017 การตลาดจาก 4Ps > 4Cs > 4Fs


นักศึกษาหรือผู้ที่เริ่มรู้จัก  “การตลาด” คำว่า  “4P”  ดูเหมือนจะเป็นบทแรกๆ ที่ได้เรียนรู้ และได้ยึดถือกันมาเป็นคัมภีร์ทางการตลาด ยึดถือว่าการจัดการทั้ง  4P นี้ เป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ จะเขียนถึงแนวคิดในการจัดการเกี่ยวกับตัว P ทั้ง  4  ตัว และมีเพิ่มอีก  2  ตัว เป็น  6P  เปรียบเทียบกับตัว C  4 ตัว ที่เป็นเป้าหมายหลักของการจัดการเกี่ยวกับตัว  P  ทั้ง  4  ตัว นอกจากนี้  ยังมีอีก  4F   ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้บริโภคไทยโดยเฉพาะ


http://www.gothamgazette.com/graphics/grocery.jpg

 

4P และ 4C

                                P ตัวแรกคือ Product    สมัยก่อนการทำธุรกิจจะเริ่มต้นคิดว่าเราจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรแล้วนำไปเสนอขายผู้บริโภค  ถ้าขายไม่ได้แทนที่จะปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค  กลับมุ่งเน้นที่พนักงานขาย  จึงเกิดการยัดเยียดขาย ซึ่งทำให้ธุรกิจถูกมองในแง่ลบ  ความคิดนี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความคิดที่ไม่สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้  สมัยนี้จุดเริ่มต้นของธุรกิจต้องลืมฝ่ายผลิตไปก่อน  คืออย่าเพิ่งเริ่มจากบริษัทเราผลิตอะไรได้  การตลาดต้องเริ่มต้นจากผู้บริโภค นักการตลาดต้องศึกษาผู้บริโภคอย่างจริงจัง  ต้องมีข้อมูลผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง หรือที่เรียกว่า “Consumer Insight”  งานวิจัยแบบเดิม ๆ ที่เป็นวิจัยเชิงปริมาณอาจได้ข้อมูลของผู้บริโภคไม่ลึกพอ  บริษัท ยูนิลิเวอร์ไทย  โฮลดิ้ง  จำกัด  บางครั้งให้พนักงานของบริษัทไปใช้ชีวิตอยู่กับผู้บริโภค  เพื่อให้ได้ข้อมูลในเชิงลึก  ในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่  สินค้าหรือบริการที่บริโภคอย่างแท้จริง เพราะการตอบแบบสอบถามกับชีวิตจริงอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะผู้ตอบมักคำนึงถึง “หน้าตา” เวลาตอบ  ซึ่งก็คือ เป็นข้อมูลที่เกิดจากการสังเกตนั่นเอง  แม้จะไม่ใช่ตัวเลขทางสถิติ แต่เป็นข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด   การวางแผนผลิตภัณฑ์จึงมีเป้าหมายอยู่ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงที่สุด  ดังนั้นการจัดการ Product  จึงเป็นการจัดการที่เกี่ยวกับการตอบสนอง   “Consumer’s Need

                                P  ตัวที่ 2  คือ  Price  สมัยก่อนฝ่ายที่บันทึกตัวเลข เช่น  ฝ่ายบัญชีจะมีบทบาทสำคัญมากในการตั้งราคาสินค้า  เพราะการตั้งราคาสมัยก่อนใช้วิธีเอาต้นทุนเป็นเกณฑ์  ทำให้ราคาสินค้าบางครั้งสูงกว่าราคาตลาด  และสูงกว่าราคาที่ผู้บริโภครับได้  หรือบางครั้งอาจจะต่ำกว่าที่ผู้บริโภคคาดเดาเอาไว้ ซึ่งทั้ง  2 กรณี ไม่เป็นผลดีต่อบริษัททั้งสิ้น การตั้งราคาควรเริ่มต้นจากผู้บริโภค  นักการตลาดต้องกำหนดว่า ราคาใดเป็นราคาที่ผู้บริโภคยอมรับแล้วจึงคำนวณกลับมาหาต้นทุน  หลาย ๆ ครั้งการตั้งราคาต่ำกว่า “ต้นทุนรวม”  แต่สูงกว่า “ต้นทุนผันแปร”  ทำให้บริษัทมีกำไรมากกว่าการตั้งราคาสูง  แต่ขายไม่ได้ การตั้งราคาจึงพิจารณาจาก “Cost  of  Consumer’s  Appreciation”  คือ ราคาที่ลูกค้าชื่นชอบ (Consumer’s  Appreciation  เป็นแนวคิดทางการตลาดที่ใช้แทนคำว่า  Consumer’  Satisfaction หรือ ความพอใจของลูกค้า  แนวคิดของ Appreciation  คือ ให้มากกว่าลูกค้าคาดหวัง  ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารักและศรัทธา  ผลของมันมีค่ามากกว่าลูกค้าพอใจ เพราะนอกจากลูกค้าจะซื้อซ้ำ  บอกต่อ  แล้วยังปกป้องและรอคอยสินค้าของเราด้วย)  ดังนั้น  การตั้งราคาสินค้า และการเลือกกลยุทธ์ราคาในการส่งเสริมการขาย ต้องเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม  อาหารชนิดเดียวกันขายที่ห้างเอ็มโพเรียม กับเดอะมอลล์  สามารถตั้งราคาให้แตกต่างกันได้ แต่ต้องมี “ความแตกต่าง” ให้ลูกค้าสัมผัสได้  เช่น ส่วนผสม  บรรจุภัณฑ์  หรือตรายี่ห้อ ลูกค้าเอ็มโพเรียมย่อมยินดี“จ่ายราคาที่สูงกว่า”ด้วยความรู้สึกว่าได้บริโภคสินค้าที่ดีกว่า

                                P  ตัวที่  3  คือ  Place  แนวคิดเดิม การจัดการด้านช่องทางการจัดจำหน่าย  จะมุ่งเน้นเรื่องการหาช่องทางการขาย คือหาร้านค้าปลีกให้มากที่สุด  ธนาคารจะต้องขยายสาขาให้มากที่สุด  ถ้าใช้พนักงานขายก็จะต้องกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่ขายให้มากที่สุด  การกระจายร้านค้าหรือสาขาธนาคารเริ่มสะดุดในช่วงก่อนและระหว่างภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะราคาที่ดินสูงขึ้นมากจนทำให้การขยายสาขาหรือร้านค้าในรูปแบบเดิมไม่คุ้มทุน ประกอบกับกระแสของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยการจัดการให้สะดวกขึ้น  การติดต่อค้าขายทางโทรศัพท์ โทรสาร อินเทอร์เน็ต  และแม้แต่การให้บริการ  24  ชั่วโมง    เหล่านี้เป็นการตอบสนองความสะดวกที่ผู้บริโภคจะได้รับ การจัดการด้าน  Place   จึงเป็นการจัดการด้าน  “Convenience”  ทั้งการซื้อ และการติดต่อกับลูกค้า

                                P ตัวที่ 4  คือ  Promotion  ในองค์ประกอบของ  Promotion ในยุคแรก  พนักงานขายจัดว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก  ต่อมาเมื่อการสื่อสารพัฒนาขึ้นทำให้เครือข่ายของการสื่อสารครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวาง ความสำคัญเริ่มไปอยู่ที่การใช้  “สื่อโฆษณา”   เช่น  ทีวี วิทยุ   หนังสือพิมพ์  นิตยสาร  เป็นต้น  จนในยุคหนึ่งแข่งขันกันสร้างหนังโฆษณาราคาแพง ๆ ออกอากาศด้วยเวลานาน (ยุคหนึ่งนิยมทำหนังโฆษณา  3 นาที)  ด้วยความถี่สูง โดยไม่ได้พิจารณา “ประสิทธิผล” ของวิธีการเหล่านี้  ต่อมานักการตลาดเริ่มวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้สื่อ  เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ทำให้การใช้วิธีการเดิมและสื่อเดิมอาจไม่ได้ผล  คนดูโทรทัศน์ถือรีโมตคอนโทรล เตรียมเปลี่ยนช่อง  คนอ่านหนังสือพิมพ์เลือกอ่านบางหน้า เช่น  นวนิยาย  หน้า บันเทิง หรือ คอลัมน์สังคม  พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้โฆษณาในแบบเดิมๆ ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ นักการตลาดจึงเริ่มพัฒนาสื่อสารการตลาดในรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ  เพื่อให้สามารถสร้างความรู้จักในตรายี่ห้อ (Brand Awareness)  และสร้างความรู้ ความเข้าใจในตรายี่ห้อ (Brand Knowledge) ได้  ในยุคนี้จึงเป็นยุคของ “Communication”  นักการตลาดต้องนึกถึง  “จุดติดต่อ”  (Contact  Point)  ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้  จะเห็นได้ว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ เสื้อผ้า  เครื่องแต่งตัว ของใช้เบ็ดเตล็ด  และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนใช้เป็นจุดติดต่อในการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าได้ทั้งสิ้น

                              

                                สรุปแล้ว  4P  เป็นเรื่องของการจัดการ  4C  ดังนี้

                                Product  >  Consumer ‘s Need

                                Price     >  Cost of Appreciation

                                Place    >  Convenience   to Buy

                                Promotion >  Communication

http://www.thepanamareport.com/images/stories/Real_Estate/buyer_beware/buyer_beware.jpg

http://www.thepanamareport.com/


P ตัวที่  5 และ  6



                        จริงๆ แล้ว  มีนักการตลาดหลายท่านได้นำเสนอ  P เพิ่มขึ้นอีกหลายตัว  ในบทความนี้จะเน้นอีก   2P ตัวที่ 5 คือ  People   บุคลากรทางการตลาด  คนที่ทำหน้าที่ทางการตลาด  ปัจจุบันประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ทางการตลาดโดยตรง  และผู้ที่มาจากพื้นความรู้อื่น  ซึ่งมีทั้งไปอบรมศึกษาทางการตลาดเพิ่มเติม  และอาศัยบริบทจากบริษัท หรือประสบการณ์เป็นแนวทางในการทำงาน  การตลาดบางครั้ง  คล้าย ๆ กับเป็น “สามัญสำนึก”  หรือ  “Common Sense”  จริง ๆ แล้วมีหลักการซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องที่เดาๆ แล้วก็ทำได้  นักการตลาดจะต้องรู้จักเลือกใช้กลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์    เพราะนักการตลาด คือกำลังสำคัญในการที่นำพาบริษัทให้ไปถึงเป้าหมายได้  ผู้ที่มีอัตตาสูง เชื่อมั่นในตนเองมากกว่าเชื่อในข้อมูลผู้บริโภค ไม่น่าจะเรียกว่านักการตลาด  เพราะการยึดตัวเองเป็นที่ตั้งเปรียบเหมือนนัก ธุรกิจยุค “กูแน่”  หรือที่ศัพท์ทางการตลาดเรียกพวกนี้ว่า  “Product  หรือ Production Oriented” นักการตลาดพันธุ์นี้ปัจจุบันยังมีให้เห็นอีกมากมาย  นักการตลาดยุคใหม่ไม่ ควรจะรู้เฉพาะศาสตร์ทางการตลาด แต่จะต้องรู้ถึงศาสตร์การจัดการด้านอื่นด้วย  เพราะปัจจัยทางการตลาดซับซ้อนมากขึ้น และความรับผิดชอบของผู้บริหารการตลาด ไม่ใช่แค่ยอดขายตามที่พยากรณ์ไว้ แต่จะต้องรับผิดชอบไปจนถึง “กำไร”    ของบริษัท  นักการตลาดยุคใหม่จึงต้องเก่ง “การเงิน”  “เทคโนโลยี”  และ “การจัดการ”  จึงจะเป็นนักการตลาดมืออาชีพ  สรุปสั้น ๆว่า  คุณสมบัติของนักการตลาดคือ  “รอบคอบ รอบรู้  ดูทันสมัย  ใฝ่ใจสังเกต  มองเหตุการณ์ไกล มีวินัย และจริยธรรม”

                        P ตัวที่  6  คือ  P  ที่อยู่ในตัวที่  5   แต่แยกออกให้เด่นชัด  เพราะถือเป็น P  ที่สำคัญที่สุด  เป็น P  ที่จะกำหนดทิศทางของทั้ง  5P  ที่กล่าวมา  P ตัวนี้  คือ “President” ประธานกรรมการ หรือ ผู้บริหารระดับสูง หรือที่เรียกว่า “CEO”    ถ้าบุคคลนี้ไม่มีหัวใจการตลาด  5P  ที่กล่าวมาให้ดีอย่างไร ก็ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสินค้าได้   เพราะเขาเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในบริษัท      เขาคือผู้กำหนดทิศทางของบริษัท  เขาคือผู้อนุมัติกลยุทธ์การตลาด เขาคือผู้อนุมัติงบประมาณการตลาด  เขาคือผู้เลือกผู้บริหาร  ฯลฯ  เขาเหล่านี้ถ้าจมอยู่กับอดีตอันรุ่งเรือง และไม่เคยคิดจะปรับกลยุทธ์ หรือปรับไม่เป็น  ทิศทางของบริษัทจะไปในทางที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก  ดังนั้น  CEO  ควรใช้ความเก่งให้ถูกทาง คือ เอาบทเรียนในอดีต มาเป็นอุทาหรณ์ในการทำงาน หมั่นศึกษาความเปลี่ยนไปของตลาด  รวมทั้งศึกษาศาสตร์ และกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อที่จะเป็นแม่ทัพที่แข็งแกร่ง และสามารถนำพาบริษัทให้รุ่งเรืองได้ตลอดไป

http://graphics8.nytimes.com/images/2007/11/21/health/Holiday-Shopping_533.jpg

 

4F การตลาดแบบไทย ๆ

                                การจัดการด้านการตลาดสำหรับลูกค้าไทย  นักการตลาดต้องคำนึงถึง ตัว  F  4  ตัว  (4F  นี้  ได้ยินมาจากพนักงานฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของอีซูซุ เชียงราย)  ดังนี้

                                1. Face :  คนไทยเรื่อง   “หน้าตา”  เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง  นักการตลาดต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ที่จะทำให้ ลูกค้ามีความภูมิใจ มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ  เป็นคนพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านำเสนอได้ว่า  “สำคัญกว่า”  ลูกค้ารายอื่นๆ ได้ยิ่งจะชนะใจลูกค้ามากขึ้น  คนที่มีฐานะดีนั่งเครื่องบินชั้นพิเศษ นอกจากความสบายแล้ว  “หน้าตา”  ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย  กีฬากอล์ฟ  การทาน อาหารโรงแรมหรู  การดื่มไวน์  การจัดงานบวช  งานแต่งงาน หรือแม้แต่งานศพที่ยิ่งใหญ่  การใช้รถหรู  การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่  การใช้สินค้าแบรนด์เนม  การแต่งตัวดี  เครื่องประดับหรู  และเครื่องใช้อื่นๆ ที่ดูดีมีระดับเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่มีเรื่องของ “หน้าตา”  เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจซื้อของคนไทย  คนไทยทุกระดับ แม้แต่คนที่มีฐานะทางสังคมไม่สูงเป็นห่วงเรื่อง “หน้าตา”  ทั้งสิ้น

                                นอกจากนี้  “Face”   ที่แปลว่า  “หน้าตา”  จะหมายถึงความภูมิใจแล้ว  ในอีกความหมายหนึ่ง คือ  “ความสวยงาม”    ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความภูมิใจ  ลูกค้าที่รักสวยรักงามจะตัดสินใจ ซื้อสินค้าและบริการที่สวยงาม  โรงแรมหรูระดับ  5 ดาว เปิดบริการเสริมความงาม ในโปรแกรม  10 วัน  ราคาครึ่งล้านบาท  เพื่อความงามสุภาพสตรี  ที่มีรายได้ดี ยินดีจ่ายสำหรับบริการนี้  สถานออกกำลังกาย  ธุรกิจสปา  เครื่อง สำอาง  เหล่านี้คือตัวอย่างของสินค้าเพื่อความงาม  ซึ่งตลาดโตอย่างรวดเร็ว

                                2. Friend :   เพื่อนฝูง  คนไทยให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก  จะเห็นได้ว่ามีการรวมกลุ่มกัน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  คนๆ หนึ่งอาจเป็นสมาชิกของหลายๆ กลุ่ม อิทธิพลของกลุ่ม ทำให้คนในกลุ่มมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน  เกิดการใช้สินค้าและบริการคล้ายๆ กัน มีทัศนคติต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งใกล้เคียงกัน  ดังนั้น  “กลยุทธ์เพื่อนแนะนำเพื่อน”  หรือ “Friend get Friend”  หรือ  “Member get Member”  จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เพราะถ้าคนหนึ่งในกลุ่มใช้สินค้าหรือบริการใด  ย่อมมีแนวโน้มที่สมาชิกคน อื่นในกลุ่มจะใช้สินค้า หรือบริการนั้นๆ ด้วย  เนื่องจากคนที่เป็นเพื่อนกันมักจะคบหากับคนที่มีภูมิหลังคล้ายๆ กัน  เช่น มีฐานะใกล้เคียงกัน  อาชีพเดียวกัน  มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน  เป็น ต้น  การใช้ “กลยุทธ์ปากต่อปาก” หรือ “Buzz (Viral) Marketing”  เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่เหมาะสม  เพราะการที่คนในกลุ่มที่เป็น เพื่อน  เป็นนายซึ่งมีความสนิทสนมใกล้ชิดกัน ชักจูงให้ซื้อสินค้าหรือบริการ ย่อมจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ  มากกว่าการได้ยินจากโฆษณา หรือคนอื่นที่ไม่รู้จัก จะเห็นว่าปัจจุบันการใช้ “Web board”  ในอินเทอร์เน็ต  เป็นเครื่องมือการสื่อสารเพื่อให้เกิด “Buzz Marketing”  ที่ได้ผลดีเครื่องมือหนึ่ง  นักการตลาดควรคำนึงถึงการหากลุ่ม อ้างอิง เพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการเร็วขึ้น  เป็น  “Testimonial”  คือ “ผู้ใช้สินค้านั้นอย่างแท้จริง”

http://www.visitcarsoncity.com/images/LargeImages/Large_shopping_b.jpg

http://www.visitcarsoncity.com/images/LargeImages/Large_shopping_b.jpg


                                3. Family : ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว  เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดกลยุทธ์ การตลาด  การจัดการแคมเปญทางการตลาดที่มุ่งตรงต่อครอบครัว เช่น การจัดงานเลี้ยงให้แก่ลูกค้าและครอบครัว เป็นกลยุทธ์ที่ดี เพราะคนไทยมักจะไปไหนมาไหนทั้งครอบครัว ถ้าเราเชิญเฉพาะลูกค้า  ลูกค้าอาจปฏิเสธเนื่องจากต้องใช้เวลาทำกิจกรรมกับ ครอบครัว  แต่ถ้าเชิญทั้งครอบครัวลูกค้าสามารถมาร่วมงานได้  และยังมีทัศนคติที่ดีต่อบริษัทในฐานะที่ให้เกียรติแก่ครอบครัวเขาด้วย งาน “Family Day”  ที่ทางอีซูซุจัดขึ้นสำหรับลูกค้าทั้งครอบครัว  กิจกรรมหลายๆ อย่าง ที่ทางยูบีซี จัดให้ครอบครัวลูกค้า เป็นตัวอย่างที่ดี การส่งเสริมการขายที่ให้รางวัลแก่ผู้ชนะด้วยแพ็คเก็จทัวร์แก่ลูกค้าคนเดียว  เป็นแคมเปญที่ทำให้ลูกค้าบางคนไม่อยากได้รางวัล  เพราะการไปเที่ยว เขาต้องมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวไปด้วย การเป็นสปอนเซอร์รายการที่ส่งเสริมสถาบันครอบครัว บริษัทจะได้ภาพลักษณ์ที่ดีในสังคมไทย

                                4. Fortune  : เรื่องโชคลาง ถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับคนไทยทุกเพศ ทุกวัย  ทุกฐานะ และทุกระดับความรู้  คนไทยมักมีคำพูดว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คนระดับปริญญาเอกไหว้พระราหู  คนรวยซื้อรถเบนซ์กำหนดฤกษ์ออกรถตอนตี 3  กับ 33 นาที  พนักงานขายรถต้องให้บริการตามฤกษ์สะดวก  คุณพ่อคุณแม่หาฤกษ์สำหรับ คลอดบุตร  แพทย์ต้องเข้าใจและทำคลอดในเวลาที่กำหนด ถ้าสามารถทำได้  โรงพยาบาลต้องจัดทำสถานที่สำหรับตั้งศาลพระภูมิให้มี เนื้อที่กว้างขวาง  เพราะคนไข้หรือญาติคนไข้จะนำเครื่องเซ่นมาบนให้คนไข้หาย ไข้  คนบางคนเปลี่ยนชื่อหลายครั้งจนเพื่อนจำชื่อจริงไม่ได้   บางคนใส่เสื้อบางสีเพื่อให้โชคอำนวยให้ประสบผลสำเร็จ  บางคนไม่ตัดผมวันพุธ  ทำให้ร้านตัดผมบางร้านงดให้บริการในวันพุธ สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับชะตาราศี  เป็นสินค้าและบริการที่ลูกค้าไม่สนใจ ราคาเท่ากับ  “ความเชื่อมั่น”   ที่จะได้รับการทำนายโชคชะตา  เป็นบริการที่ขายได้ทั้งในภาวะเศรษฐกิจดีและ ฝืดเคือง พระพรหมหน้าห้างโซโก้สี่แยกราชประสงค์  มีคนเช่าละครรำแก้บนอยู่ตลอดเวลา  การสร้างบ้านขายต้องระวังอย่าให้ผิดหลักฮวงจุ้ย  ตึกสูงไม่มีชั้นที่ 13   เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่พบเห็นกันอยู่เสมอ  นักการตลาดต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดกลยุทธ์การตลาด  อย่าตัดสินว่า “ไร้สาระ”   และไม่ให้ความสนใจ  พนักงานขายที่มีความสามารถในการทำนายโชคชะตา  ลูกค้าจะชอบ  ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งซึ่งทำให้งานขายสะดวกขึ้น  การตั้งชื่อสินค้า ต้องระวังอย่าให้พ้องเสียงกับบางภาษาแล้วมีความหมายไปในทางที่ไม่ดี

                                4F ที่กล่าวมาข้างต้น  เป็นเรื่องเฉพาะของการตลาดแบบไทยๆ เขียนไว้เพื่อเป็นข้อเตือนใจนักการตลาดให้  “เจาะลึก”   ถึง   “ข้อมูลลูกค้า”    ลักษณะเฉพาะของลูกค้าที่เป็นไทยมีมากกว่าที่กล่าวถึง  เป็นสิ่งที่นักการ ตลาดจะต้องค้นหา  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาด  ใครมีข้อมูลลึกเท่าไร  โอกาสในการชนะย่อมมากเท่านั้น  มีข้อมูลครึ่งหนึ่ง เดาครึ่งหนึ่ง  หรือมีข้อมูลแบบตื้น ๆ จากการวิจัยตลาดแบบเก่า ๆ  ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วสำหรับการที่จะ “ไล่ลูกค้าให้ทัน” และ  “สู้กับคู่แข่งขันให้ได้”

ผศ.กิตติ สิรพัลลภ

 


 

ติดต่อ อ.แอมมี่ ได้ที่ บริษัท Brainwatch Consulting Group Co.,Ltd

http://brainwatch-th.co.th, http://brainwatch.blog.com

อีเมล [email protected], [email protected]

หมายเลขบันทึก: 297997เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท