บทที่ 4 -- การสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาองค์ความรู้เก่า (2 - III)


หน้าที่ของรัฐไทยภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

2.      เนื้อหาจากการจัดกิจกรรมเวทีสัมมนาวิชาการฯ

 

หน้าที่ของรัฐไทยภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร[1]

 

ท่านรองศาสตราจารย์พันธุ์ทิพย์ได้ให้ความเห็นว่า ตอนนี้ท่ามกลางความไม่นิ่งของการเมืองนั้น สิ่งที่สามารถพึ่งได้ประการแรกก็คือความถูกต้องในทางวิชาการ ซึ่งชาวบ้านเองก็มีแง่มุมทางวิชาการเพียงแต่ภาษาหรืออะไรก็ตามซึ่งนักวิชาการที่มาจากกระดาษอาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นความเข้มแข็งทางวิชาการจึงสำคัญ 

นอกจากนี้ที่เคยขอตัวเลขจากฐานข้อมูลของกระจกเงาว่า ณ วันนี้ที่สำรวจพบแล้วว่าไทยพลัดถิ่นที่อพยพมาจากมะริดมีจำนวนเท่าไหร่นั้นก็เพื่อให้เห็นภาพซึ่งวันนี้จะได้วางแผนกันได้  และยังสะท้อนด้วยว่าในอนาคตข้างหน้านั้นมือที่จับกันต้องแน่นและส่งต่อกันได้ และต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาได้ว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อน ตรงไหนเป็นจุดแข็งของเรา  ฉะนั้นถ้าไม่มีความเป็นเอกภาพนั้นคือความพ่ายแพ้

 

โดยจะขอพูดถึง เอกสารชุดหนึ่ง จากบทเรียนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เคยเรียนทางไทยพลัดถิ่นตั้งแต่วันแรก ๆ แล้วว่าไม่เชื่อว่ารัฐบาลไทยไม่อยากให้ไทยพลัดถิ่นได้สัญชาติไทย  แต่ปัญหาคือพื้นที่ที่จะบอกหรือพูดคุยกับรัฐบาลไทยในแต่ละยุคไม่มี  โดยจะเห็นได้ว่าในตอนที่ยกร่างกฎหมายนั้นก็หวังว่าจะมีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ  แต่รอยต่อของข้าราชการระดับบนซึ่งคิดว่าประชาชนไม่ต้องรู้อะไรก็ยังมีอยู่มาก เพราะฉะนั้นการเสนอเพื่อให้มีภาคประชาสังคมเข้าไปในจึงไม่สำเร็จ  แล้วภาคการเมืองก็ฟังทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ น้อยมาก  เป็นสิ่งที่อยากให้พวกเราทุกคนต้องช่วยกันพูด เพราะถ้าฝากไว้กับไม่กี่คนคงทำอะไรไม่ได้ 

และที่สำคัญที่สุดในวันนี้ที่ส่งสัญญาณไปยังผู้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คือการพยายามผลักดันความรู้เข้าไปในเยาวชนของเราเป็นสิ่งจำเป็น

 

นอกจากนี้ได้ตอบคำถามเอาไว้แล้วว่าไม่ใช่เฉพาะเยอรมันเท่านั้นที่พยายามจะเอาคนเชื้อชาติของตัวเองกลับมามีสัญชาติเยอรมันโดยหลักสืบสายโลหิต  แต่ประเทศฝรั่งเศสหรือแม้กระทั่งประเทศซึ่งใช้หลักดินแดนก็พยายามจะเอาคนอังกฤษในอาณานิคมอังกฤษกลับมาเป็นคนอังกฤษ  ซึ่งประเด็นนี้ได้พูดกันในหมู่ครูสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลว่าควรเลิกเปิดตำราฝรั่งแล้ว ควรสอนเรื่อง state practice  โดยเรื่องการสืบสิทธิ์ของรัฐนั้นมีตัวอย่าง วันนี้สังคมไทยต้องเรียนรู้จากเรื่องจริง

และเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงและคนเข้าใจตรงกันแต่อาจจะไม่มีโอกาสที่จะจับมือกันเพราะไม่รู้ว่าอีกฝั่งหนึ่งคิดอะไร  โดยตนยืนยันเสมอว่าใน สมช.ดั้งเดิมที่ได้เข้าไปทำงานประมาณปี 2535 ไม่เคยมีความคิดรู้สึกไม่ดีกับคนเชื้อสายไทย  แต่ในระบบราชการนั้นหัวแถวอาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องเท่ากับหางแถว ซึ่งนักการเมืองก็คือคนของประชาชนที่จะทำให้ความเข้าใจมันเข้าไปในส่วนราชการสำคัญ ๆ ได้ วันนี้อยากจะบอกว่าทำได้โดยต้องช่วยกัน

 

ในงานของ อาจารย์ฐิรวุฒิ เสนาคำ ในหน้า 33 ซึ่งครูสอนกฎหมายระหว่างประเทศควรเปิดดู คืออาจารย์ฐิรวุฒิเข้าใจว่ามีคนไทยในต่างประเทศที่น่าสงสารโดยไปรับจ้างเป็นกรรมกร เช่น ในประเทศไต้หวัน แล้วไปกลายเป็นคนไร้สัญชาติไร้รัฐเนื่องจากเข้าเมืองผิดกฎหมาย  ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาควิชาการไทย องค์กรวิจัยไม่ได้สนใจ กรณีที่ตกเป็นคนไร้รัฐในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นเด็ก  คือเป็นลูกของหญิงไทยที่สวมบัตรประจำตัวประชาชนคนอี่นไปแล้วแม่กับลูกอาจจะอยู่ทั้งคู่หรือว่าแม่อาจจะตายแล้วทิ้งลูกเอาไว้เนื่องจากติดเชื้อ HIV  หรืออื่นๆมากมาย  ซึ่งอาจารย์ฐิรวุฒิคงคิดถึงไทยพลัดถิ่นกลุ่มอื่นด้วย ในเยอรมันสถานการณ์คล้าย ๆ กัน กรณีคนไทยพลัดถิ่นที่แปลงสัญชาติไปแล้วเช่นคนไทยเกาะกง คนไทยแม่พริกตอนนี้เขาเดือดร้อนทั้งที่ได้สัญชาติไทยไปแล้ว จึงหวังว่าจะเห็นส่วนต่อไปที่มากกว่าไทยมะริด ซึ่งตรงนี้ต้องการนักมานุษยวิทยาค่อนข้างมาก 

 

สภาพปัญหาในตอนนี้คือ คนไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในไทยโดยอ้างตัวว่าเป็นผู้สืบสันดานของคนไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนซึ่งเคยเป็นของอังกฤษฝรั่งเศส  เรียกว่าคนไทยพลัดถิ่น พวกเขาร้องขอคืนสถานะคนสัญชาติไทย  ในระหว่างรอการได้มาซึ่งสัญชาติไทยพวกเขามีปัญหาการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และแม้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยแล้วพวกเขาก็ยังใช้สิทธิในสัญชาติไทยในลักษณะเดียวกันกับคนที่ได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตไม่ได้  เป็นข้อที่ต้องการสื่อสารว่าอย่าคนที่ได้สัญชาติไทยไปแล้วยังไม่จบ ซึ่งเจ้าตัวก็คิดว่าจบแล้วแต่ตอนนี้เขาเริ่มรู้สึกว่าสัญชาติไทยที่เขาได้ไปทำให้เขารู้สึกต่าง หรือแม้กฎหมายไม่ได้ต่างแต่เจ้าหน้าที่ก็ทำให้รู้สึกต่าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ภาควิชาการจะต้องเดินก่อน โดยภาคมหาชนเขาเดินแล้วส่วนภาคระหว่างประเทศที่เราพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของคนต้องตอบโจทนี้ให้ได้เหมือนกัน 

นอกจากนี้แม้ว่ากฎหมายในมาตรา 23 นั้นเสร็จแล้วแต่ปัญหาของชาวบ้านยังไม่เสร็จ จึงต้องมีคลินิกชาวบ้านคือเอาความรู้ลงไปสู่ชาวบ้านแล้วให้เขาเผยแพร่ให้กันเอง เช่น กรณีคลีนิกที่แม่อาย ซึ่งให้ภาพมากที่สุดแต่ก็ยังคว้าปัญหาไม่ทัน โดยเมื่อวานมีเด็กตายไปหนึ่งคนเพราะป่วยไม่กล้าไปโรงพยาบาล กลัวนางพยาบาลตวาด กลัวหมอว่า  แล้วก็สะสมความเจ็บป่วยเอาไว้จนกระทั่งตาย ทั้งที่มีสัญชาติไทยเอาไว้แล้วจึงรู้สึกทนไม่ได้ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาเรื่องลักษณะนี้คือต้องให้ชาวบ้านมีความรู้และต้องยึดมั่นในความรู้

ดังนั้นรัฐไทยกับกฎหมายระหว่างประเทศขอตอบอาจารย์บรรเจิดว่า ที่กังวลว่าเรื่องสัญชาติจะไปบัญญัติอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้มันรับกันตรงกันแล้ว หรือเรื่องสัญชาติเป็นเรื่องกฎหมายมหาชนภายในซึ่งหากไม่ได้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือละเมิดสิทธิของรัฐอื่นก็ทำได้ ฉะนั้นวันนี้รัฐไทยจะประกาศให้สัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตเหมือนอย่างเยอรมันก็ทำได้ แล้วใคร ๆ ก็ทำกัน แต่กรณีนี้ที่ไม่ทำก็ต้องมาดูกันให้ชัด ๆ ว่าเพราะอะไร ถ้าไม่เข้าใจแล้วใครไม่เข้าใจ หรือเพราะอะไร โดยที่อาจารย์บรรเจิดพูดถูก คือรัฐไทยและสมช.ส่วนหนึ่งไม่เข้าใจว่า ถ้าไม่ใช้กฎหมายพิเศษก็ใช้กฎหมายทั่วไปคือไปแปลงสัญชาติถ้าพ่อไทย หรือไปขอสัญชาติโดยการสมรสถ้าสามีไทย หรือไปขอสัญชาติจากรัฐมนตรีถ้าเกิดในประเทศไทย  ฉะนั้นความไม่เข้าใจทำให้จบลงแค่นั้น แล้วถ้าได้สัญชาติประมาณนี้ไปแล้วสิทธิอะไรหายไป  ซึ่งตอบได้เลยว่าสิทธิในความเป็นคนไทยที่แท้จริง  ไม่มีสิทธิทางการเมือง

นอกจากนี้การตีความของนักวิชาการกรมการปกครองสมัยเก่าที่ว่าคนไทยโดยการเกิด เมื่อไปดูอำนาจรัฐนั้นผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ  เพราะคนที่เกิดในประเทศไทยต้องเป็นคนไทยโดยการเกิดเพราะเกิดในประเทศไทยเหมือนกัน  แต่ที่ต่างกันคือคนหนึ่งพ่อแม่เกิดในไทย ส่วนอีกคนพ่อแม่เกิดนอกไทย  ฉะนั้นเงื่อนไขการได้มาจึงต่างกัน คือถ้าพ่อแม่เกิดในไทยหรือพ่อแม่มีสัญชาติไทยหรือพ่อแม่มีใบต่างด้าวจะได้โดยอัตโนมัติไม่ต้องร้องขอ ซึ่งอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายบริหาร แต่ถ้าพ่อแม่อพยพเข้ามาเกิดนอกไทยจะอยู่ที่ฝ่ายบริหารทำหน้าที่แทนฝ่ายนิติบัญญัติ  แต่คำว่า Thai by birth นั้นมองจากสายโลหิต มองจากดินแดนเกิด ซึ่งปัญหาคือไม่มีงานวิจัยออกมา พวกเราที่เป็นนักกฎหมายเข้าใจดีว่าทฤษฎีจุดเกาะเกี่ยวเป็นเรื่องของหลักสืบสายโลหิตกับหลักดินแดน ซึ่งตีความกันผิด เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะเริ่มรณรงค์

 

และประเด็นที่อาจารย์บรรเจิดพูดนั้นถูกต้อง ที่ว่าคนคนหนึ่งสายโลหิตในอกเป็นไทยจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้คือปัจจัยความมั่นคง ทำไมเยอรมันจึงเรียกคนกลับ  จะเห็นได้ว่านี่แหละคือคนที่รักแผ่นดินไทยอย่างสุดซึ้ง จิตวิทยาการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ต้องเข้าไปให้ได้ ต้องตีวงทางความคิดไปให้ได้  ต้องให้ชัดว่าเรื่องไหนต้องพูดกันให้เข้าใจ  กฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่มีปัญหา  ฉะนั้นวันนี้ถ้าเขาอยู่มะริดไหวก็อยู่ไปแต่ถ้าวันหนึ่งเขาอยู่ไม่ได้เกิดเดือดเนื้อร้อนใจเขาก็กลับมา  พอกลับมาก็มาเข้าสู่กระบวนการเข้าสู่วิธีการ แต่วันนี้ที่เราจะต้องทำความเข้าใจในหมู่ของเราก็คือว่าข้อเด่นข้อด้อยของมัน

วันนี้ต้องไม่ให้คนนอกประเทศมาขัดกฎหมายระหว่างประเทศ  เรื่องสัญชาตินั้นถ้าเขาเป็นคนที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของประเทศพม่า เราคงไม่สามารถดำเนินการได้  แต่ถ้าเขาเกิดในพม่าแล้วมาอยู่ในไทยนั้น เรามีหลักดินแดนสามารถดำเนินการได้  และวันหนึ่งหากอยากไปใช้สิทธิสัญชาติเพราะเกิดในพม่าก็สามารถไปใช้สิทธินั้นได้ เพราะสัญชาติคือสิทธิที่เรามีได้ และใช้สองสัญชาติได้ ซึ่งทางมานุษยวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มพูดเรื่องนี้แล้ว  ในยุโรปหากใครตกหล่นขอให้ไปเปิดดู The European convention 1990   ฉะนั้นถ้าพูดว่าสองสัญชาติผิดกฎหมายนั้นตกยุค และกฎหมายไทยไม่เคยบอกว่าสองสัญชาติผิดกฎหมาย โดยมีประเด็นที่กรมการปกครองอยากแก้คือมาตรา 22 ที่ระบุว่าคนสัญชาติไทยไปแปลงสัญชาติแล้วเสียสัญชาติ ซึ่งทุกวันนี้ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกรณีคนไทยไปต่างประเทศแล้วไปแปลงสัญชาติ โดยไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน และไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยเพราะสองสัญชาติกับยุคที่เป็นเสรีนั้นเป็นเรื่องธรรมดา 

 

อีกประเด็นหนึ่งคือคนที่ไม่อยู่ในประเทศไทย ไม่เสียภาษีอาจจะเกินห้าปีสิบปี ซึ่งเรียกว่า สัญชาติไม่ effective คือใช้ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้มีคนอเมริกามาผ่าตัดในไทยราคาถูก ทั้งที่ไม่เคยอยู่ในไทย ไม่เคยเสียภาษีทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่รู้ โดยหากอาจารย์วีนัสไม่ทำงานหนักเมื่อห้าปีที่แล้วก็คงไม่รู้กันต่อไป

 

ประเด็นต่อมา ที่มีการถกเถียงมาโดยตลอดในกฎหมายระหว่างประเทศ คือถ้าปล่อยให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติในไทยทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ หากรัฐบาลไทยเข้าไปเวทีไหนก็จะถูกว่าตลอดว่าทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ  เพราะเวลาทำดีก็ไม่ค่อยชอบบอกใคร เวลาทำชั่วก็ปกปิดซึ่งมันปิดไม่มิด มันตรงไปตรงมาในกระบวนการความคิด  ฉะนั้นวันนี้ต้องวางยุทธศาสตร์ โดยเมื่อได้สัญชาติไทยระดับไม่ดีไปแล้วก็ต้องยกระดับเขาขึ้นมาเพราะในอกเขาคือสายโลหิต จึงถึงเวลาแล้วที่ข้าราชการฝ่ายปกครองจะเข้าไปหาเขาโดยไม่ต้องรอให้เขาร้องแล้วค่อยมาให้สิทธิเขา  ซึ่งต้องไม่ผิดพลาดเหมือนครั้งก่อนที่ไปเขียนในมาตรา 23 ว่า คนต่างด้าวที่ได้รับผลตาม ปว.337 จึงทำให้คนที่ได้รับผลตามกฎหมายดังกล่าวที่ไปแปลงสัญชาติมาใช้สิทธิตามมาตรา 23 ไม่ได้ โดยต้องไปสละสัญชาติก่อน

ดังนั้นคนไทยพลัดถิ่นที่ไร้สัญชาติจะต้องรีบพิสูจน์ว่ามีชื่อในทะเบียนราษฎรพม่าหรือไม่  ซึ่งจุดที่จะรณรงค์และกดดันนักการเมืองไทยอยู่ตรงที่ว่าจำนวนคนไร้สัญชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลของพวกเราที่ต้องเอามารวมกันให้เห็นภาพชัดต้องมาก่อน ส่วนกลุ่มที่แปลงสัญชาติไปแล้ว กลุ่มที่ได้สัญชาติโดยการถูกลดไปแล้วตาม 7 ทวินั้นไม่ค่อยเดือดร้อนมาทีหลังได้ 

 

ในหน้า 2 เรื่องรัฐไทยกับการไร้สัญชาติ  เขียนไว้ให้ชัดวันนี้ว่าการขจัดการไร้สัญชาติมีได้ 2 วิธี คือ

(๑)  ยอมรับให้สัญชาติของตน โดยประเทศไทยตั้งแต่ปี 2522 แล้วถ้าฟังได้ว่าเชื้อสายไทยแล้วไร้สัญชาตินั้นให้สัญชาติอยู่แล้ว เพียงแต่กระบวนการการแปลงสัญชาติยังไม่รัดกุม  ไม่ชัดเจนมีความล่าช้า 

(๒)  รัฐไทยผลักดันคนไร้สัญชาติให้ได้รับสถานะคนสัญชาติของรัฐอื่นอาจเป็นรัฐต้นทางหรือรัฐปลายทาง ซึ่งวิธีนี้ประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายใช้กับคนเชื้อสายไทย  คนเชื้อสายไทยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเสี่ยงภัยความตายหรือไม่ ในการกลับประเทศต้นทาง ฉะนั้นอนาคตต้องให้พม่า มาเลเซีย กัมพูชาสงบลง โดยความเป็นคนเชื้อสายไทยนั้นนโยบายไม่ได้เกี่ยงงอนว่าจะต้องเสี่ยงภัยความตาย  

 

               กรณีของรัฐไทยกับคนไทยพลัดถิ่น โดยคนไทยพลัดถิ่นมีส่วนหนึ่งที่ได้สัญชาติไทยไปแล้ว และมีส่วนหนึ่งที่ได้ใบต่างด้าวไปแล้ว ฉะนั้นปัญหาคนไทยพลัดถิ่นจึงไม่เท่ากัน  คนที่ได้สัญชาติไทยไปแล้วแต่ก็มีปัญหาเพราะไม่ใช่สัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิต บางคนอาจจะถือใบต่างด้าวแต่ก็มีปัญหา ฉะนั้นองค์ความรู้ที่อาจารย์บรรเจิดบอกจึงต้องรีบนำไปสู่คลินิคชุมชนที่คนไทยพลัดถิ่นมาใช้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคเป็นเรื่องเข้าใจยาก 

              

               ในส่วนความเป็นไปได้ที่อาจารย์วีนัสพูดคือว่าอย่างน้อยขอเสนอว่ามาตรา 22 ที่ร่างเอาไว้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเดินไปด้วยกัน  แล้วถ้าใครจะมาเพิ่มเติมตัดต่อจะได้ชัด  วันนี้ข้อสรุปของเราคือเดินหน้าต่อ 

 

               ในหน้า 3 นั้น ได้ไปคิดแล้วว่า กฎหมายคืนสัญชาติไทยไม่ได้หมายถึงแค่พระราชบัญญัติที่บอกว่ากลับมาเป็นคนสัญชาติไทย  โดยมีการพัฒนามา ซึ่งงานที่ทำให้คนไทยคืนสัญชาติมีอยู่สองช่วงแต่ไปด้วยกันได้คือขึ้นอยู่กับว่าคนไทยพลัดถิ่นมีปัญหาอะไร

·  งานช่วงแรก คืองานด้านกฎหมายที่ลดผลกระทบในเชิงลบให้แก่คนไทยพลัดถิ่นในระหว่างที่ยังไม่มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต งานด้านการจัดการสิทธิคนไทยพลัดถิ่นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศระหว่างการรอคืนสัญชาติไทยต้องมีสองส่วน

(๑)  ขจัดปัญหาความไร้รัฐโดยกฎหมายทะเบียนราษฎร  ซึ่งฝ่าย สำนักทะเบียนราษฎรเข้าใจดีว่าเรื่องนี้ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ 

(๒)  คุณภาพชีวิตเป็นสิ่งสำคัญซึ่งรอไม่ได้  ไม่เรียนหนังสือไม่ได้ โดยจะขอฝากอาจารย์อุดมเขต กรณีนายสัพตู ซึ่งได้คุยกับเครือข่ายไทยพลัดถิ่นแล้วว่าถ้าสามารถให้เขาแปลงสัญชาติได้วันนี้ให้ทำเลย  เพราะพ่อคนหนึ่งถ้าพิการจะทำให้เมียกับลูกอีกคนมีชีวิตที่ล้มเหลวไปด้วย วันนี้ขอลองใจกรรมการกลั่นกรองสัญชาติว่ามันมีหัวใจไหมที่เห็นผู้ชายคนหน่งเชื้อสายไทยชัดเจนล้มลงเป็นอมพรึกเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียไม่ได้ รัฐไทยมีหัวใจพอที่จะทำให้กระบวนการแปลงสัญชาติให้เวลาสักเดือนถ้ามีหัวใจ วันนี้สื่อมวลชนต้องช่วยกดดันด้วย  

งานในส่วนนี้เป็นงานด้านกฎหมายก็คือบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก ช่วยกันบอกอาจารย์วีนัสว่าคนไม่มีเลข 13 หลัก ในหมู่ไทยพลัดถิ่นอยู่ตรงไหน  มีคนไหนไม่ได้เรียน มีคนไหนเจ็บป่วย

·  ช่วงที่สอง  ต้องคืนสายโลหิตไทยในทางกฎหมายให้กับเขา  ฝากความหวังไว้กับอาจารย์ฐิรวุฒิว่า มนุษย์หนึ่งคนเดินมาต้องเช็คให้ได้ว่าคนนี้เป็นคนไทยพลัดถิ่น  แล้วเมื่อต้องขึ้นศาลปกครองต้องตอบให้ได้ว่าคนนี้เป็นไทยพลัดถิ่น  ซึ่งอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ และภูมิปัญญาในการชี้ว่าใครเชื้อสายไทยเป็นภูมิปัญญาที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่สมัยกองข่าวในอดีต จึงควรไปตามผู้เชี่ยวชาญกลับมา คนไทยพลัดถิ่นส่วนหนึ่งได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นคนไทย  อดีตเขาถือบัตรที่เรียกว่าคนไทยพลัดถิ่นสัญชาติพม่าแต่เขียนเอาไว้แล้วว่าเชื้อสายไทย ซึ่งอาจารย์วีนัสรู้ดีว่ากลุ่มนี้มีจำนวนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเมื่อ พ.ร.บ. คืนสัญชาติเสร็จคนกลุ่มนี้คือกลุ่มแรก 

      ฉะนั้นวันนี้การพิสูจน์เชื้อสายไทยตรงนี้หวังว่าจะได้เห็นงานวิจัยระหว่างกรมการปกครองกับทีมงานของอาจารย์ฐิรวุฒิ โดยงานนี้ต้องทำหลายคน คนเดียวทำไม่สำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่งานนี้ก็ทำมาตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระเทพทรงมีพระกระแสให้เราแก้ปัญหาชาวเขาในภาคเหนือ และเรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎหมายสถานะบุคคล  ดังนั้นจะดู พ.ร.บ.สัญชาติฉบับเดียวไม่ได้ เพราะพ.ร.บ. สัญชาตินั้นมีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

          สุดท้าย สรุปว่างานสองช่วงนี้หมายความว่าการแก้ปัญหาจะทะยอยเกิดขึ้น ประเด็นหนึ่งคือไม่เห็นประโยชน์ถ้ารับมาตรา 23 ได้แต่ไม่รับ และไม่เห็นประโยชน์ถ้าหากใครเดือดร้อนทุกทรมานพิการ มีคนพิการในครอบครัวแล้วไม่ไปแปลงสัญชาติ เพราะความเข้มแข็งในครอบครัวของหมู่เหล่าสามารถตั้งกฎเกณฑ์เปิดประเด็นได้ นอกจากนี้อยากขอให้คนไทยมะริดสู้เพื่อคนไทยพลัดถิ่นอื่น ๆ แม้กระทั่งคนไทยจากมาเลเซีย ดังนั้นงานของเราคงไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง



[1] รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 287023เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท