ทำบุญกับโจรได้ขึ้นสวรรค์ ทำบุญกับพระอรหันต์ตกนรก


ก่อนให้มีใจยินดี ขณะให้ใจเลื่อมใส หลังให้ก็มีใจเบิกบาน

                เนื่องจากวันพรุ่งนี้เป็นวันพระ..โยมหลายคนอาจจะทำบุญตักบาตรกันในทุกวันพระ..บางคนอาจยังไม่เข้าใจถึงวิธีการทำบุญกับพระให้ได้บุญมาก.. วันนี้อาตมาจึงอยากจะเล่าถึงวิธีการทำบุญที่ถูกต้องและได้บุญอย่างแท้จริง  ก่อนอื่นขอเล่านิทานยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างก่อนคือเรื่อง  ทำบุญกับโจรได้ขึ้นสวรรค์ ทำบุญกับพระอรหันต์ตกนรก

                ได้ยินมาว่า  กาลครั้งหนึ่ง ณ เมืองแห่งหนึ่ง  เมืองแห่งนี้มีโจรคนหนึ่งที่ทำการปล้นขโมยของชาวบ้านและสมบัติของทางการเป็นว่าเล่น  จนวันหนึ่งถูกพระราชาสั่งให้ทหารไปติดตามจับกุม  เขาไม่รู้ว่าจะหนีไปไหน  เลยปลงผมห่มผ้าเหลืองปลอมตัวเป็นพระ เข้าไปอยู่ในอารามแห่งหนึ่ง  ซึ่งมีหลวงตารูปหนึ่งที่อาศัยอยู่ในวัดนั้น  ด้วยความที่กลัวทหารจับได้ก็ปลอมตัวอยู่ในวัดแห่งนั้นทำตัวสำรวม ประพฤติตนเรียบร้อยดูราวกับว่าเป็นพระจริง ๆ

                วันนั้นเป็นวันพระ..โยมก็พากันมาทำบุญตามปกติ.. มีโยมสองคนประสงค์จะทำบุญวันคล้ายเกิดในวันพระ..ก็พากันไปวัดนั้น  ในขณะที่ถึงวัดก็โยมทั้งสองก็มองหาพระเพื่อจะนิมนต์ให้ท่านรับของ  โยมคนหนึ่งเห็นพระปลอมที่นั่งกังวลกลัวทหารจับและพยามทำใจให้สงบอยู่ใต้ต้นไม้  ก็เดินไปหา..  ด้วยความที่ตนเองมีใจศรัทธาต้องการที่จะทำบุญอยู่แล้ว  เห็นพระปลอมคนนั้นนั่งหลับตานิ่งสงบอยู่คล้ายกับว่านั่งสมาธิก็ยิ่งเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น  ก็ทักว่า  "ท่าน..นิมนต์รับของด้วยเจ้าค่ะ"  เจ้าโจรเห็นโยมคนนั้นมาก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง..ก็ยิ้ม ๆ ไว้และรับของ ๆ นั้น  หลังจากโยมถวายเสร็จก็นั่งอธิษฐานจิตว่า "ขอบุญนี้จงสำเร็จผลในชาติหน้าขอให้ข้าพเจ้าได้เสวยบุญอยู่บนสวรรค์ด้วยเทอญ" เสร็จแล้วก็กราบลากลับบ้าน  ในขณะที่กลับก็คิดถึงแต่บุญของตนเองอยู่ตลอดเวลา

                ส่วนโยมอีกคนหนึ่ง ก็แลไปเห็นหลวงตาท่านหนึ่งที่อยู่บนศาลา  ซึ่งหลวงตาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  แต่ด้วยความที่ท่านบวชมานานผ้าที่ห่มก็เก่าคร่ำคร่าสีตก  โยมก็ได้ถวายสังฆทานให้กับหลวงตา  แต่ด้วยความที่หลวงตาก็ชราภาพมากแล้ว อิริยาบถของท่านจึงไม่ค่อยสู้ดีนัก  โยมคนนั้นเห็นอาการของหลวงตาไม่ค่อยจะเรียบร้อยนักก็คิดระแวงสงสัยว่า "หลวงตาเป็นพระจริงหรือเปล่า"  เมื่อโยมถวายเสร็จ  แล้วกล่าวด้วยความสงสัยว่า "ท่านเป็นพระจริงหรือเปล่า  ดูท่าทางไม่เหมือนพระเลยนะ"  หลวงตาท่านก็ยิ้มไม่พูดอะไร จากนั้นโยมคนนั้นก็กลับบ้านและในขณะที่กลับก็คิดกังวลอยู่นั่นแหล่ะ และบ่นพึมพรำตลอดว่า "ทำบุญกับพระรูปนี้คงไม่ได้บุญแน่เลยวันนี้ น่าเสียดายของจัง"

                 ในขณะที่ทั้งสองเดินทางกลับ  ก็เกิดเหตุร้ายขึ้นกับพวกเขาทำให้ก็เสียชีวิตลง  โยมคนแรกนึกถึงบุญที่ตนเองทำวันนั้นตลอดเวลาตายแล้วจึงได้ไปเกิดบนสวรรค์ดังที่ตนปรารถนา  ส่วนโยมอีกคนหนึ่งคิดกังวลว่าจะได้รับบุญหรือไม่  ใจเป็นทุกข์ตลอดเวลา  อีกทั้งไปกล่าวหาว่าพระซึ่งท่านเป็นพระอรหันต์ว่าดูไม่เหมือนพระเลย  เมื่อตายแล้วเขาจึงได้ไปอยู่รับกรรมในนรกแล้วค่อยไปสวรรค์ทีหลังรับผลบุญที่ทำนั้น

                 เรื่องนี้สื่อความหมายให้รู้ว่า..  การทำบุญเป็นเรื่องของจิตใจและเจตนา  โยมต้องประคับประคองสภาพจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสไว้ให้ได้ตลอดสาย  ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังจากทำแล้ว จึงจะได้ผลบุญเต็มที่  หากมีอะไรมาทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองในระหว่างทำบุญก็จะทำให้ผลบุญลดน้อยลง  แต่ถ้าทำใจให้แช่มชื่นเบิกบาน ทำด้วยความตั้งใจและเต็มใจ  ไม่เสียดายในภายหลัง  มีอะไรที่ติดขัดอันใดในระหว่างทำบุญก็แก้ไขไปด้วยจิตใจที่ปกติ  ยิ้มแย้มแจ่มใส  เหมือนโยมที่ทำบุญกับพระปลอมทั้งที่ไม่รู้ว่าเป็นพระเลย  แต่ทำด้วยจิตใจเลื่อมใสศรัทธาบริสุทธิ์ตั้งใจจริงเมื่อทำแล้วก็ย่อมได้ผลมากเหมือนกันไม่จำเป็นจะต้องทำกับพระอรหันต์ก็ได้  ดังนั้น ถ้าอยากได้บุญมากในการถวายทาน  ก็ขอให้โยมจำไว้ว่า  ก่อนให้มีใจยินดี  ขณะให้มีใจเลื่อมใส  หลังให้ก็มีใจเบิกบาน  โยมก็จะได้บุญอย่างเต็มที่..นะโยม..นะ


MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com

คำสำคัญ (Tags): #ทำบุญ#วันพระ
หมายเลขบันทึก: 294050เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มีพระที่เดินรับบาตรอยู่แถวบ้าน ท่านจะเดินไปมาระหว่างหน้าเซเว่นอีเลฟเว่นกับหน้าปากซอย(เป็นระยะทาง 50 เมตร)อยู่กว่าครึ่งชั่วโมง เพื่อรอรับบาตรจากญาติโยมที่มาใส่บาตร จากนั้นก็จะมีรถสองแถวเล็กมารับ(ไปไหนก็ไม่รู้)ทำให้เกิดความไม่ศรัทธา และข้อสงสัยว่าเป็นพระจริงรึเปล่า ก็เลยเลี่ยงที่จะใส่บาตรกับพระรูปนั้น โดยรอรูปอื่นแทนอาจจะเป็นกรณีเดียวกันกับนิทานที่ท่านยกตัวอย่างมา มีคำถามว่าทำไมพระรูปนั้นถึงต้องการอาหารมากๆ (เกือบจะไม่มีที่ว่างในรถคันที่มารับ)มันขัดกับหลักปฎิบัติหรือเปล่าคะ เคยได้มีโอกาสไปบวชชีพรหมณ์ ที่วัดให้ตักอาหารแต่พอเพียงรวมในชามเดียว ให้กินเพื่ออยู่และลดความอยากซึ่งเป็นกิเลส มันขัดกันกับที่เคยสัมผัสเรียนรู้มาน่ะค่ะ ช่วยแก้ข้อสงสัยให้ทีนะคะ

ขออนุญาตอีกคำถามนะคะ การใส่บาตรโดยมีความตั้งใจที่จะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บิดามารดาและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจจะละเลยธรรมเนียมปฏิบัติบางประการเช่นไม่ได้ถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร หรือไม่ได้นั่งยองๆกับพื้นเวลารับพร ผิดบาปมากไหมคะ ไม่ใช่ไม่นับถือพระนะคะ แต่ไม่สะดวกในด้านสุขภาพ เพราะนั่งยองๆแล้วจะปวดเข่า (และก็เวลานั่งยองๆถ้าไม่โย้ไปข้างหน้าก็จะล้มไปข้างหลังค่ะ)และอาจจะเป็นโรคจิตนิดๆว่าที่ไม่ถอดรองเท้าเพราะกลัวสกปรกน่ะค่ะ

ขอตอบคำถาม(ดี ๆ )ของโยมภัสรา..ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง..กรณีที่โยมว่า"พระรับบาตรอย่างไม่เหมาะสม คือรับแล้วรับอีกจนไม่มีที่จะวางแถมมีรถมารับด้วย"นั้น อาตมาว่า..เขาคงไม่ใช่พระจริง ๆ หรอก..คงเป็นโจรมาปลอมบวชเข้ามาเหมือนดังในนิทานแน่นอน..เพราะเขาไม่มีความเพียงพอหรือพฤติกรรมไม่เหมือนกับพระทั่วไป..ที่ต้องรับบาตรมาฉันเพียงเพื่อให้อัตภาพเป็นไปเท่านั้น..การที่โยมเลือกไม่ใส่บาตรให้เขานั้นทำถูกแล้ว..ถึงแม้ว่า การทำบุญจะขึ้นอยู่กับเจตนาเราเป็นสำคัญก็ตาม แต่จริง ๆ การให้ทานพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเลือกทำเหมือนกันนะ คือต้องเลือกทำกับคนดีมีศีลธรรม มีคุณธรรม..ทำบุญให้อาหารสัตว์ทั่วไป ก็คงจะได้บุญไม่สู้กับทำบุญให้ทานคน..ทำบุญกับคนทั่วไปก็คงได้บุญไม่สู้ทำบุญกับคนที่มีศีล..หรือพระที่ทรงศีล..ทำบุญกับผู้ทรงศีลก็คงได้บุญไม่สู้กับการทำบุญกับผู้บรรลุธรรม เช่นพระอรหันต์..ทำบุญกับอรหันต์ก็ไม่สู้กับการทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า..ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า..ก็ไม่สู้ทำกับพระพุทธเจ้า..แต่ทำบุญกับพระพุทธเจ้าองค์เดียว..ก็ไม่สู้กับการทำบุญต่อคณะพระสงฆ์หลายรูปที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข สรุปก็คือ นอกจากเจตนาดีบริสุทธิ์ในการทำทานของโยมต้องมีแล้วการเลือกบุคคลผู้รับทานก็สำคัญเท่ากัน..ตลอดทั้งของที่ให้ก็สำคัญเหมือนกัน..ต้องสะอาดบริสุทธิ์..ไม่เป็นของเก่าของที่ใช้แล้วหรือของเสีย..ก็ได้บุญมากแล้วโยม..แต่การทำบุญด้วยการให้ทานทุกอย่างยังไม่สู้กับการปฏิบัติรักษาศีล..หรือการนั่งสมาธิภาวนานะโยม..เพราะพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการปฏิบัติมากกว่าการให้ทาน..ขอเจริญพร

ข้อที่สอง..ถามว่า"การทำบุญให้คนตายแล้วเขาจะได้รับบุญหรือป่าว"..ข้อนี้เดียวอาตมาจะอธิบายในEntryต่อไปนะ..ส่วนเรื่องการตักบาตรแล้วไม่ถอดรองเท้า..หรือไม่นั่งหยอง ๆ ผิดหรือบาปหรือป่าว" ก็ถือว่าผิดธรรมเนียม..เป็นการไม่ให้เกียรติพระท่าน..ไม่เคารพท่าน เพราะพระท่านยังไม่ใส่รองเท้าเลย..จริง ๆ แล้วการรับของหรือแสดงธรรมกับคนที่ใส่ร้องเท้าเหนือพระ..กางร่ม..หรือนั่ง..เหนือพระ..เป็นข้อวัตรข้อห้ามของพระนะโยม..พระที่ท่านเคร่ง ๆ จะไม่รับบาตรเลยหรือบอกโยมก่อนแล้วค่อยรับ..อาตมาอยากจะแนะนำว่า..ถ้าจะให้ดีควรที่จะถอดรองเท้าก่อนแล้วจึงใส่บาตรซึ่งเป็นการทำถูกขนมธรรมเนียมถูกวิธี..แต่ถ้ากรณีไม่สะดวกเจ็บแข้งเจ็บขาจริง ๆ ก็บอกพระท่าน..ถ้าท่านไม่ว่าอะไรก็คงจะไม่ผิดหรือบาปหรอก..โยม..

คำถามของโยมภัสรามีประโยชน์อย่างมาก..เพราะอาจทำให้โยมหลาย ๆ คนที่ไม่เข้าใจหรือสงสัยเรื่องราวเดียวกันได้รู้คำตอบไปด้วย..คำตอบอาจจะถูกหรือไม่อย่างไรก็ให้โยมสอบถามพระท่านหลาย ๆ รูปเสริมอีกทีก็แล้วกันนะ..อาตมาก็ขอชี้แจงไว้เพียงเท่านี้ก่อน..ขอเจริญพร..

มีคำถามอีกแล้วค่ะ แล้วทำไมพระต้องไม่ใส่รองเท้าด้วยหล่ะคะ ในความคิดเห็นของตัวเองการใส่รองเท้าก็เพื่อไม่ให้เท้าสกปรก และป้องการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดจากการเหยียบย่ำของมีคมที่ตกหล่นบนพื้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ให้เกียรติ ไม่ได้ทำกริยาดูหมิ่น หรือทำกริยาไม่สุภาพอย่างใดเลย เวลาพระให้พรก็ก้มศรีษะพนมมือรับพร อย่างนอบน้อมตั้งจิตรับพรรวมถึงอุทิศส่วนบุญที่ได้ทำในวันนั้นให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ เพราะในสมัยพุทธกาลยังไม่มีรองเท้าหรือเปล่าคะ เลยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างนั้น ถ้าอยู่ต่างประเทศที่หนาวมากๆ ลองนึกถึงสภาพที่ต้องถอดรองเท้ารับบาตรหรือใส่บาตรดูสิคะ มันจะทรมานแค่ไหน (ทรมานทั้งผู้รับบาตรและผู้ใส่บาตร)เพียงแค่ต่างเวลาและสถานที่ ที่ต่างประเทศอาจจะไม่มีพระสงฆ์เดินรับบาตร ญาติโยมอาจจะต้องนิมนต์ไปที่บ้านหรือไปที่วัดแทน แต่อย่างในกรณีต่างจังหวัดที่หนาวๆมากๆหล่ะคะ ถ้าทรมานตัวเองอย่างนั้นแล้วจะเรียกเป็นบาปหรือเปล่าคะ คือดิฉันมีความตั้งใจอยากจะทำบุญใส่บาตรจริงๆ และใส่บาตรเกือบจะทุกวันที่กลับไปอยู่บ้าน ปฎิบัติอย่างนี้มาเป็นหลายปีแล้วค่ะ แต่เพิ่งจะโดนทักเรื่องใส่รองเท้ามาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว(ทำงานอยู่ต่างจังหวัดน่ะค่ะ จะกลับบ้านเดือนละครั้ง ครั้งละประมาณสิบวัน รู้สึกไม่ยุติธรรมเลย การที่เราตั้งใจจะทำบุญ อุตสาห์ตื่นแต่เช้า (ขอย้ำว่าปกติไม่ได้เป็นคนตื่นเช้ามากนัก หรือบางที่อยู่อ่านหนังสือหรือทำงานอย่างอื่นแล้วอยู่ดึกมากๆ ตีสามตีสี่ก็เคย ก็ยังตื่นแต่เช้าเพื่อใส่บาตร)เลือกซื้ออาหารอย่างดี เพื่อที่จะทำบุญ แต่อาจจะกลับเป็นบาป(รึเปล่า)เพียงเพราะไม่ถอดรองเท้า คนเราเราจะได้บุญหรือไม่ได้บุญไม่ได้อยู่กับความตั้งใจเจตนาบริสุทธิที่จะทำบุญหรอกหรือคะ (กลับไปหัวข้อแรกอีกครั้ง))สงสัยมากจริงๆ รบกวนท่านช่วยไขทางสว่างให้ด้วยนะคะ

ทำบุญกับพวกโจรเสริมคนบาป                   ทำบุญกับพระบริสุทธิ์เกิดบุญใส

ศรัทธาจริงยิ่งส่งเสริมเพิ่มบุญไว                  หากพระใดทำเสื่อมศรัทธาอาบัติเอง            

ความคิดคนสำคัญนะครับ ห้ามกันไม่ได้ บางคนดูแต่ภายนอก แต่ไม่ไดเใช้จิตใจดูว่า มันเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ตัดสินใจจากภายนอก ผิดมานักต่อนักแล้ว

ต้องขออภัยโยมภัสราด้วยนะที่ไม่ตอบคำถามเรื่องนี้ปล่อยให้รอนาน ที่โยมตั้งคำถามว่า ใส่บาตรไม่ถอดรองเท้าเป็นบาปไหม?..จริงๆแล้วคำตอบก็มีอยู่ในคำถามนั่นเอง..แหล่ะโยม..คือ เรื่องของรองเท้านี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ดังที่โยมว่า ถ้าไม่อำนวยต่อการดำเนินชีวิตหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำสิ่งต่างๆ เช่นมีหนามของมีคมอยู่บนทางเดิน เท้าเจ็บมีบาดแผลที่เท้า หรือแม้แต่อากาศหนาวๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ใส่รองเท้าได้ ถ้าเหตุการณ์ปกติพระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้พระใส่รองเท้ารับบาตร และในส่วนของโยมเวลาใส่บาตรก็ต้องดูสถานการณ์ขณะว่าควรถอดหรือไม่ ถ้าโยมเจ็บเท้าหรือไม่สะดวกในการถอนรองเท้าหรือกลัวเท้าสกปรกก็ไม่เป็นไร ไม่บาปหรือผิดหรอกโยมไม่ต้องกังวลใจไป แต่เมื่อพระไม่ใส่ ถ้าโยมไม่ได้เป็นอะไรหรือไม่มีสิ่งจำเป็นจะต้องใส่..ก็ควรจะถอดเหมาะกว่านะโยม

ส่วนที่ถามว่า ทำไมพระไม่ใส่รองเท้าเวลารับบาตร? คำตอบก็คือว่า สมัยก่อนนั้นพระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระใส่รองเท้า เพราะจะทำให้เกิดความยึดติดในความสะบาย การออกบวชถือเป็นการละจากความสะบาย ใช้ชีวิตไม่สะบายเหมือนอย่างฆรวาส ฝึกให้เข้าใจคำว่าทุกข์และให้หาทางพ้นทุกข์ ดังนั้น เวลาพระจะไปไหนมาไหนจึงไม่ใส่รองเท้ากันแม้แต่เวลาเดินบิณฑบาตก็ไม่ใส่ เว้นเสียแต่พระจะเป็นไข้เจ็บปวดเท้าหรือสถานการณ์ไม่อำนวยก็ทรงอนุญาตให้ใส่ได้

เรื่องรองเท้านี้ในจัมมขันธกะในพระวินัยปิฎกมีบอกไว้ว่า พระโสณะโกวิฬิสะ ท่านเป็นลูกของเศรษฐีซึ่งเบาะบางบวชเข้ามาแล้วมีความเพียรเดินจงกรมจนเท้าท่านแตก มีเลือดเต็มตรงที่เดิน เวลาออกรับบิณฑบาตท่านก็เดินกระเพลกๆ โยมเลยไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง พระองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุใส่รองเท้าได้ตามความเหมาะสม แต่จริงๆมีข้อห้ามเกี่ยวกับรองเท้าไว้คือ ห้ามมิให้สวมรองเท้าเดินจงกรม ภิกษุสวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน(หรือสวมเวลาออกบิณฑบาต) ห้ามมิให้สวมรองเท้ามีสีต่างๆ ห้ามมิให้สวมรองเท้ามีหูสีต่างๆ ห้ามมิให้สวมรองเท้าหุ้มสน หรือรองเท้าที่อลังการต่างๆ ถ้ารูปใดสวมละเมิดข้อห้ามดังกล่าวก็เป็นผิดศีลหรือต้องอาบัติทุกกฎ นี่คงเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมพระจึงไม่ใส่รองเท้ารับบาตร ถ้าโยมยากจะเข้าใจมากกว่านี้..อาตมาแนะนำให้โยม..ลองไปเปิดพระไตรปิฎกหมวดจัมมขันธกะในพระวินัยดูอีกก็แล้วกันเด้อ..

ถ้าสงสัยเรื่องอะไรอีก..ก็เจริญพรถามมาได้เน้อ..ยินดีตอบเสมอ..แต่บางครั้งอาจตอบช้าไป..เพราะอาตมายุ่งนิดหน่อย..ทั้งไปเรียนและสอนหนังสือ..

นมัสการพระคุณเจ้า

ขอขอบพระคุณที่ท่านให้ความกระจ่างค่ะ จากคำตอบที่ท่านให้มาก็เลยได้ความคิดใหม่ว่า ในเมื่อพระละความสะดวกสบาย(กิเลส)โดยการไม่ใส่รองเท้า ก็คงจะไม่หนักหนาสำหรับตัวเองที่จะละความสะดวกใจชั่วขณะในเวลาใส่บาตร เพราะเมื่อก่อนคิดว่าไม่อยากให้เท้าสกปรกเลอะเทอะ และไม่ได้คิดว่าเป็นการไม่ให้เกียรติหรือทำกริยาไม่เหมาะสม ไม่ได้คิดว่าการใส่รองเท้าจะทำให้ตัวเองอยู่สูงกว่าหรือเหนือกว่าพระแต่อย่างใด ก็ใส่รองเท้าใสบาตรเรื่อยมา จนกระทั่งมาเจอพระภิกษุรูปหนึ่งทักว่า"คราวหน้าจะไม่เปิดรับบาตรนะ เพราะโยมไม่ถอดรองเท้า" ดิฉันก็เลยรู้สึกว่าเอ๊ะ!!!การใส่รองเท้านี่มันผิดอะไรตรงไหน เราตั้งใจมาใส่บาตรนะเนี่ย ที่จริงก็ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ซะทีเดียวหรอกค่ะ แต่จะมองในมุมใหม่ที่ว่าการละกิเลสชั่วขณะหนึ่งจะสบายใจมากกว่า ขอขอบพระคุณท่านอีกครั้งค่ะ

น่าสงสารคุณภัสรา จัง ก็ความจริง แล้ว ถนนหนทาง มีความสกปรก หรือไม่สะอาด

บางโอกาส ก็มีโอกาสให้ต้องถอดรองเท้าอยู่แล้ว

ไม่ใช่ว่า จะอยากสวย อยากอยู่สวยกว่าพระ อันนี้ คิดว่าหลายคนเข้าใจอยู่

บางครั้งพระยังอยู่ต่างระดับกัน เช่นเวลาพระพายเรือมา แต่คนตักบาตร อยู่บนสะพาน เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

เพราะเรือที่พระสงฆ์ พาย ลำเล็กนิดเดียว ขยับตัวก็ลำบาก แต่พระก็มีความสามารถสูง ในการพาย และประคองเรือ

เราเป็นคนหนึ่ง ที่ถอด และไม่ถอดแล้วแต่โอกาส แต่จิตใจตั้งมั่น ในการตักบาตร มากกว่าสิ่งอื่นใด และเชื่อว่า ถึงไม่ถอด ก็ได้บุญ

แต่ความรู้สึกคงไม่ดีอาจเสียความรู้สึก ถ้าได้ไปเจอคนธรรมดา ที่จะทักทาย บอกว่าควรถอดรองเท้า ขณะทำบุญ ก็ต้องควรดูเหตุผลเวลานั้น

หากมีเสื่อ หรือพื้นไม้ ปูนที่สะอาด ไม่สกปรก คิดว่าคนส่วนใหญ่ ย่อมต้องถอด ยิ่งถ้าเป็นรองเท้ามีถุงเท้า ก็ลำบาก พระมาก็แทบจะไม่ทันตื่นมาตักบาตรแล้ว ต้องเตรียมตัวฯ กระชั้นชิดกับเวลา

สำหรับใครบางคนที่ไม่สันทัดเวลาตื่นเช้ามาก ๆ เพราะพระส่วนใหญ่บิณฑบาตร ก็ ราว 6 โมงเศษ การตั้งใจทำบุญก็นับว่าเป็นเรื่องดี

ก็ได้แต่หวังว่า การทำความดี คงจะมีข้อจำกัดหรือยกเว้นบ้าง สำหรับบางคนบางครั้ง อนุโมทนาบุญด้วยนะ คุณภัสรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท