จิตตปัญญาเวชศึกษา 109: Formative & Summative Evaluation


Formative & Summative Evaluation

วันนี้ขอแตะเรื่อง technical ทางศึกษาศาสตร์เล็กน้อย ใช่ว่ามีความรู้มากหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรหรอกนะครับ แต่จากงานที่ทำ ผมคิดว่ามีผลกระทบค่อนข้างมากทีเดียว

ในทางศึกษาศาสตร์ ซึ่งมีมากมายหลาย shools of thought เมื่อพูดถึงเวลาเขียนหลักสูตร OLE (ย่อมาจาก objectives / learning experiences / evaluation) เป็นหลักการที่เข้าใจง่าย สื่อได้ครบถ้วน และมีความสำคัญ นั่นคือ เราจะมีหลักสูตรเรื่องอะไรสักอย่าง เราก็ควรจะมีเป้าหมายว่าเรียนไปทำอะไร เพื่ออะไร นั่นก็จะเป็น learning objectives และจากเป้าประสงค์นี้นี่เอง ที่เจ้าของหลักสูตรนำไปใคร่ครวญไตร่ตรองว่าจะทำยังไงดี นักเรียน ผู้เรียน จะบรรลุเป้าที่ว่านี้ นั่นก็คือการจัดประสบการณ์การเรียนการสอน สุดท้ายก็จะมีการประเมินว่าบรรลุจริงไม่จริง

จะเห็นว่าการ "วางเป้าประสงค์" จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เหลือที่ตามมา (ถ้าอีกสองส่วนไม่เผอเรอ ลืมไปว่าจะต้องยึดอะไร) ยิ่งวางเป้าให้ชัดเจน คนร่าง สร้างหลักสูตร ทำความเข้าใจกับคนสอน คนจัดประสบการณ์การเรียน (รวมไปถึงนักเรียนด้วย) และสำคัญมากคือ "คนประเมิน" หลักสูตรนี้ก็จะดี ได้มาตรฐาน และเกิดสัมฤทธิผลตามปราถนา

วันนี้จะกระโดดไปหาเรื่อง "การประเมิน" โดยเฉพาะการประเมินสองแบบ คือ formative และ summative evaluation

  • Formative evaluation จะเกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอน ยังไม่จบหลักสูตร มีวัตถุประสงค์และประโยชน์หลายประการ ได้แก่ เป็นการตรวจสอบของนักเรียน (และคนสอน) ว่าเรายังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง มุ่งไปหาเป้าหมายอยู่หรือไม่ และในจังหวะจะโคน ความเร็ว ตามความเหมาะสมรึเปล่า (ไม่ใช่จะจบอยู่แล้ว ยังเหลืออีก 90% ของเนื้อหา เป็นต้น) เป็นการประเมิน on the run ว่าการจัดประสบการณ์การเรียนการสอนของเราเป็นเช่นไร คนเรียนยังอยู่ดีมีสุข และก้าวหน้าไปตามที่เขาตั้งใจหรือไม่ หลักสูตรของเรา OK ไหมในทางปฏิบัติ ต้องแก้ไขปรับปรุงไหมหรือว่าดีอยู่แล้ว ฯลฯ
  • Summative evaluation เป็นการประเมินเพื่อ "ตัดสิน" ซึ่งก็แล้วแต่ลักษณะของกิจกรรมที่ว่า มีตั้งแต่การสอบคัดเลือก การเลื่อนวิทยฐานะ การเลื่อนชั้น การให้รางวัลดีเด่น การคัดคนที่ต้องการการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม

โดยส่วนตัวผมเอง ผมมอง summative evaluation ว่าเป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบแต่จำเป็นต้องมีในบางบริบท ไม่ชอบนี้ค่อนข้างเป็นอารมณ์ทีเดียว เพราะในระยะหลังๆ ผมเกิดอารมณ์ลบต่อการด่วนตัดสิน หรือการตัดสินอะไรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) เพราะการตัดสินใดๆก็ตาม มักจะมี consequences ตามมา ที่ดีก็ดีไป ที่ไม่ดีก็มีเยอะและอาจจะรุนแรงกว่าที่เราจินตนาการไว้ก็ได้

มีเรื่องที่น่าสนใจว่ามนุษย์เรามีการหยุดเรียนรู้หรือไม่ และเมื่อไร?

ในคำพังเพยไทยก็มีคำประเภท "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก" หรือ "สันดอนยังพอขุดได้ สันดานยากที่จะแก้ไข" หรืออะไรทำนองนี้ การที่เราเชื่อมากเชื่อน้อยแค่ไหนในคำกล่าว ก็จะมีผลต่อพฤติกรรม กระบวนทัศน์ ความคิด ของเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอน ถ้าเราคิดว่าการเรียนรู้หยุดได้ และหยุดเมื่ออายุขนาดหนึ่ง เราก็จะเกิดอาการ hopeless หมดหวังในคนๆนั้นเมื่อเกินอายุที่ว่า (รวมทั้งสามารถหมดหวังในตัวเราเองด้วย)เพราะว่ามัน "เลย" วัยที่จะเรียนมาแล้ว

แต่มันจริงหรือ?

ถ้าการเรียน หมายถึง "ความสามารถในการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีตอบสนอง" ผมคิดว่าเราเรียนได้เรื่อยๆ และนานกว่าที่เราอาจจะเคยคิดไปเยอะทีเดียว ที่แน่ๆก็คือ ตราบใดที่เรายังมีคุก มีสถานบำบัด แสดงว่าเรายังเชื่อในเรื่องของ "การกลับเนื้อกลับตัว" มิฉะนั้น เราคงไม่มีกระบวนการ rehabilitation การฟื้นฟู การบำบัดพฤติกรรม ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องนี้ ถ้าหากคนกระทำผิดมีอายุเกินช่วงที่กำหนด โทษก็มีสถานเดียวคือกักขังตลอดชีวิต หรีือประหารชีวิตไปเสีย

ผมเองจึงเจ็บปวดใจ เมื่อไรก็ตามที่ได้ยินครูรำพึงว่า "เด็กมาหาเราเมื่อสายเกินไปเสียแล้ว มันเกินกว่าที่เราจะทำอะไรได้"

บางทีคนที่เราบอกว่า "สายเกินไป" นั่นคือ อายุประมาณ 17-18 ปีเท่านั้น!!!

พวกเราในที่นี้ ที่โชคดีพอที่อยู่จนเกินอายุ 17-18 ปี ลองย้อนกลับไปพิจารณาดูตนเองว่าหลังจากเราอายุ 20, 30 หรือ 40 ปี เรามีการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้หรือไม่?

สำหรับผมเอง บอกได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา

ผมจึงค่อนข้างจะมีศรัทธา ความเชื่อ ในเรื่องของการทำ formative evaluation ที่เป็นการประเมินเพื่อโอกาสที่จะพัฒนา มากกว่าเรื่อง summative evaluation ที่เป็นการประเมินเพื่อตัดสิน

เมื่อเร็วๆนี้ มีการพูดถึงการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกนักเรียนแพทย์ ที่อเมริกามีการใช้การสอบที่ว่านี้เพื่อคัดนักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม นอกเหนือจากความสามารถในการเรียน แต่รวมไปถึงคุณธรรม จริยธรรมด้วย ด้วยความอคติเดิมของผมอย่างที่เล่าให้ฟัง ณ ที่นี้ ผมก็เกิดอาการจี๊ดขึ้นมาทันที เราจะมีเครื่องมือที่ว่านี้จริงๆหรือ ที่สามารถคัดแยก พยากรณ์ ว่าในอีก 5-6-7 ปีข้างหน้า เด็กคนนี้จะมีแนวโน้มเป็นคนดี / ไม่ดี มีหรือไม่มีคุณธรรม จรรยาบรรณ จริยธรรม โดยการสัมภาษณ์ 30 นาที? (หรือจะเป็น 1 ชม. 1 วัน 10 วันก็เถอะ) เราคิดว่าการที่นักเรียนจะมาอยู่กับเราเป็นเวลา 6 ปี นอกเหนือจาก medical contents แล้ว เราไม่สามารถจะปลูกฝังอะไรในเรื่องจริยศาสตร์ คุณธรรม และจรรยาบรรณได้เลยหรือ?

ผมเห็นด้วย 100% ในการที่มหาวิทยาลัยแพทย์จะทำนโยบายเรื่องเราต้องการคนดี มีคุณธรรม ให้สาธารณชนรับทราบโดยทั่วกัน และเราจะพยายามสอน ทำงาน และหล่อหลอมคุณค่าเรื่องนี้เป็นสำคัญ

แต่นำมาใช้ตอนคัดเลือกนั้น.....?

ต้องระมัดระวังให้ดี

โดยเฉพาะอย่างย่ิง เมื่อนำมาใช้จริง มีเด็กถูกคัดออกเพราะ criteria อะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ต้องให้แน่ใจว่ามีความโปร่งใสของกระบวนการต่างๆ

และปัญหาที่ท้าทายกว่าในอนาคตก็คือ ถ้าปรากฏว่าคัดเข้ามาแล้ว โดยเราเชื่อว่าคนที่เข้ามามีคุณธรรม มีจริยธรรมเป็นเลิศ บัณฑิตที่จบมาเราจะ stamp ตราประกันคุณภาพหรือไม่ ว่าทุกคนจะเป็นคนดีตามนั้่นจริงๆ

เรื่องนี้มันซับซ้อน และมีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย เกินกว่าจะมี summative evaluation ที่จะพยากรณ์คุณธรรม จริยธรรมคนล่วงหน้าได้หรีือไม่? ศาสตร์แห่งการประเมินถึงจุดนั้นแล้วหรือไม่ และจะถึงจุดนั้นไหมในอนาคต?

โครงการเพื่อนวันอาทิตย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ อ.จารุรินทร์ ปิตานุพงศ์ อ.อานนท์ วิทยานนท์ นำมาใช้เพื่อพัฒนานักศึกษาแพทย์ ปรากฏสัมฤทธิผลที่น่าตื่นเต้นว่า ที่จริง ในสิ่งแวดล้อมอันโอบอ้อมอารี และการสัมผัสกับความทุกข์จริง ชีวิตจริง และความรู้สึกนึกคิดจริงของคนไข้และญาติ สามารถหล่อหลอมนักศึกษาได้อย่างทรงประสิทธิภาพ และนั่นเป็นโปรเจคที่ใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียว โดยมีความถี่ไม่เท่าไหร่ เน้นที่ความสม่ำเสมอ และการได้พื้นที่สะท้อนประสบการณ์เท่านั้น

Formative evaluation มีทั้งแบบ formal และแบบ informal

แบบ informal นั้น เพียงแค่อาจารย์แสดงอวจนภาษาออกมา นักศึกษาก็พอเดาออกแล้วว่า อย่างนี้ท่าทางจะไม่ดี และเกิดมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้ เพราะที่จริงแล้ว เรา "เรียนรู้" อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เรียนรู้เฉพาะในห้องเรียน หรือถูกประเมินเฉพาะในห้องสอบ คนไข้เป็นผู้ประเมินที่มีอิทธิพลสูงมาก การที่คนไข้เปิดอกพูดกับนักศึกษา ถามไถ่พูดจาเรื่องบางเรื่อง สร้างความสัมพันธ์ทั้งระหว่างบุคคล และระหว่างคนไข้กับหมอ จะทำให้เกิด professional relationship ที่เติบโตไปพร้อมๆกับ maturity ของนักศึกษาที่กำลังกลายเป็นหมอไปด้่วยกัน

และ formative evaluation ทำได้ตลอดเวลา เกิดได้ตลอดเวลา ข้อสำคัญก็คือ ไม่เป็นการ "ด่วนตัดสิน" เพราะ formative evaluation เชื่อเรื่อง "โอกาสพัฒนาได้" และเป็น dynamic

ในมิติของคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ มิติเหล่านี้ใช้วิธี formative evaluation จะเหมาะสมกว่าการใช้ summative evaluation อย่างมาก เราไม่ควรจะ "ตัดเกรด" คุณธรรม เราทำได้แต่เพียงตัดเกรด "ความรู้เชิงทฤษฎีทางจริยศาสตร์" แต่สำหรับบุคคลแล้ว เรื่องพวกนี้ เกิดขึ้นในเหตุการณ์จริง ตอนที่ทำงานเป็นทีมจริงๆ ตอนมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้จริงๆ และเราเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และพัฒนาต่อๆไปได้ไม่มีวันหยุดเรียน

หมายเลขบันทึก: 281969เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 01:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนท่านอาจารย์หมอ อาจารย์หลายท่านยังงงงกับ คำว่า Formative ครับ เราสนใจแต่ KFI ดูแต่ คะแนน ไม่สนใจ พัฒนาการ ครับ

สวัสดีครับ อ.JJ

ขอบพระคุณครับที่กรุณามาต่อเพิ่มเติม

ที่จริงโดยไม่รู้ตัว พวกเรา (อาจารย์) ได้ทำ formative evaluation กับนักเรียนทุกวัน การที่เราแสดงความพึงพอใจเมื่อเขาตอบคำถามได้ เฉยๆไม่ยินดียินร้ายเมื่อเห็นเขามีกิริยามารยาท พูดจาไพเราะกับคนไข้ นักเรียนก็ค่อยๆซึมซับไปว่า "อาจารย์ชอบแบบไหน" หรือ "นักเรียนที่ดีในสายตาอาจารย์ ต้องทำอะไรบ้าง"

ถ้าเกิดเป็นเช่นนั้นจริงๆ (ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ สักกี่เปอร์เซนต์) เราก็ไม่ควรแปลกใจ ทีนักเรียน (บางคน) จะสรุปว่ากลับหอพักไปอ่านหนังสือ น่าจะได้ประโยชน์กว่านั่งบน ward พูดคุยสนทนากับคนไข้หรือญาติ

"พัฒนาการ" ก็เกิดเหมือนกัน แต่เป็นด้าน medical science contents มากกว่าคุณธรรม จริยธรรม ทักษะการสนทนา (ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่งอกออกมาจากหมอนในหอพักแน่ๆ)

สิ่งที่อาจารย์คิด ต้องมองคนไข้เป็นผู้มีพระคุณต่อนักเรียนแพทย์และอาจารย์ผู้สอนซึ่งพี่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีคนคิดเช่นนี้มาน้อยแค่ใหนค่ะ

เห็นด้วยมากๆในแนวคิดการประเมินแบบFormativeค่ะ

เข้ามาทักทายค่ะ

เห็นด้วยกับการประเมินแบบ Formativeค่ะ พัฒนาการในผู้เรียนจะเกิดขึ้นได้ดีขึ้นเมื่ออาจารย์ผู้สอนหรือกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นกันเองหรือผ่อนคลาย ดิฉันเคยได้ยินคุณหมอบางท่านพูดว่าอาจารย์แพทย์บอกว่า การเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพในสภาวะที่กดดัน ปัจจุบันดิฉันทำงานอยู่โรงพยาบาลอำเภอค่ะ สงสารคุณหมอจังเลยสงสัยสมัยเรียนถูกกดดันจากหลักสูตร พอมาทำงานจริงค่อนข้างจะเอาแต่ใจตัวเอง ดูประวัติสมัยเรียนเห็นว่าได้คะแนนดีดีกันทั้งนั้น นานๆทีจึงจะเห็นแพทย์ที่มีอุดมการณ์ ดิฉันจึงเห็นด้วยกับอ.นกไฟว่า คุณธรรมหรือจริยธรรมต้องผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและสามารถพัฒนาต่อๆไปได้ไม่มีวันหยุดเรียน และดิฉันก็มีความเชื่อมั่นว่า แบบอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน ครูแพทย์หลายๆท่านก็เป็นแบบอย่างที่ดีอยู่แล้ว ในอนาคตคิดว่าสถานการณ์คงดีกว่านี้แน่นอนค่ะ ถ้าหากทางครูแพทย์ไม่ไปเน้นแต่ทาง Summative evaluationอย่างเดียว

Formative evaluation เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรมีการประเมินร่วมกับ Summative จึงน่าจะเป็นผลการประเมินที่สมบูรณ์แบบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท