บทที่ 3 -- การสร้างและการพัฒนาเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืน (3 - II)


3.      ภาคผนวก

 

3.1  บทสัมภาษณ์เพื่อการถักทอเครือข่ายการทำงาน

 

จากการลงพื้นที่ของกิจกรรมการสร้างและพัฒนาเครือข่ายในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามันภายใต้โครงการขยายองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน (การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ) อำเภอเมือง และอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนองนั้น ทำให้นักวิจัยได้รู้จักเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิในสถานะบุคคลพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ทั้งเครือข่ายภาควิชาการ ภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชน เและได้มีการเชื่อมเครือข่ายและได้มีการเชื่อมเครือข่ายจากทุกภาคส่วนทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ โดยแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหารวมทั้งร่วมกันหาแนวทางแก้ไขต่อไป

นักวิจัยเห็นว่าการเชื่อมเครือข่ายดังกล่าวข้างต้นล้วนแต่มีผลดีทั้งสิ้น เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนกัน ได้ปรับทัศนคติของเครือข่ายให้ต้องตรงกัน แม้ว่าจะเป็นการพบกันครั้งแรกก็ตามซึ่งก็สร้างความประทับใจให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้นักวิจัยได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ “ครูหยุย”เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เกี่ยวกับเครือข่ายการทำงานที่มีผลในภาพรวม จึงขอนำมาถ่ายทอดให้คนทำงานได้รับรู้

 

ถักทอเครือข่ายผสานใจเป็นหนึ่ง

โดย วัลลภ ตังคณานุรักษ์

 

การเกิดขึ้นของงานเครือข่าย..??

การทำงานทุกอย่างเริ่มจากตัวชาวบ้าน ในอดีตชาวบ้านต่างรวมตัวกันเมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมา ชาวบ้านต่างช่วยกันแก้ปัญหา แต่เมื่อปัญหาใหญ่มากขึ้นจนทำให้รัฐเข้ามาคอยช่วยเหลือ

เมื่อรัฐเริ่มเข้ามาจัดระบบระเบียบของสังคม รัฐจะใช้วิธีการบริการต่างๆ เพื่อมุ่งให้เกิดความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา แต่ด้วยระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ที่มีมากเกิน ทำให้การบริการยุ่งยาก และเริ่มเข้าไม่ถึงคนยากคนจน คนที่อยู่ห่างไกลย่อมได้รับการช่วยเหลือไม่ถึงหรืออาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ ทำให้เกิดการรวมตัวของคนหลายๆ กลุ่ม (ที่คิดว่า..การรอพึ่งรัฐไม่ได้แล้ว) เช่น คนภูเขา คนในคุก หรือคนในสลัม เป็นต้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นของงาน NGO หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน ขึ้นมา และขณะเดียวกันระบบราชการก็คิดตั้งมูลนิธิเคียงคู่กันมา เพื่อมีงบประมาณมาจุนเจือได้

สำหรับเรื่องเครือข่ายนั้นเกิดมาทีหลังมาก เกิดจากธรรมชาติที่ทุกฝ่ายจับมือกันร่วมมือกันทำงาน บางทีอาจเริ่มจากกฎหมาย กฎหมายบางอย่างเป็นข้อห้าม กฎระเบียบไม่ครอบคลุม บางครั้งต้องมีการแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับกาลสมัย การแก้กฎหมายก็ต้องเข้าสู่ภาคการเมือง แต่ภาคการเมืองจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนต้องการแบบไหน เดือดร้อนอะไรบ้าง ทำให้ภาคการเมืองเริ่มจับมือกับ NGO ร่วมกันทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

 

ทำไมราชการไม่ชอบเอ็นจีโอ..??

ในอดีต (หรือปัจจุบันด้วย) พอเอ็นจีโอไม่ชอบการทำงานของรัฐก็จะวิพากษณ์วิจารณ์แต่การวิพากษณ์วิจารณ์นั้นอาจจะแรงเกินไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาโดยตัวผู้ถูกวิจารณ์และส่งผลให้เกิดในหมู่ประชาชน

แต่ในสังคมปัจจุบัน คนรุ่นใหม่เกิดมากขึ้น ทั้ง NGO และ ระบบราชการ ต่างยอมรับการวิจารณ์กันได้ รัฐ และ NGO ต่างก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัย

 

ความสำคัญของการถักทอเครือข่ายการทำงาน..??

เมื่อก่อนรัฐเป็นผู้นำ แต่พอชาวบ้านมีปัญหามากขึ้น ๆ NGO คอยช่วยเหลือชาวบ้าน ทำให้ NGO เป็นที่ยอมรับมากกกว่ารัฐ ยุคต่อมาเริ่มมีการให้บทบาทแก่ชาวบ้านมากขึ้น ชาวบ้านย่อมพึ่งตนเองได้ รัฐ NGO ความนิยมต่างเริ่มตก ทำให้การเมืองเปลี่ยน เป็นการเมืองท้องถิ่น มี อบต. อบจ. และองค์กรชาวบ้าน NGO ไหนที่ไม่มีแรงพอก็จะล้มไป

ระหว่างที่รัฐและ NGOหมดความนิยม จะมีภาคองค์กรธุรกิจ (การคืนเงินให้สังคม) บริษัทจะเริ่มทำการพัฒนาเอง เพราะบริษัทมีต้นทุน (หลายด้าน) เพียงพอ ตั้งมูลนิธิขึ้นมาภายใต้ภาคองค์กรธุรกิจเอง

NGO ที่จะอยู่ได้ ยังมีความนิยมอยู่ก็คงต้องประสาน ประสานการทำงานด้วยกันทุกภาคส่วนทั้งกับภาคเอ็นจีโอ NGO, ภาครัฐ, ภาคชาวบ้าน, ภาคองค์กรท้องถิ่น

 

อุปสรรคและคำแนะนำสำหรับการถักทอเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืน..??

การหวงพื้นที่ พื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างเครือข่าย ก็ขึ้นอยู่กับบารมี ควรเรียกคนทำงานด้านเดียวกันมาคุยกัน และแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน คนคิดจะทำงานเครือข่ายต้องพร้อมจะเสียสละ ต้องถอนตัวก่อน และพร้อมที่จะให้เขาทำ ถ้าเขาทำไม่ได้เราค่อยเข้าไปช่วย

ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน...ขาดสะพาน ต้องหาคนกลุ่มนี้มาทำงาน จะเป็น NGO , รัฐก็ได้ องค์กรที่ดีไซน์ และจ้างผู้ประสานงานเป็นเรื่อง ๆ ไป ประสานกับสื่อ ประสานกับรัฐ คิดว่าต้องเป็นองค์กรที่มีต้นทุกสูง

ปัญหาสำคัญที่ประสบอยู่ ณ ตอนนี้ เรื่องคน ต้องอดทนกับคนบางคนให้ได้ เพื่อให้เขามีประโยชน์กับคนอื่นได้ ทุกคนมีประโยชน์หมด ต้องมีคนกลางทำให้ทุกคนรับกันได้

คนที่จะมาเป็นคนประสานเครือข่าย ถักทอเครือข่าย ต้องรู้จักคนเยอะ เข้าใจกลไกของหน่วยงานทุกหน่วยงาน ค่อนข้างมีเวลา เป็นผู้บริหารขององค์กรก็มีเวลาปลีกตัวได้ และมีทุนรอนด้วย ต้องมีบริวาร (บารมีต้องมีมาก)

“เราต้องเป็นดาวฤกษ์ให้ได้ พึ่งตนเองได้ มีแสงสว่างมากมาย ไม่ใช่เป็นดาวเคราะห์มัวแต่พึ่งคนอื่น และเราอาจทำงานใหญ่ในความคิดได้ แต่ไม่อาจทำงานใหญ่ในเชิงปริมาณได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องมีเครือข่ายการทำงานร่วมกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน และที่สำคัญต้องไม่ทำให้เครือข่ายคิดว่าเราเอาภาระไปให้เขา ทำงานอย่างเป็นมิตร เหมือนกับแมงมุมชักไยนั่นเอง” คำกล่าวปิดท้ายของครูหยุย

คำสำคัญ (Tags): #อันดามัน#แม่อาย
หมายเลขบันทึก: 287017เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท