หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองนกปีกกา : บทเรียนการสร้างการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาชุมชนของ อบต. (ตอนที่ ๒)


การจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ นั้น นอกจากจะเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อเข้าใจสภาพปัญหาแล้ว มันยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านตั้งแต่ต้นด้วย เขาจะมีส่วนร่วมในการรับรู้และวิเคราะห์หาเด็ก/เยาวชนในหมู่บ้าน...

เวทีชุมชน :

ทบทวน/ทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหา

     หลังจากตัวแทนของชุมชน ได้แก่ ปลัด อบต. ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนเยาวชนไปเข้าร่วมประชุมทำความเข้าใจโครงการคาราวานเสริมสร้างเด็กในตัวจังหวัดมาแล้ว ได้มีการนัดประชุมร่วมกันในพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินงาน รวมทั้งการพัฒนาโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการคาราวานเสริมสร้างเด็ก ซึ่งมีวงเงินสนับสนุนราว ๑๐๐,๐๐๐ บาทการประชุมดังกล่าวมีปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแดง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านหนองนกปีกกา ผู้ใหญ่บ้านหนองนกปีกกา ประธานกลุ่มเยาวชน ตัวแทนกลุ่มสตรีของหมู่บ้าน

     การประชุมดังกล่าวได้ข้อตกลงว่า การจัดทำโครงการโดยที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วม รวมทั้งยังเข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริง การจัดทำโครงการก็อาจจะเป็นเหมือนโครงการอื่น ๆ โดยทั่วไป ที่นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังจะเป็นภาระให้กับชุมชน วันชัย  ทุ่มสอน เสนอว่าควรมีทำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ รู้จักและเข้าใจปัญหามากกว่านี้

     จากนั้น อบต. ได้ส่งทีมงานเข้ามาศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน แล้วจัดเวทีพูดคุยกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ กลุ่มพ่อบ้าน-แม่บ้าน และกลุ่มเยาวชน ซึ่งในแต่ละเวทีนอกจาก วันชัย  ทุ่มสอน ปลัด อบต., NGO ที่ถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมตั้งแต่ต้นแล้ว ยังมี ศรชัย  มอญแสง เจ้าหน้าที่จาก อบต.และสุภัทรา  แก้วบุญธรรม หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านหนองนกปีกกา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละเวทีด้วย

     วันชัย  ทุ่มสอน กล่าวว่า

     ...การจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ นั้น นอกจากจะเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อเข้าใจสภาพปัญหาแล้ว มันยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านตั้งแต่ต้นด้วย เขาจะมีส่วนร่วมในการรับรู้และวิเคราะห์หาเด็ก/เยาวชนในหมู่บ้าน...

     หลังจากการจัดเวทีกับกลุ่มย่อยแล้ว ได้มีการจัดประชุมรวมกันเพื่อจัดทำแผนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนของบ้านหนองนกปีกกา ต.โป่งแดง อ.เมือง จ.ตาก ณ ศาลาการเปรียญวัดหนองนกปีกกา มีชาวบ้านราว ๑๐๐ คน มาร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน, สมาชิก อบต., กลุ่มคนเฒ่าคนแก่, กลุ่มพ่อบ้านแม่เรือน, กลุ่มเยาวชน ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวได้ข้อสรุปเกี่ยวกับสภาพปัญหาดังนี้

     - ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กในวัยเรียนยังไม่เป็นน่าพึงพอใจ ไม่มีลักษณะนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ไม่มีนิสัยรักการอ่าน ชุมชนไม่มีปัจจัยพื้นฐานและสร้างเงื่อนไขให้เด็กและเยาวชนมีลักษณะนิสัยดังกล่าว ทั้งจากครอบครัว โรงเรียนและชุมชน

     - พัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ การควบคุมอารมณ์ การวิเคราะห์ การตระหนักรู้ในตนเอง และการแก้ปัญหา มีค่อนข้างต่ำและมีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาจมีผลต่อการปรับตัวและความสำเร็จของตัวเด็กและเยาวชนเองในอนาคต

     - จริยธรรมของเด็กและเยาวชนในด้านการประหยัดอดออม ความซื่อสัตย์ การละอายเกรงกลัวต่อบาป ลดลงกว่าคนรุ่นก่อนเป็นอันมาก และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ

     - ด้านพฤติกรรมการเสพบริโภคของเด็กและเยาวชนในชุมชนมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น มีการใช้จ่ายเงินเพื่อการเสพบริโภคมากขึ้น

     - การเสพติดสุราและบุหรี่ของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีอายุน้อยลง รวมทั้งแนวโน้มว่าอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจะน้อยลงเรื่อย ๆ มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานมากขึ้น

     ปัญหาต่าง ๆ นอกจากจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวิถีชีวิตและวิถีการผลิตที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น ที่ประชุมยังได้วิเคราะห์ว่าปัญหาดังกล่าว ยังมีสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ข้อจำกัดด้านขีดความสามารถของผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งต่างก็มีความเห็นว่าในปัจจุบันพ่อแม่เลี้ยงดูลูกไม่เป็น โอ๋ลูกเกินไป ไม่ปลูกฝังคุณลักษณะสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ทำให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่พึงประสงค์

     จากนั้น ได้แบ่งผู้เข้าร่วมเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กก่อนเกณฑ์, กลุ่มเด็กและเยาวชน และ กลุ่มผู้ปกครองและชุมชน เพื่อหาแนวทางที่จะแก้ปัญหาต่อไป

     กลุ่มเด็กก่อนเกณฑ์ เสนอแนวทางการให้มีการเพิ่มขีดความสามารถของครูพี่เลี้ยงในการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กก่อนเกณฑ์, การจัดหาของเล่นเด็กสำหรับศูนย์เด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ, การปรับปรุงศูนย์เด็กเล็ก

     สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน เสนอให้มีกิจกรรม พี่สอนน้องจัดกิจกรรมในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน เด็กและเยาวชนนัดมาทำการบ้านร่วมกัน ให้รุ่นพี่ช่วยสอนรุ่นน้องทำการบ้าน และการจัดงานวันเด็กโดยกลุ่มเด็กและเยาวชนเอง เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี การทำงานร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

     ส่วนกลุ่มครอบครัวและชุมชน เสนอให้มีการการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูกหลาน เช่น การส่งเสริมการอ่าน การสร้างระเบียบวินัย การดูแลด้านโภชนาการ เป็นต้น

.....

 

ศึกษาดูงาน : จุดเริ่มต้นการเรียนรู้

     กิจกรรมแรกที่ชุมชนจะดำเนินการคือ การไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน เนื่องจาก วันชัย  ทุ่มสอน ได้เชิญเพื่อน NGO เข้าพื้นที่ด้วย และได้ให้คำแนะนำว่าที่จังหวัดเชียงรายมีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจไปศึกษาดูงาน ทั้งด้านการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านมาสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก คือที่ บ้านป่าแดด ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และที่โรงเรียนปีติศึกษา อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งชุมชนเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยที่ทาง อบต.โป่งแดง จะเป็นผู้ประสานงานให้

     ชุมชนได้ตกลงกันว่า คนที่จะไปดูงานน่ามีบทบาทในการดำเนินงานต่อหลังจากกลับมา และควรจะเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ  ซึ่งได้แก่ผู้ดูแลเด็ก ๓ คน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ๑ คน, สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ๑ คน, เยาวชน ๒ คน, ผู้สูงอายุ ๒ คน, ผู้ปกครอง ๓ คน, เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล ๑ คน, และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ๑ คน

     ในระหว่างนั้น ทาง อบต. ได้ประสานงานสถานที่ศึกษาดูงาน โดยได้รับความช่วยเหลือจากคุณวีระพงษ์  กังวานนวกุล กลุ่มคนเฒ่าคนแก่บ้านป่าแดด เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการศึกษาดูงานของตัวแทนชุมชน ทั้งที่บ้านป่าแดดและ ร.ร.ปีติศึกษา

     ตัวแทนชาวบ้าน ออกเดินทางแต่เช้าตรู่จากหมู่บ้านหนองนกปีกกา มุ่งหน้าสู่บ้านป่าแดด ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งมีวีระพงษ์  กังวานนวกุล คอยให้การต้อนรับอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ หลังจากนั้นได้เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านป่าแดด ศูนย์เด็กเล็กบ้านป่าแดด และศูนย์เด็กเล็กบ้านป่ากว๋าว ตามลำดับ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน

     ในช่วงค่ำ แกนนำชาวบ้านป่าแดด กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ และเยาวชนในหมู่บ้านได้มาเล่าประสบการณ์การทำงานของชุมชนให้คณะดูงาน

     วันรุ่งขึ้น ทีมงานแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อไปเรียนรู้ตามจุดต่าง ๆ

     กลุ่มแรก เป็นผู้ดูแลเด็กและผู้ปกครอง ผู้สูงอายุ ไปดูงานที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่ากว๋าว ดูงานด้านการจัดกิจกรรมของศูนย์ การมีส่วนร่วมองชุมชนในการพัฒนาศูนย์ฯ

     กลุ่มที่สองเป็นเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และเจ้าหน้าที่จาก อบต.ไปดูงานที่โรงเรียนและสถานีอนามัย ดูการทำงานร่วมกับชุมชน

     กลุ่มที่สาม เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.และผู้สูงอายุ ไปดูงานเกี่ยวกับกลุ่มอาชีพ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่ทำของเล่นจากวัสดุธรรมชาติ

     ทั้งสามกลุ่มใช้เวลาช่วงเช้าราว ๓ ชั่วโมงในการศึกษาเรียนรู้ จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เข้าไปฝึกทำของเล่นด้วยวัสดุธรรมชาติ โดยมีสมาชิกจากกลุ่มคนเฒ่าคนแก่มาเป็นวิทยากรฝึกให้ และในช่วงเย็นก่อนจะเดินทางเข้าตัวเมืองเชียงรายเพื่อดูงานอีกแห่งหนึ่ง ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนสรุปการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มว่าไปเรียนรู้อะไรมาบ้าง

     เช้าวันที่สองของการดูงาน ทีมงานตื่นแต่เช้าเพื่อไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนปีติศึกษา ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากครูใหญ่

     สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจของคณะดูงานคือสนามเด็กเล่น ที่ทำจากวัสดุพื้นบ้านที่ชาวบ้านสามารถสร้างขึ้นเองได้ ทั้งชิงช้า บาร์โหน หลุมทราย ฯลฯ

     การได้ดูงานที่นี่ทำให้ทีมงาน ความมั่นใจมากขึ้นในการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะการทำสนามเด็กเล่น และของเล่น

     ...โรงเรียนนี้เก็บค่าเรียนเทอมละหลายหมื่น แต่เขาก็ยังจ้างเอาชาวบ้านมาทำสนามเด็กเล่นแบบพื้นบ้าน แบบนี้พวกเราทำกันเองได้...  ณรงค์ฤทธิ์  ใจสา หนึ่งในทีมงานกล่าว

 

หมายเลขบันทึก: 294450เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

มาให้กำลังใจคนทำงานเพื่อส่วนรวมครับท่านหนานเกียรติ  เป็นกำลังใจให้ทุก ๆ ท่านครับ  ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามต่อไป

 

สวัสดีค่ะ

หนูมาอ่านบันทึกของคุณน้า  ทำให้ทราบว่าคุณน้าเป็นคนสำคัญในการทำงานเพื่อสังคม

หนูขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

  • ใน อบต.ขนาดเล็กและชุมชนในพื้นที่ความรับผิดชอบก็ยังมีความเป็นชนบทสูง อบต.ใช้รูปแบบการทำงานที่เป็นเหมือนกับการพัฒนาสวัสดิการชุมชน การพัฒนาสังคม-ครอบครัว การพัฒนาการศึกษาวันก่อนเรียน แบบนี้ก็น่าสนใจดีครับ
  • การทำงานที่สร้างการมีส่วนร่วมด้วยอย่างนี้ จะทำให้ อบต.ขนาดเล็กซึ่งมีข้อจำกัดในการทำงานมาก ทั้งทางด้านงบประมาณ กำลังคน แหล่งวิทยาการ และทรัพยากรที่จำเป็น  การออกไประดมพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน ก็จะทำให้ข้ามข้อจำกัดและพอจะริเริ่มงานใหม่ๆได้
  • แต่การทำงานแนวนี้ อบต.จะไม่ค่อยมีคนที่ทำได้ เพราะ อบต.เริ่มต้นตนเองจากการเป็นกลไก บริหารท้องถิ่น และกระแสสังคม รวมทั้งคนเล่นการเมืองท้องถิ่น ไปทำให้ภาพของ อบต.(รวมทั้งการรับรู้ตนเองด้วย) มีภาพของความเป็นการเมืองท้องถิ่นที่ล้อตามการเมืองระดับชาติและการเมืองในกระแสหลักจนมากไป  ทั้งที่ อบต.เริ่มต้นมาจากความเป็นกลไกการปฏิรูปตนเองของสังคมจากการใช้ คน ครอบครัว และชุมชน เป็นศูนย์กลาง ซึ่งถ้าหากเป็นการเมือง ก็เป็นการเมือง(ใหม่)เชิงเนื้อหา-เป็นการเมืองเชิงวัฒนธรรม ที่เน้นการมีความกลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิตของชุมชน มีความเป็นประชาธิปไตยชุมชน ซึ่งเน้นการปรึกษาหารือและเสริมพลังให้ผู้คนเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
  • คนที่น่าจะขับเคลื่อนการทำงานในลักษณะนี้ได้ก็น่าจะเป็นปลัด อบต.แล้วก็เดินออกไปหา NGO  หรือกลุ่มคนในพื้นที่ ที่มีแนวทำงานส่วนรวมในวิถีประชาคมเป็น ซึ่งก็จะเป็นทั้งการทำงาน และการทำให้เป็นโอกาสพัฒนาสังคม ปฏิรูปการเมืองขึ้นมาจากชุมชนผ่านการแปรแนวนโยบายทางสังคมของประเทศในเรื่องที่เป็นความริเริ่มใหม่ๆ ให้เป็นการปฏิบัติได้จริงโดยประชาชนและชุมชน ไปด้วย
  • วงจรอื่นๆที่มีความเป็นเครือข่ายจัดการความเปลี่ยนแปลงก็จะได้เข้ามาเสริม ผสมผสานกันได้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก ทั้งเรืื่องการศึกษา สุขภาพ การทำมาหากิน การจัดการทรัพยากรชุมชน
  • ทำได้ดีแล้วครับ เลยร่วมแลกเปลี่ยนและเสริมกำลังการคิดจากประสบการณ์กับหนานเกียรติกับเครือข่าย น่ะครับ

P สวัสดีครับ นายก้ามกุ้ง

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ

NGO ที่ผมเขียนถึงในบันทึก คือผมเองครับ

ผมไปทำงานที่หมู่บ้านนี้แล้วประทับใจมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนเฒ่าคนแก่

เขียนไปยิ้มไปครับ

...

P  สวัสดีครับ น้องนัท

แหะ แหะ น้าเลยเหรอครับ เอ้ว! น้าก็น้า

พี่ เอ้ย น้า เข้าไปอ่านบันทึกของน้องนัทเกือบทั้งหมดแล้ว

(๑) พัฒนาการของน้องนัทดีขึ้นอย่างรวดเร็วครับ

(๒) ความคิดเริ่มแหลมคมขึ้น พร้อม ๆ กับพัฒนาการด้านการเขียน

(๓) ตอนพี่ เอ้ย น้า อายุเท่าน้อง ยังอ่านหนังสือไม่แตกเลยครับ อย่าว่าแต่เรื่องการเขียนเลย จะให้เขียนพรรณาทำได้สักบรรทัดนึงก็แทบแย่แล้ว

(๔) คิดและเขียนต่อไปอย่าหยุดครับ เมืองไทยจะได้มีนักเขียนคุณภาพไว้ประดับประเทศ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

P อาจารย์  วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ที่เคารพ

ขอบพระคุณอย่างสูงครับสำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

หมู่บ้านแห่งนี้ผมยังไปเยือนอยู่เป็นระยะ ๆ ครับ

ชาวบ้านยังคงเข้มแข็ง "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" มิใช่เพียงสถานที่รับเลี้ยงเด็กเท่านั้น แต่มันเป็นพื้นที่ใหม่ของชุมชนที่ทำให้ชุมชนได้มาทำอะไรร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน ส่งผลดี ๆ อย่างอื่นตามมาอีกเยอะเลยครับ

ขอบคุณอาจารย์อีกครังที่ได้สรุปกระบวนการทำไว้ในข้อเสนอแนะ

ผมว่านี่คือบทบาทของนักวิชาการที่รับใช้ท้องถิ่นครับ ช่วยอธิบายและยกระดับความรู้คนทำงานและชาวบ้าน

ขอบคุณจากใจจริงครับ

 

น่าชื่นใจแทนน้องเฌวาจังค่ะ ที่มีคุณพ่อที่เก่งและดูแลสร้างสรรค์สังคมได้เก่งแบบพี่หนาน

อดคิดถึงเรื่องติดศูนย์หกตัว รับจ้างตีหัวคน ฯลฯ ที่แอบอ่านเมื่อคืนไม่ได้ :P

ประสบการณ์ที่พี่หนานได้พบเจอตอนวัยรุ่น แหม่มเชื่อว่าจะสามารถนั่งคุยนั่งเปิดใจ

คุยกับน้อง ๆ วัยรุ่นสมัยนี้ได้ดีทีเดียว ประสบการณ์หาไม่ได้ในหนังสือ เรื่องบางเรื่องคนบางคนอาจไม่เข้าใจ ต้องคนที่เข้าใจและผ่านประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กันเท่านั้นค่ะถึงจะเข้าใจกันอย่างแท้จริง ถึงแม้ในยามคับขันจะไม่มีอะไรพูดกัน แค่ได้นั่งใกล้ ๆ กัน มองตากัน ก็เข้าใจกันได้มากกว่าคนที่คุยกันมาเป็นปี ๆ ก็ได้

ปล. ไปแอบดูโรงเรียนปีติศึกษามาแล้วค่ะ ;)

http://www.pitisuksa.org/th/school.htm

ตอนนี้โรงเรียนที่ค่าเทอมแพง ๆ มักจะย้อนอดีตเสมอ จริง ๆ แล้วอดีตกับธรรมชาติ

อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรานี่เอง และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่แหม่มไม่ตัดสินใจให้เจ้าแพลนเรียนต่อที่กรุงเทพ ลากมาอยู่เชียงใหม่ ไล่จับแมงปอ ดูวัวดูควายที่ข้างบ้าน สบายใจกว่าเป็นไหน ๆ

ไว้ว่าง ๆ จะพาไปเที่ยวโรงเรียนเก่าธรรมชาต ๆ ของเจ้าแพลนนะคะ ฝากจุ๊บ ๆ เฌวาตัวน้อยด้วยค่ะ

พี่แพลนจะเตรียมวิ่งผลัดสี่คูณร้อยไว้หนีใครบางคนไล่กัด ( คงน่ากลัวจริง ๆ ด้วย เพราะเห็นคุณแม่น้องเฌวา เรียก เจ้าฟันจอบ บรึ๋ยยยย :P )

P คุณแหม่ม แม่เจ้าแพลน ครับ

ชมกันอย่างนี้เขินแย่เลย

ผมมิใช่คนเก่งอะไรหรอกครับ ทำไปตามหัวใจเรียกร้อง

เพราะไม่เก่งจึงต้องทำเยอะ ๆ มาก ๆ เข้าไว้ มันจะได้เห็นผล

คนเก่งเข้าไม่ต้องทำเยอะ ทำเล้ก ๆ น้อยก็ได้ผล

เรื่องความเกเรในวัยรุ่นของผม มาจากสภาพแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ครับ

ทั้งที่สภาพแวดล้อมทางบ้านดี พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ต่างยึดมั่นในศาสนา ซึ่งผมก็ได้รับการปลูกฝังไม่น้อย

แต่เพราะคบเพื่อน สภาพแวดล้อมบวกกับธรรมชาติวัยรุ่น จึงทำให้เตลิดเปิดเปิง

และคงเพราะบวชเป็นปัจจัยสำคัญ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของความดี ความดีเหล่านั้นคงหล่อหลอมจิตใจให้ลดความแข็งกร้าวลงได้

จริง ๆ แล้วผมอยากพาเฌวาไปอยู่ต่างจังหวัด แต่ทางเลือกเรามีไม่มากครับ

ผมยังพอร่อนเร่รับจ้างหางานได้ แต่ภรรยาบอกว่านอกจากการสอนหนังสือแล้วก็ไม่รู้ไปทำอะไร

นับถือๆขอรับ..

เราอาศัยสังคมจนได้พยุงตัวปีกก็กล้าขาก็แข็งแล้ว

ดังนั้นเมื่อมีกำลังพอก็พยายามให้สังคมได้อาศัยเราบ้าง

ขออนุโมทนาในการได้ให้สังคมได้อาศัยขอรับ..

P นมัสการท่านอาจารย์ ธรรมฐิต ครับ

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครับ

ผมแอบไปอ่านบันทึกของพระอาจารย์แล้วรู้สึกชื่นชมครับ

ถ่ายทอดธรรมอย่างมีศิลปะ

แบบนี้น่าจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีครับ

มาชม

และทักทายแบบสบาย ๆ นะครับ

ในช่วงสายฝนโปรยปรายอยู่ในขณะนี้

P  อาจารย์ umi ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม

วันนี้กรุงเทพฯ ร้อนมากครับ

สวัดดีกร๊าบจฎได้เปล่าจากเด็กนากสิน

สวัสดีครับ วิชาฎา ใกล้ชิด [IP: 125.26.8.203]

แหะ แหะ จำไม่ได้ครับ ขยายความนิดนึงได้ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท