Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

กลไกในการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism)


Sigmund Freud (1856-1939) บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย ผู้ที่สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ได้กล่าวว่า มนุษย์มิได้เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ดังเช่นที่พวกเขาเชื่อหรืออยากเป็น หากแต่ความคิดของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังแห่งจิตไร้สำนึกที่ซ่อนเร้น และหลุดรอดจากความเข้าใจของมนุษย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย". ฟรอยด์พบว่าการกระทำ, ความคิด, ความเชื่อ, หรือเรื่องเกี่ยวกับตัวตนนั้นถูกกำหนดแสดงออกโดยจิตไร้สำนึก(unconscious), แรงขับ (drive) และความปรารถนา (desire) มนุษย์ขจัดประสบการณ์และความทรงจำอันเจ็บปวดโดยการเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก อันจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเขา และก่อให้เกิดกลไกที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันตัวเองที่เรียกว่า "Ego Defense Mechanism" ขึ้นมา  ซึ่งฟรอยด์ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังนี้

1. การไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง (Ambivalence) เป็นสภาวะที่ Ego ไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไป แต่อยู่ในสภาวะสองจิตสองใจ เอียงไปข้างนั้นทีข้างนี้ที มีลักษณะโลเล หลายใจนั่นเอง

2. ปฏิกิริยาการหลบหนี (Avoidance) เป็นปฏิกิริยาการหลบหนีจากวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด เนื่องจากต้องข่มความรู้สึกที่พลังทางเพศและความก้าวร้าวอันแฝงอยู่ในจิตไร้สำนึกถูกระตุ้นให้สำแดงความปรารถนาออกมา เช่น  พระเอกในนิยายเรื่อง ทไวไลฟ์  ทั้งๆที่รักนางเอกมาก  แต่ก็พยายามหนีและอยู่ห่างจากนางเอก เพราะกลัวความเป็นแวมไพร์ของตนจะทำร้ายนางเอก (ฮิๆ)

3. การหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง (Fixation) เป็นสภาวะที่หยุดอยู่กับที่ไม่ยอมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเพราะประสบการณ์อันเจ็บปวด (Trauma) เช่น เด็กที่เคยสูญเสียพ่อแม่ก็จะไม่สร้างความรักกับใครอีกเลย หากจะเกาะยึดอยู่กับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น

4. การเลียนแบบ (Identification) คือ การปรับตัวโดยการเลียนแบบพฤติกรรม ทัศนคติ ค่านิยม ของบุคคล หรือสิ่งของที่ตนชื่นชอบ  โดยการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความรู้สึกทางจิตใจ เช่น การแสดงพฤติกรรมให้เหมือนกับบุคคลต้นแบบ ซึ่งอาจเป็นดารา นักแสดง หรือตัวละครต่างๆ โดยการแต่งตัว แสดงลักษณะท่าทางเหมือนผู้ที่เลียนแบบ นอกจากนั้นก็มีความรู้สึกร่วมกับผู้ที่เราเลียนแบบด้วย

5. การกล่าวโทษผู้อื่นหรือการโยนความผิดให้แก่ผู้อื่น (Project) คือ การลดความวิตกกังวล โดยการย้ายหรือโยนความผิด ความไม่ดีงามของตนเอง หรือความรับผิดชอบจากผลของการกระทำของตนเอง หรือผลจากความคิดที่ไม่เหมาะสมของตนไปให้บุคคลอื่น เช่น ถ้าตนเองรู้สึกไม่ชอบใครที่ตนควรจะชอบ  ก็อาจจะบอกว่าคนนั้นไม่ชอบตน เป็นการไม่ยอมรับความผิดของตนนั่นเอง ลักษณะนี้ ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง

6. การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) คือ การแสดงออกในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตนรู้สึก เพราะคิดว่าสังคมอาจยอมรับไม่ได้  โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง ที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมอาจจะไม่ยอมรับ เช่น แม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมตรงข้าม โดยการแสดงความรักมากมายอย่างผิดปกติ

7. การเก็บกด (Repression) เป็นการเก็บความรู้สึกผิด ความคับข้องใจเอาไว้ในจิตใต้สำนึกจนกระทั่งลืม ซึ่งการเก็บกดนี้หากต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้มากอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้

8. การขจัดความรู้สึก (Suppression) มีลักษณะคล้ายกับ Repression แต่เป็นกระบวนการขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปจากความคิด และเป็นกระบวนการที่เกิดอย่างที่ผู้กระทำมีความรู้ตัวและตั้งใจ ในขณะที่ Repression นั้นไม่รู้ตัว

9. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) คือการหาเหตุผล หาคำอธิบาย มาอ้างอิง มาประกอบการกระทำของตนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น เป็นการปรับตัวโดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น การใช้วิธีการป้องกันตนเองแบบนี้คล้ายๆกับการ แก้ตัว นั่นคือบุคคลจะพยายามหาเหตุผล อ้างข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุน

                   9.1 แบบองุ่นเปรี้ยว (Sour Grape) เช่น นักเรียนอยากเรียนแพทยศาสตร์ แต่สอบเข้าไม่ได้ สอบได้วิศวกรรมศาสตร์ อาจจะบอกว่าเข้าแพทย์ไม่ได้ก็ดีแล้ว เพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่สียสละ  เสี่ยงภัย เหน็ดเหนื่อย ไม่มีเวลาของตนเอง เป็นวิศวกรดีกว่า เพราะเป็นอาชีพอิสระ มีรายได้มาก

                        9.2 มะนาวหวาน (Sweet Lemon) เช่น นักเรียนไม่อยากเรียนกฏหมาย  พ่อแม่อยากให้เรียน ก็เลยลองสอบเข้าคณะนิติศาสตร์แล้วสอบเข้าได้  พ่อแม่ดีใจ สนับสนุนจึงต้องเรียนวิชากฎหมาย เลยคิดว่าเรียนกฏหมายก็ดี  มีความรู้ เป็นอาชีพมีเกียรติ มีประโยชน์ต่อสังคม  มีรายได้สูง และวันหนึ่งอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีก็ได้  ใครจะรู้

10. การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution/Compensation) การชดเชยหรือการทดแทนด้วยการหาทางออกในอันที่จะแสดงความต้องการของตน เช่น  การต้องการระบายความก้าวร้าวก็หันไปเล่นกีฬาทดแทน หรือวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ เป็นการชดเชยในสิ่งที่สังคมยอมรับได้

11. การถดถอย (Regression) คือการหนีกลับไปอยู่กับสภาพอดีตที่ตนเคยมีความสุข เป็นการแสดงพฤติกรรมถดถอยไปเป็นการหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข เช่น ผู้ใหญ่เมื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดก็แสดงอาการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง หรือเด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้องใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่น้อง จึงมีความรู้สึกว่าแม่ไม่รักและไม่สนใจตนเท่ากับที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารก ที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง

12. การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy / Day Dreaming) คือ การคิดฝัน หรือสร้างวิมานขึ้นเอง สร้างจินตนาการหรือมโนภาพเกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการแต่เป็นไปไม่ได้  ไม่สามารถเป็นจริงได้  ฉะนั้นจึงคิดฝันหรือสร้างวิมานในอากาศขึ้นเพื่อสนองความต้องการชั่วขณะหนึ่ง เช่น  คนไม่สวยก็นึกฝันว่าตนเองสวย  เก่งเหมือนนางเอก  มีพระเอกและผู้ชายมารัก มาให้เลือกมากมาย เป็นต้น

13. การแยกตัว (Isolation) คือ การแยกตัวให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง  เป็นอารมณ์ที่อยากอยู่เงียบๆคนเดียว  ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใครและไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วย

14. การแทนที่ (Displacement) คือ การระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เช่น พนักงานที่ถูกเจ้านายดุ ด่าหรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยาและลูก หรือนักศึกษาที่โกรธครูแต่ทำอะไรไม่ได้ อาจจะเตะโต๊ะ หรือเก้าอี้ เพื่อเป็นการระบายอารมณ์ เป็นต้น ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า  ตีวัวกระทบคราด

15. การไม่ยอมรับความจริง (Denial of Reality) เป็นวิธีการที่บุคคลไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมเผชิญหน้ากับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะเจ็บปวดกับความจริงที่เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่  รับไม่ได้กับความจริงที่ทำให้ตนต้องสูญเสียหรือไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา  การปฏิเสธความเป็นจริงมากๆ ก็ทำให้เป็นโรคประสาทได้

16. การแสดงความก้าวร้าว (Aggression) เป็นการกระทำของบุคคลเมื่อถูกขัดขวางความคิด ความต้องการของตน ความต้องการเอาชน จึงแสดงอำนาจโดยการต่อสู้ ทางกาย วาจาด้วยความก้าวร้าวเพื่อทำลายผู้อื่นหรือทำร้ายผู้อื่นให้เจ็บปวด  และยอมแพ้บุคคลนั้นในที่สุด

 

              กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) จึงเป็นวิธีการปรับตัวในระดับจิตไร้สำนึก กลไกในการป้องกันตัวมักจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคลปกติทุกวัย ตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยชรา เป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันตัวจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผลหรือแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 283791เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อยากรู้ว่าถ้า กลไกในการป้องกันตัวเองมีมาก

นี่เกิดจากสาเหตุอะไร?

แล้วถ้าบุคคลนั้นมีพฤติกรรมอย่างกลไกป้องกันตัวเอง

เป็นนิสัย ควรจะมีวิธีแก้ยังไง?

มีคนที่รู้จัก.....แสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคมและมีลักษณะป้องกันตนเองตลอดเวลา

ช่วยกรุณาตอบมาทางอีเมลด้วย ขอบคุณมากๆๆ

ขอตอบนิดนึงนะค่ะ

ไม่แน่ใจว่าถูกรึเปล่า

การใช้กลไกการป้องกันตัวมาก ๆ เป็นการบิดเบือนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เพื่อให้เกิดความสบายใจ เิกิดจากเมื่อมีความคับข้องใจ ขัดแย้งในใจ

ความเครียด เป็นสิ่งทำความเข้าใจได้ยาก เพราะทำงานในระดับจิตไร้สำนึก

อาจเกิดจากการเลี้ยงดูที่บิดเบี้ยว

(พ่อแม่มีวิธีคิดอย่างไร จัดการปัญหาอย่างไร ลูกก็จะเลียนแบบ)

ทำให้มองโลกไม่เป็นไปตามความจริง

อาจหลอกตัวเองไปวันๆ ซึ่งที่คนใช้ส่วนใหญ่จะเป็น

Rationalization หาเหตุผลที่ดี เพื่อให้ตัวเองสบายใจ

ในส่วนที่บอกว่าแสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคมนั้น

เกิดจากความไม่ไว้ใจนั่นเอง

แต่ไม่ได้หมายความว่าเค้าไม่อ่อนไหวนะค่ะ เค้าอ่อนไหวต่อสังคมภายนอก

ถ้าเค้ารู้สึกรัก และเชื่อใจใครซักคน อาจจะเป็นวิธีที่ดี ที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนเค้า

เปลี่ยนวิธีคิด ให้มุมมองที่หลากหลาย อย่ามองในแง่ร้าย

วิธีแก้นั้นยาก ยิ่งเกิดจากความไม่ไว้ใจด้วยแล้ว

และส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยยอมรับด้านที่ไม่ดีของตัวเอง

แต่ถ้ารับได้ ก็ค่อย ๆ ลองเอาไปให้เค้าอ่านดู ว่าเค้าคิดยังไง

เห็นสิ่งที่คนอื่นเห็นในตัวเค้ามั้ย

แต่เรื่องอย่างนี้ คนที่สนิทกันยังพูดยาก

ต้องค่อยๆ ประนีประนอมอย่ารีบร้อน

ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์มั้ยนะค่ะ

ยังไงก็สู้ ๆ นะค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

แนะนำให้ดาวน์โหลด MP3 ของหลวงพ่อหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ค่ะ

http://www.wimutti.net/pramote/

มาเปิดฟังบ่อยๆนะคะ เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน

จะทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร ก็เปิดทิ้งไว้ ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง อยู่เรื่อยๆ ให้สม่ำเสมอ

เพราะอะไรหรือค่ะ จะได้รู้จักและเข้าใจตนเองค่ะ

รู้ทันกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง

และจะได้รู้จักและเข้าใจผู้อื่นด้วยค่ะ

ไม่เชื่อหรือค่ะ ลองดูก่อนสิค่ะ แล้วจะเข้าใจว่า "ทำไม"

ถ้าชอบอ่านก็ที่นี่เลยค่ะ ธรรมใกล้ตัว http://gotoknow.org/blog/storydhamma

วารสารธรรมใกล้ตัว http://www.dharmamag.com/

แล้วคุณจะเจอคำตอบดีๆให้กับตัวเองค่ะ โชคดีนะคะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์

หนูจะสอบพรุ่งนี้....

ขอแอบมาศึกษาด้วยคนนะครับ

เสียดายที่แต่ก่อน เราเองขี้เกรียจไปหน่อย

isolation เต็มๆ น่าจะคือ isolation of affect แปลว่า ไร้อารมณ์ หรือ แยกเอาอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นออก เช่น เล่าเรื่องการตายของคนที่รักโดยไม่แสดงอารมณ์

ไม่น่าจะแปลว่าแยกตัวนะครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ได้สาระมากค่ะ

 

การป้องกันตัวเองไว้ก่อน



ลูกสาว วัย 7 ขวบ มักมีพฤติกรรม ชอบโยนความผิด กัดเล็บเวลาที่รู้สึกไม่สบายใจหรือถูกกดดัน และ มัก ชอบพูดตรงข้ามกับความต้องการเช่น อยากแวะร้านนม แต่คุณพ่อทักว่า มียุงนะตอนเย็นๆซึ่งคุณพ่อก็แค่เตือน แต่ลูกสาวกลับบอกว่า ไม่ไปก้อได้ทำหน้าไม่พอใจ คุณแม่ก้อบอกว่า แวะได้ถ้าลูกอยากทาน แต่น้องก้อบอกว่าก้อพ่อไม่ให้แวะ หนูไม่แวะก้อได้ และที่สดๆร้อนๆ กลับเข้ามาที่บ้านในห้องนอน น้องกับพ่อบอกว่าร้อน แต่แม่พึ่งอาบน้ำเสร็จบอกว่าหนาวแต่ก้อเปิดแอร์ได้เดี่ยวแม่จะห่มผ้า เปิดได้จร้าลูกแต่น้องกลับบอกว่าไม่เปิดก้อได้ก้อแม่บอกว่าแม่หนาวนี่ หนูไม่เปิดแอร์ก้อได้ แต่ทำหน้าไม่พอใจ อยากทราบว่าทำไมลูกสาวถึงเป็นแบบนี้ จะเกิดผลกระทบที่มากขึ้นหรือไม่เมื่อโตขึ้น และต้องแก้ไขพฤติกรรมอย่างไรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท