ปิดเทอมฤดูร้อน.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่ยี่สิบสองถึงยี่สิบสี่ มิถุนายน ถึง สิงหาคม 2552


Strategy in Action

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่และผู้อ่านทุกท่าน

 

คราวนี้ส่งงานล่วงหน้าเลย...เพราะส่งก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม   

 

เอ๋..ไม่ใช่แล้ว..ครูใหญ่คงนึกเอ็ดในใจ  ท่าทางครูน้อยคงจะหลงลืมวันเวลาไปอย่างแรง   นี่มันกลางเดือนแปด  และครูน้อยยังไม่ได้ส่งรายงานของเดือนหกกับเดือนเจ็ดต่างหาก     ทำมาเป็นรวบยอดส่งสามเดือนแถมยังมาช้าอีกต่างหาก   ชิชะ..

 

เอ่อ..ที่เขียนไปข้างบนนั่น  ครูน้อยก็สมมุติว่าตัวเองเป็นครูใหญ่  แล้วลองเขียนแทนความในใจของครูใหญ่สนุกๆ นะคะ    คราวนี้ก็ต้องกราบขอโทษอีกแล้วค่ะ...  _//\\_   (เครื่องหมายแสดงการพนมมือไหว้แบบที่วัยรุ่นนิยมใช้ในอินเตอร์เน็ตค่ะ   เป็นครั้งแรกที่ครูน้อยลองใช้เหมือนกัน  น่ารักดีนะคะ)

 

และสาเหตุที่ห่างหายไปนาน   ก็ยังคล้ายๆ เดิมอยู่ดี   ครูน้อยยังคงวุ่นวายกับเรื่องราวภาระร้อยแปดพันเก้าของตัวเองเช่นทุกครั้งไป   ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงปิดเทอมหรือเปิดเทอมก็ตาม     แถมผสมโรงด้วยการป่วยเป็นไข้หวัดอย่างแรงเป็นเวลาหลายอาทิตย์  (แต่ยังไม่ใช่ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 นะคะ    เอ..หรือว่าจะใช่แต่คุณหมอขี้เกียจตรวจก็ไม่ทราบ   เพราะคนมาโรงพยาบาลด้วยอาการคล้ายกันเยอะมากจริงๆ)  

 

โดยปกติแล้วเนี่ย  ครูน้อยยังไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่นะคะ  (แม้ว่าเลขสี่จะมารอตรงหน้าพอดีเป๊ะ)  แต่มาคิดว่าแก่ก็เพราะอาการป่วยคราวนี้ล่ะค่ะ   เพราะไม่เคยป่วยแม้แต่เป็นหวัดมานานหลายปีมาก    พอต้องมานอนซมเป็นอาทิตย์เนี่ย  ทำให้คิดเรื่องสังขารไม่เที่ยงทันที    แต่ข้อดีที่ได้จากการป่วยคราวนี้ก็คือทำให้เห็นคุณค่าของหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้นกว่าเดิมเยอะเลยค่ะ     หนึ่งในนั้นก็คือความสำคัญของครอบครัว  และคนที่รักเรานะคะ    หลายครั้งที่ชีวิตซึ่งต้องอยู่ห่างไกลกัน  ทำให้เราอาจจะหลงลืมความสำคัญของคนเหล่านี้ไปบ้าง   เพราะมัวแต่หมกมุ่นกับเรื่องของตัวเอง  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการศึกษา  หรือการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ    แต่เมื่อล้มป่วย  คนที่คอยเฝ้าดูแลและจะเป็นจะตายไปกับเราด้วย   ก็มีแต่คนในครอบครัวเท่านั้นล่ะค่ะ    ก็อยากฝากกับผู้อ่านทุกท่านว่าอย่าลืมให้ความสำคัญกับครอบครัวของท่านให้มากๆ กันนะคะ   เพราะสิ่งอื่นๆ ที่เป็นเปลือกนอกซึ่งคนเรามักจะให้ความสำคัญนั้น   มีความหมายน้อยมากเมื่อเทียบกับความรักที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว   โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ของเราค่ะ

 

ไถลออกนอกเรื่องไปไกล   กลับมาเรื่องหลักของเรากันต่อดีกว่านะคะ   อย่างที่เคยแจ้งให้ทราบไปแล้วครั้งหนึ่ง   ในภาคการศึกษาหน้านี้  ครูน้อยจะสอบ Comprehensive Exam แล้วล่ะค่ะ   ซึ่งเป็นการสอบประมวลผลในวิชาหลักๆ ที่ได้เรียนไปทั้งหมด   ตอนนี้ก็กำลังเตรียมตัวอยู่ค่ะ   หากครูใหญ่หรือผู้อ่านท่านใดมีข้อแนะนำดีๆ ก็มาบอกกันตรงนี้ได้นะคะ   ครูน้อยยินดีรับฟังทุกคำแนะนำและขอขอบพระคุณไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ  (คำอวยพรอะไรก็ยินดีรับไว้ทั้งหมดนะคะ   ตอนนี้จัดว่าอยู่ในช่วงเครียดเกือบที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตกันเลยทีเดียว)

 

ไม่รู้ว่าทุกท่านที่กำลังศึกษาปริญญาเอกหรือจบแล้วเคยมีความรู้สึกนี้หรือเปล่า  ความรู้สึกที่ว่า..ถ้าสอบไม่ผ่านจะทำอย่างไร    ครูน้อยก็คิดมากเรื่องนี้อยู่เหมือนกันค่ะ   ชอบคิดว่าเราจะไหวหรือเปล่านะ.. หัวสมองก็ไม่ค่อยดีเหมือนสมัยยี่สิบปีที่แล้วตอนยังสาวๆ อยู่เสียด้วย   แต่ก็พยายามบอกตัวเองว่า  ไม่ผ่านก็สอบใหม่จนกว่าจะผ่าน   ถ้าไม่ผ่านอีกและทางโรงเรียนเขาไม่ให้เรียนต่อ   โดยที่เราได้พยายามเต็มที่แล้ว   เราก็คงต้องหาที่เรียนใหม่เท่านั้นเอง    แต่ถึงอย่างไรก็จะต้องพยายามให้ดีที่สุดก่อน   ถ้าไม่สำเร็จก็ค่อยดูทางเลือกอื่นๆ ต่อไป     ยังไงก็ขอพรจากครูใหญ่และผู้อ่านทุกท่านช่วยเป็นกำลังใจให้ครูน้อย (ที่อายุไม่น้อย) คนนี้ให้สอบผ่านไปได้ด้วยดีนะคะ

 

และ..ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้เข้าเรื่องที่ตั้งใจจะมาเล่าเสียที.. (อ้อมไปอ้อมมาอยู่นานเลย)  คราวนี้จะมาเล่าถึงกิจกรรมดีๆ ที่ทางภาควิชา Strategic Management ที่ครูน้อยเรียนอยู่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของอาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก ในภาคกันค่ะ

 

กิจกรรมนี้มีชื่อว่า  Strategy in Action ค่ะ    เป็นกิจกรรมที่ให้อาจารย์ในภาควิชาหมุนเปลี่ยนกันเลือกหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจและอยู่ในสาขา Strategy มาถกกัน   โดยที่จะจัดประมาณเดือนหรือสองเดือนครั้ง   ซึ่งในเทอมที่ผ่านมาก็ได้จัดไปสองครั้งค่ะ   ครั้งแรกจัดในเดือนกุมภาพันธ์ โดย Prof. Margaret Hughes ได้เลือกหัวข้อที่เกี่ยวกับ Investor Psychology and Asset Pricing  ซึ่งเป็นหัวข้อที่ท่านได้ทำวิจัยและเสนอตีพิมพ์มาให้เพื่อนอาจารย์และเหล่านักศึกษาปริญญาเอกได้พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่ะ  

 

ส่วนครั้งที่สองจัดในเดือนเมษายน  โดย Prof. Gerry McNamara  เป็นหัวข้อที่ค่อนข้างแปลก คือ Neuroscience of Leadership  และได้เชิญนักศึกษาปริญญาเอกที่จบการศึกษาไปแล้วมาพูดคุยและแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้   ทำให้นักศึกษาปัจจุบันได้ทำความรู้จักกับนักศึกษารุ่นพี่ที่จบไปแล้วด้วย  เผื่อจะได้มี connection ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานหรือการทำวิจัยร่วมกันต่อไปในอนาคต

 

สำหรับตัวครูน้อยเองยอมรับว่าหลายๆ ประเด็นที่ได้รับจากการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นก็มีประโยชน์มาก    แม้ว่าหัวข้อวิจัยที่หยิบยกขึ้นมานั้นอาจจะไม่ได้ตรงกับหัวข้อวิจัยที่ครูน้อยสนใจ    แต่ในระหว่างสนทนานั้น  ก็มีการพูดถึงประเด็นอื่นๆ เช่น  วิธีแก้ไขสไตล์การเขียนงานวิจัยเพื่อให้มีโอกาสได้รับตีพิมพ์มากขึ้น  เป็นต้น

 

คิดว่าในเทอมต่อๆ ไปก็คงจะมีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาอีก   หากครูน้อยได้เข้าร่วม (จริงๆ ต้องเข้าร่วมทุกครั้งอยู่แล้วค่ะ  หากไม่ติดว่าตรงกับเวลาเรียนพอดี)  ก็คงจะนำมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ   และถ้าหากมีหัวข้อใดสอดคล้องกับในเรื่อง KM ก็จะลงลึกในรายละเอียดให้มากกว่านี้ค่ะ

 

 

แล้วเจอกันเดือนหน้าค่ะ     สวัสดีค่ะ.....

คำสำคัญ (Tags): #km#strategy
หมายเลขบันทึก: 288639เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • มาอวยพรก่อน
  • หายไปนานจริงๆๆด้วย
  • ฮ่าๆๆๆๆ
  • ขอให้ผ่านการสอบ Comprehensive Exam
  • ไปได้ด้วยดีครับ
  • ขอบคุณครับ

ขอเอาใจช่วยให้ผ่าน comprehensive exam นะครับ เรื่องการเตรียมตัวนี้ นอกจากการอ่าน ทบทวนความรู้แล้ว ตัวช่วยที่สำคัญคือ KM ที่อาจารย์กำลังเรียนนั่นแหละครับ

คือให้ถามจากคนที่เพิ่งสอบผ่าน ว่าเขาเตรียมตัวอย่างไร การเตรียมตัวแบบไหนไม่ค่อยช่วย การเตรียมตัวแบบไหนมีประโยชน์มาก อาจารย์ผู้สอบเขาจะถามแนวไหน ฯลฯ

ยิ่งได้ ลปรร. กับ เพื่อน นศ. ของ MSU รุ่นก่อน ที่เวลานี้กำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ ยิ่งดี

คือ KM จะช่วยให้เราเตรียมตัวได้ตรงทาง ไม่เปะปะ

คนที่เป็นหวัดนาน บ่งชี้ว่าขาดการออกกำลังกายครับ ผมเคยหลงเข้าใจผิดอยู่นาน ว่าการออกกำลังกายทำให้เสียเวลา จริงๆ แล้ว ทำให้ ๒๓ ๑/๒ ชม. ที่เหลือ more productive ยิ่งกว่า ๒๔ ชม. ที่ขาดการออกกำลังกายครับ และยิ่งคิดเป็นปี ๑๘๐ ชม. ที่ออกกำลังกาย ทำให้ ๓๖๕ วัน เป็น much more happy life ครับ ยิ่งอายุมากขึ้น คำกล่าวนี้ยิ่งเป็นจริงครับ

วิจารณ์

ผมชอบเรื่องเล่า strategy in action ครับ จะช่วยกระตุ้นอาจารย์ไทย ให้คิดสร้างวิธีการเรียนรู้แนวใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ให้แก่ นศ.

อยากให้เล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ของชีวิตการเรียนที่ MSU ครับ หรือจะเล่าความประทับใจวิธีการที่ได้ฟังจากเพื่อนที่มหาวิทยาลัยอื่น คณะวิชาอื่น ก็ได้นะครับ

วิจารณ์

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับคำอวยพรของท่านอาจารย์ค่ะ สำหรับสิ่งที่ท่านแนะนำมานั้นทั้งการเตรียมตัว การออกกำลัง และหัวข้อในการเขียนบล็อก ดิฉันจะขอรับไปปฏิบัติต่อไปค่ะ

เรื่องสอบถามจากรุ่นพี่ที่ผ่านการสอบไปนั้น ดิฉันชอบแนวปฏิบัติของที่ MSU มากค่ะ คือรุ่นพี่จะจัด session ให้พูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องแนวข้อสอบ วิธีหาข้อมูลเพิ่มเติม วิธีเตรียมตัว แต่แนวคิดหลักๆ ที่ดิฉันชอบมากและคิดว่าจะนำมาใช้ก็คือ

1. Understand everything by your heart, not by your head อันนี้มาจากรุ่นพี่ที่เป็นคนเยอรมันค่ะ เพราะเขาบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะจำทุกอย่างที่จะใช้ในการสอบได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจเนื้อหาทฤษฎีหลักๆ ด้วยหัวใจ ไม่ใช่การจดจำด้วยสมองเท่านั้น

2. หาสไตล์การอ่านและการเตรียมตัวสอบเพื่อความเข้าใจของตัวเองให้เจอ เพราะรุ่นพี่แต่ละคนมีสไตล์ของตัวเอง บางคนใช้เวลานาน และหาข้อมูลข้างนอก ทำสรุป แต่บางคนดูข้อสอบเก่า แล้วเลือกหัวข้อบางหัวข้อเท่านั้น บางคนอาจจะทำเป็นแผนภูมิเชื่อมโยงทฤษฎีต่างๆ เข้าหากัน แล้วค่อยลงมืออ่าน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องหาสไตล์ที่ตัวเองมั่นใจว่าเข้ากับตัวเองมากที่สุด ไม่ใช่เลียนแบบคนอื่น เพราะวิธีของแต่ละคนก็อาจจะไม่เหมาะสมกับเราเท่าที่ควรก็ได้

นอกจากนี้ ดิฉันก็ได้พูดคุยเรื่องการเตรียมตัวกับเพื่อนๆ ที่เรียนจบมาแล้วจากมหาวิทยาลัยอื่นด้วยเช่นกันค่ะ คิดว่าน่าจะรวบรวมมานำเสนอในบล็อกอย่างที่ท่านอาจารย์ได้แนะนำหลังจากสอบเสร็จแล้วก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่นๆ ด้วยเช่นกันค่ะ

สุดท้ายนี้ ก็ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านท่านอื่นๆ ที่เป็นกำลังใจให้ดิฉันในการสอบนะคะ ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพในช่วงนี้ เพราะอากาศค่อนข้างร้อนและฝนตกชุก อย่าลืมออกกำลังกายอย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำนะคะ

ขอเป็นกำลังใจให้ครับ ตอนนี้ผมก็อยู่ในช่วงของทำโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ 3 บทอยู่ครับ หัวข้อยังไม่ค่อยนิ่งเลยครับ ยังสับสนอยู่เหมือนกันก็อ่านและปรับให้เชื่อมโยงกันอยู่อะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท