วิถีชีวิตของย่าทวด


วิถีชีวิตของย่าทวด

คนเราถึงแม้ว่าจะยากดีมีจน  ขัดสนข้นแค้น  หรือจะชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหนอย่างไรก็สุดแท้แต่พื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนที่กำหนดไว้  แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทีอยู่ในพื้นฐานที่ว่านั้น  ก็คือ  ความรู้สึกที่เรียกว่า  ความเสียสละและความมีน้ำใจ  ทั้งสองสิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า  มนุษย์  และทั้งสองสิ่งนี้  มนุษย์ทุกคนก็ไม่ต้องไปหยิบยืมใคร  หรือจะต้องไปซ้อหามาจากที่ใด  ทั้งจะขอจากใครก็คงจะได้ไม่อย่างแน่นอน  ทำไมอย่างนั้นหรือ  ก็เพราะว่าเจ้าสิ่งที่เราทั้งหลายต่างเรียกมันว่า  ความเสียสละและความมีน้ำใจ  นั้นมันอยู่ที่ตัวเรานี่เอง  ซึ่งบางครั้งเราอาจจะไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าในตัวตนของเรานั้นมีเจ้าสองสิ่งนี้สิงสถิตอยู่กับเรา  จนเมื่อถึงเวลานั่นแหละ  เมื่อความรู้สึกนี้ได้แสดงออกมา  เราถึงจะรับรู้ได้ว่ามีเจ้าความรู้สึกทั้งสองอย่างนี้อยู่ในตัวเรา

            คุณแม่    ปู่จ๋าให้ไปเปลี่ยนสายอาหารให้ย่าทวดด้วยค่ะ  พลันที่เราเพิ่งจะปิดประตูรถยนต์ในโรงจอดรถ  เมื่อกลับเข้ามาถึงบ้านในยามเย็น  พร้อม    กับความเงียบสงบของเสียงเครื่องยนต์ก็ได้ยินเสียงร้องบอกของหลานสาววัยสี่ขวบดังขึ้นแทนที่  เสียงร้องบอกดังขั้นนำมาก่อนที่จะได้ยินเสียงฝีเท้าน้อย    กับร่างขาว    อ้วน    ตุ้ยนุ้ยเสียอีก  ภาพน่ารักสดในของหลานสาวสุดรักที่หลงพ่อหลงแม่และเรียกเราว่าคุณแม่ทุกครั้ง  ก็ปรากฏขึ้นกับสายตาของเรา  ความรู้สึกเหนื่อยและเพลียที่ได้รับมาตลอดทั้งวัน  เนื่องจากวันนี้มีคนไข้เข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของเรามากผิดปกติแทบจะหายไปในทันที  หลังจากกอดจูบกันเสียจนพอใจแล้ว  ความรู้สึกหนึ่งก็เกิดขึ้น  จะเรียกว่าเป็นหน้าที่หรือ  ก็คงจะไม่ใช่ก็เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา             นี่นา.....  แต่จะเรียกว่าอะไรก็ช่างเถอะ  เราไม่อยากเสียเวลาหาคำตอบให้ยุ่งยากเสียเวลา  คิดแล้วก็ทำให้ภาพเหตุการณ์หนึ่งกลับเข้ามาในความทรงจำของเรา

            เริ่มต้นที่วันนั้น  อาเขยของเราโทรศัพท์มาไถ่ถามถึงวิธีดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับกายหรือเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเองกับเรา  ทำให้เพิ่งจะคิดขึ้นได้ว่า  หลายวันมาแล้วที่อาเขยได้พาแม่ของเขาซึ่งเป็นผู้สูงอายุมากแล้ว  และป่วยเป็นอัมพาต  ต้องนอนอยู่บนที่นอนตลอดเวลา  ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มาอยู่ที่บ้านเพ่อดูแลรักษา  คิดแล้วก็รู้สึกสงสารเพราะเราจำได้ว่า  ย่าทวด  ที่ใคร    เรียก  มีลูกชายสามคน  อาเขยเป็นคนโต  ส่วนน้องชายคนรองก็ป่วยเป็นอัมพฤกษ์  ส่วนคนเล็กก็มีปัญหาสุขภาพทำให้เดินเหิน  หรือเคลื่อนไหวลำบาก  จะมีก็อาเขยนี้แหละที่พอจะเป็นที่พึ่งพาดูแลรักษาผู้เป็นแม่ได้  วันนั้นเราจำได้ว่าบทสนทนาจบลงตรงที่เรารับปากกับอาเขยว่า  เมื่อเราลงเวรดึกตอนแปดโมงเช้าแล้วจะไปช่วยดูแลย่าทวดและทั้งที่เมื่อคืนที่ผ่านมาเราแทบจะไม่ได้พักผ่อนเพราะมีคนไข้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลตลอดเวลา    ถึงแม้ความรู้สึกและร่างกายของเราจะบอกว่าเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย  และง่วงนอนอยากพักผ่อนเต็มแก่แล้ว  แต่เมื่อนึกขึ้นได้ว่าเรารับปากไว้กับอาเขยว่าจะไปช่วยดูแลย่าทวด  ถึงจะเหนื่อยล้าแค่ไหนก็คงต้องเอาเก็บไว้ก่อน

            ภาพหญิงชรานอนอยู่บนที่นอนในห้องที่ปิดประตูหน้าต่างไว้เสียสนิท  ปรากฏกับสายตาเราในครั้งแรก  กลิ่นห้องอับ    ที่ไม่มีช่องทางระบายอากาศ  ผ้าม่านสีทึม    ชวนให้หดหู่ใจ  หันไปมองรอบ    ห้อง  ข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับการพยาบาลคนป่วย  ถุงใส่ยารักษาโรคหลายห่อ  ตะกร้าผ้า  ขวดน้ำ  ถังขยะ  โถฉี่  วางไว้ระเกะระกะไม่เป็นที่เป็นทาง  ยิ่งหันกลับไปมองย่าทวดที่นอนนิ่งอยู่บนที่นอน  เห็นสายให้อาหาร  และสายสวนปัสสาวะที่อยู่กับตัวย่าทวดไว้ตลอดเวลา  ซึ่งบัดนี้สายของมันเปลี่ยนจากสีขาวใสกลายเป็นสีตุ่น    กลิ่นแผลกดทับ  ผสมกับกลิ่นเหม็นของปัสสาวะโชยมาปะทะกับจมูกเป็นระยะ    ภาพบรรยากาศในห้องนี้จึงไม่เป็นที่เจริญหูเจริญตาแก่ผู้มาพบเห็น  ยิ่งทำให้รู้สึกสงสารขึ้นจับใจ  แล้วความรู้สึกสงสารนั้นก็กลับกลายเป็นความโมโห  ทำไมอาเขยถึงได้ดูแลย่าทวดได้แค่นี้เองหรือ  บ้านนี้อยู่ร่วมบ้านกันตั้งหลายคน  ชายหางตาไปมองที่หน้าประตูห้องนอน  พบกับสายตามของสมาชิกในบ้านหลายคู่ที่กำลังพุ่งมาที่เราเป็นตาเดียว  ความโกรธยิ่งพุ่งสูงถึงระดับความรู้สึกสูงสุด  (อ้อ.....ยกเว้นไว้คนหนึ่งคือเจ้าลูกสาวตัวอ้วนของเรา)  แต่แล้วอีกความรู้สึกหนึ่งก็แทรกเข้ามา  และกั้นกลางความโกรธไว้ได้ทัน  คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบเพราะเรารู้คำตอบอยู่แก่ใจ  เอาล่ะถึงคราวต้องทำการปฏิวัติกันใหม่เสียที  ต้องมีการยึดอำนาจการดูแลรักษาย่าทวดมาจากอาเขยซะก่อน  เราจะไม่สนหรอกว่าในวันนั้นใครจะใส่เสื้อขาว  เสื้อดำ  เสื้อกล้าม  หรือเสื้อคอกลม  เราจะเป็นผู้นำแต่เพียงคนเดียว  หลังจากทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้านเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็มาถึงขั้นตอนปฏิบัติที่เราบังคับให้ทุกคนต้องดูและจดจำไว้เพื่อปฏิบัติต่อผู้ป่วยให้ถูกต้อง  ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น  เราเริ่มด้วย.....

            หนึ่ง  การเปิดประตูห้องนอนไว้  เพื่อผลทางจิตใจของผู้ป่วย  เพราะเมื่อเราทำกิจกรรม    ต่าง ๆ  อยู่นอกห้องนอนย่าทวด  เวลาที่เราเดินไปเดินมา  มีการเคลื่อนไหว  มีการพูดจากันภายในบ้าน  หรือเราจะดูหนังฟังเพลง  มันจะทำให้ย่าทวดมีความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งไว้คนเดียว  ยังมีลูกหลานคนอื่น    อยู่ในบ้าน  วิธีนี้เป็นจิตวิทยาง่าย    ที่ทำแล้วอาจไม่เห็นผลทันตา  หรือไม่อาจจับต้องได้  แต่ผลทางจิตใจนั่นแหละที่สำคัญ  ซึ่งเราคิดว่าย่าทวดก็คงจะชอบ

            สอง  หน้าต่างทั้งห้าบานที่ผนังห้องซ้ายขวานั่นอีก  จะปิดตายไว้ทำไมก็ไม่รู้  ในเวลากลางวันก็เปิดรับอากาศบริสุทธิ์เสียบ้าง  ให้อากาศได้ถ่ายเท  ขจัดปัญหาเรื่องกลิ่นอับชื้น  บ้านเราอากาศดีอยู่แล้ว  ไม่ต้องเกรงเรื่องฝุ่นควัน  หรือละอองพิษให้หนักใจเหมือนในเมืองกรุง  (ตรงนี้จำมาจากในละครบ้านเรา)  ส่วนในเวลากลางคืนก็อาจจะเปิดไว้สักบานสองบาน  อากาศดี    ผู้ป่วยจะได้สดชื่น  ยิ่งเป็นผู้สูงอายุ  และเคลื่อนไหวไม่ได้แบบนี้  ยิ่งเป็นผลดี  คนป่วยต้องการอากาศบริสุทธิ์  เหมือนต้นไม้ต้องการน้ำฝน

            สาม  ผ้าม่านสีทึบ    เต็มไปด้วยหยากไย่  ชุดนี้  จัดการให้นำผ้าม่านชุดใหม่  ลวดลายและสีสดใส  โดนใจวัยรุ่น  (รุ่นยาทวดนะ)  มาเปลี่ยนเสียเลย  สีสดใสย่อมส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วยได้ดีกว่าสีทึบ    เรื่องนี้ไม่ต้องไปถามใครหรอก  ถามตัวเองก็ได้  เพราะเราเองก็ชอบสีที่มันสดใสอยู่แล้ว  และก่อนนำผ้าม่านชุดใหม่มาเปลี่ยน  ก็ไม่ลืมที่จะให้เอามุ้งลวดออกไปทำความสะอาดเสียก่อน  มุ้งลวดเก่า    มีฝุ่นเกาะติดมากทำให้อากาศหมุนเวียนไม่ดี  อาจทำให้ย่าทวดเกิดอาการแพ้ฝุ่นละอองได้

            สี่  ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่าง  ต้องจัดวางและเก็บให้เป็นที่เป็นทาง  ถูพื้นทำความสะอาดห้องให้เรียบร้อย  อะไรที่ไม่จำเป็นก็ให้เอาออกไป  ห้องยิ่งโล่งและสะอาด  ย่อมทำให้ไม่เป็นที่สมสมหรือหมักหมมของเชื้อโรค  การดูแลรักษาผู้ป่วยก็จะเกิดผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น

            ห้า  การรักษาความสะอาดร่างกายของผู้ป่วย  เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  ต้องเช็ดตัวทำความสะอาดร่างกายทุกวัน  เครื่องนอนหรือผ้าปูที่นอนก็ต้องหมั่นนำไปซักเสมอ  เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้  เราทั้งอธิบายทั้งบังคับให้ทุกคนในบ้านช่วยกันทำ  ส่วนเรื่องการเปลี่ยนสายอาหาร  เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ  แม้แต่การทำแผลเราจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเอง  แต่เราก็ไม่ลืมที่จะสอนเรื่องการทำแผล  การพลิกตะแคงตัว  และการให้อาหารทางสายยางให้กับสมาชิกทุกคนในบ้าน  จะได้มีส่วนร่วมในการดูแลย่าทวด

            มาถึงวันนี้  ภาพของย่าทวดที่เราได้พบเห็นทุกครั้งที่ไปเปลี่ยนสายอาหารและสายสวนปัสสาวะ  เปลี่ยนไปจากเมื่อวันนั้นอย่างสิ้นเชิง  ดูผิวพรรณของย่าทวดสดในขึ้น  ไม่มีแผลกดทับเกิดขึ้นอีก  ห้องนอนก็สะอาดเรียบร้อยไม่มีกลิ่นอับชื้น  ข้าวของเครื่องใช้ก็จัดวางเป็นระเบียบ  ความรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียหายไปสิ้น  สิ่งที่เราได้แนะนำไว้ในวันนั้น  ทุกคนนำมาปฏิบัติต่อย่าทวดเป็นอย่างดี  สมาชิกทุกคนในบ้านก็รู้สึกภูมิใจที่เขาสามารถดูแลแม่หรือย่าทวดของพวกเขาได้  โดยเราไม่ได้หวังสิ่งใด    ตอบแทน  เราหวังแค่เขาสามารถดูแลแม่ของเขาได้  เพียงเท่านี้เราก็มีความสุขแล้ว

            เราคิดว่าหากทุกครั้งที่ญาติได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยและสามารถนำความรู้ที่ได้รับกลับไปถ่ายทอดต่อ    กัน  และนำไปปฏิบัติได้จริง    เราก็ยินดีที่จะทำอย่างเต็มใจ  เพราะเราได้รับสิ่งที่มีค่าทางจิตใจเป็นสิ่งตอบแทนแล้ว  และสิ่งมีค่าที่เราได้รับกลับมานั้น  ก็คือความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 290560เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ มาฟังเรื่องเล่าค่ะ เขียนบ่อยๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท