ฤกษ์ไหนดี..ฤกษ์ไหนไม่ดี..?


รอฤกษ์จนเสียเมีย

          วันนี้..อาตมภาพจักขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับฤกษ์งามยามดี..เพราะมีบางคนมาถามอาตมาว่า..หลวงพี่ครับ..!พอดีว่า..ผมกำลังจะแต่งงาน.. แต่ไม่รู้ว่าวันไหนเป็นฤกษ์ดี..หลวงพี่ช่วยบอกหน่อยครับ..? หรือแม้แต่เมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 ที่ผ่านมาก็พากันเชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี  จึงอยากจะอธิบายชี้แจงแถลงไขเกี่ยวกับเรื่องฤกษ์ซะหน่อยว่า..ตามหลักทางพระพุทธศาสนานั้นสอนเกี่ยวกับเรื่องฤกษ์กันยังไง ? หรือโยมคิดว่า..ฤกษ์ดีควรเป็นวันไหนดีเวลาไหนดี..?

         ฤกษ์ หรือภาษาบาลี คือ นกฺขตฺตํ นั้นแปลว่า..ดาว  ดวงดาว  ดาวฤกษ์  นักษัตร งานนักขัตตฤกษ์  หมายถึง  คราวหรือเวลาที่เหมาะ  ความปลอดภัยหรือ ความสำเร็จสมประสงค์  อำนวยความเป็นสิริมงคล ต่าง ๆ  ซึ่งจริง ๆ แล้วการถือฤกษ์นี้เป็นวิชาความรู้เกี่ยวกับโหราศาสตร์ การทำนายทายทัก หรือการดูดวงชะตาราศี  ตามหลักศาสนาพราหมณ์  ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ฤกษ์บน และฤกษ์ล่าง   

         ฤกษ์บนเป็นชัยมงคลเบื้องสูงโดยถือตำแหน่งของพระจันทร์และดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ  เป็นหลัก คือ กำหนดโดยจันทร์ พระจันทร์ต้องดีไม่เป็นอริ มรณะและวินาศ  พระจันทร์โคจรให้คุณ เช่น จันทร์ครุสุริยา  ส่วนฤกษ์ล่าง ซึ่งเหมาะเป็นชัยมงคลทางเบื้องต่ำบนพื้นดิน โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น โดยให้วันทั้ง 7 ประกอบด้วยดิถี ขึ้น แรม และเดือน ปี เป็นหลักในการคำนวณนับ เช่น วันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์

        ฤกษ์ตามหลักทางโหราศาสตร์ดังกล่าวเป็นลักษณะของความเชื่อในทางศาสนาพราหมณ์  เป็นการดูเวลาทำนายจากดวงดาวว่าช่วงไหน วันไหนเป็นเวลาที่ดีเหมาะแก่การทำพิธีต่าง ๆ  เมื่อดูแล้วเห็นว่า  เวลาไหนที่เหมาะก็ประกอบพิธีในวันนั้น  ไม่ว่าจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่ แต่งการแต่งงาน การตั้งชื่อ หรืองานต่าง ๆ ล้วนต้องดูฤกษ์หามยามดีกันก่อนทั้งนั้น  แต่ฤกษ์ในทางพระพุทธศาสนานั้น  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า..

         สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ            สุปภาตํ สุหุฏฺฐิตํ 

         สุขโณ สุมุหุตฺโต จ            สุยิฏฺฐํ พรหฺมจาริสุ ฯลฯ

        แปลได้ว่า  “ประพฤติชอบเวลาใด  เวลานั้นชื่อว่าฤกษ์ดี  มงคลดี  เช้าดี  รุ่งอรุณดี และขณะดี ครู่ดี บูชาดีแล้วในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย”  ความพร้อมเพรียงเกิดขึ้นเมื่อใดแล้วประกอบความดีในขณะนั้น  เรียกว่า  ฤกษ์งามยามดี   และความขัดข้องเกิดขึ้นเมื่อใด  ไม่สามารถประกอบความดีได้ในขณะนั้น  เรียกว่า  ฤกษ์ไม่งามยามไม่ดี 

         การมัวแต่รอนั่นรอนี่โดยปราศจากปัญญาก็เสียเวลาเปล่า  เหมือนดังนิทานชาดกในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดกเป็นตัวอย่าง ซึ่งอาตมาขอตั้งชื่อเรื่องให้ว่า  รอฤกษ์จนเสียเมีย

         เรื่องมีอยู่ว่า...ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี  ชาวเมืองกรุงพากันไปสู่ขอธิดาของชาวชนบท  กำหนดวันแล้วถามอาชีวกผู้คุ้นเคยกันว่า  “พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ผมจะกระทำงานมงคลสักอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมขอรับ.”

         อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า  “คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้ กลับถามเรา”  จึงคิดต่อไปว่า “ในวันนี้ เราจักทำการขัดขวางงานของคนเหล่านั้นเสีย”  แล้วกล่าวว่า “วันนี้ ฤกษ์ไม่ดี  ถ้ากระทำการมงคลจักพากันถึงความพินาศใหญ่.”  

         คนกรุงเหล่านั้นพากันเชื่ออาชีวก จึงไม่ไปรับเจ้าสาว. ชาวชนบทคิดว่า  “พวกนั้นกำหนดวันไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา  ธุระอะไรที่จะต้องคอยคนเหล่านั้น” แล้วจึงยกธิดาให้แก่คนอื่นไป.

        พอรุ่งขึ้น คนชาวกรุงพากันมาขอรับเจ้าสาว แต่ชาวชนบทก็กล่าวว่า  “พวกท่านชื่อว่า เป็นคนกรุง  แต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวันไว้แล้ว แต่ไม่มารับเจ้าสาว เพราะพวกท่านไม่มา เราจึงยกให้คนอื่นไปแล้ว. ”

        ชาวกรุงกล่าวว่า  “พวกเราถามอาชีวกดู ได้ความว่า ฤกษ์ไม่ดีจึงไม่มา จงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด.”   ชาวชนบทแย้งว่า “เพราะพวกท่านไม่มากัน พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว คราวนี้จักนำตัวเจ้าสาวที่ให้เขาไปแล้วมาอีกได้ อย่างไรเล่า?”

        เมื่อคนเหล่านั้นโต้เถียงกันไป โต้เถียงกันมาอยู่อย่างนี้  ก็พอดีมีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตชาวเมืองคนหนึ่ง ไปชนบทด้วยกิจการบางอย่าง  ได้ยินชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า  “พวกเราไม่มาเพราะอาชีวกว่าฤกษ์ไม่ดี” จึงพูดว่า “ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์อยู่แล้ว มิใช่หรือ?” ดังนี้แล้ว กล่าวคาถาว่า 

        นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนตฺตํ              อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา

        อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ           กึ กริสฺสนฺติ ตารกา

        แปลได้ว่า “ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนปัญญาอ่อนที่มัวนั่งนับดาว ดูเดือนอยู่  ประโยชน์มันเป็นฤกษ์อยู่ในตัวแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะช่วยอะไรได้”

        พวกชาวกรุงทะเลาะกับพวกนั้นแล้ว  ก็ไม่ได้เจ้าสาวอยู่นั่นแลเลยพากันไป.  ทำให้ต้องเสียเจ้าสาวไปเพราะเชื่อเรื่องฤกษ์แท้ ๆ สมดังชื่อเรื่องที่ว่า  รอฤกษ์จนเสียเมีย..นั่นเอง

         ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า  วัน คืน เดือน ปี มิได้ทำอะไรให้คนดีขึ้นมาเลย  นอกจากตัวของเราเท่านั้นที่จะทำตัวของเราให้ดีขึ้น  ความจริงแล้วการทำความดี ย่อมทำได้ทุกๆ เมื่อ ไม่เลือกกาลเวลาและสถานที่ การทำความชั่วก็เช่นเดียวกัน แต่การทำความชั่วให้เกิดอัปมงคล การทำความดีให้เกิดสิริมงคล  ความสุขความเจริญจะเกิดขึ้นแก่คนเรา ก็ต้องอาศัยการกระทำความดีด้วยกาย วาจา และใจ  ดังนั้น ขอให้คุณโยมจำไว้ว่า..“ทำดีวันนี้  วันนี้ก็เป็นฤกษ์ดี  ทำดีวันนั้น วันนั้นก็เป็นฤกษ์ดี  ทำดีเวลาไหน ๆ เวลานั้น ๆ ก็ย่อมเป็นวันดีเสมอเป็นฤกษ์ดีทีเดียว..  นี่แหล่ะคือ ฤกษ์งามยามดีอย่างแท้จริง..นะโยม..ขอเจริญพร..

อ้างอิง

http://www.dd108.com/horoscope/viewtopic.php?postorder=desc&t=15001

http://board.palungjit.com

http://www.samyaek.com/pratripidok/index.php?topic=502.0


MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com

หมายเลขบันทึก: 297167เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท