มุมมองการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่น


          เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ผมได้มีโอกาสต้อนรับอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาคณะใหญ่  ซึ่งเดินทางมาฟังการบรรยาย และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น  จากประสบการณ์ความเป็นครูของผม..
          การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนั้นได้รับความสนใจจากนักศึกษาเป็นอย่างดี  เป็นการพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง  มากกว่าการบรรยายในชั้นเรียนที่พวกเราต่างคุ้นเคย..

         ผมฝากข้อคิดในการทำหลักสูตรท้องถิ่นกับนักศึกษาไว้ 3 เรื่อง คือ
         เรื่องแรก   มองเรื่องของท้องถิ่นในมิติของความเปลี่ยนแปลง หลักสูตรที่ดีต้องสนองตอบข้อตกลงข้อนี้  ด้วยว่าท้องถิ่นต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  คนทำหลักสูตรจึงต้องขยันที่จะศึกษาบริบทของท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา  ถึงสถานการณ์  ปัจจัย และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
        เรื่องที่สอง  มองท้องถิ่นในลักษณะของความเชื่อมโยง  ไม่มีท้องถิ่นใดที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว  ทุกท้องถิ่นต่างมีความสัมพันธ์กัน  เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่และหมู่บ้านโลก...
        เรื่องที่สาม ทำหลักสูตรท้องถิ่นบนฐานของการวิจัย  ซึ่งได้แก่ การสำรวจข้อมูลท้องถิ่น การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น การประเมินผลการใช้หลักสูตร  ผลของการวิจัยดังกล่าว  จะนำมาซึ่งหน่วยการเรียนรู้  รายวิชาท้องถิ่นที่หลากหลายและน่าสนใจ  นอกจากนั้นผลของการประเมินยังนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตร    บางรายวิชาอาจถูกยุบและยกเลิกไปถ้าประเมินแล้วไม่เกิดประโยชน์  หรือไม่มีจำเป็นกับเวลาและความต้องการของท้องถิ่น
        เมื่อทำหลักสูตรท้องถิ่นด้วยเงื่อนไขดังกล่าวทั้ง สามประการอย่างนี้แล้ว  อย่างน้อยก็ทำให้เราตอบคำถามกับคนทั่วไปได้ว่า  เราทำหลักสูตรท้องถิ่นกันทำไม  ทำเพื่อใคร และหลักสูตรควรมีหน้าตาอย่างไร...ไม่ได้ทำเพราะเขาบังคับให้เราทำ  หรือทำตาม ๆ กันเพราะกระแสพาไป..

        หลังจากนั้นไม่นานนักผมได้ข่าวว่า หลังจากกลับไปมหาวิทยาลัยแล้ว..นักศึกษาคณะดังกล่าวกำลังสนุกอยู่กับการออกแบบหลักสูตรท้องถิ่น..และการศึกษาข้อมูลชุมชนเพื่อเลือกพื้นที่ในการทดลองหลักสูตร...เป็นข่าวดีที่ผมอยากเล่าให้ฟังกัน

หมายเลขบันทึก: 298288เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท