เรียนรู้ชีวิตจากหนังเรื่อง “BOILER ROOM - ขบวนการ ต้มตุ๋น”


หนังเรื่องนี้ผมคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองควรได้ดู และน่าจะนำไปใช้ในการอบรมพนักงานได้

 

หนังเรื่องนี้ออกฉายเมื่อเกือบ 10 ปี ที่แล้ว เมื่อ 28 กรกฎาคม 2543 แต่ผมเพิ่งได้มีโอกาสดูเมื่อไม่นานมานี้เองคือประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมาทางเคเบิลทีวีของโรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ก็ดูไม่จบ ดูได้ประมาณ ไม่ถึงครึ่งเรื่องก็จำเป็นต้อง Checkout จากโรงแรม เพราะต้องรีบเดินทางกลับ ในตอนนั้นผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรี่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ชีวิตที่ดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ติดตามต่อ จนกระทั่งเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ไปเดินตลาดนัดพูนทรัพย์ ย่านบางพูน ก็ได้ไปพบกับหนังเรื่องนี้แบกะดินขายอยู่ จึงได้มาในราคาแค่ 10 บาทเท่านั้นเอง  และเพิ่งได้มีโอกาสดูจบเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้เอง

เนื้อเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งคือ เซ็ธ เดวิส (จีโอวานี ริบิซี่) ที่พยายามดำเนินชีวิตตามแนวทางที่คิดว่าน่าจะประสบผลสำเร็จในชีวิตและมีความสุข ตามการขับเคลื่อนของวัตถุนิยม เริ่มจากการเปิดบ่อนเถื่อนเล็กๆ ในชุมชน จนกระทั่งถูกชักนำให้เข้าไปวงการโบรกเกอร์ขายหุ้น ที่สามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล และสามารถตอบสนองค่านิยมทางวัตถุ ที่ถูกชักจูงจากผู้ที่แนะนำให้เข้าวงการ ไม่ว่าจะเป็นรถเฟอร์รารี่ บ้านคฤหาสน์ การใช้ชีวิตหรูหรา แต่สุดท้ายเขาต้องต่อสู้กับความถูกต้อง ความรัก ความเข้าใจกับคนรอบข้าง อีกทั้งคุณธรรมและจริยธรรมในมโนสำนึกของเขา

 

สิ่งที่ผมคิดว่าได้จากหนังเรื่องนี้ ที่ควรเอาเยี่ยง แต่ไม่ควรเอาอย่าง คือ

-         ความสัมพันธ์ในชีวิตครอบครัว

พ่อกับลูกในหนังเรื่องนี้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยมั่นคงนัก ด้วยความที่พ่อมีอาชีพเป็นอัยการ พ่อจึงมีลักษณะเป็น I in me/I in it เผด็จการและคิดถึงสถานะทางสังคมความมีหน้ามีตา จนมองเห็นคนอื่น ไม่ดีไปเสียหมด ผมคิดว่าชีวิตครอบครัวต้องคุยกันให้มากๆ ผู้ใหญ่ไม่ควรวางกรอบบังคับเด็ก อย่าคิดว่าสิ่งที่เราคิดคือสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ต้องไว้วางใจกันและกัน

-         การคัดเลือกคนเข้าทำงาน

การคัดเลือกคนในเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าน่าจะจะมีแมวมองไปหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่เป็นตัวแสบๆ และเมื่อถึงขั้นตอนสัมภาษณ์ จะเหมือนกับให้คนที่พร้อมจะร่วมงานเป็นคนตัดสินใจด้วยใจรักจริงๆ ด้วยการกลับไปคิดใคร่ครวญว่าเราเหมาะกับงานนี้จริงๆ จากการที่ไล่คนออกจากห้องประชุมในทันทีทันใด จะเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาด ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ตามคุณลักษณะที่ต้องการ เช่น การมีมารยาทบุคลิภาพที่เหมาะสม การไม่รับคนที่มีใบอนุญาตมาแล้วเพราะต้องการฝึกคนให้หลอมเป็นรูปแบบวัฒนธรรมเดียวกัน เรียนรู้ไปพร้อมกันเป็นกลุ่ม

-         การทำงานร่วมกัน

วัฒนธรรมในองค์กรเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน การทำงานต้องรู้จักบทบาทของตนเอง ทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีคุณธรรมและจริยธรรมในการทำงาน การควบคุมอารมณ์ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่รุ่นน้อง เพื่อนร่วมงาน

-         การสอนงาน

การสอนงานในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน เปรียบเทียบให้เห็นว่า พี่เลี้ยงที่ดีควรจะทำตัวอย่างไร จะเห็นได้ว่าพี่เลี้ยงที่น่าเอาอย่างในเรื่องจะทำให้รุ่นน้องเกิดความศรัทธาและไว้วางใจ ก่อนที่จะสอนต้องมีการเตรียมการวางตัวให้ดี ใช้สถานการณ์จริงเป็นตัวอย่างในการสอน เน้นการปฏบัติให้ดูด้วยของจริง ดีกว่าพร่ำบ่นด้วยคำพูดซ้ำซากน่าเบื่อ

 

หนังเรื่องนี้ผมคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองควรได้ดู และน่าจะนำไปใช้ในการอบรมพนักงานได้เป็นอย่างดี โดยใช้หลัก AAR แสดงความรู้สึกและความคิดเห็นหลังจากได้ดูหนังร่วมกันแล้ว จากนั้นจึงสรุปร่วมกันเป็นองค์ความรู้ต่อไป

 

ข้อมูลอ้างอิงและภาพบางส่วนจาก

http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/newmovie/boilerroom/boiler.html

http://us.imdb.com/media/rm2854919168/tt0181984

http://www.fdb.cz/filmy/28139-riziko-boiler-room.html

หมายเลขบันทึก: 299863เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วเดี๋ยวจะเข้ามาอ่านอีกครั้งค่ะ

หาดูได้ที่ไหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท