อบรมการจัดการความรู้ (ต่อ)


เรียนรู้วิธีใหม่ ๆ เพื่อเลือกใช้ความรู้ให้มากขึ้น

             วันนี้เป็นวันที่สามที่นำคณะจาก กศน.เขตห้วยขวาง มาอบรมการจัดการความรู้

              เมื่อวานนี้ (วันที่สอง) ครูณัฐ และครูสุนิตย์  ได้พาครู กศน.อำเภอปากช่อง มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน กศน.กับครู กศน.ห้วยขวาง  ว่า เวลาลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานเขาเหล่านั้น มีวิธีการที่จะไปทำความรู้จัก และทำงานร่วมกับเครือข่าย กศน.อย่างไร  ลักษณะพื้นที่และบริบทของคนต่างจังหวัด ที่ต่างจากบริบทของคน กทม. ทำให้การทำงานร่วมกับเครือข่ายยากและง่ายต่างกัน ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่ต่างคนต่างแลกเปลี่ยนกัน เป็นวิธีและวิธีการทำงานที่ดีมาก ๆ

               ในช่วงบ่าย ครูณัฐและครูแดง  ได้นำพวกเราไปที่บ้านโคกสง่า ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ ๆ กับสถาบันฯ นี่เอง  เมื่อไปถึงได้พบกับกลุ่มสตรี แม่บ้าน และ สว. (ผู้อาวุโสค่ะ)  ซึ่งมารอให้การต้อนรับตั้งแต่ เก้าโมงเช้า  แต่เราไปตอนบ่าย อาจมีการสื่อสารอะไรผิดพลาดกันบ้างเล็กน้อย  หรือไม่ก็เป็นเพราะความตั้งใจของชาวบ้านที่อยากพบกับเรา  ซึ่งเป็นความประทับใจของชาวห้วยขวางเป็นอย่างมาก

               กลุ่มสตรีฝีมือแม่บ้าน บ้านโคกสง่า  มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการจักรสานตระกร้า กระเป๋า และอุปกรณ์นานาชนิด ที่สร้างขึ้น โดยการนำ "ปอ ยางพารา" มาสานเป็นตระกร้าและเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ แล้วขายให้กับคนในหมู่บ้านและคนทั่วไป  ต่อมาเมื่อฝีมือดีขึ้นก็ได้ขอรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จาก มอก. และเข้าร่วมกลุ่ม OTOP จึงทำให้ผลิตภัณฑ์นี่ได้วางขายในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น

              จุดประสงค์ใหญ่ในการเข้าไปชุมชนครั้งนี้  เพื่อให้ ครูของ กศน.ห้วยขวาง  ได้ไปศึกษาเรียนรู้และถอดองค์ความรู้ในการจัดการเรื่องดังกล่าวจากกลุ่มสตรีกลุ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการอบรมการจัดการความรู้  เมื่อสิ้นสุดกิจกรรม ก็จะนำความรู้ดังกล่าวมาถอดบทเรียน เพื่อค้นหาว่าเรามีวิธีในการไปถอดองค์ความรู้ในแต่สถานการณ์อย่างไร  จุดอ่อนหรือปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร หากเกิดในลักษณะเช่นนี้เราควรจะแก้ไขอย่างไร  และจุดเด่นหรือผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคืออะไร และจะนำไปใช้ในครั้งต่อไปอย่างไรจึงจะเหมาะสม

              แต่สิ่งที่ ครูจากกรุงเทพฯ ได้มากกว่านั้นก็คือ ความมีน้ำใจ ความเป็นกันเอง ความน่ารักของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเราไม่ค่อยได้พบกันสักเท่าไรนักในกรุงเทพฯ  หลาย ๆ คนจึงเป็นเหมือนลูกหลานของชาวบ้าน และร่วมทำกิจกรรมกันอย่างสนุกสนานโดยไม่รู้ตัว

              พวกเราจึงได้พบว่านี่คือ การเรียนรู้วิธีใหม่อีกแบบหนึ่งที่ทำให้เราพบกับความรู้ใหม่ ๆ และสามารถเลือกใช้ความรู้นั้นได้มากขึ้น 

               เมื่อถึงเวลากลับ หลายคนไม่อยากกลับ  ผู้เฒ่าหลายคนไม่อยากให้เรากลับ ร่ำรากันแล้วกันอีกกว่าจะขึ้นรถได้ไหว้กันไปคนละหลายครั้งทีเดียว  มีคุณป้าคนหนึ่งยืนส่งพวกเราขึ้นรถและรอจะปิดประตูรถให้ พร้อมกับกล่าวคำว่า "แล้วก็ไปกันจ้อย" เป็นคำพูดประโยคเด็ดที่ทำให้คิดถึงว่า คนกรุงเทพนะ ไปหาคนต่างจังหวัด เมื่อถึงเวลากลับก็ไปเลย ปล่อยให้คนอยู่ข้างหลังคิดถึงอยู่เพียงลำพัง

              หลังจากนั้นพวกเราก็กลับมาที่สถาบันฯ เพื่อทำกิจกรรม AAR ซึ่งมีครูณัฐเป็นผู้ดำเนินการ เป็นการทบทวนหลังการทำงานว่าเราได้อะไรบ้าง มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นระหว่างการทำงานอย่างไร ใช้วิธีการใดในการแก้ไขเบื้องต้นและหากเกิดปัญหาเช่นนี้ในครั้งต่อไปควรเลือกใช้วิธีการใดจึงจะเหมาะสมกว่า  ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นได้แก่อะไรบ้างจะนำไปเป็นบทเรียนในครั้งต่อไปอย่างไร  

              ได้เห็นรอยยิ้มซึ่งเกิดจากความภาคภูมิใจในการทำงานครั้งนี้จากคณะ หลายคนไม่เคยทำเวทีชาวบ้าน น้อง ๆ 2 คน เป็นครูใหม่ ก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากรุ่นพี่  ถือเป็นการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ ครู กศน.จัดให้กับ ครู กศน.ด้วยกัน  ต่อไปก็คงเป็นหน้าที่ของครู กศน.ที่จะนำวิธีการนี้ไปจัดการศึกษาให้กับประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราต่อไป

               ขอบคุณ ครูณัฐ ครูแดง และคุณป้า ชาวโคกสง่าทุกคน ที่เป็นครูให้กับชาว กศน.เขตห้วยขวาง ในบทเรียนใหม่บทนี้  ซึ่งคงมีบทเรียนอีกหลายบทนักที่เราจะต้องเรียนรู้กันต่อไปเพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาของ กศน.ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

                                           สุพรพรรณ  นาคปานเอี่ยม

                                                  ผอ.กศน.เขตห้วยขวาง

คำสำคัญ (Tags): #เวทีชาวบ้าน
หมายเลขบันทึก: 292107เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท