ปรากฏการณ์ดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ ฟีเวอร์


ดาบวิชัย ปลูกต้นไม้แทนคุณ แผ่นดิน

ประชามีสุข  นำบทความเก่า ๆ  ที่เคยเขียนไว้  มาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้ครับ

 

ปรากฏการณ์ดาบตำรวจวิชัย  สุริยุทธ  ฟีเวอร์

 

 

                   ปรากฏการณ์ดาบตำรวจวิชัย  สุริยุทธ  ฟีเวอร์  ค่อยๆจากหายจากจอทีวี  และห้วงความคำนึงของผู้คนในสังคมไทยไปทีละน้อย ๆ  ในระยะที่มีภาพยนตร์โฆษณาของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่ง  ออกเผยแพร่ช่วงแรกๆน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักคนบ้าปลูกต้นไม้  แห่งเมืองปรางค์กู่  ภาพของชายสูงวัยในชุดม่อฮ่อมยืนโอบกอดต้นไม้  แบกจอบแบกเสียมขี่มอเตอร์ไซด์ห้างคันเก่าปลูกต้นไม้  บนถนนสายสำคัญของอำเภอปรางค์กู่และที่สาธารณะประโยชน์ทุกแห่ง  นั่นคือ  การเพียรกระทำความดีอย่างต่อเนื่องยาวนาน  โดยมิได้หวังผลตอบแทนเป็นการกระทำให้  มิใช่การทำเอา  เป็นภาพรูปธรรมในการอรรถาธิบาย  คำว่า  สาธารณะประโยชน์จิตอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา

                   นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่

 

                   หากพิจารณาจากลักษณะการใช้ชีวิตของ  ดาบตำรวจวิชัย  สุริยุทธ  ทั้งจากการสัมผัสตัวตนของท่านผ่านตัวอักษร  และตัวตนที่แท้จริง(ผู้เขียนเป็นคนปรางค์กู่โดยกำเนิด)  พบว่าจากกิจวัตรและภารกิจที่ถือปฏิบัติ  ท่านคือ  นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่  ทั้งตัวตนและจิตวิญญาณ  ถือว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงตัวจริง  ที่ริเริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนติตามความคิดของผู้คนในอำเภอปรางค์กู่  ผ่านการปฏิบัติงานจากความคิด  ความเชื่อ  โดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง(ทำของให้ดู)  ปลูกต้นไม้ตามถนนหนทาง  และที่สาธารณะประโยชน์มาเป็นระยะเวลามากกว่า  18  ปี  โดยมิได้ย่อท้อทั้งที่อำเภอปรางค์กู่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอน  หน้าร้อนก็แห้งแล้งจนแผ่นดินแตกระแหง  ยากแก่การเพาะปลูกต้นไม้เป็นอย่างยิ่ง  ทั้งนี้แนวความคิดหลักที่ผลผักดันให้ท่านทำงานเพื่อส่วนรวม  ได้แก่โครงการแผ่นดินธรรม-แผ่นดินทอง  ซึ่งท่านได้เข้าอบรมโครงการดังกล่าว  ในปี  2530-2531  แผ่ดินธรรมคือ  เราอยู่กันด้วยความสงบ  ไม่มีโจรผู้ร้ายไม่มีการข่มแหงรังแกกัน  แผ่นดินทองคือการที่เรามีทรัพยากรธรรมชาติและสมารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ในน้ำมีปลาในนามีข้าว  ห้วยหนองคลองบึงควรจะมีกุ้งหอยปูปลาอุดมสมบูรณ์และใช้แผ่นดินอย่างคุ้มค่านั่นเอง  และที่ดังก้องสะท้อนเขาไปข้างในของ  ตำรวจวัยกลางคน  คืออุดมการณ์  3  ข้อ  ของโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง[1]  คือ

 

                   ข้อ1.  พึ่งตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี

 

                                ข้อ2.  ต้องขยันอย่างฉลาดและปราศจากอบายมุข

 

                   ข้อ3.  เมื่อเห็นเพื่อนบ้านเป็นทุกข์เป็นภารกิจที่เราต้องร่วมกันแก้ ไข

 

                   ปัจจัยเหล่านี้เองคือพลังที่ผลักดันให้ดาบตำรวจวิชัย  สุริยุทธ  ขับเคลื่อนรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้  ภายใต้โครงการ  4  โครงการ  คือ  ปลูกต้นยางนา  ต้นคูณ  ต้นตาลและทำไร่นาสวนผสม  และปลูกต้นไม้อื่นๆเสริม  เพื่อต้อสู้กับปัญหาความยากจน    วันนี้คงเป็นที่ประจักษ์แล้วนะครับว่า  ผลการตั้งใจกระทำความดีของสามัญชนคนเล็กๆหนึ่งคนจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับชาวอำเภอปรางค์กู่  ประเทศไทยและโลกใบนี้ได้มากจริงๆ

 

 

                   อานิสงค์จากปรากฏการณ์ดาบวิชัย  ฟีเวอร์

 

                   จากการทำกิจกรรมปลูกต้นไม้แบบเงียบๆ  ในที่สุดการทำงานของดาบวิชัย  สุริยุทธ  ก็ปรากฏแก่สังคม  หลายภาคส่วนยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชู  และตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้  ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งตัวของดาบวิชัยเองและต่อชาวอำเภอปรางค์กู่โดยภาพรวม

 

                   อำเภอปรางค์กู่เป็นอำเภอขนาดเล็ก  ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษประมาณ  60  กิโลเมตร  ภาพลักษณ์ในอดีต  ผู้คนทั่วไปในสังคม  จะรู้จักปรางค์กู่ในมิติแห่งความยากจน  ยากจนที่สุดของประเทศ  ภาพเด็กกินดินเนื่องจากไม่มีข้าวกิน    บ้านบ่อ  ต.หนองเชียงทูน  อ.ปรางค์กู่  ซึ่งตีพิมพ์ออกหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน  เมื่อหลายปีที่ผ่านมายิ่งตอกย้ำให้เห็นบรรยากาศแห่งความแห้งแล้งผืนดินแตกระแหงของอ.ปรางค์กู่  ที่ชัดเจนขึ้น  แต่    วันนี้ภาพลักษณ์เหล่านั้นของอ.ปรางค์กู่ค่อยๆเลือนหายไปจากความรู้สึกของผู้คน  เมื่อลุงดาบฯ  รณรงค์  การปลูกต้นไม้และใส่สำนึกความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ชาวอ.ปรางค์กู่  ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในหลาบด้านดังนี้[2]  ครับ

 

                    1.ภาพลักษณ์อำเภอปรางค์กู่ในด้ายบวก อำเภอปรางค์กู่ไม่แห้งแล้งแล้วครับ  ตลอดข้างทางของถนนสายสำคัญในอำเภอปรางค์กู่  มีต้นไม้ขึ้นอย่างหลากหลายแลมีความร่มรื่นไปด้วยต้นตาล  ต้นคูณ  ต้นขี้เหล็กและมีพรรณไม้ประเภทอื่นๆ  แซมขึ้นมาด้วยเรียกได้ว่าสดชื่นจริงๆครับ  สำหรับผู้ผ่าน ไปผ่านมาในช่วงที่ต้นคูณออกดอกสีเหลืองอร่ามเต็ม  2  ข้างถนนครับ

 

                   2.แหล่งอาหารพื้นบ้าน  ผลจากการปลูกต้นไม้นอกจากจะได้ระบบนิเวศวิทยาธรรมชาติ  ที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นทดแทนความแห้งแล้งแล้วยังเกิดปรากฎการณ์  ซุปเปอร์มาเก็ต  ข้างถนนอีกด้วย  กล่าวคือ  ถนนสายแห่งความร่มรื่นของลุงดาบกำลังจะกลายเป็น  เส้นทางสายอาหารพื้นบ้านอีกด้วย  ต้นขี้เหล็ก  ครับยอดอ่อนของใบขี้เหล็กนำมาทำเมนูแกงขี้เหล็ก  อาหารรสชาติอร่อย  ราคาถูก  นอกจากนั้นขี้เหล็กยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย  แก้อาการท้องผูก  บำรุงสายตา  ขับปัสวะ  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีต้นตาลซึ่งวันนี้กำลังจะออกดอกออกผล  รออีกไม่นานก็คงจะออกผลให้ได้รับประทาน

 

                   3.สร้างงานสร้างรายได้  ต้นตาลได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้อเนกประสงค์  คือ  ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของต้นตาล  นับตั้งแต่ลำต้น  ใบ  ผล  ก้าน  เป็นต้น  จากต้นตาลที่ลุงดาบ  รณรงค์ให้ปลูก  ปัจจุบันชาวบ้านใช้ประโยชน์จากต้นตาล  โดยนำไปทำเป็นไม้กวาดจากก้านตาล  ออกมาจำหน่ายแล้วครับ  ที่กลุ่มไม้กวาดก้านตาลบ้านบึง  ต.ตูม  อ.ปรางค์กู่  อนาคตอันใกล้  คงจะมีการใช้ประโยชน์จากต้นตาลลุงดาบฯอย่างกว้างขวาง  โอกาสหน้าจะเล่าสู่กันฟังอีกครับ

 

                   4.ตอกย้ำแนวคิดการทำความดี  ในที่สุดลุงดาบฯ  ก็พิสูจน์แนวความคิด  ทำดีได้ดี   ทำชั่วได้ชั่ว ว่าเป็นสัจธรรมความจริงที่ยากจะปฏิเสธ  ถึงแม้รอคอยหรือใช้เวลามาถึง  18  ปี  แต่ท้ายที่สุด  ผลแห่งการประกอบกรรมดีของลุงดาบฯ  ก็ประจักษ์แก่สังคม  ผู้คนให้การยอมรับจากคนบ้าปลูกต้นไม้  สู่สุดยอดบุคคลแห่งปีของชาวศรีสะเกษ  และเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของประเทศนี้  ที่มีแนวคิดที่งดงามมองเห็นคุณค่าของธรรมชาติ  ด้วยเข้าใจในวิธีคิดที่คนต้องพึ่งพาอาศัย  ธรรมชาติ  ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติด้วยการเกื้อกูลหนุนเนื่องกัน  อ่อนน้อมถ่อมตนต่อสรรพสิ่ง  มิใช่การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยตั้งอยู่บนความโลภ  หรือการมุ่งเอาชนะธรรมชาติอีกต่อไป

 

                                ที่กล่าวถึงเบื้องต้นคือ  คุณูปการของลุงดาบฯที่มีต่อชาวอำเภอปรางค์กู่  ลุงดาบฯทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แล้วครับ  ในฐานะปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง  แต่หากพิจารณาจากมุมมองของนักพัฒนา  กระบวนการทำงานกำลังจะเริ่มต้นครับ  ความศรัทธาในแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ  แ ละสิ่งแวดล้อมคงจะเป็นกระแสที่มีการกล่าวถึงอย่างมาก  และกำลังจะขยายผลสู่การเป็น  กลุ่มพลังหนึ่งที่จะสืบสานแนวความคิดของลุงดาบฯต่อไปครับ  โอกาสหน้าจะติดตามสถานการณ์มาเล่าให้ฟังครับ               

 

  

 

ประชามีสุข

หมายเลขบันทึก: 293362เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท