บทที่ 4 -- การสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาองค์ความรู้เก่า (3 - II - b)


ทำไม กมธ.ศึกษาปัญหาคนไร้สถานะของ สนช. จึงต้องบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่น ? : คำถามที่ 1 โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

3.      ภาคผนวก

 

3.2  บทความประกอบเวทีสัมมนาวิชาการ

 

ทำไม กมธ.ศึกษาปัญหาคนไร้สถานะของ สนช.

จึงต้องบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่น ? : คำถามที่ 1

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร[1]

เป้าหมายของงานเขียน

            บทความฉบับนี้เขียนขึ้นตามคำสั่งของท่านเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่ออธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมคณะกรรมาธิการจึงเห็นว่า ควรมีการแก้ปัญหาความไร้สัญชาติของคนไทยพลัดถิ่นที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนในประเทศไทย โดยการมาตรา 22 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.... ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2550[2]

บทบัญญัติที่เสนอ[3]

 มาตรา 22 

บรรดาบุคคลที่สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ถ้าเข้ามาอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร  และประสงค์จะขอกลับคืนสัญชาติไทย ให้ยื่นแสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

            การพิสูจน์การเป็นผู้สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีโดยความเห็นของคณะกรรมการตามมาตรา 25 ประกาศกำหนด

            การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้กลับคืนสัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการตามมาตรา 25 พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่ง

คนไทยพลัดถิ่นคือใคร ?

          คนไทยพลัดถิ่น หรือบางทีเรียกว่า คนไทยถิ่นพลัด ก็คือ บุคคลที่สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ

คำถามต่อมาที่ต้องตอบ ก็คือ ใครคือบุพการีที่มีเชื้อสายไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ?  คำตอบ ก็คือ บุพการีในชั้นต้นนี้เป็นคนสัญชาติไทย แต่ต่อมา เสียสัญชาติไทยโดยผลของการที่ประเทศไทยเสียดินแดนในส่วนที่พวกเขาอาศัยอยู่ให้แก่อังกฤษหรือฝรั่งเศส ดังนั้น บุตรในชั้นต่อมาจึงเป็นคนเกิดในขณะที่บุพการีเป็นคนต่างด้าว แม้ว่าจะมีเชื้อสายไทยก็ตาม และแม้เป็นการเกิดบนดินแดนที่เคยเป็นของรัฐไทยในอดีตก็ตาม แต่ก็ยังต้องยอมรับว่า เป็นการเกิดบนดินแดนของรัฐต่างประเทศ บุคคลดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวสำหรับประเทศไทยทั้งโดยหลักบุคคลและหลักดินแดน

ขอให้สังเกตว่า ในปัจจุบัน เราอาจจำแนกคนไทยพลัดถิ่นออกเป็น 2 พวก กล่าวคือ (1) พวกที่ยังอาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐต่างประเทศที่เคยเป็นของประเทศไทย และ (2) พวกที่อพยพกลับเข้ามาอาศัยในประเทศไทยแล้ว หลังการเสียดินแดน

สำหรับคนไทยที่ยังอาศัยอยู่ในดินแดนที่เราเสียไปแล้วนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่พอใจที่อาศัยอยู่ต่อไปในดินแดนที่เสียไป อาทิ คนเชื้อสายไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ บุคคลดังกล่าวจึงมีสถานะเป็น คนสัญชาติมาเลเซียที่มีเชื้อสายไทย ทั้งนี้ ขอให้สังเกตว่า การอาศัยอยู่ในดินแดนที่เสียไปนั้นไม่มีปัญหาความปลอดภัยในสิทธิมนุษยชน อันได้แก่ สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สิน

แต่เมื่อมาพิจารณาถึงคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพกลับมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว เราอาจจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย กล่าวคือ (1) พวกที่อพยพกลับเข้ามาทันทีหลังการเสียดินแดน และ (2) พวกที่อพยพกลับเข้ามาเพราะปัญหาความไม่สงบในรัฐต่างประเทศที่สืบสิทธิในดินแดนดังกล่าวในราว พ.ศ.2515 2535 ขอให้สังเกตว่า พวกแรกนั้นมักไม่มีปัญหาการยอมรับให้มีสถานะเป็น คนสัญชาติไทย ในขณะที่พวกหลังมีปัญหาอย่างมากที่จะได้รับสถานะดังกล่าว แม้จะมีนโยบายที่ชัดเจนอย่างมากในการแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มหลัง

มีปัญหาหรือไม่ในการจัดการปัญหาคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพกลับเข้ามาในประเทศไทย ?

          เราพบว่า รัฐบาลไทยในทุกยุคทุกสมัยไม่มีปัญหาในการยอมรับที่จะให้คนไทยพลัดถิ่นได้สิทธิในสัญชาติไทยกลับคืน จึงมีมติคณะรัฐมนตรีในการจัดการปัญหาดังกล่าวจำนวนมากมายและมีมาแต่ตั้งนานมาแล้ว อาทิ ในส่วนการจัดการปัญหาคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพกลับมาจากประเทศกัมพูชานั้น การจัดการเริ่มต้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 จนปัจจุบัน[4] 

แต่ที่ต้องตั้งข้อสังเกตอย่างยิ่งว่า กระบวนการจัดการตามมติคณะรัฐมนตรีต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จ และยังมีความคืบหน้าในส่วนที่เกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่นนั้นมีไม่มากนัก สาเหตุของความไม่คืบหน้านั้น มีที่มาจากหลายสาเหตุ กล่าวคือ

ในประการแรก เราพบว่า ไม่มีหน่วยงานเฉพาะเจาะจงในกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบเรื่องของคนไทยพลัดถิ่นในระยะแรกๆ ดังนั้น กระบวนการจัดการในช่วงแรกจึงไม่มีความต่อเนื่อง และไม่มีประสิทธิผล และแม้ในปัจจุบัน จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะเจาะจง แต่กำลังคนก็มีไม่มากพอที่จะจัดการให้แล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว การให้อำเภอและจังหวัดช่วยดำเนินการไปพร้อมกับงานอื่นๆ นั้น ก็เป็นไปได้ แต่ความคืบหน้าของงานจึงล่าช้ามาก ประกอบกับการย้ายเจ้าหน้าที่ในระดับอำเภอและจังหวัด ทำให้บุคคลากรที่ย้ายมาใหม่ย่อมไม่มีความเชี่ยวชาญในงาน และเมื่อเริ่มเข้าใจงาน ก็ย้ายอีกครั้ง ก็ทำให้การจัดการปัญหาคนไทยพลัดถิ่นเป็นไปอย่างล่าช้ามาก

ในประการที่สอง อีกข้อสังเกตที่ชัดเจน ก็คือ กระทรวงการคลังมิได้จัดงบประมาณให้อย่างเพียงพอ และต่อเนื่องเพื่อการจัดการปัญหาดังกล่าว ดังนั้น การสำรวจเพื่อบันทึกประวัติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ในกรณีที่อ้างว่า เป็นคนไทยพลัดถิ่น จึงเป็นไปไม่ได้อย่างทันต่อสถานการณ์ อันทำให้กระบวนการแยกแยะบุคคลไม่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เอื้อต่อการทุจริตในหลายลักษณะ

          ในประการที่สาม กระบวนการจัดการปัญหาโดยให้แปลงสัญชาติเป็นไทยนั้นไม่เหมาะสมสำหรับบุตรหลานของคนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในไทย มีความเป็นไปได้ในทางกฎหมายที่จะจัดการปัญหาคนไทยพลัดถิ่นในหลายลักษณะ  ที่สำคัญก็คือ ในกรณีของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพเข้ามานั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแปลงสัญชาติ กฎหมายให้สิทธิที่จะร้องขอสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน การแปลงสัญชาติเป็นไทยนั้นเหมาะสมสำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่เกิดนอกประเทศไทยเท่านั้น เมื่อกระบวนการจัดการมุ่งที่จะแปลงสัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่น ความคืบหน้าของงานจึงเป็นไปอย่างล่าช้า

ในประการที่สี่ ความผันแปรทางการเมืองทำให้กระบวนการจัดการปัญหาล่าช้าและไม่คงที่ เป็นอีกสาเหตุของความไม่คืบหน้าของการจัดการปัญหาคนไทยพลัดถิ่น อาทิ แม้จะมีการปรับนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในเรื่องการยอมรับให้สัญชาติไทยของบุตรของคนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในประเทศไทยโดยยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 ซึ่งมีผลให้คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้ไม่จำต้องไปแปลงสัญชาติ แต่เมื่อมีความผันแปรทางการเมือง กล่าวคือ การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นโยบายในการจัดการก็ตกอยู่ในสภาวะนิ่งและคลุมเครือ และประกอบกับปัญหาความไม่เพียงพอของบุคคลากรและงบประมาณในการจัดการ ความไม่คืบหน้าเท่าที่ควรในการจัดการจึงปรากฏให้เห็นทั่วไป

ในประการสุดท้าย เราพบว่า คนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในดินแดนที่รัฐไทยได้เสียไปนี้ ยอมรับไม่ได้ที่จะถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกับคนต่างด้าวที่ไม่มีเชื้อสายไทย ดังนั้น คนไทยพลัดถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนไทยพลัดถิ่นจากมะริด ไม่ยอมรับที่จะยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ และยอมรับที่จะมีสถานะเป็น คนไร้รัฐ หรือ คนไร้สัญชาติ ดังนั้น ความไม่คืบหน้าในส่วนนี้ จึงมีสาเหตุมาจากเจ้าของปัญหาเอง ซึ่งในส่วนนี้ จะเห็นว่า การปรับนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติได้แก้ไขปัญหาในส่วนนี้แล้วในส่วนของบุตรที่เกิดในประเทศไทยของคนไทยพลัดถิ่นแล้ว ยังคงค้างอยู่เพียงกรณีของคนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในดินแดนที่เสียไป โดยจิตวิทยามวลชน คนไทยพลัดถิ่นก็เป็นคนเชื้อสายไทย จึงไม่ถูกต้องนักที่จะปล่อยปละล่ะเลยที่จะสร้างกฎหมายและนโยบายที่เหมาะสมในการยอมรับให้กลับมามีสิทธิในสัญชาติไทย ดังเช่นบรรพบุรุษซึ่งทั้งมีเชื้อสายไทยและสัญชาติไทย

คณะกรรมาธิการฯ คิดอย่างไรในการแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของคนไทยพลัดถิ่น ?

 โดยการหารือในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ[5] และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ คนไทยพลัดถิ่นเจ้าของปัญหา[6] และอธิบดีกรมการปกครอง[7] คณะกรรมาธิการฯ จึงมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นดังต่อไปนี้ และได้นำแนวคิดดังกล่าวมายกร่างเป็นบทบัญญติเพื่อเสนอต่อ สนช. ดังปรากฏข้างต้น

แนวคิดในประการแรกของคณะกรรมาธิการฯ ก็คือ การเสนอบทบัญญัติว่าด้วยการยอมรับให้สัญชาติไทยแก่คนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในดินแดนที่เสียไป เพื่อใช้แทนบทบัญญัติว่าด้วยการแปลงสัญชาติ ซึ่งบทบัญญัติในกฎหมายของรัฐสภานี้จะใช้ร่วมไปกับเหล่ามติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่นที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องมีมติคณะรัฐมนตรีใหม่เพื่อเชื่อมนโยบายเก่าและกฎหมายใหม่ที่จะเกิดขึ้น สิ่งจะปรากฏมากับกฎหมายใหม่ ก็คือ การไม่ใช้คำว่า แปลงสัญชาติ กับคนไทยพลัดถิ่น แต่กระบวนการจัดการก็ยังเป็นไปตามปกติประเพณีที่ทำกันอยู่ในงานความมั่นคงของรัฐไทย

แนวคิดในประการที่สอง ก็คือ สาระแห่งการยอมรับให้สิทธิในสัญชาติไทยแก่คนไทยพลัดถิ่นนั้นย่อมจะต้องไปเป็นอย่างรอบครอบ ดังนั้น ผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายนี้ จึงกำหนดให้หมายถึงคนไทยพลัดถิ่นที่ เข้ามาอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร  เท่านั้น ไม่รวมถึงคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับการบันทึกในฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎร ซึ่งคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้ก็เป็นบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการจัดการของสภาความมั่นคงแห่งชาติอยู่แล้ว และการจัดการยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งอาจจะรอการแก้ไขปัญหามากเกินกว่า 10 ปีแล้วอีกด้วย คนไทยพลัดถิ่นที่อพยพเข้ามานานแล้วโดยข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจได้รับสิทธิที่จะร้องขอคืนสิทธิในสัญชาติไทย การเข้าสู่สิทธิจะทำได้โดยการไปร้องขอพิสูจน์สถานะบุคคลต่อนายทะเบียนราษฎรตามกฎหมายทะเบียนราษฎรเสียก่อน เพื่อให้นายทะเบียนราษฎรได้พิสูจน์ความเป็นคนไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรและความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเสียก่อน

ในประการที่สาม คณะกรรมาธิการฯ ไม่เสนอว่า จะต้องให้สัญชาติไทยแก่คนไทยพลัดถิ่นโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ทั้งนี้ เพราะคณะกรรมาธิการฯ ตระหนักดีในความยากลำบากที่จะแยกแยะตัวบุคคล อันเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับคามมั่นคงแห่งรัฐ ดังนั้น การพิจารณาตรวจสอบในชั้นคณะกรรมการตามกฎหมายสัญชาติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น คณะกรรมาธิการฯจึงเสนอเพียงให้คนไทยพลัดถิ่นมี สิทธิร้องขอกลับคืนสัญชาติไทย และเสนอให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีเพียง หน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายสัญชาติที่ต้องรับคำร้อง เมื่อคนไทยพลัดถิ่นนั้นมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด และได้ยื่นแสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้สัญชาติไทยยังเป็นอำนาจโดยสมบูรณ์ของฝ่ายบริหารของรัฐ

ในประการที่สี่ คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้บัญญัติอย่างชัดเจนถึง กระบวนการพิสูจน์สถานะบุคคล ของคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งขอให้สังเกตว่า กฎหมายของรัฐสภาจะไม่ลงไปในสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ แต่ปล่อยให้การกำหนดหลักเกณฑ์เป็นไปตมที่กำหนดในวาระต่อไปโดยฝ่ายบริหารของรัฐที่เข้ามาทำงานร่วมกันภายใต้ คณะกรรมการตามมาตรา 25 ซึ่งมีการเปิดให้ภาคเอกชนและภาควิชาการได้มีส่วนร่วมในการจัดการประชากรของรัฐไทยโดยกฎหมายสัญชาติ[8]  จะเห็นว่า บทบัญญัติที่คณะกรรมาธิการฯ ยกร่างจึงมีใจความว่า การพิสูจน์การเป็นผู้สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีโดยความเห็นของคณะกรรมการตามมาตรา 25 ประกาศกำหนด  ขอให้สังเกตว่า ฝ่ายบริหารของรัฐไทยก็มีปกติประเพณีอยู่แล้วเกือบสมบูรณ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การยอมรับว่า บุคคลใดที่มีเชื้อสายไทย ดังจะเห็นว่า ในปัจจุบัน กรมการปกครองได้ออกบัตรประจำตัวบุคคลให้แก่คนเชื้อสายไทยที่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติได้แล้วจำนวนไม่น้อย และโดยผลของยุทธศาสตร์จัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2550  สภาความมั่นคงแห่งชาติและกรมการปกครองก็ได้ทบทวนและพัฒนาปกติประเพณีทางปกครองในเรื่องนี้ร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ ภายใต้ คณะอนุกรรมาธิการ ที่ตั้งขึ้นโดยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 ของประธานคณะกรรมาธิการฯ ดังนั้น การสร้างหลักเกณฑ์จึงเป็นไปได้ และควรปล่อยให้เป็นงานในระดับกฎหมายปกครอง ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายของรัฐสภา และการกำหนดเพียง กระบวนการ นี้ จะให้ความยืดหยุ่นในการจัดการ และเปิดโอกาสให้ใช้รัฐศาสตร์ได้ แต่ก็ไม่ทำให้ความผันแปรทางการเมืองส่งผลต่องานราชการประจำที่ไม่ควรต้องหยุดนิ่งเมื่ออำนาจทางการเมืองไม่ชัดเจน

ในประการสุดท้าย คณะกรรมาธิการฯ ก็ยังเห็นว่า อำนาจในการให้สัญชาติไทยแก่คนไทยพลัดถิ่นก็ยังต้องเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่การใช้อำนาจนี้จะต้องเป็นไปภายใต้หลักนิติธรรมจึงต้องให้รัฐมนตรีนี้มี หน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องฟัง ความเห็นของคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้น ในที่สุด บทบัญญัติที่เสนอจึงมีใจความว่า การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้กลับคืนสัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการตามมาตรา 25 พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่ง

บทสรุป

 ในท้ายที่สุดที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่า คนไทยพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยประสบปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติจริง และคณะกรรมาธิการฯ ก็ตระหนักในความสำคัญที่จะต้องมีการร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างคนเชื้อสายไทยที่เป็นเจ้าของปัญหา ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องที่สุดในเรื่องนี้ ก็คือ การใช้กฎหมายของรัฐสภาเพื่อเปิดพื้นที่ ให้มีการหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา การปฏิเสธที่จะยอมรับกฎหมายในลักษณะนี้ ก็คือ การสะสมความขัดแย้งระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งโดยสถานการณ์ที่ปรากฏในประเทศไทย เราคงตระหนักแล้วว่า หากรัฐยังคงนิยมการใช้อำนาจโดยไม่รับฟังเสียงของประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลของแนวคิดนี้ย่อมนำมาซึ่งความไม่สงบในสังคมไทย และความไม่มั่นคงของมนุษย์ในสังคมไทย

สิ่งเดียวที่จะเกิดขึ้นโดยทันทีเมื่อมาตรา 22 ว่าด้วยการยอมรับให้สถานะคนสัญชาติไทยแก่คนไทยพลัดถิ่นได้รับการยอมรับจาก สนช. ก็คือ คนเชื้อสายไทยกลุ่มนี้จะรู้สึกดีขึ้นว่า รัฐไทยมิได้มองเขาเป็น คนอื่น มีสถานะดังเช่นคนต่างด้าวที่ไม่มีเชื่อสายไทย แม้เพียงเพื่อ ความรู้สึกใหม่ ที่เกิดขึ้นแก่คนเชื้อสายไทย สิ่งนี้ก็น่าจะมีผลคุ้มค่าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของรัฐไทยน่าจะต้องทำงานกันเพื่อให้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้จริง มิใช่หรือ



[1] รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

[3] เสนอโดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2550

[4] วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล, สถานะบุคคลของคนเชื้อชาติไทยในเกาะกง, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2544

[5] สรุปจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 และวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2550

[6]  คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาปัญหาคนไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2550

[7] ประธานคณะะกรรมาธิการฯ  และผู้แทนคณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมหารือกับอธิบดีกรมการปกครองเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2550

[8] โปรดดูมาตรา 25 แห่งร่างพระราชบัญญัติที่แนบมาในท้ายบทความ

หมายเลขบันทึก: 287026เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 00:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท