ปรับความคิด...ชีวิตเปลี่ยน


ปรับความคิด...ชีวิตเปลี่ยน

            หญิงวัย  66  รูปร่างอ้วน  ผิวคล้ำ  สีหน้าเฉยเมย  นั่งอยู่บนรถเข็นมือซ้ายถือไม้เท้า  มีคนงานรูปร่างเล็กกะทัดรัด  ผิวสีเดียวกับผู้นั่ง  กำลังเข็นเข้ามาด้วยความทุกลักทุเล  ส่งเสียงคุยกับผู้นั่งว่า  มาคุยห้องนี้ก่อน  เจตนาพามาห้องให้คำปรึกษาที่ดิฉันนั่งประจำอยู่  และได้ยินเสียงโต้ตอบว่า  จะมาคุยทำไม่วันนี้จะมาเอายา

            ดิฉันนั่งทำรายงานอยู่ในห้องให้คำปรึกษาจึงรีบออกไปสอบถาม มีอะไรให้ช่วยมั๊ยคะ  หญิงวัย  66  รูปร่างอ้วนรีบบอกทันทีว่า  จะมาเอายาให้มาคุยอะไรห้องนี้เสียเวลา  ดิฉันประเมินอารมณ์แล้วรู้ทันทีว่าผู้ป่วยไม่พอใจ  ว่าจะทำอะไรกันแน่  มาทำไมก็ไม่รู้

            ดิฉันจึงบอกว่า  ระหว่างรอยาคุณป้ามานั่งด้านนี้ก่อนน๊ะคะ  แล้วพานั่งรถเข็นไปนั่งคุยที่ระเบียงทางเดิน  มองออกด้านหน้าจะมีต้นไม้เขียว  ดูร่มรื่น  มีเสียงนกร้อง นกบินให้เห็นเป็นระยะๆ  (ห้องให้คำปรึกษาประตูแคบไม่สามารถนำรถเข้าไปได้)  ระหว่างเดินเข็นไปได้สอบถามถึงการเดินของคุณป้า  ปกติอยู่บ้านคุณป้าเดินเองได้ใช่มั๊ยคะ  (สังเกตว่ามีไม้เท่ามาด้วย)  คุณป้าพยักหน้า  (ไม่พูด)  แล้วตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง  ไม่อยากทำอะไรเลย  เบื่อมาก  น้ำเสียง  สีหน้า  เป็นอย่างที่พูดจริง    ดิฉันจึงสะท้อนสิ่งที่เห็นให้คุณป้ารู้ว่า  สังเกตว่าคุณป้ามีสีหน้าเศร้าหมองไม่สบายใจ  มีอะไรให้ช่วยบอกได้นะคะ  คุณป้าเงยหน้าขึ้นมอง  ดิฉันได้พบว่าคุณป้าที่ดิฉันคุยด้วยนั้น  ตาข้างขวาบอดสนิท  ปากเบี้ยวไปซีกขวา  แววตาที่เหลือเพียงข้างเดียวนั้นดูเหม่อลอย  หม่นหมอง  อิดโรย  พูดว่า  นอนไม่หลับ  วันนี้ต้องการมาเอายานอนหลับ  กินให้หลับแล้วไม่ต้องตื่นอีกเลย

            ดิฉันรับรู้ทันทีว่าคุณป้ารายนี้มีปัญหาที่ทำให้นอนไม่หลับและตอนนี้ถึงขั้นซึมเศร้าและวางแผนฆ่าตัวตาย  นึกขอบคุณพยาบาลที่ส่งคุณป้ามาคุยห้องนี้  ขอบคุณคนงานที่เข็นมาด้วยความทุกลักทุเล  ต่อไปนี้เป็นหน้าที่ของพยาบาลจิตเวชอย่างดิฉันที่จะใช้ความรู้ที่เรียนมาสด    ร้อน    ช่วยคุณป้าให้ปรับเปลี่ยนความคิดที่กำลังท้อแท้หมดหวัง

            ดิฉันให้คุณป้าเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง  อยู่นาน  พอสรุปได้ว่า  คุณป้ามีครอบครัวที่ดี  วันหนึ่งป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง  หลอดเลือดในสมองแตกได้รับการผ่าตัด  คิดว่าตัวเองคงไม่รอดแน่จึงได้นำสิ่งของส่วนตัวที่มีอยู่มาแจกจ่ายให้คนที่รู้จักแม้กระทั่งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  สามีและญาติพี่น้องให้เก็บไว้บ้างจึงเหลือเก็บไว้เพียงชุดเดียว  วันเวลาผ่านไปคุณป้าอาการดีขึ้น  สิ่งที่เหลือไว้คือปากเบี้ยว  แขนซีกขวาอ่อนแรง  ต่อมาปวดตามากไปรักษากับหมอตาบอกว่าเป็นต้อหิน  รักษาหายแต่ก็เสียตาไปข้างหนึ่ง  ต่อมาเป็นโรคไต  โรคเบาหวาน  สูญเสียสามี  พี่สาว  น้องสาว  คงเหลือคุณป้าที่จะตายก่อนคนอื่น    ก็ไม่ตาย  ลูกสาวป่วยเป็นมะเร็งปอดเสียชีวิต  เคยเบิกค่ารักษาได้ตอนนี้ก็ต้องมาใช้สิทธิ์บัตรทอง  ลูกคนอื่น    ก็ไปมีครอบครัวและอยู่ทีอื่นไม่มีใครเหลียวแลเลย  มีบ้านก็ต้องอยู่คนเดียว  ทุกวันนี้คิดแต่เรื่องของตนเอง  ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม  ทำอะไรก็ไม่ไหว  เจ็บป่วยต้องรักษาตลอดมีโรคอยู่ในตัวเองตั้ง  6  โรค  นอนไม่หลับมานานมาก  หลับได้คืนละ  2-3  ชั่วโมงเท่านั้น  (ในระหว่างนั้นดิฉันได้ประเมินภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายพบว่าคุณป้าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตาย)

            ได้รับรู้เรื่องที่คุณป้าเล่าดิฉันเศร้าใจและห่อเหี่ยวไปด้วยรับรู้ได้ถึงความทุกข์  แต่ในเวลานี้ดิฉันรู้แต่ว่า  อยากช่วยเหลือให้พ้นจากความรู้สึกแย่    ที่เกาะกินใจคุณป้าไม่น่าเชื่อว่าเพียงเรามีความรู้สึกที่อยากจะช่วยด้วยความเต็มใจ  ช่วยด้วยความจริงใจ  คำพูดดี  ๆ หลั่งไหลมาจากไหนก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน  ดิฉันรู้สึกชื่นชมในความเข้มแข็งของคุณป้า  รู้สึกดีใจมากที่มีโอกาสคุยกับคุณป้าไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า  คนที่เจ็บป่วยมากมายหลายโรคผ่านอุปสรรค  ผ่านการสูญเสียมามากมายขนาดนี้  แต่ยังมานั่งคุยเล่าเรื่องต่าง    ได้มากมาย  ดิฉันรู้สึกชีดีมากที่ได้พบคุณป้าวันนี้  คุณป้าเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง  ถึงร่างกายจะเจ็บป่วยแต่ดิฉันสัมผัสได้ถึงจิตที่มั่นคง  มีพลังที่พร้อมจะต่อสู้  ฝ่าฟัน  กับความไม่แน่นอนในชีวิต

            คุณป้ามองหน้าดิฉันพูดอย่างไม่แน่ใจ  จริงหรือหมอ  ป้าทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ  ดิฉันสังเกตเห็นแววตาที่เริ่มสดในมีฉายแววเป็นประกายจึงเพิ่มความมั่นใจให้ว่า  ทุกวันนี้คุณป้าสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของป้าเองแทบจะไม่ต้องพึ่งพาใครเลย  ที่ผ่านมาป้าอาจจะต้องดูแลคนอื่น    แต่วันนี้ป้าได้มีโอกาสดูแลตัวเองเต็มที่  ไม่ต้องเป็นห่วงใคร  ไม่ต้องรับภาระเลี้ยงใคร  ให้เวลากับตัวเองได้เต็มที่  คุณป้ามองหน้ายิ้ม    บอกว่า  ต้องเลี้ยงหมาตัวหนึ่ง  เป็นเพื่อนกัน  แล้วถ้าไม่มีคุณป้าหมาจะอยู่กับใคร  พอป้าได้คุยป้ารู้สึกดีขึ้น  ป้าจะไม่คิดฆ่าตัวตายแล้ว  ป้าจะตายตั้งหลายครั้งแต่ก็ไม่ตายคนที่ไม่คิดว่าจะตายก็ตายไปหมดแล้ว  แสดงว่ามันยังไม่ถึงเวลาของป้า  วันนี้ตั้งใจมาเอายาไปกินให้หลับไม่ตื่นให้ตายไป  แต่ก็ได้มาคุยกับหมอ  ทำให้ป้ารู้สึกดีขึ้น  แสดงว่ายังไม่ถึงเวลาที่ป้าจะตายไม่ต้องมาทำร้ายตัวเองให้เป็นเวรเป็นกรรมติดไปชาติไหน    แค่ชาตินี้ก็เจ็บป่วยทรมานทั้งกายทั้งใจมากพอแล้ว  ไม่อยากตายแล้ว

            ดิฉันรู้สึกโล่งอย่างบอกไม่ถูก  ที่สุดท้ายแล้วคุณป้าก็คิดได้ด้วยตัวเองว่า  ต่อไปจะไม่คิดทำร้ายตัวเองอีก  การทำร้ายตัวเองนั้นเป็นเวรกรรมที่ต้องไปชดใช้ในชาติต่อ    ไป  (ถ้ามีจริง)

            จากการประเมินสุขาภาพจิตคุณป้ารายนี้มีภาวะซึมเศร้า  ดิฉันจึงส่งไปรับยาต้านเศร้า  และนัดกลับมาอีก  2  อาทิตย์  คุณป้ามาตรวจตามนัดและเดินด้วยไม้เท้ามาหาดิฉันที่ห้องให้คำปรึกษา  คุณป้าส่งเสียงแจ๋วเรียกเข้ามา  แล้วยกมือไหว้ดิฉันจนรับไหว้แทบไม่ทัน  แกเล่าว่าตอนนี้สบายใจมากทำตามที่หมอบอกไป  ว่าง    ก็ไปคุยกับเพื่อนบ้านบ้าง  กลางคืนก็หลับสบายไม่คิดอะไรมากแล้ว  ขอบคุณหมอมากเลยที่ช่วยป้า  ตอนนั้นไม่รู้คิดตายไปได้อย่างไร  สิ่งที่ดิฉันบอกคุณป้าได้ในเวลานั้นคือ  ทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะตัวของคุณป้าเอง  คุณป้าสามารถปรับความคิดของตัวเองได้  คุณป้าเข้มแข็งไม่ยอมแพ้  คุณป้าเป็นแบบอย่างของการต่อสู้กับความรู้สึก  ความคิดที่มองไม่เห็นของตัวเอง  แล้วคุณป้าก็เอาชนะใจตัวเองได้  ดิฉันรู้สึกดีใจกับคุณป้าจริง    ที่หลุดออกมาจากความรู้สึกเลวร้ายตรงนั้นได้สำเร็จ

            ดิฉันรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก  รู้สึกมีกำลังใจในการทำงานขึ้นมาอย่างประหลาด  เพียงเราทำอะไรสักอย่างให้ใครสักคนด้วยความจริงใจ  เต็มใจที่จะช่วยเหลือ  เราจะทุ่มเทพลังกายพลังใจให้กับมันเต็มที่  คุณป้ารายนี้ทำให้ฉันทีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น  พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกคนที่มีปัญหา

            ดิฉันได้เล่าเรื่องนี้ให้กับน้อง    พยาบาลของโรงพยาบาลฟัง  ทำให้เห็นว่าการประเมินผู้ป่วยไม่ใช่ประเมินเฉพาะทางด้านร่างกายเท่านั้น  แต่จิตใจก็ต้องเข้าให้ถึงด้วย  ต้องขอบคุณน้อง    พยาบาลแทนคุณป้า  ที่มีโอกาสได้ช่วยชีวิตคุณป้ารายนี้  ถ้าคุณป้าไม่ได้รับการประเมินทางด้านจิตใจ  ก็อาจมียอดผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้น  โดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจ่ายยาให้ผู้ป่วยไปทำร้ายตัวเอง

            ประสบการณ์ที่ได้ครั้งนี้  ทำให้โรงพยาบาลมีการประเมินสุขภาพจิตไปพร้อม    กับสุขภาพกายและคุณป้าก็มาทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ  ที่รู้สึกท้อแท้  เบื่อหน่าย  สิ้นหวังได้เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 286078เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2009 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท