็คงผ่านอะไรมาเยอะแหละครับ

เมื่อทราบทฤษฎี ความต้องการแล้ว ก็อย่าหลงไปติดอยู่กับความต้องการที่ตัวสร้างขึ้นนะจ๊ะ)  

 

นอกจากนี้ ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ ยังอธิบายทฤษฎีลำดับขั้นแรงจูงใจ เอาไว้ด้วย ดังนี้

ความต้องการของมนุษย์ ประกอบด้วย

ความต้องการลำดับแรก คือ ความต้องการด้านร่างกาย หลังจากนั้นเกิดแรงจูงใจมากขึ้นทำให้เกิดความต้องการในด้านสิ่งของ ต้องการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีความปลอดภัย ต้องการเป็นเจ้าของ ต้องการได้รับการยกย่อง และ

ในขั้นสุดท้าย คือ ความต้องการตระหนักในความสามารถที่แท้จริงของตนเองและบรรลุถึงความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง

มาสโลว์ เชื่อว่า ถ้าความต้องการในขั้นแรกไม่ได้รับการพัฒนาจะทำให้ความต้องการขั้นต่อไปไม่สามารถพัฒนาได้ และที่สำคัญ แต่ละบุคคลจะมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน  มีความต้องการอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นสุดท้าย คือ ขั้นบรรลุถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองนั้น ตามความเชื่อของมาสโลว์ (Maslow, 1954) เชื่อว่า จะมีบุคคลที่ที่สามารถก้าวไปสู่ขั้นประสบความสำเร็จในขั้นสูงสุดมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก

ดังนั้น ในปี 1968  เขาจึงได้อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองไปสูงสุดตามศักยภาพที่แต่ละบุคคลนั้นมีอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคม และสติปัญญา ดังนี้

1.    เป็นผู้ที่รับรู้ความเป็นจริงอย่างแท้จริง

2.    มีความสามารถในการยอมรับตนเองและยอมรับผู้อื่น สามารถพิจารณาและเข้าใจลักษณะธรรมชาติของแต่ละบุคคลว่ามีความแตกต่างกัน

3.    สามารถในการแก้ปัญหาและควบคุมตนเองได้ดี

4.    ในบางสถานการณ์บุคคลต้องการเป็นตัวของตัวเองและต้องการความเป็นส่วนตัว

5.    มีความรู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นและสามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม

6.    สะสมประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ทำให้วิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี

7.    มีการเลียนแบบผู้อื่นที่น่ายกย่องนับถือตามความคิดของแต่ละคน

8.    ในบางสถานการณ์รู้สึกพอใจต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

9.    เชื่อและยอมรับในระบอบประชาธิปไตยด้วยเหตุผล

10.           มีความคิดสร้างสรรค์

11.           มีความรู้สึกรักในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือให้คุณค่าในบางสิ่งบางอย่าง

12.           มีความจริงใจต่อผู้อื่น

สิ่งเหล่านี้ จะมีผลต่อพัฒนาการลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ทั้งสิ้น และจากทฤษฎีนี้จะมีเพียงน้อยคนที่ได้รับการตอบสนองไปถึงขั้นสูงสุดด้วยการไปมีชื่อเสียงหรือบางรายอาจเป็นผู้นำประเทศ

ยังมีประชากรส่วนใหญ่ที่มีความต้องการเช่นนั้น แต่ไม่สามารถไปถึงจุดสูงสุดของชีวิตที่ตนต้องการได้ ดังนั้น การมองหาวิธีการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลสามารถพัฒนาตนเองไปให้ถึงขั้นสูงสุดตามศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ และสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาจากการตระหนัก และการมองเห็นในความสามารถของแต่ละบุคคล ความสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ไปถึงเป้าหมายของตนให้ได้

.

.

.

แต่...อย่าพึ่งเชื่อนะครับ

พระพุทธเจ้าสอนไว้ในเรื่องหลัก กาลามสูตร 10 ประการ

เพราะว่า ท่านบอกไว้ว่า มา นยเหตุ” อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่ามันถูกต้องเหตุผลทางนยะ(มันก็คือ Philosophy หลักการ หรือหลักปรัชญา ซึ่งเป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆ เป็นศาสตร์ที่ใช้ในการคำนวณ โดยมีสมมุติฐานหรือ Hypothesis ซึ่งมันก็ยังผิดได้ อาจจะเพราะคำนวณผิด หรือมีสมมุติฐาน ที่ไม่เหมาะสม)

 

ขอให้อ่านด้วยจิตปัญญารู้เท่าทัน อ่านอย่างมีสติ สงบระงับอารมณ์ ดีใจ เสียใจ ปีติ ลุ่มหลง ออกไปเสียก่อน เมื่อเท่าทันแล้ว ก็จะมองเห็นความจริง และความไม่เที่ยงของทฤษฎีใดๆ ก็ตาม ในโลก

 

.

เรียบเรียงข้อมูลและอ้างอิงจาก

อุบลรัตน์ เพ็งสถิตย์.  จิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2549.  

จิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มศว.

หมายเลขบันทึก: 280029เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2009 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณค่ะคุณ ตาเหลิม
  • เป็นประโยชน์ต่อแป๋มเป็นอย่างมาก
  • ขอบคุณสาระดีดีที่นำมาแจกจ่ายให้แก่กันค่ะ
  • สวัสดีค่ะ น้องตาเหลิม
  • ทฤษฎีมายาวเลย เล่นเอาป้าแดงตาแฉะเลย อิอิอิ
  • ขอบคุณค่ะ ป้าแดงไปได้ไม่กี่ระดับเองค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท