ข่มเหง


ไม้ข่มเหง

ผมไม่ได้ไปข่มเหงใคร และใครก็ไม่ได้มาข่มเหงผมหรอกครับ ...

แล้วคำนี้เกี่ยวกับรูปที่เอามาแสดงอย่างไร หลายท่านคงสงสัยและคงสงสัยเหมือนผมงงเมื่อได้ยินคำนี้ท่ามกลางงานศพเมื่อเย็นนี้

 

เมื่อเช้าเข้าที่ทำงานสายหน่อย เพราะเมื่อคืนก่อนนอนดึกเร่งงานให้เสร็จ โชคดีที่ที่ทำงานผมไม่ได้ใช้ระเบียบราชการที่มีเส้นสีแดงกำกับการเข้ามาทำงาน ของผมอิสระ หากมีภารกิจสำคัญก็บอกกล่าวกันได้ อาจเรียกว่า ทำงานแบบเคารพความเป็นคนทำงานที่ต้องรับผิดชอบกันมากกว่าจะเอาเวลามาเป็นเส้นกำหนด

เมื่อเข้าที่ทำงานก็มีโน๊ทบนโต๊ะทำงานกล่าวว่า พ่อไข วงศ์กระโซ่เสียชีวิตแล้ว จะเผาวันนี้ ขอเชิญ...เข้าร่วมงานศพด้วย

พ่อไข เป็นผู้นำชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วยตั้งแต่แรก พ่อไขเป็นกลุ่มคนแรกๆที่ดงหลวงที่ทดลองทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเพื่อใส่พืชผักต่างๆจนได้ผล พ่อไขทำเกษตรผสมผสานให้คนอื่นๆดู ขุดสระน้ำ เอาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ตามแนวคิดของเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร

พ่อไขเข้าร่วมกับ พคท.เมื่อสมัยโน้น และรับผิดชอบด้านการคลัง บริหารการเงินในป่านับล้านๆบาท ความที่พ่อไขเป็นคนนิ่ง สุขุม หนักแน่นจึงได้รับหน้าที่นี้ เมื่อออกมาจากป่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยก็กลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจครอบครัวด้วยแนวคิดการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง เข้าร่วมกับโครงการที่ผมรับผิดชอบอยู่..

นอกจากนี้พ่อไขยังมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นมัคทายกวัด ดูแลเอาใจใส่พระสงฆ์องค์เจ้าทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องที่ดินสงฆ์ที่ต้องเดินทางเข้ามาในเมืองหลายต่อหลายครั้งเพื่อดำเนินการตามระบบราชการเพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดินวัด

 

วัย 70 เศษที่มาล้มป่วยด้วยเรื่องของตับ เร่ร่อนไปรักษาตามโรงพยาบาลมามากมายทั้งของรัฐของเอกชน ทั้งสมุนไพร ..แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

กว่าผมจะเสร็จงานก็บ่ายแก่แล้ว รีบเดินทางประมาณ 60 กม.เข้าดงหลวงเพื่อร่วมงานศพ มาถึงบ้านพบว่าเคลื่อนศพไปสถานที่เผาแล้ว ผมยิ่งงงเพราะเขาใช้สวนของพ่อไขเป็นสถานที่เผาศพ ไม่ได้ใช้วัด หรือป่าช้า ทั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของลูกหลาน โดยเฉพาะกลุ่มไทโซ่ ที่จะเอาบรรพบุรุษไปเผาและเก็บกระดูกไว้ที่สวน ที่นาของเจ้าของ

ผมได้เห็นพิธีแบบชาวบ้านที่แปลกตาไปจากแบบเมือง การกองฟืนแล้วเอาศพไปวางไว้ข้างบนนั้นทางภาคกลางเรียก “เผามอญ”  หลังจากพระทำพิธีแล้วญาติสนิท มิตรสหายเอาน้ำมะพร้าว และน้ำพิเศษชนิดหนึ่งไปรดลงใบหน้าศพ ครบถ้วนแล้ว ก็จะทำพิธีเผา

แล้วผมก็เห็นชาวบ้านหลายคนช่วยกัน ยกไม้ขนาดใหญ่มากจำนวน 4 ต้นเอามาวางพิงทับโลงศพด้านละสองต้น ดังภาพ ผมแปลกใจว่าเอามาอิงเช่นนั้นไว้ทำไม เป็นฟืนหรือ ก็ไม่น่าใช่เพราะกองฟืนนั้นใหญ่โต โฆษกยังพูดออกไมโครโฟนว่า กองฟื้นนี้เผาสามศพก็ไม่หมดฟืน..

ผมถามผู้นำชาวบ้านหนุ่มว่า ไม้ใหญ่ที่เอามาอิง มาทับนั้นทำไว้ทำไม... ผู้นำบอกผมว่า เอามาทับไม่ให้เวลาเผาศพ เผาโลงแล้ว โลงจะกลิ้งตกลงมาเพราะการเผาไหม้น่ะซี  เขาเรียกไม้สี่ต้นนี้ว่า “ไม้ข่มเหง” ผมฟังไม่ผิดครับเพราะซักผู้นำจนมั่นใจว่าเรียกเช่นนั้นจริงๆ 

เอาไม้ใหญ่ไปวางทับเพราะต้องการข่มเหงโลงศพไม่ให้ไหลกลิ้งลงมาช่วงเผานั่นเอง.....

(ใช้มือถือถ่ายรูปช่วงเย็นมากแล้วจึงไม่ชัด)

หมายเลขบันทึก: 296718เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2009 01:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ ท่านพี่

  • เข้าใจแล้ว ว่า ใคร ข่มเหงใคร
  • รักษาสุขภาพนะคะ  ครูอ้อย กับ ครอบครัว คิดถึง ดงหลวง และความสุข ที่ได้รับ เสมอค่ะ

น้องครูอ้อยครับ เราคิดถึง หมี่โคราชเสมอ หิว อิอิ คิดถึงครูอ้อยเช่นกันครับ

ท่านพี่ บางทราย

ผัดหมี่โคราช ยินดี จะไปโชว์ที่อังกฤษค่ะ ท่านพี่  โดย Sarah กับ Sam

เป็นงานศพที่มีเอกลักษณ์มากๆค่ะ พี่ท่าน ... ไม้ข่มเหง ... เผามอญ

ขอให้คุณลุงพ่อไข ไปสู่สุขคติ ค่ะ ... พ่อไขจะอยู่ในใจชาวบ้านเสมอ

ใช่ไหมคะพี่ท่าน ... ขอบคุณภาพและความรู้ใหม่ รักษาสุขภาพค่ะพี่ท่าน

ยินดีด้วยครับ น้องครูอ้อย ต้องเล่าเรื่องเยอะๆนะครับ

ของดีดีบ้านเราก็ต้องเอาไปโชว์เขาบ้าง ทราบมาว่าฝรั่งเองก็ชอบผัดไทย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หากเอาผัดหมี่โคราชไปอีก ก็ดังระเบิดไปเลยซิ ฝากความคิดถึง สะมะนึกะด้วยครับ

ขอบคุณครับน้องปู

บางเรื่องเมื่อมีโอกาสเหมาเท่านั้นจึงจะได้เห็นได้รู้ อย่างงานศพแบบนี้พี่ก็เพิ่งเห็นครั้งแรก ไปงานศพชาวบ้านก็หลายครั้ง แต่เป็นแบบเผาที่เมรุเสียส่วนใหญ่ จึงไม่เห็น ไม้ข่มเหง  มาคราวนี้เห็นชัดๆเลยครับ

ขอบคุณน้องปูครับ

เข้ามาอ่านแล้วมาได้รับความรู้ ภูมิปัญญาชาวสกล กลับบ้านด้วย ขอบคุณค่ะพี่ชาย

แฮ่ม..น้องสาว.. ไม่ได้คุยกันนานแล้ว เพราะพี่หายไปจากหน้าจอ

วัฒนธรรมพื้นบ้านน่าสนใจหลายเรื่องครับ คนทำงานพัฒนาชนบทอย่างพี่ต้องสนใจเพราะรายละเอียดเหล่านี้คือวิถีชีวิตเขา หากเราไม่เข้าใจ เราจะพัฒนาเขาได้อย่างไร หากไม่เข้าใจเราก็เอาสิ่งที่เราอยากให้เขาเป็นไปให้เขา โดยที่เขาอาจจะอยากเป็นอีกอย่าง นี่คือความล้มเหลวที่ผ่านมา ซึ่งรัฐสูญเงินมหาศาล หรือไม่ได้ผลเต็มที่

การพัฒนาคนละเอียดอ่อนมากกว่าการเรียนในห้องครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย ภูมิปัญญาในแต่ละถิ่นที่ เป็นวิถีชีวิตที่น่าเรียนรู้ จดจำและถ่ายทอดให้ได้รู้กันกว้างขวางเพราะน่าจะช่วยชี้มุมมองและท่าทีต่อชีวิตให้คนรุ่นหลังๆได้ดีนะคะ

ขอให้ดวงวิญญาณของพ่อไขไปสู่สุคติค่ะ

สวัสดีน้องคุณนายดอกเตอร์

พี่ก็ได้ยินเป็นครั้งแรกครับ วันนั้เสียดายที่เอากล้องไปด้วยแต่ไม่ได้หิ้วไปในงานศพช่วงเผา จอดรถไว้ แล้วเดินไปสวนพ่อไขที่เป็นที่เผาอีกไกล เลยได้แต่ภาพที่ถ่ายจากมือถือ ดูไม่คมชัดเลยครับ

เรื่องราวมันซ่อนอยู่ในพิธีกรรมต่างๆมากมายหากเราไม่ตั้งคำถามภาพงานศพนี้ก็ผ่านเลยไป ก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากนัก ในฐานะที่เราเป็น "คนนอก" เราไม่รู้เรื่องราวเท่ากับ "คนใน" เราจึงต้องใฝ่รู้เสมอ เพราะทุกอย่างชาวบ้านไม่ได้มานั่งอธิบายเรา เราต้องตั้งคำถามเอง

หวังว่าน้องคุณนายดอกเตอร์สบายดีนะครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

มาอ่านแล้วขอร่วมอาลัยกับการจากไปของพ่อไขค่ะ

ได้ความรู้เรื่อง ไม้ข่มเหง อีกด้วย

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีครับน้องสาวคนไม่มีราก

พ่อไขเป็นคนเงียบๆ แต่มีคนเคารพนับถือมากในชุมชน ท่านจากไปสบายแล้ว แถมให้ความรู้อีก อิ.  ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท