brochill
วราวรรณ จันทรนุวงศ์(ศิริอุเทน)

Social Science


Social Science_ความท้าทายใหม่

การวิจัยทางมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์...ความท้าทายใหม่

โดย ศาสตราจารย์ ดร.กนก  วงษ์ตระหง่าน

ณ ห้องประชุม 1 อาคาร HS05 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น

8 กันยายน 2552  เวลา 13.00 – 17.00 น.

..............................................................................

เรียบเรียงโดย วราวรรณ  จันทรนุวงศ์

จากการเข้ารับฟังแนวคิดและแนวทางการทำวิจัยทางมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น ท่านศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ได้อธิบายไว้ว่า การศึกษาในระดับนี้(ปริญญาเอก)นั้น ผู้ศึกษาจะต้องเข้าใจพื้นฐานและกรอบทฤษฎีในเรื่องที่ตนสนใจ ว่าศาสตร์ต่างๆ นั้นสัมพันธ์กันอย่างไร แต่จะมุ่งไปที่ประเด็นที่แตกต่างกัน สังคมศาสตร์(Social Science) คือสาขาที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาสังคม ส่วนสาขามนุษยศาสตร์ (Humanities) นั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่จะมีตรรกะของการใช้เหตุและผล ดังนั้นในการศึกษาเรื่องเดียวกันก็จริง แต่ใช้วิธีการที่ต่างกัน การเข้าใจวิธีการจะต้องรู้และปฏิบัติได้อย่างดี ต้องชัดเจนในศาสตร์ของตน

สังคมศาสตร์ (Social Science) เป็นการศึกษาเนื้อหาที่เป็นลักษณะทางสังคมของกลุ่ม ซึ่งมีระดับที่แตกต่างกัน วิวัฒนาการของการศึกษาจะให้น้ำหนักหรือเรื่องที่ไม่เหมือนกัน มี 5 เส้นทางได้แก่

1. การศึกษาในเชิงสถิติที่มีการสำรวจ (survey) จะใช้หลักการทางสถิติหรือที่เรียกว่า(Statistic Survey) และใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปอธิบาย

2. การศึกษาความเป็นจริงทางสังคมที่เกิดขึ้น(social facts) เช่น ทำไมมนุษย์จึงกระทำเช่นนี้ ความจริงที่ปรากฏคืออย่างไร

3. การศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม(Social Phenomena) เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของสังคมขณะนั้น เช่น ทำไมโปรเตสแตนต์จึงมีการฆ่าตัวตายสูงสุด หรือ ทำไมคนประเภทหนึ่งจึงมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง ซึ่งสรุปว่าเป็น โปรเตสแตนต์ จนเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ (Protestant Effect)

4. การมองสังคมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ ทำไมพฤติกรรมของคนจึงเป็นแบบนี้ ทำไมระบบจึงเป็นแบบนี้

5. สนใจความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับคุณค่าที่สังคมยึดถือ คือ Knowledge and Social value

ดังนั้น แต่ละเส้นทางต้องการหาอะไร ต้องชัดเจนในศาสตร์ของตนจึงจะเป็น Ph.D. สาขาที่เราเรียนมุ่งไปในทิศทางใด จะหาอะไรต้องเข้าใจให้ชัดเจน ทะลุปรุโปร่ง ดังนั้น การศึกษาทางสังคมศาสตร์ (Social Science) จึงเป็นลักษณะ Logical Positivism คือถ้าสามารถศึกษาความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นในสังคมได้ จะสามารถสรุปทฤษฎีนั้นได้แต่ยังไม่มีความรู้หรือทฤษฎีที่เป็น Grand Theory ซึ่งอธิบายโดย Karl R. Popper แล้วแต่ว่า แต่ละสาขาในกลุ่มสังคมศาสตร์จะมีระเบียบวิธี หรือวินัยการวิจัย(disciplinary)ของตนเองว่า จะศึกษาอะไร หรือที่เรียกว่า “Content” นั้น และจะมีกระบวนและวิธีการศึกษาอย่างไร “Process” หรือ “Methodology” 

1. ศาสตร์หรือเส้นทางที่เรียกว่า Content นั้น แต่ละสาขาวิชามีความแตกต่างกัน เช่น สาขามานุษยวิทยา ทำการศึกษาความเป็นมนุษย์ในองค์รวมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ในทุกๆ มิติของมนุษย์ เช่น ครอบครัว ความเชื่อ สังคม การอยู่ร่วมกัน เป็นต้น

สาขาศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ ทำการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อค้นหาศักยภาพของคน และทำหน้าที่ช่วยพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น “เราต้องไม่ปล่อยให้โรงเรียนไปทำลายศักยภาพของนักเรียน” (ท่านอ้างถึงคำพูดของ Mark Way)

สาขาภูมิศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพ และได้นำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบาย เช่น Human Geographic

สาขาประวัติศาสตร์ ศึกษาอดีตที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะอะไร

สาขาภาษาศาสตร์(Linguistic) ใช้ภาษาในการอธิบายความคิดของมนุษย์ โดยใช้หลักการ   Logical Positivism

ดังนั้นคุณสมบัติของปริญญาเอกคือ ต้องมีทฤษฎีในศาสตร์ของตน หรือ Content ที่เป็น Logical Positivism การสอบ Qualify Examination หรือการสอบ Comprehensive Examination จึงเป็นการทดสอบทฤษฎีในศาสตร์ของตนว่าคุณจะเป็น “นักวิทยาศาสตร์ศึกษา” อย่างไร สามารถวิเคราะห์ในศาสตร์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ศึกษาได้อย่างไร เพราะทุกศาสตร์มีโครงสร้างทฤษฎี (Structural Theory) ของตนเอง ต้องเข้าใจ ถ้าสามารถแยกแยะลงสู่รายละเอียดได้มากเท่าใด จะสามารถอธิบายได้มากเท่านั้น จึงจะเฉพาะเรื่องนั้นๆ

2. วิธีการทางสังคมศาสตร์ (Methodology) ใช้ Scientific Method Empiricism คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถ

- การสังเกตได้ (observation)

- เป็นจริง (reality)

- สามารถวัดได้ (measurement) โดยต้องมีการกำหนดคุณลักษณะ(attribute)  อย่างมีเหตุผล ซึ่งทางสังคมศาสตร์นั้นเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่การวัด ซึ่งมีความละเอียดที่แตกต่างกัน

สิ่งสำคัญคือ การแทรกแซง โดยส่วนใหญ่ที่มีการหลงทางกันมากในปัจจุบันโดยเฉพาะทางศึกษาศาสตร์ คือ ดึงเอาเพียงคุณลักษณะ(attribute)  เดียวเท่านั้นมาศึกษา เฉพาะกลุ่มเดียว ห้องเดียว ชั้นเดียว ทำให้คลาดเคลื่อนไปกันใหญ่ เหมือนกับต้องการศึกษาเฉพาะความหล่อ แต่ไม่สนใจความดี ความเสียสละ ของบุคคลนั้น พูดแต่เพียงว่า “เอาเท่านั้น” นั่นคือวินัยนักวิจัย

- การทดลอง (experiment) เป็นสิ่งสำคัญอีกวิธีการหนึ่งของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อทำแล้วทำอีกก็ได้ผลเหมือนเดิม เป็นการทดสอบสมมติฐานโดยไม่ต้องมีความรู้ที่มีมาก่อน  (prior knowledge) มีเพียง  post knowledge เท่านั้น โดยต้องมีเหตุผล (reasoning) และตรรกะ(logic) ซึ่งประกอบด้วย Inductive logic, deductive logic และ reproductive logic

ความจริง(truth) หรือสัจจะ ยังไม่สามารถหาได้ มีเพียง reality เท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขของ empiricism ต่อเงื่อนไขทางสังคมศาสตร์ มีดังนี้

1. ความรู้ (knowledge) มาจากสิ่งที่เป็นจริงเท่านั้น

2. คุณลักษณะ (attribute) ของสิ่งที่เป็นจริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงการมองเห็น หรือการรับรู้(perception)ของเราเท่านั้น ซึ่ง Immanuel Kant บอกว่า “Thing in itself” คือ มันเป็นอย่างนั้น เพราะอย่างนั้น ซึ่งนี่คือ หลักสำคัญของสังคมศาสตร์ (Social Science) งานของสังคมศาสตร์ เป็นได้เพียงการรายงานเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งนั้น และจะต้องเป็นสิ่งนั้นด้วยตัวมันเอง(objective) ไม่ใช่เป็นเพราะเรา เราศึกษาเรื่องของคนอื่นที่ทำไว้แล้ว แต่คนละมุมกันก็ได้ เป็นการมองมุมใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ทางวิชาการ

3. ถ้าทำการศึกษาและมีประสบการณ์ของสิ่งที่เป็นจริงให้มากพอ จะเห็นความเป็นจริงของเรื่องนั้นเหมือนกัน

ระยะหลังมานี้หรือเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาจึงมีคนศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์หรือที่เรียกว่า The Behavioral Science ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในความเป็นจริง ซึ่งการดูพฤติกรรมดูได้หลายระดับ แต่ต้องมีกติกาที่กำหนดขึ้นร่วมกัน เพื่อให้เป็นตัวแทนในการอธิบาย ทำให้ทฤษฎีต่างๆ พัฒนาอย่างมาก เช่น decision making ในสาขาการจัดการ การบริหารธุรกิจ หรือ communication ในสาขาการสื่อสาร

การศึกษาและวิจัยทางประวัติศาสตร์   (Historical Research) จะศึกษาความจริงในลักษณะสังคมไม่ได้ แต่ร่องรอยต่างๆ สามารถศึกษาแบบวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ โดยมี 6 คำถามที่สำคัญคือ หลักฐานที่ใช้ศึกษาเกิดขึ้นเมื่อใด เกิดขึ้นที่ไหน เกิดโดยใคร เหตุการณ์ที่เกิดก่อนหลักฐานนี้คืออะไร เพื่อช่วยอธิบายว่า ควรเชื่อหลักฐานนี้หรือไม่ อย่างไร หลักฐานนี้เป็นต้นฉบับอยู่ในรูปแบบอะไร และคำถามสุดท้ายคือคุณค่าที่ปรากฏ ในเนื้อหาสาระของหลักฐานนั้นคืออะไร

การศึกษาเรื่องใดๆ จะต้องมีมุมของตนเอง เพื่อ พัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ให้เต็มตามศักยภาพนั้น นี่คือแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีมุมที่วิทยาศาสตร์ไปไม่ถึง เช่น เรื่องวิญญาณ การเก่งด้านดนตรีของโมสาส จึงเป็นข้อจำกัดของ Logical Positivism ทำให้ความรู้สามารถสอนให้เก่งได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงที่สุด จึงเป็นข้อโต้แย้งของกลุ่ม Critical Theory ว่าการศึกษาทาง Logical Positivism ที่ใช้ Scientific Method นั้น เป็นการศึกษาในลักษณะภาคตัดขวาง ไม่ได้อธิบายทั้งหมด เป็นจริง ณ จุดหนึ่งเท่านั้น บอกไม่ได้ว่าความรู้จริงๆ นั้นคืออะไร อธิบายไม่ได้ เช่นเหตุผลการฆ่าตัวตายในวันก่อน เมื่อมาถึงวันนี้เหตุผลเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับมิติของเวลา เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยน ปรากฏการณ์ทางสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย ในอดีต สังคมศาสตร์(Social Science) ทำการศึกษาเป็นเรื่องๆ ซึ่งปกติสังคมแยกส่วนไม่ได้ ต้องเป็นภาพรวมที่เรียกว่า Holistic Approach การที่จะเข้าใจสังคมต้องเข้าใจ agents และ  structure ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน

การศึกษาทาง Logical Positivism นำไปสู่ Modernism Theory, Post Modern Theory, Post-post Modern Theory ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วย rule และ resource

ในกระแสของเนื้อหาและระเบียบวิธี จะมีประโยชน์ต่อแค่เพียงผู้ศึกษาหรือผู้วิจัยเท่านั้น แต่ถ้าต้องการเผื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น เราจะยึดหลักการใด สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ประโยชน์ของความรู้ ขึ้นอยู่กับการนำความรู้ไปใช้สอย” ต้องเกิดประโยชน์มากที่สุด ต่อคนจำนวนมากที่สุด จึงไม่มีใครถูกผิด ขึ้นอยู่กับฐานความคิดของแต่ละคน สิ่งท้าทายคือ ปัญหาของประเทศ ของภาค คืออะไร ทำอย่างไรงานวิจัยจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ต้องยึดประโยชน์ต่อการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ให้กลายเป็น Policy Science คือเป็นปัญหาสาธารณะ ว่าปัญหาสาธารณะคืออะไร ความเป็นจริงของปัญหาคืออะไร ความคิดเห็นคืออะไร ปัญหากับความคิดเห็นต่างกันอย่างไร อย่าให้ความสำคัญของตัวแทน (representation) มากเกินไปจนลืมความสำคัญของกลุ่มตัวอย่าง จากกฎเกณฑ์ที่เราค้นพบ เนื่องจากสังคมศาสตร์ไม่เป็นความจริงที่สัมบูรณ์ (absolute) แต่มีเพียงโอกาสเป็นไปได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ จึงเป็นเพียง realityในเวลานั้นเท่านั้น future study จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นความท้าทายใหม่ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์คือ

          1. เมื่อสังคมเป็น Holistic จึงควรทำวิจัยเป็น Holistic ด้วย โดยการนำเอา “วิธีการและระบบคิด” ไปใช้ แต่ขณะนี้ เวลานี้ เราทำงานวิจัยเพียงมุมเดียว

          2. การทำวิจัยในสาขาเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่ในมิติหลายมิติ หลายคน ถือว่าเป็นสุดยอด น่าตื่นเต้น และเป็นประโยชน์สูงสุด “การมอง discipline ที่ต่างกัน จึงเป็น interdisciplinary”  ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุด

          3. หลากหลายสาขาทำเรื่องเดียวกัน จึงเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่ง แต่ถ้าเกิดปัญหากรณีหลายสาขาทำเรื่องเดียวกันแล้วเกิดความขัดแย้งในตัวข้อสรุป ต้องมองว่านั่นคือ space ซึ่งไปกำหนด space และ time นั่นคือ สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ของมัน ต้องยอมรับความจริง ว่าสิ่งที่รับรู้นั้นมีข้อจำกัด แต่ช่วยกันอธิบายความเข้าใจนั้น ซึ่งยังไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นจริง จึงต้องศึกษาต่อไป เพื่อให้เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด

งานวิจัยยุกต์ใหม่ จะไม่แบ่งว่าสิ่งไหนเป็นมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ขอเพียงตอบโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อย่างไร นั่นสำคัญกว่า.

...............................................................

 
 
 
 

 

 
 
หมายเลขบันทึก: 299170เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท