ดวงใจแม่


ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่ารักของแม่ที่มีให้ลูก

ดวงใจแม่

            ยกลูกฉันเบาๆหน่อยลูกฉันเจ็บ รู้มั๊ย!” นี่เป็นสียงของหญิงชราคนหนึ่งที่ทุกคนในตึกได้ยินชัดเจน ภาพที่เห็นคือหญิงชราผมยาวยุ่งเหยิง สวมเสื้อคอกระเช้า ผ้าถุงเก่าๆ ไม่สวมใส่รองเท้า ยืนเกาะรถเข็นเปลนอนผู้ป่วยชายวัยรุ่น ซึ่งส่งกลับจากโรงพยาบาลพุทธชินราช เพื่อดูแลต่อ เป็นผู้ป่วยอุบัติเหตุบาดเจ็บที่ศีรษะ เลือดคั่งในสมอง มีภาวะแขนขางอเกร็ง มีท่อเจาะคอ สายให้อาหารทางสายยาง สายสวนปัสสาวะ แผลกดทับขนาดใหญ่ และมีอาการชักเกร็งในบางครั้ง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย สื่อสารไม่ได้มีเพียงแววตาทั้ง 2 ดวงที่บอกความรู้สึกต่างๆ ให้กับผู้ที่เป็นแม่และพ่อชราที่ตาฝ้าฟาง... ชีวิตที่สดใสของลูกชายคนเดียวในบ้านหมดไปเพราะความโชคร้าย  ในวันนั้นหญิงชราเล่าให้เราฟังด้วยน้ำตาว่า เป็นวันแรกที่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกชายเพื่อใช้ไปทำงาน ด้วยความดีใจลูกชายขอขี่รถไปเที่ยวในหมู่บ้านแต่โชคร้ายถูกรถสิบล้อเฉี่ยวชนล้มสลบไป หลังจากนั้นทุกอย่างในชีวิตก็เปลี่ยนไป ลูกต้องเป็นคนพิการตลอดชีวิต ทุกคนในบ้านรับเหตุการณ์นี้แทบไม่ได้

                วันนี้ลูกชายถูกส่งมารักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน มีภาระมากมายที่คนเป็นแม่ต้องทำ ทำเพื่อลูกคนเดียว... ระยะแรกๆ หญิงชราผู้นี้ไม่ยอมรับสิ่งใดๆเลยที่ทางเรามอบให้ หน้าตาไม่เป็นมิตร พูดเสียงดัง ไม่มีความไว้วางใจ ไม่ยอมรับต้องการทำทุกอย่างให้ลูกของตน พวกเราเห็นแล้วรู้สึกเห็นใจเพราะหญิงชราผู้นี้ยังยอมรับกับสิ่งที่เกิดกับลูกตนเองไม่ได้ เราพยายามเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เข้าไปสร้างสัมพันธภาพจนประสบความสำเร็จ ผู้เป็นแม่ยอมให้ข้อมูลและบอกความรู้สึกของเธอ...  หญิงชราผู้นี้บอกว่าเธอเสียใจมากๆ ลูกชายคือดวงใจของเธอ เธอเห็นลูกเจ็บ เธอยิ่งเจ็บกว่า ทำอะไรไม่ถูกมันเร็วเกินไป เธอพูดด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้าตา มือกำแน่น ฉันยื่นมือไปจับมือไว้เบาๆ เธอร้องไห้โฮออกมาทันที

ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาล 1 เดือนหลังจากย้ายมา การดำเนินการรักษาของเราดำเนินไปทุกๆวัน พร้อมกับสัมพันธภาพที่ดีขึ้นกับหญิงชราผู้เป็นแม่คนนั้น เริ่มมีการพูดคุย พูดเล่นได้ ความสนิทสนมเริ่มมีมากขึ้น พวกเราในตึกเริ่มที่จะสบายใจที่จะเข้าไปหาเธอและลูกมากขึ้น

อาการของผู้ป่วยเริ่มดีขึ้น หญิงชราได้ถูกเตรียมทักษะการดูแลและฟื้นฟูต่างๆจากทางตึก เพื่อเตรียมวางแผนจำหน่าย เธอเรียนรู้ด้วยความยากลำบาก วันนี้ทำได้ดีพรุ่งนี้ลืม เธอเธอถอนหายใจหลายครั้ง แต่เรามองเห็นความตั้งใจของเธอข้างใน...  วันที่จะได้กลับบ้านเธอขอความช่วยเหลือจากเราว่าเธอไม่มีรถมารับกลับ  ช่วยหน่อยได้มั๊ย  เราประสานรถมูลนิธิฯเพื่อช่วยเหลือเธอและลูกของเธอให้  ก่อนกลับเราได้เห็นรอยยิ้มที่บริสุทธิ์ของหญิงชราคนนี้  แล้วกล่าวกับเราว่า  ขอบใจมากนะทุกคน

                หายไปประมาณ 20 วัน  เราได้พบกับแม่ลูกคู่นี้อีกครั้ง  กับการเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการเสมหะอุดกลั้นทางเดินหายใจ  และหายใจหอบเหนื่อยมีไข้สูง  สีหน้าของผู้เป็นแม่เคร่งเครียดเช่นเคย  เธอเห็นหน้าเราครั้งแรกก็รีบบอกทันทีว่าลูกฉันอาการแย่ลงทำอย่างไรดี พวกเราปลอบใจและพูดคุยกับเธอ การดูแลครั้งนี้หญิงชราผู้นี้มีความวิตกกังวลกับลูกเช่นเคย น้องๆเราบางคนในตึก ต้องเจอเธอ และสอนวิธีการดูดเสมหะ  และการปฏิเสธการทำหัตถการต่างๆกับลูกของเธอ ต้องเปลี่ยนกันไปอธิบายบ่อยๆ  เพื่อสร้างความไว้วางใจ  บางครั้งเสมหะในท่อเจาะคอมีมาก  พวกเราก็จะเห็นหญิงชราผู้นี้เปิดเครื่องดูดเสมหะและดูดเสมหะเองด้วยมือเปล่าๆ  พอเราไปบอก  เธอก็จะบอกว่ากลัวลูกหายใจไม่ได้  หลายๆคนในตึกเกิดความท้อใจ เจ้าหน้าที่บางคนไม่กล้าเข้าไปหาเธอและลูก  เพราะเวลาหญิงชราผู้นี้พูดเธอจะพูดเสียงดังมาก  ไม่มีหางเสียง  เกรี้ยวกราด  จนเราต้องหาคนที่สร้างสัมพันธภาพส่วนตัว  เพื่อคอยพูดคุยและคลี่คลายสถานการณ์  ฉันคือ  คนที่พูดคุยกับหญิงชราผู้นี่ได้ทุกเรื่อง  เธอเรียกชื่อเล่นของฉัน  โดยจำเอาจากเจ้าหน้าที่เวลาที่เราพูดคุยกัน  ความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ...  มีความเข้าอกเข้าใจกัน  วันหนึ่ง  เธอบอกให้เราฟังว่า  อยากกลับบ้านเป็นห่วงบ้าน  ไม่ได้กลับมา 10 วันแล้ว ฝากดูแลลูกชายสักพักนะเธอบอกกับพวกเรา  บ้านของหญิงชราผู้นี้อยู่ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ 3 กิโลเมตร  เธอต้องเดินไปบ้าน  ไปกลับรวมแล้วระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร  เห็นแล้วน่าสงสารมาก ซึ่งเธอเดินเท้าเปล่า  กลางแดดร้อนๆ  ใบหน้า และเสื้อคอกระเช้าของเธอเต็มไปด้วยเหงื่อ  บ่ายแก่ๆวันนั้นเธอกลับมาโรงพยาบาล  พร้อมกับน้ำพริกปลาร้ามาฝากเราที่ตึก  เธอบอกเราว่า  หมอเอาน้ำพริกปลาร้ามาฝากฉันทำเองนะเธอยื่นให้เราพร้อมกับรอยยิ้ม  พวกเรารู้สึกถึงความเป็นมิตรที่เกิดขึ้นและความมีน้ำใจของเธอ

                1 อาทิตย์ต่อมาอาการของผู้ป่วยทรุดลง  เนื่องจากมีภาวะติดเชื้อที่ปอดเพิ่ม  แพทย์ให้ยาปฏิชีวะนะแล้วยังมีไข้สูงทุกวัน  จึงต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพุทธชินราช  เพื่อหาสาเหตุ  และการรักษาที่ดีขึ้น  ทำให้ผู้เป็นแม่กังวลเป็นอย่างมาก  กลัวอันตรายที่จะเกิดกับลูกต่างๆนานา  ครั้งแรกที่ทราบเรื่องเธอปฏิเสธไม่ยอมไป  เราใช้เวลาในการอธิบายเพื่อให้เธอเห็นประโยชน์ข้อดีในการรักษาต่อ  ตลอดจนความปลอดภัยของลูกตนเองอยู่นาน  เธอจึงยอมไป  ทุกคนสงสาร  นึกถึงความเป็นอยู่ในเมืองที่เธอไม่เคยเจอ  ที่พัก ค่าใช่จ่าย  ไม่พร้อมสักอย่าง  พวกเราจึงรวบรวมเงินคนละเล็กคนละน้อยให้เธอติดตัวไป  เพื่อใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น  พวกเราเห็นน้ำตาของเธออีกครั้ง  คงจะเป็นการขอบคุณอยู่ลึกๆในใจของแม่คนนี้  ขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาล  เธอบอกกับลูกของเธอว่าไอ้หนูอย่าเป็นอะไรนะ เธอเรียกลูกของเธอว่า ไอ้หนู มันเป็นคำง่ายแต่น้ำเสียงและแววตาของเธอที่แสดงออกมาสามารถเรียกน้ำตาของพวกเราได้

                10 วันหลังจากส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราช  วันหนึ่งเราก็ได้รับการส่งตัวกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลบางกระทุ่มอีกครั้ง เมื่อเห็นหน้าพวกเรา  เธอรีบมาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที  เธอบอกกับพวกเราว่า    อยู่ที่โน่นลำบากมาก  ตึกสูง  อยู่ชั้น5  ฉันขึ้นลิฟท์  ต้องเดินขึ้นลง  เดินไม่ไหว  ก็ต้องอดข้าวเกือบทุกวัน  นั่งร้องไห้อยู่หน้าตึกคนเดียว  ด้วยความที่ชีวิตปกติ  เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง  ไม่เคยเข้าสังคมเมืองจึงเกิดความกลัว  ไม่กล้าไปไหนมาไหน  กลัวหลง  ไม่กล้าพูดไม่กล้าถาม  การกลับมารักษาของผู้ป่วยครั้งนี้อาการทางปอดดีขึ้น  การติดเชื้อลดลง  ปัญหาที่เหลือคือ  แผลกดทับขนาดใหญ่  และจำนวนแผลมากขึ้น  จากสองแผลเป็นสี่แผล  จึงสร้างความหนักใจให้กับผู้เป็นแม่อีกครั้ง  ครั้งนี้จึงนอนโรงพยาบาลเป็นเวลาเกือบเดือน  ความสนิทสนมเห็นใจจึงมากขึ้นตามลำดับ  มีการพูดเล่น  แบ่งปันความรู้สึก  แลกเปลี่ยนความคิด  ครั้งนี้พวกเราจึงตั้งฉายาเธอว่า ป้าแพนเค้ก เพราะเธอเป็นผู้หญิงผมยาวและชอบปล่อยผม  เธอก็ยินดีเวลาพวกเราเรียกเธอว่าป้าแพนเค้ก  เธอจะหันมาตอบรับว่า จ้า มีอะไรจ๊ะหมอ การพูดคุยแบบเปิดใจครั้งนี้  ทำให้ได้ทราบถึงปัญหาและความช่วยเหลือของเธอที่ทำให้เธอเครียด  ปัญหาแรกขณะนั้น คือ  ห่วงบ้านและสามีที่ผ่าตัดตาต้องอยู่บ้านคนเดียว  อยากกลับไปดูแลตอนกลางวันบ้าง  เราจึงให้เธอยืมรถจักรยานส่วนตัว เราให้เธอยืมขี่ไปบ้านทุกวัน  ซึ่งจอดทิ้งไว้ที่ตึก  ปัญหาแรกถูกแก้ไขได้  เธอสบายใจ  ยิ้มแย้ม  ตอนบ่ายๆพวกเราจะได้เห็นหญิงชราคนนี้  ใส่ผ้าถุงสวมเสื้อคอกระเช้า  ไม่สวมรองเท้า  ปั่นจักรยานช้าๆ  เลาะข้างถนนกลับบ้านทุกวัน  และจะกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งตอนประมาณบ่ายสี่โมงเย็น เพื่ออาบน้ำลูกที่นอนอยู่โรงพยาบาล  ทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มของเธอเรารู้สึกดีใจไปด้วย  ปัญหาที่สองคือ  ความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยต่อที่บ้าน  เธอเป็นคนจำอะไรได้ไม่นาน สอนทักษะต่างๆแล้ว ทำได้ขณะหนึ่ง  อีกวันก็จะลืม  ไม่มีใครช่วยเหลือได้  เพราะที่บ้านไม่มีใคร  พวกเราจึงประสานกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยในเขตรับผิดชอบ  ขอความร่วมมือในการลงเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน

                ถึงวันจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้านทุกอย่างดูสดใส   ป้าแพนเค้กดูสบายใจยิ้มแย้มทุกครั้ง  หนึ่งเดือนหลังจากนั้นป้าแพนเค้กของพวกเรากลับมาพร้อมกับบุตรชายอีกครั้งด้วยสีหน้าเคร่งเครียด  ไม่ยิ้มและพูดว่า แผลลูกฉันเน่า พวกเราเปิดดูแผล  แผลมีกลิ่นเหม็นมาก  มีหนอง  ขนาดแผลกว้างมากขึ้น  ตัวร้อน  เราจึงสอบถามวิธีทำแผลของเธอ  เธอเล่าด้วยความซื่อว่า ฉันทำแผลเองทุกวัน  ทำอย่างที่สอนทุกอย่าง พวกเราหาสาเหตุที่แผลติดเชื้อไม่ได้  เพราะไม่เข้าใจถึงความพร้อมของผู้เป็นแม่  และสภาพแวดล้อมที่บ้าน  ผู้ป่วยเวียนเข้าออกโรงพยาบาลช่วงนั้นทุกๆเดือน  จึงตัดสินใจไปเยี่ยมบ้านด้วยตนเองในวันหยุด  ระยะทาง 3 กิโลเมตรขี่มอเตอร์ไซค์ไม่นาน  ใช้เวลาประมาณ 10 นาที  สอบถามคนแถวนั้นเพื่อหาบ้านของคนไข้  ซึ่งทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี  พอไปถึงสภาพที่เห็นตรงหน้า  คือกระท่อมสังกะสีเก่าๆ  พื้นต่ำ  บันไดไม้โยกเยกสามขั้น พื้นบ้านผุๆ  ภายในบ้านมีเพียงที่นอน  มุ้งเก่าๆ  ตู้เสื้อผ้า  ตู้กับข้าวเก่าๆ  ที่ใหม่สุดคือเครื่องปั่นอาหารที่พึ่งซื้อมาปั่นให้ลูก  ทันทีที่จอกรถ  ป้าแพนเค้กตะโกนออกมาก่อนที่จะเห็นหน้าหมอซะอีก หมอมาหรอจ๊ะ  ฉันกล่าวคำทักทายสวัสดีป้า  และเดินขึ้นบ้าน  ไม่กล้าเดินแรงต้องต่อยๆย่องเดิน  ได้พบกับ ไอ้หนูของแม่  นอนอยู่บนที่นอนเก่าๆขนากพอดีตัวพลิกตัวแทบไม่ได้  แมลงวันตอมที่แผลและรอบๆร่างกาย  ป้ากำลังทำแผลให้ลูกด้วยความตั้งใจ  เธอคุยให้ฟังว่าจะทำแผลให้ดูนะ  ว่าแล้วก็เดินไปหยิบขวดน้ำยาใส่แผลและชุดทำแผลจากมุมห้อง  จากนั้นแกะผ้าปิดแผลที่แฉะไปด้วยปัสสาวะ  เลือด  หนอง  ด้วยมือเปล่าและลงมือทำแผลทันที  โดยเทน้ำยาใส่ชามข้าวเก่าๆ  เช็ดถูแผลไปมา  ฉันพูดอะไรไม่ออก  ดูวิธีทำแผลของป้าต่อไป  และสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นตรงหน้าฉัน  คือ วิธีปิดผ้าก๊อสของผู้เป็นแม่  โดยใช้เท้าข้างหนึ่งยันผ้าก๊อสบนแผลลูกไว้  และใช้มือสองข้างที่เหลือแกะพลาสเตอร์มาปิดแผล  ฉันถามด้วยความตกใจว่าทำไมทำแบบนี้  เธอตอบอย่างเร็วว่าทำทุกวันมือไม่มีแรง  ฉันร้องอ๋อในใจ  รู้แล้วทำไมแผลจึงติดเชื้อทุกครั้งที่มาอยู่บ้าน  กลับมาที่ตึกฉันปรึกษาทีมเยี่ยมบ้านเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ  และตัดสินใจลงเยี่ยมบ้านโดยทีมสหวิชาชีพอีกครั้ง    การเยี่ยมครั้งนี้สร้างความดีใจและปลื้มใจให้กับผู้เป็นแม่มาก  ความช่วยเหลือต่างๆของทีม  เรื่องการดูแลแผล  สถานีอนามัยจะลงไปดูแลให้ทุกอาทิตย์  โรงพยาบาลสนับสนุนอุปกรณ์  น้ำยาทำแผล  ชุดทำแผล  พี่ๆที่ตึกอนุเคราะห์ Setทำแผล  ที่พี่ๆเลิกทำคลินิกมาให้สองชุด  ทำให้ดูสะอาดตามากกว่าชามข้าวเก่าๆที่ใช้อยู่    หลังจากนั้นหนึ่งอาทิตย์ฉันไปเยี่ยมสองแม่ลูกอีกครั้ง  ทุกอย่างดูดีขึ้นจริงๆ  ผู้เป็นแม่ทำแผลให้ลูกได้ถูกต้องและสะอาดมากขึ้น  แผลไม่มีการติดเชื้อ  ดูดเสมหะที่คอได้อย่างมั่นใจ  เมื่อลูกปลอดภัยดี  แม่ก็สบายใจ  เธอบอกฉันอีกครั้งเรื่องความเป็นอยู่  เธอเล่าว่า  รายได้ครอบครัวไม่พอใช้  ตอนนี้ให้สามีตนเองไปรับจ้างตัดไม้  เพราะตาพอจะมองเห็นบ้างแล้ว  อยากขอยืมจักรยานหมอต่อได้มั๊ยจะเอาไว้ขี่ไปหาสามี  เพื่อช่วยกันลากไม้มาเผาถ่านใช้  ฉันตอบว่าได้ทันที  เพราะรู้สึกสงสารในความพยายามของเธอที่จะแบ่งเบาภาระสามี  และหารายได้เลี้ยงชีพ  เธอบอกกับฉันอีกว่า  ตอนนี้มีรายรับแค่เบี้ยเลี้ยงชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500  และเบี้ยคนพิการของลูก  กลุ้มใจ  พวกเราจึงพยายามช่วยเหลือหาอาชีพให้  โดนการแนะนำให้ปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน ขายเพื่อนบ้านใกล้ๆจะได้ไม่ต้องไกลลูก  เธอก็บอกจะลองทำดู  เราคิดว่าถึงแม่ลูกของเธอจะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้  อย่างน้อยสภาพจิตใจของผู้เป็นแม่ที่เฝ้าดูแลมาตลอด  น่าจะได้รับการดูแลจากคนรอบข้างเช่นกัน  จากวันแรกที่เจอถึงวันนี้สองปีแล้ว  ที่ฉันรู้สึกผูกพันกับแม่ลูกคู่นี้ นับถือน้ำใจ ความเสียสละของเธอ  สามเดือนแล้วที่เธอดูแลลูกได้ดีมาก  ไม่มีอาการแทรกซ้อนที่ต้องนอนโรงพยาบาล  สภาพจิตใจเธอดีขึ้น  ใบหน้ายิ้มแย้ม  หัวเราะเสียงดัง  มีอาชีพเล็กๆน้อยๆ  ปลูกผัก  ตัดไม้ใกล้บ้าน

                วันแม่ที่ผ่านมาเธอเล่าให้ฟังว่า  เธอมาโรงพยาบาลเพื่อรับยาให้ลูก  มีหมอที่โรงพยาบาลมอบเงินให้เธอ 100 บาท  บอกกับเธอว่า ป้าเป็นแม่ดีเด่น เธอบอกเล่ากับฉันด้วยความรู้สึกปลาบปลื้มอย่างมาก  และฉันก็คิดว่าเธอเป็นเช่นนั้นจริงๆ  ความฝันของเธอคือ  วันหนึ่งลูกฉันจะกลับมาเป็นไอ้หนูของแม่เหมือนเดิม...ฉันขอให้ปาฏิหาริย์เกิดกับหัวใจแม่ที่แกร่ง  เข้มแข็งอย่างป้าแพนเค้ก  เพื่อดวงใจเล็กๆสองดวง  ได้อยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความหวังต่อไป

 

 

ผู้เขียน

ปนัดดา  นาคทอง

พยาบาลวิชาชีพ  ระดับชำนาญการ

งานผู้ป่วยใน  โรงพยาบาลบางกระทุ่ม

 

คำสำคัญ (Tags): #ดวงใจแม่
หมายเลขบันทึก: 293116เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2009 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกำลังใจให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท