การเมืองภาคพลเมือง_MODELการทำให้ประชาชนเป็น“พลเมือง” แบบมีภาวะผู้นำ โดย "เดวิด แมทธิวส์" .....ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง (2)


หากปราศจากซึ่ง “การสานเสวนาหาทางออก” ประชาชนก็เป็นเพียงประชาชนซึ่งไม่ใช่สาธารณชน(a public) .......หากปราศจากการกลายมาเป็น “พลเมืองแบบสาธารณชน" ที่สามารถให้ทิศทางร่วมกันต่อรัฐบาล(ทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง)ประชาชนก็สามารถเป็นได้เพียงไม่ดีไปกว่าลูกค้าหรือผู้รับบริการของรัฐบาลเท่านั้น

จากบันทึก “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง (1)”  คราวที่แล้ว  ผมมีคำถามที่อยู่ในใจว่า เพื่อที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล สามารถจัดการงานพัฒนาได้ด้วยตนเอง ดังนั้นทำอย่างไร? เราจึงจะสนับสนุนส่งเสริมให้กลไก 3 เสาหลัก  คือ ชุมชน   ท้องถิ่นและท้องที่ ที่เป็นหน่วยจัดการงานพัฒนาขั้นพื้นฐานของแต่ละชุมชนท้องถิ่น ตามที่กฎหมายให้การรับรองแล้วนั้น ได้ทำงานร่วมกัน   เป็นเจ้าภาพประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายในชุมชนท้องถิ่น   จัดให้มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อ “จัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาร่วมกัน” และผนึกพลังกันมุ่ง สู่การสร้าง “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ได้นั้น เราจะมีกระบวนการอะไร? หรือมีวิธีการที่สำคัญอะไรบ้าง?ที่จะนำไปสู่ความเป็นชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง  มีชีวิตชีวา  มีอนาคตที่จัดการตัวเองได้

มาวันนี้ผมได้อ่านหนังสือ “การเมืองภาคพลเมือง” ของเดวิด  แมทธิวส์ แปลโดย คุณหมอวันชัย  วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า น่าสนใจมากครับกับ MODEL การเมืองภาคพลเมือง  โดยการทำให้ประชาชนเป็น “พลเมือง”และ “สาธารณชน”ที่มีภาวะผู้นำ  ทั้งนี้เดวิด  แมทธิวส์ ได้ชี้ให้เห็นทางออกว่า

ถ้าสาธารณชน(หรือพลเมือง)เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อการเมืองของเรา  ทำไมผู้แทนและเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่พยายามแสวงหาหรือไปพูดคุยกับสาธารณชน หรือฟังเสียงของสาธารณชนให้บ่อยกว่านี้  เหตุที่สาธารณชนได้หลุดออกไปจากระบบการเมืองก็คือ การพูดถึงสิ่งที่มากกว่าการที่บุคลหรือปัจเจกไม่มีผู้มารับฟังหรือว่าประชาชนไม่ได้รับความสนใจและถูกผลักออกจากวงการ  โดยผู้เชี่ยวชาญและพวกมืออาชีพที่ประชาชนต้องมารวมกันเป็นสาธารณชนเพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตย(ทางตรง)เพื่อที่จะทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ที่สาธารณชนเท่านั้นจะทำได้  แล้วอะไรล่ะที่ทำให้เกิดเป็นสาธารณชน(และพลเมือง) ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่มากยิ่งกว่ากลุ่มประชาชนหรือการรวมตัวกันของกลุ่มผลประโยชน์หรือเปล่า?

ถ้าคำถามว่าอะไรที่ทำให้กลุ่มที่มารวมกันกลายเป็นสาธารณชน(และพลเมือง) คุณเดวิด  แมทธิวส์  กล่าวว่า

การที่ประชาชนที่มารวมกันเป็นกลุ่มองค์กรกลายเป็นมาสาธารณชนก็โดยผ่านกระบวนการเชื่อมโยงกันของ “การสานเสวนาหาทางออก” (DELIBERATION) ....... หากขาดซึ่งการฝึกฝนในการทำ "การสานเสวนาหาทางออก"อย่างจริงจังแล้ว เกือบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับกลุ่มคนที่จะมาพูดคุยกันได้อย่างชัดเจน ในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกจุดสนใจหรือผลประโยชน์ที่พวกเขาทั้งหมดเห็นว่าใช่แน่นอน ในเรื่องผลประโยชน์ของ “สาธารณชน” "การสานเสวนาหาทางออก"จำเป็นอย่างยิ่งที่จะค้นหาความห่วงกังวลที่กว้างกว่าและเป็นความห่วงกังวลที่มีร่วมกัน

หากปราศจากซึ่ง “การสานเสวนาหาทางออก”   ประชาชนก็เป็นเพียงประชาชนคือการรวมตัวกันของปัจเจกบุคคลแต่ละคน หรือเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยร่วมกันในองค์กร ซึ่งไม่ใช่สาธารณชน(a public) หากพวกเขาจะไม่มีความเชื่อมโยงหรือมีความสัมพันธ์ใดๆต่อกันเลย หากปราศจากการกลายมาเป็น “พลเมืองแบบสาธารณชน" ที่สามารถให้ทิศทางร่วมกันต่อรัฐบาล(ทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง)ประชาชนก็สามารถเป็นได้เพียงไม่ดีไปกว่าลูกค้าหรือผู้รับบริการของรัฐบาลเท่านั้น  และหากขาดซึ่ง "การสานเสวนาหาทางออก" รัฐบาลก็จะดำเนินงานไปโดยขาดทิศทางของสาธารณชน

สำหรับความชอบธรรมการลงประชามติก็เป็นเพียงการรวบรวมปฏิกิริยาของการเคาะหัวเข้าที่เอามานับรวมกัน  ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหน แบบตัวแทนหรือแบบโดยตรง แบบท้องถิ่นหรือแบบประเทศ ประชาธิปไตยล้วนต้องการ "การสานเสวนาหาทางออกของสาธารณชน"(หรือประชาเสวนาหาทางออก) ดังนั้น “การเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองแบบ “สานเสวนาหาทางออก” ก็ไม่ใช่การเมืองในอุดมคติแต่เป็นการเมืองที่จำเป็นอย่างยิ่งของประชาธิปไตย

ขอบคุณ  คุณเดวิด  แมทธิวส์ที่ให้แนวทางที่ชัดเจนมากทั้งหลักการ และแนวปฏิบัติ ที่มีประสบการณ์จริงมานำเสนอแลกเปลี่ยน ได้อย่างยอดเยี่ยมและขอบคุณ คุณหมอวันชัย  วัฒนศัพท์ที่แปลหนังสือดีๆเป็นกำลังใจให้คนทำงาน “การเมืองภาคพลเมือง” ได้ย่างดียิ่งครับ  ทำให้มีความหวังกับการร่วมสร้างอนาคตของ“การเมืองภาคพลเมือง” ครับ

หมายเลขบันทึก: 296679เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2009 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พี่สุเทพคะ บังเอิญอย่างยิ่งที่หนังสือเรื่อง politics for people ของ เดวิด แมทธิวส์เล่มนี้ เกิดคลอดพร้อมกัน 2 เล่ม คือ ฉบับคุณหมอวันชัย ที่ใช้ชื่อการเมืองภาคพลเมือง และฉบับท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ใช้ชื่อตรงตัวว่า การเมืองเพื่อประชาชน ที่มีหัวเรี่ยวหัวแรงในการแปลและบรรณาณาธิการเป็นพี่หมู วีรบูรณ์ วิสารทสกุล

ผู้แปลก็เป็นคนทำงานในภาคประชาสังคมแทบทั้งสิ้น ทั้งพี่หนู พรรณิภา โสตถิพันธุ์ , พี่พิกุล สิทธิประเสริฐกุล, และ ดร.ศุภกร รักใหม่,

ส่วนคำนำนั้น เดวิด แมทธิวส์ เจ้าของหนังสือ ได้เขียนให้โดยตรง และมีระบุถึงความเหมือนของการเมืองของภาคประชาชนบ้านเราไว้ เกี่ยวกับเรื่องดอนหอยหลอด และอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้เขียนคำบอกเล่าเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ไว้ ของการมีส่วนร่วมของหลายๆ ท่านก่อนจะออกมาเป็นหนังสือ

ในส่วนของคำนิยมนั้น มีท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ที่เขียนได้โดนใจและเข้าสถานการณ์อย่างที่สุด รวมไปถึงคำนิยมของคุณอานันท์ ปันยารชุน ที่เขียนไว้ดีมากๆ และมีคำนิยมจากคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อให้รู้มุมมองของนักการเมืองจริงๆ ว่าคิดอย่างไรกับประชาธิปไตย

หนังสือการเมืองเพื่อประชาชนเล่มนี้ ราคาถูกกว่าเล่มการเมืองภาคพลเมืองของหมอวันชัยและ ใช้กระดาษถนอมสายตาในการพิมพ์

นาถเองเข้าไปเกี่ยวข้องในการผลิตและการทำงานในหลายๆ ขั้นตอนของหลายๆ ท่าน ถ้ายังไง รบกวนพี่ลองอ่านฝีมือการแปลของคนทำงานภาคประชาสังคมที่แบ่งเวลามานั่งแปลด้วยตัวเอง อาจจะมีความแตกต่างกัันในความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวก็ได้ค่ะ

ปิยนาถ ประยูร

สวัสดีครับ คุณิยนาถ ประยูร

ผมได้พบ อ.หมู_วีรบูรณ์ เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ 12-13 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา

ผมมาเป็นนักเรียนน้อยเข้ารับการอบรมหลักสูตร “แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping)ขั้นพื้นฐาน”

จัดโดยบางกอกฟอรั่ม ที่ KU Home มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มี อ.หมู- วีรบูรณ์ วิสารทสกุล จาก มธ. และคุณสุรชัย รักษาชาติจนท.ของบางกอกฟอรั่ม เป็นวิทยากรครับ

จากที่ผมได้พบ อ.หมู_วีรบูรณ์ เลยทำให้ทราบว่า มีการแปลหนังสือเรื่อง politics for people ของ เดวิด แมทธิวส์ อีกเล่ม

เป็นฉบับที่ชื่อ "การเมืองเพื่อประชาชน" โดย อ.หมู_วีรบูรณ์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการแปลร่วมและรับเป็นบรรณาณาธิการ

ทั้งนี้ผู้แปลร่วมก็เป็นคนทำงานในแวดวงภาคประชาสังคมกันแทบทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่คุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ , คุณพิกุล สิทธิประเสริฐกุล, และ ดร.ศุภกร รักใหม่

ได้คุยกับ อ.หมู_วีรบูรณ์ เลยทำให้ทราบ หนังสือเล่ม "การเมืองเพื่อประชาชน"ออกมาหลังเล่ม "การเมืองภาคพลเมือง"ที่หมอวันชัย แปลเล็กน้อย แต่เล่ม "การเมืองเพื่อประชาชน"เริ่มแปลมาก่อนหลายปี

อ.หมู_วีรบูรณ์ ได้มอบหนังสือเล่มดังกล่าวให้ผมตั้งแต่เมื่อตอนผมไปเป็นนักเรียนน้อยกับอาจารย์แล้วครับ

ผมได้อ่านไปบ้างแล้วและพยายามอ่านเปรียบเทียบทั้งสองเล่มครับ

ในเบื้องต้น ผมเห็นด้วยกับคุณิยนาถ ประยูร ในแง่มุมของภาษาที่ใช้ครับ

เล่ม "การเมืองเพื่อประชาชน"การใช้สำนวนภาษาจะเป็นสำนวนแบบเรียบง่าย ตรงไปตรงมา

เป็นภาษาของคนทำงานภาคประชาสังคมที่คุ้นเคยครับ

สำหรับ"การเมืองภาคพลเมือง"ที่หมอวันชัย แปลออกจะเป็นเชิงวิชาการหน่อย แต่ดีคนละแบบครับ

แล้วแต่คนชอบ ผมเห็นว่าดีทั้งสองเล่มยิ่งได้อ่านทั้งสองเล่มยิ่งดีครับ ลักษณะร่วมด้วยช่วยกัน

ทำให้เรื่องการเมืองของพลเมืองขยายไปในหลายภาคส่วนครับ

ยินดีครับ ผมจะนิ่งๆอ่านและจะบันทึกเรื่องนี้อีกทีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท