BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สมบัติบ้าในวัด : คัมภีร์ใบลาน


สมบัติบ้าในวัด : คัมภีร์ใบลาน

เข้าพรรษามาเดือนกว่าแล้ว ที่วัดก็มีการแสดงธรรมทุกคืน โดยถ้าผู้เขียนแสดงก็จะเป็นการเทศน์ปฏิำภาณ คือเป็นการเทศน์ปากเปล่าโดยใช้โวหารและภูมิรู้ของนักเทศก์เอง แต่ถ้าพระ-เณรรูปอื่นเทศน์ก็จะเป็นการอ่านผูก คืออ่านจากผูกเทศน์รุ่นใหม่ซึ่งใช้กระดาษแผ่นพับ... ส่วนผูกเทศน์รุ่นเก่าซึ่งเป็นใบลานนั้น เดียวนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้ในวัดทั่วไปนัก บอกให้พระเลือกไปเทศน์บ้าง ท่านเอาไปหลายวันแล้ว แต่ก็บอกว่ายังไม่มั่นใจ... คืนนี้ ผู้เขียนจึงเลือกมาเทศน์หนึ่งผูก

วัดยางทองที่ผู้เขียนอยู่เป็นวัดเก่ากลางเมืองสงขลา สมัยหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีพระมหาเปรียญมากที่สุดของภาคใต้ (แต่สิบกว่าปีมานี้ มีผู้เขียนรูปเดียวเท่านั้น) แม้ว่าสิ่งของเครื่องใช้เก่าๆ อื่นๆ จะถูกขโมยและชำรุดสูญหายไปเกือบหมดแล้ว แต่ผูกเทศน์ใบลานเก่ายังมีอยู่อีกหลายร้อยผูก อยู่ในตู้ธรรมรุ่นเก่า ๓ ตู้เต็มๆ (ไม่เคยนับ อาจถึงพันผูกก็ได้) ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่บ่งชี้ความเป็นวัดชุมนุมผู้รู้ในอดีตได้ แต่เมื่อนานเข้าใบลานเหล่านี้ก็คล้ายๆ จะเป็นสมบัติบ้าในวัดเหมือนกัน...

ก่อนเข้าพรรษานี้ เมื่อผู้เขียนย้ายเข้ามาอยู่ในศาลาการเปรียญ ก็ได้ตรวจดูผูกเทศน์เหล่านี้ ได้จัดเก็บให้เข้าที่เข้าทาง แต่ในส่วนที่เป็นเศษๆ ฉีกขาด ก็ได้เก็บใส่ลังกระดาษไว้ บังเอิญท่านมหาฯ รูปหนึ่งซึ่งเคยเป็นศิษย์ผู้เขียนมาเยี่ยม จึงขอไปเป็นมวลสารเพื่อใช้สร้างพระเครื่อง ผู้เขียนจึงให้ไป...

ผูกเทศน์ใบลานรุ่นเก่าเหล่านี้ ถ้าเก็บไว้ในที่ร่มไม่ถูกแดดถูกฝน ห่างจากหนูหรือแมวเป็นต้นที่จะมากัดทำรังแล้ว ก็จะเก็บไว้ได้นาน เฉพาะผูกเทศน์ที่วัดตามที่ผู้เขียนตรวจดู บางผูกก็ ๖๐-๗๐ ปีแล้ว และบางส่วนก็เป็นอักษรขอมหรืออักษรไทยโบราณ จำได้ว่าเมื่อแรกมาอยู่วัดยางทองนั้น ผู้เขียนเคยหัดเรียนอักษรขอมด้วยตนเอง พออ่านได้นิดหน่อย จึงรู้ว่าผูกเทศน์ที่ต้องการอ่านนั้น เป็นภาษาบาลีล้วน ตรวจสอบก็รู้ว่าเป็นนิทานธรรมบท จึงค้างไว้ ไปหาอ่านผูกเทศน์อักษรขอมที่เป็นภาษาไทย ซึ่งอ่านไม่ค่อยออก เนื่องจากสระของเรามีมาก และในหนังสือที่หัดเรียนเองนั้น ไม่ได้อธิบายไว้ จึงต้องพักไว้เพื่อจะพบผู้รู้ แต่ก็ไม่มีโอกาสเจอ จึงปล่อยเลยตามเลย เดียวนี้ลืมหมดแล้ว จำได้แต่เพียงว่าเคยหัดแจกอักษรขอมว่า กันนะ กันนู... อะไรนี้แหละ

ผูกเทศน์ใบลานเก่าในวัดที่เก็บไว้ไม่ดีแล้วกลายเป็นรังหนูรังแมวนี้ ผู้เขียนเคยเผาไปหลายครั้ง จำได้ว่าครั้งแรกก็ที่วัดกระดังงา เมื่อบวชพรรษาแรก ผู้เขียนขึ้นไปรื้อของบนกุฏิไม้เก่าซึ่งไม่มีใครอยู่แล้ว เจอหีบไม้จึงเปิดดู เห็นผูกเทศน์ใบลานกระจายเป็นชิ้นส่วนอยู่ และหนูวิ่งออกมา จึงจัดการรื้อมาเพื่อจะเผา เพราะไม่สามารถใช้การได้แล้ว ท่านเจ้าอาวาสเห็นก็ปรามว่า เค้ามิให้เผาใบลาน บาป ! แต่ผู้เขียนก็ดื้อแพ่ง เอามาเผาจนได้ ซึ่งท่านก็มิได้ตำหนิอะไร (ท่านคงจะคิดว่า ได้ทำหน้าที่ปรามแล้ว ท่านจึงไม่ผิด 5 5 5...)

นอกจากเป็นรังหนูรังแมวแล้ว ผูกเทศน์ใบลานเหล่านี้อาจกระจายเป็นแผ่นๆ ได้ หากเชือกที่ร้อยใบลานขาด หรือไม่ผูกเก็บไว้อย่างดีหลังจากใช้เสร็จ แผ่นใบลานที่แยกออกจากผูกเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นส่วนเกิน เพื่อหาต้นขั้ว แต่โดยมากมักจะหาต้นขั้วไม่พบกลายเป็นเศษๆ ที่ค่อยรวมกันไปบดหรือเผาทำมวลสารสร้างพระเครื่องในที่สุด (5 5 5...)

 

ปัจจุบันนี้ เมื่อผูกเทศน์แบบกระดาษพับเกิดขึ้น ผูกเทศน์ใบลานแบบเก่าค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง ด้วยสาเหตุสำคัญ ๒ ประการคือ เวลาเทศน์หรืออ่านนั้น แบบกระดาษพับใช้งานง่ายกว่า และเนื้อหาในผูกเทศน์แบบกระดาษพับนั้น เพราะเป็นของใหม่ เรื่องราวจึงประยุกต์ตามสมัยใหม่ น่าสนใจกว่ารุ่นเก่า ซึ่งใช้ภาษาชั้นสูง คนอ่านก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง จะป่วยกล่าวไปใยที่คนฟังจะรู้เรื่องยิ่งกว่าคนอ่านทั้งหมด...

ผู้เขียนเคยฟังนักวิชาการอาวุโสท่านหนึ่ง เล่าว่า่ตอนเป็นเด็กวัยรุ่นนั้น ท่านได้ไปวัดฟังเทศน์กับญาติผู้ใหญ่ พระจะนำผูกเทศน์ใบลานเหล่านี้มาอ่าน ซึ่งท่านชอบฟังเพราะใช้ภาษาดีสำนวนสละสลวย แม้เรื่องราวที่นำมาเทศน์ท่านจะรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ตาม... ผู้เขียนก็นำมาเทียบเคียงกับญาติโยมที่วัด ซึ่งก็มีเด็กวัยรุ่นติดตามคุณย่าหรือคุณยายมาฟังอยู่เป็นบางคืน นักวิชาการอาวุโสท่านนี้ น่าจะเป็นทำนองเดียวกับเด็กเหล่านี้ เพียงแต่การอ่านเทศน์ผูกใบลานแบบเก่าไม่ค่อยมีเท่านั้น

เกี่ยวกับผูกเทศน์ใบลานเก่าเหล่านี้ ทำให้ผู้เขียนจินตนาการไปถึงพระอารามหลวงหรือวัดใหญ่ๆ แถวกรุงเทพฯ วัดเหล่านั้น มีพระมหาเปรียญที่มีภูมิรู้ สามารถที่จะอ่านผูกเทศน์ใบลานเก่าๆ ซึ่งเป็นสำนวนชั้นสูง ขณะที่กลุ่มผู้ฟังก็อาจเป็นผู้สูงอายุที่มีภูมิรู้ภูมิธรรม จึงอาจฟังได้อย่างรู้เรื่องและเข้าถึงอรรถรสอรรถธรรม... แต่วัดที่ผู้เขียนอยู่ตอนนี้ ญาติโยมมาฟังธรรมแต่ละคืนประมาณ ๕-๑๐ คน และก็เป็นชาวบ้านธรรมดา มิใช่ศาสตราจารย์ด้านอักษรศาสตร์ที่เกษียณจากการงาน หรือมหาเปรียญนอกวัดที่ยังคงใคร่ในธรรม ขณะที่พระ-เณรนักเทศก์อื่นๆ ก็เป็นเพียงผู้หัดอ่านหนังสือให้ถูกเท่านั้น มิใช่มหาเปรียญเอกเช่นผู้เขียน... ดังนั้น การนำผูกเทศน์ใบลานเก่าเหล่านี้มาอ่านให้ญาติโยมฟัง จึงมิใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายนัก เมื่อคิดถึงความเหมาะสม

ผู้เขียนคิดว่า ผูกเทศน์ใบลานเก่าๆ ในหลายๆ วัดกำลังกลายเป็นสมบัติบ้าในวัด เพราะทิ้งก็ไม่ได้ จะเผาก็ต้องฝืนความเชื่อว่าบาป ดังนั้น บางวัดจึงถือโอกาสบดหรือเผาแล้วทำเป็นมวลสารสร้างพระเครื่องโดยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 286320เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2009 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

อ้อ..มวลสารมีที่มาดังนี้แล

นมัสการพระคุณเจ้า มีความเชื้อคล้ายกันครับ กับการเผากัลกรุอ่าน ว่ามันบาป

P prissy

 

  • อย่างนั้นแหละ

..........

P วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

  • คงจะเป็นกุศโลบายของคนโบราณ

......

เจริญพรทั้งสองท่าน

นมัสการ

แตกต่างจากคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งนะครับ ขานั้นเขาแนะนำให้อ่านเสร็จแล้วเผา จะได้ไม่ติดกับตัวคัมภีร์ น่าสนใจในอุบายที่แตกต่างกันนี้นะครับ

P Phoenix

 

จริงอยู่ว่าอุบายแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณา คัมภีร์เต๋าเต็กเ็ก็ง เป็นเพียงหนังสือเล่มเล็กๆ เท่านั้น เนื้อหายังน้อยกว่า ภิกขุปาฏิโมกข์ ที่สามารถท่องจำได้ไม่ยากนัก...

ส่วนคัมภีร์ทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็น อัลกุรอ่าน หรือ พระไตรปิฏก มีเนื้อหามากมายเทียบไม่ได้กับเต๋าเต็กเก็ง (เนื้อหาของเต๋าเต็กเก็ง น่าจะไม่ถึง 0.01 % ของพระไตรปิฏก) คัมภร์เหล่านี้เป็นสมบัติทางศาสนาที่โบราณชนอุตสาหะรวบรวมไว้...

เฉพาะ ผูกเทศน์ คัมภีร์ใบลานเก่าเหล่านี้ จัดเป็นเพียงวรรณกรรมทางศาสนาเท่านั้น ยังไม่ถึงระดับคัมภีร์หลักทางศาสนา แต่กว่าที่จะศึกษาเล่าเรียนจนกระทั้งรจนาผูกเทศน์ทำนองนี้ได้ คงจะใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีขึ้นไป... พอดีพอร้าย จะเผาเสียง่ายๆ จะสมควรหรือ ดังนั้น จึงมีอุบายว่าเป็น บาป !

อนึ่ง การอ้างมิให้ติดในคัมภีร์นั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้โดยตรงในกาลามสูตรข้อหนึ่งว่า

  • มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าปลงใจเชื่อเพราะอ้างตำรา

เจริญพร

นมัสการค่ะ...หลวงพี่ "chaiwut"

ไม่เคยทราบมาก่อนเจ้าค่ะ...ว่าเผาคัมภีร์แล้วจะบาป
"บางวัดจึงถือโอกาสบดหรือเผาแล้วทำเป็นมวลสารสร้างพระเครื่อง"
อย่างนี้ได้บุญหรือบาปเจ้าค่ะ...
-----------------

ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

P Vij

 

 

บุญหรือบาปตามนัยนี้ เป็นเพียงความรู้สึกดีหรือหรือรู้สึกผิดของคนในสังคมเท่านั้น มิใช่ตามนัยแห่งพระศาสนา ซึ่งการประเมินค่าของคนในสังคมก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง...

อย่างการเก็บเศษใบลานมาเผา ตามความเห็นส่วนตัว น่าจะเป็นบุญมากกว่าเป็นบาป... ส่วนการเก็บมาทำมวลสาร คงจะเป็นวิธีการหาทางออกอย่างหนึ่ง (.........)

อนึ่ง ยินดีที่อาจารย์ Vij กลับมาเยี่ยมอีก คิดว่าอาจารย์น่าจะสำเร็จดุษฎีฯ เรียบร้อยแล้ว ขอแสดงความยินดีด้วย (แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ล่วงหน้า หรือภายหลัง)

เจริญพร

นมัสการ ท่านอาจารย์พระมหาชัยวุธ

การเผาคัมภีร์ที่ขาด ๆ แล้วได้ข้อคิดจากพระเถระท่านหนึ่งว่ามิใช่การเผาทิ้ง แต่เป็นการบูชาเพลิง เพื่อมิให้ทิ้งเกะกะเหยียบย่ำซึ่งอาจไม่ตั้งใจอาจเป็นบาปได้ จึงควรบูชาเพลิง (เผา)ดีที่สุด

วันก่อนสอนเรื่องพระธรรมแก่นักเรียน ไปร้านสังฆภัณฑ์แถวถนนนครใน ไปซื้อคัมภีร์ใบลานมาผูกหนึ่ง ราคา 79 บาท เป็นของเก่า (2484 )ซึ่งร้านต้องค้นหากันนานจึงได้มาเก็บไว้เป็นสื่อในห้องจริยธรรม เด็กปัจจุบันไม่เคยเห็นครับนักเรียนสนใจมากเลยครับ ถ้าวัดมีคัมภีร์หลงเหลือไม่ได้ใช้แล้วก็นมัสการขอบริจาคเป็นสื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักบ้างนะครับ

กราบนมัสการขอบพระคุณล่วงหน้า

P pakorn

 

สมบัติวัดจัดเป็นของสงฆ์ ให้ไม่ได้ ต้องทำผาติกรรม ซึ่งอาจารย์คงจะเข้าใจ

เจริญพร

นมัสการท่านอาจารย์

กระผมลืมไปว่าคัมภีร์เป็นสมบัติของสงฆ์ไม่ใช่ของส่วนตัวของพระจึงต้องทำผาติกรรม แล้วนำมาได้จึงจะไม่เป็นโทษใช่ไหมครับ

ผาติกรรม ในทางพระวินัย หมายถึงการชดใช้ การชดเชย การทดแทนให้แก่สงฆ์ ในกรณีที่ทำของสงฆ์เสียหาย เช่นทำจานวัดแตกยืมของวัดไปแล้วทำหาย จึงไปซื้อหรือจ่ายเป็นเงินค่าจานหรือสิ่งของนั้นให้แก่วัด หรือในกรณีแลกเปลี่ยนกับของสงฆ์ เช่นไม้ของวัดที่ไม่ได้ใช้ต้องการจะนำไปใช้ จึงนำสิ่งของอย่างอื่นที่วัดต้องการมาแลกเปลี่ยนไป หรือในกรณีที่ทางราชการเวนคืนที่ดินของวัดไปเพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ โดยชดเชยเป็นเงินให้แก่วัด เรียกสิ่งของหรือเงินที่ชดใช้หรือทดแทนเช่นนี้ว่า ค่าผาติกรรม (จากหนังสือ "คำวัด" ของ พระธรรมกิตติวงศ์)

อยากถามท่านอาจารย์ว่า คำว่า "ชำระหนี้สงฆ์"ที่มีการเชิญชวนทำบุญนั้นถือเป็นการทำผาติกรรม ไหมครับ

กราบนมัสการครับ

P pakorn

 

  • ชำระหนี้สงฆ์ !

ไม่ค่อยเข้าใจคำถาม... ถ้าเป็นกรณีญาติโยมมาทำบุญ นั่นเป็นการทำบุญทั่วไป มิใช่ผาติกรรม...ผาติกรรมคือการแลกเปลี่ยนของสงฆ์กับของชาวบ้าน ซึ่งมิใช่การทำบุญ...

เจริญพร

 

นมัสการท่านอาจารย์

คำว่า ชำระหนี้สงฆ์ ดูเหมือนบ้านเราไม่ค่อยเห็น แต่ที่ภาคกลางจะเห็นเชิญชวนกันเยอะ มักจะเป็นเชิญชวนหล่อพระชำระหนี้สงฆ์ ใส่เงินในตู้นี้ ตู้นั้น เป็นการชำระหนี้สงฆ์ อ่านในเวป ของสำนักวัดท่าซุง อุทัยธานี ว่าเป็นการทำบุญชดเชยที่เราอาจเผลอหยิบของวัดไปใช้ เช่น ธูปเทียน เป็นต้น หรือเก็บต้นไม้ ใบไม้ไปจากวัด แต่การทำผาติกรรม คือแลกเปลี่ยนของสงฆ์โดยมีพระสงฆ์รับทราบอยู่ว่าแลกอะไรไป กระผมจึงสงสัยว่าการทำผาติกรรม คือการแลกของสงฆ์ นั้นกับการชำระหนี้สงฆ์ ที่กล่าวไปแล้วนั้นจะเหมือนกันไหมครับ

กราบนมัสการ

P pakorn

 

  • อนุโมทนาอย่างยิ่ง...

เจริญพร

ทางภาคเหนือมีคัมภีร์ทางเหนืออยู่มาก แต่มีนักวิชาการหลายท่าน เช่นอาจารย์บำเพ็ญ ระวิน และท่านอื่นๆ ได้พยายามแปลภาษาเหล่านั้นให้เป็นภาษาไทย ผมเคยอ่านมาบ้าง บางส่วนก็คล้ายเป็นเรื่องเล่าของพระเจ้าแผ่นดินต่างๆ ที่ผมไม่รู้จักชื่อ อาจจะเป็นวรรณกรรมทางศาสนาอย่างที่ท่าน Pheonix กล่าวไว้ครับ

ในการแปลนั้น เขาพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์ จึงต้องมีการส้รางตัวอักษรขึ้นมาใหม่ในคอมพิวเตอร์ครับ

ผมยังเห็นว่าหากเราสามารถแปลออกมาได้ก็น่าจะมีประโยชน์นะครับ

Pนพ.สาโรจน์ - สันตยากร

 

อาตมาเคยอยู่ภาคเหนือ คุ้นเคยกับผูกเทศน์คำเมืองพอสมควร ในส่วนที่เป็นภาษาไทยแต่ใช้คำเมืองเคยหัดอ่านหัดเทศน์เล่นๆ แต่ยังไม่เคยมีโอกาสขึ้นธรรมาสน์ ส่วนที่จารเป็นภาษาเหนืออ่านไม่ออก...

นอกจากนั้น เคยอยู่วัดแพมกลาง ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ที่อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ก็เคยเห็นผูกเทศน์ของไทยใหญ่เหมือนกัน คิดว่าผูกเทศน์เหล่านี้คงมีทั่วไป โดยใช้ภาษาของตนเอง ส่วนเรื่องราวนั้น อาจมาจากคัมภีร์ทางศาสนาเช่นพระไตรปิฏกบ้าง และอาจผสมปนเปไปกับนิทานพื้นบ้านหรือประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนนั้นบ้าง...

ส่วนทางภาคใต้นั้น ภาษารุ่นเก่าๆ ไม่มีใช้แล้วตามวัดเมืองไทย แต่คัมภีร์อาจหลงเหลืออยู่บ้าง... แต่ก็ไปพบวัดไทยในมาเลย์ พวกเค้ายังคงรักษาและใช้อยู่บ้าง...

เห็นด้วยกับโยมคุณหมอในแง่ว่า ถ้าแปลมาและรักษาไว้ได้... แต่งานนี้ให้ผู้ถนัดทำดีกว่า... เพราะตอนนี้ อาตมามีงานที่ไม่ถนัดซึ่งจำเป็นต้องจัดการเข้ามาเรื่อยๆ เีิริ่มบ่นกับตนเองว่า...

  • ที่เรารู้ก็เยอะ แต่ไม่ได้ใช้ ต้องมาจัดการสิ่งที่ไม่รู้ ไม่ชำนาญ หรือบางเรื่องไม่เป็นเลย (5 5 5...)

เจริญพร

กราบ 3 หน...

เมื่อเริ่มสิกขาอย่างจริงจัง

ผมเคยถามน้องที่เป็นสหธรรมิกว่า...

ทำไมพระต้องสวดเป็นภาษาบาลี...

ญาติโยมที่ฟังจะเข้าใจหรือไม่...

แล้วพระที่สวด เข้าใจหรือปล่าว...

เขาตอบว่าญาติโยมที่ฟังส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ...พระที่สวด...ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้(อวิชชา)...พระต้องสวดเป็นภาษาบาลี...เพราะนี่คือเส้นทางที่จะคงพุทธศาสนาได้ยาวนานจนกระทั่งถึงพี่(ผม)ได้สดับนี่แหละ...555

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง...เพราะเคยเล่นเกมส์สื่อสาร...ก็รู้ว่ามันเพี้ยนได้ตั้งแต่บอกต่อกันไปถึงคนที่ 3 แล้ว...

เมื่อเช้าจู่ ๆ ผมก็นึกถึงปัจฉิมโอวาทขึ้นมา...แล้วครุ่นในธรรมของพุทธองค์...จิตก็ระลึกว่า...ที่ท่านกล่าวว่าอย่าได้ประมาทนั้น...ท่านกล่าวกับภิกขุทั้งหลายว่าอย่าประมาทในการประพฤติพรหมจรรย์...เนื่องจากท่านมิได้อยู่เพื่อชำระอธิกรณ์ให้...ด้วยญาณหยั่งรู้ของท่านคงทราบว่า...ความผิดเพี้ยนย่อมเกิดขึ้น-ดับไปตามวัฏจักรของอาสวะกิเลส...

อย่างน้อย...ผูกเทศน์ก็ให้ความรู้สึกระลึกถึงธรรมว่ามีอยู่...

ผูกเทศน์นั้น อย่างน้อย    ได้รู้ ทางธรรม

รูปผ่านนาม รู้จำ             จดไว้

วันเวียนผ่าน หากพบ       สัจจ์แจ้ง

สัปปายะ อยู่พร้อม          เผาทิ้ง ปล่อยวาง

กราบ 3 หน

ตามมาดูสมบัติของวัดครับหลวงพี่

แต่ละวัดจะมีของแบบนี้เยอะนะครับ ทำอย่างไรถึงไม่ให้เป็นสมบัติบ้ารกรุงรังวัด

บางวัดผมเห็นพระที่มีแนวอนุรักษ์ จัดระบบหมวดหมู่ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ไปได้แน่ะ

นมัสการพระคุณเจ้า

ถ้าคิดว่าเป็นสมบัติ ก็เป็นสมบัติ แต่เป็น สมบัติทางความรู้

ถ้าคิดว่าเป็นขยะ ก็เป็นขยะ

ขยะนั้นทิ้งได้ แต่ความรู้นั้นจะทิ้งไป คนรุ่นหลังคงหลงทาง

อนาคต อาจจะมีคนเจอหนังสือกระดาษเก่าๆ

อาจจะคิดเอาไปเผา ยุคนั้นสำนวนภาษาก็อาจเปลี่ยนไปบ้าง

โดยเฉพาะ สมัยนี้ เด็กวัยรุ่น เริ่มใช้ภาษาเขียนกันเพี้ยนๆไปแล้วครับ

 

 

 

 

เมื่อคืนวานมีข่าววิจารณ์ทางโทรทัศน์เรื่องสมบัติวัด พวกบอกให้เปิดดู แต่โทรทัศน์รับช่องนั้นไม่ได้...

ตามความเห็นส่วนตัว วัดน่าจะมีเจ้าหน้าที่ประจำตามความจำเป็นและเหมาะสมของวัดนั้นๆ เช่น รับพวกจบโบราณคดีเป็นต้น บรรจุลงตามวัดต่างๆ จะสร้างงานได้เยอะ และเงินส่วนกลางของพระศาสนาก็มหาศาล...

คิดเรื่องทำนองนี้ไว้นานแล้ว โอกาสดีๆ จะลองเขียนบ่นเรื่องนี้สักบันทึก...

เจริญพร

ตอนนี้ผมได้รับมอบหน้าท่ีให้ลงบัญชีพัสดุ ครุภัณฑ์ ของวัดอยู่ มันตรงกับคำของอาจารย์ท่ีว่า

"ท่ีเรารู้ก็เยอะ....แต่ไม่ได้ใช้ กลับต้องมาทำท่ีเราไม่รู้ไมชำนาญ " นี่แหละ ฮา....

คัมภีร์ทางศาสนาท่ีเรียกว่าพระธัมม์นั้น สมัยก่อนผู้ท่ีจารลงใบลานนั้น ส่วนมากเป็นพระเถระบวชมานานมีความชำนาญ และภูมิรู้ทางธรรมแน่นมาก จึงจารได้ไม่ผิดเพึ้ยน และส่วนมากจะเป็นคัมภีร์ทางศาสนาท่ีสำคัญๆ เพื่อให้พระได้ท่องบ่นสวดประจำ

แต่คัมภีร์สมัยนี้ที่โรงพิมพ์เอกชนแข่งกันพิมพ์ขายราคาถูกๆ จะผิดเพี้ยนไปมากแล้ว พระสงฆ์ท่ีบวชใหม่และอ่านหนังสือไม่แตกก็มีมาก จึงอ่านกันไปแบบเพี้ยนๆยังงั้นแหละ ผมรู้เห็นแล้วก็ เศร้าใจ

โดยเฉพาะธัมม์คำเมืองล้านนา ท่ีพิมพ์ด้วยอักษรไทยกลาง ใช้คำเมือง มีมากที่พิมพ์ผิดๆเพี้ยนๆ ไม่มีการตรวจทาน

พระหลายรูปอ่านผิดๆถูกๆ ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท