พื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กและชุมชน


พื้นที่สร้างสรรค์,เด็กและเยาวชน,เด็ก

พื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กและชุมชน

 งานวิจัยแม่โจ้ค้นหาเสียงเด็กในชุมชนภาคเหนือ

                ช่วงนี้ กระแสที่มาแรงไม่น้อยไปกว่าการจดทะเบียนวิทยุชุมชน  คือ เด็กกับสื่อ เพราะสังคมเชื่อว่า ปัญหาของเด็กที่เกิดขึ้นทุกวันนี้  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อ สื่อมอมเมาเด็กให้บริโภคนิยม  เด็กติดเกม  เด็กเล่นการพนันในโทรศัพท์มือถือ  เด็กใช้ความรุนแรงตบตีกันในห้องเรียน เป็นต้น

                แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) ภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จึงให้การสนับสนุนคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ดำเนินการศึกษาวิจัยรายการวิทยุชุมชนสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่เปิดโอกาสให้เด็ก และเยาวชน ใช้พื้นที่วิทยุชุมชนสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและสังคม

  

ภาคเหนือ มีรายการวิทยุเด็กฯ มากกว่า 100 รายการ

สถานีวิทยุชุมชนในเขตภาคเหนือมากกว่า 20 สถานี  ได้มาร่วมเวทีระดมความร่วมมือในงานวิจัย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11-12  กรกฎาคม 2552  ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ที่ผ่านมา  ผลจากเวทีวิจัยครั้งนี้  พบว่า มีรายการวิทยุชุมชนที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวนมากถึง 108 รายการ  โดยสถานีวิทยุชุมชนทุกแห่งจะมีรายการวิทยุ ที่ผลิตโดยเด็ก เยาวชน และคณะครู ไม่น้อยกว่า 1 รายการ  เช่น  สถานีวิทยุชุมชนคนบ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน  พบว่า มีรายการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนจำนวน 13 รายการ จากผังรายการวิทยุทั้งหมด   และสถานีวิทยุชุมชนคนรักถิ่น อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา  มีรายการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนจำนวน 8 รายการ เป็นต้น

ทั้งนี้ รายการวิทยุดังกล่าว จัดโดยคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในท้องถิ่น และกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันทำกิจกรรมในชุมชน ซึ่งจะอาสาหมุนเวียนกันมาจัดรายการตามวันเวลาที่กำหนดในผังรายการ  เนื้อหาของรายการจะเน้นเปิดเพลงตามคำขอจากแฟนรายการ ใน 1 ชั่วโมงจะมีการสอดแทรกสาระความรู้ประมาณ 3-5 นาที เป็นความรู้เกี่ยวกับความสวยงามของวัยรุ่น แฟชั่น การศึกษา สุขภาพ  กิจกรรมของโรงเรียน ยาเสพติด  ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ การจัดรายการวิทยุชุมชนของเด็กฯ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็ก เยาวชน และชุมชนหลายด้าน เช่น รายการวิทยุทำให้เด็กและเยาวชนกล้าแสดงออก ได้ฝึกทักษะในการพูด และได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ต่อสังคม และที่สำคัญ คือ เด็กและเยาวชนออกไปเที่ยวเตร่นอกบ้านน้อยลง ใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น เนื่องจากต้องรอฟังเพลงที่ตนเองขอจากทางสถานีวิทยุชุมชน

 

การจัดรายการวิทยุเด็กฯ คุณค่าไม่ได้อยู่ที่ เด็กจับไมค์

การจัดรายการวิทยุของเด็กฯ  ในชุมชน  คุณค่าไม่ได้อยู่ที่เด็กจับไมค์ เด็กอยากเป็นดีเจ หรือมีชื่อเสียง แต่มีความหมาย มีคุณค่ามากกว่านั้น  

จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเวทีวิจัย เรื่องปัญหาและทางออกของการจัดรายการวิทยุของเด็กฯ พบว่า เด็กอยากให้ผู้ใหญ่ หรือคนในชุมชนให้ความสำคัญ มองว่าเด็กมีคุณค่า มีศักยภาพที่จะพัฒนาในสื่อวิทยุได้  แม้ว่าจะพูดไม่ชัด ไม่ถูกอักขระ ไม่รู้ว่าจะจัดรายการอย่างไรให้น่าสนใจ นอกจากเปิดเพลงเพียงอย่างเดียว หากพูดสอดแทรกสาระความรู้ ก็ถูกมองว่าไร้สาระ  จึงอยากให้คนในชุมชนเข้าใจ และเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำสิ่งสร้างสรรค์ให้แก่สังคมและตัวเด็กบ้าง

 

เด็กและชุมชนร่วมสร้าง พื้นที่สื่อสร้างสรรค์ 

                ทุกวันนี้ สังคมกำลังเผชิญกับปัญหาของเด็ก ส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดเพราะสื่อ เป็นต้นเหตุเพียงอย่างเดียว  แต่ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากคนในครอบครัว และชุมชนขาดความเชื่อมั่นในตัวเด็ก ที่เด็กมีสิทธิจะพูด มีสิทธิในการแสดงออกตามธรรมชาติของเด็ก   ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในชุมชนจะร่วมกันสนับสนุน สร้างพื้นที่สื่อดีๆให้แก่เด็ก เพื่อมิให้เด็กตกเป็นทาสของวัตถุนิยม ความรุนแรง และอบายมุขของสังคมอีกต่อไป

          ท่านเป็นคนหนึ่งที่กำลังส่งเสริม หรือเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเด็ก ลองพิเคราะห์ดูนะคะ สังคมดี ทุกคนมีส่วนร่วมกันสร้างค่ะ

 

 

 

เขียนโดย  อาจารย์ปัณณพร  ไพบูลย์วัฒนกิจ

คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

www.infocomm.mju.ac.th

หมายเลขบันทึก: 287104เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท