๕๙. หนังสือทำโดย Blog to Book เล่มหนึ่งของผม


เริ่มปีงบประมาณใหม่เดือนหน้านี้ ผมกำลังจะขอย้ายจากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ไปอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็เพิ่งทราบว่าผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและพี่ๆน้องๆที่ทำงานของผม ได้ร่วมกันเตรียมการอยู่เบื้องหลังโดยยังไม่อยากให้ผมทราบ ที่จะทำหนังสือให้เป็นการขอบคุณและเป็นเครื่องรำลึกถึงกัน อันที่จริงผมจะไม่สามารถทราบเลยจนกว่าจะถึงวันกล่าวอำลากัน

ทว่า มาวันสองวันนี้ก็ต้องได้ทราบเพราะพรรคพวกเขาต้องการให้ผมเขียนคำนำหนังสือ เลยจำเป็นต้องบอกให้ข้อมูลผม แต่ก็ทราบเพียงแต่ว่าเขาจะเลือกที่พอให้คนอื่นอ่านได้โดยดึงเอาจากบางส่วนที่ผมเขียนในบล๊อกของ GotoKnow นี้ แต่ผมก็ยังไม่ทราบให้หายตื่นเต้นอยู่ดีว่าในเล่มจะมีเนื้อหาและรายละเอียดอย่างไร พอจะทราบรวมๆว่าเขาเลือกไปจากบางส่วนในหัวข้อที่ผมมักบันทึกและเขียนเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกันการพัฒนาคน ชุมชน  กลุ่มก้อน และองค์กร ในแนวประชาคม เลยได้เขียนคำนำขนาดยาวเพื่อขอร่วมทำเป็นหมายเหตุชีวิตการทำงานตนเองที่ทำงานมาถึงปีนี้ย่าง ๒๗ ปีแล้วด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือจากการจัดการความรู้ เขียนประสบการณ์ลงบล๊อกและแปรจากบล๊อกสู่หนังสือ : From Blog to Book

หมายเลขบันทึก: 300576เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 01:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

สวัสดีครับ อาจารย์ รวมงาน บล๊อก ทู บุ๊ก ของอาจารย์ อยากได้มาเรียนรู้ครับ เป็นคู่มืองานชุมชน

  • เมื่อเสร็จออกมาแลวจะส่งมาคารวะความงดงามของท่านผู้เฒ่าวอญ่าโดยเร็วครับ
  • ขอบคุณเป็นอย่างมากเลยครับ ท่านผู้เฒ่าวอญ่าทำให้ผมได้สัมผัสความรู้สึกดีจากการจะได้ให้ เป็นการสอนสิ่งดีแก่ผมอย่างไม่ต้องสอน ทว่า ทำสถานการณ์ให้ผมได้สัมผัสกับตนเองเต็มๆเลยทีเดียวครับ

เรื่องราวทั้งหมดเป็นความงดงามของการอยู่ร่วมกัน ที่มีความรัก ศรัทธา เป็นเครื่องยืดโยงความสัมพันธ์ที่ดีนั้นไว้

เหมือน "ธรรมะจัดสรร" นะครับ ในที่สุด ดวงดาวเล็กๆของผม ก็โคจรไปอยู่ร่วมเส้นวิถีของอาจารย์จนได้

ในฐานะ User คนหนึ่งของ Gotoknow ต้องขอขอบคุณที่ท่านได้เขียน ถ่ายทอดเรื่องราวที่ดีๆ ให้เเง่มุมที่หลากหลายเป็น "ทุนภายนอก" ที่มีคุณค่าให้กับผู้อ่าน ผู้ติดตามทุกท่าน ตรงนี้เป็นกุศลจิตที่มีพลังของอาจารย์

ในฐานะ ลูกศิษย์ ก็ ต้องบอกว่าดีใจมากครับ ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้กับอาจารย์อย่างใกล้ชิด

"มหิดล ปัญญาแห่งแผ่นดิน"

ต้องเป็นหนังสือที่งดงามมากๆเลยค่ะ

ลำพังข้อเขียนของอาจารย์ ก็มีความงามอยู่แล้ว

เมื่อประกอบกับภาพวาดเข้าไปอีก

คงงามจนแทบไม่มีที่ติ

  • คุณจตุพรพูดอย่างใจผมคิดเลย ทำความงดงามของการได้อยู่และทำงานด้วยกัน เมื่อเจอกันก็จะได้มีเรื่องราวเอาไว้พูดคุยเพื่อเป็นทุนชีวิตสำหรับทำสิ่งต่างๆให้เป็นความทรงจำที่ดีในอนาคต ต่อไปอีก
  • หลายเรื่องเมื่อเราทำนั้น บางทีแค่ปี-สองปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่ผู้คนและสังคมที่เราได้ร่วมสร้างนั้น จะเป็นเนื้อหาและความทรงจำของเราไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ พอมีคนทำให้มีความหมายต่อเรา ก็เป็นการให้สิ่งที่มีความหมายต่อสาระของชีวิตมากจริงๆ
  • ทำให้ได้ทบทวนตนเองไปด้วยว่านี่เราจะต้องอำลากันกับหลายสิ่ง อำลากรุงเทพฯไปอยู่ในชนบท อำลาเพื่อนและหมู่มิตรที่เติบโตมาด้วยกัน เพื่อเป็นอิสระจากกัน ทว่าผูกพันและเชื่อมโยงกันในความหมายที่กว้างขวางกว่าเดิม  
  • ตอนนี้ผมครึกครื้นในใจทุกวันไปกับการอยากเห็นว่าเขาทำอะไรกันบ้าง เข้าท่ามากครับ ทำการอำลากันให้กลายเป็นเรื่องสนุกและมีความหมายต่อกันดีจริงๆ อันที่จริงผมกับภรรยาก็แอบทำสิ่งหนึ่งสำหรับเพื่อนร่วมงานของผม แล้วก็จะอุบไว้เพื่อนำไปมอบให้ทุกคนในวันนั้นเช่นกัน สนุกและประทับใจดีครับ
  • สวัสดียามบ่ายครับคุณณัฐรดา

    • ผมบอก  ไม่ว่าจะเป็นใครบ้างที่กำลังทำกันอยู่เบื้องหลังบ้าง แม้เป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆในแง่วัตถุ แต่มีคุณค่าและความหมายต่อการให้ความมีน้ำใจต่อกันมาก เลยก็ขอให้เล่นและสร้างสรรค์ได้เต็มที่เลย ทำอย่างเป็นหมายเหตุของชีวิตที่ได้มีโอกาสมาทำงานด้วยกันเลย
    • ในที่ทำงานผมมีมือทำหนังสือดีอยู่หลายคนที่ไม่ค่อยได้เล่นอย่างเต็มที่ ผมพอจะเดาออกลางๆอยู่เหมือนกันว่าใครเป็นใครและน่าจะทำอย่างไรบ้าง กำลังคิดอยู่ครับว่าปีนี้จะเริ่มเน้นเขียนหนังสือและงานตีพิมพ์ แล้วก็จะดึงหลายอย่างที่เขียนทิ้งไว้ในบล๊อกต่างๆมาทำเป็นงานชุดความคิด-ความรู้ เลยอยากเห็นเขาทำกันจัง อยากได้แนวที่เป็นมุมมองของคนอ่าน

    คารวะเจ้าค่ะ อ.วิรัตน์

    อ่านแล้วก็ตาลุกวาว อยากได้หนังสือ.. แต่อ่านจากบล็อกก็ได้ค่ะ ของดีคงมีจำนวนจำกัด..

    อ่านต่อไปก็ใจหาย.. แล้วใบไม้ฯ จะได้พบอาจารย์กับทีมงานอาเซียนพร้อมหน้ากันอีกไหม คงไม่ถึงกับร้างลากันไปเลย ใช่ไหมคะ

    สารภาพเสียตรงนี้ก่อนว่า สิ่งที่ทำให้ใบไม้ฯ นับถืออาจารย์ที่สุด ก็เพราะเห็นการยอมรับจากชาวบ้านในชุมชนที่อาจารย์เคยร่วมงาน เห็นความสัมพันธ์ที่เป็นดั่งกัลยาณมิตรระหว่างอาจารย์และชุมชน เห็น "ใจ" สัมผัสกับ "ใจ" คนทำงานที่ได้ใจชาวบ้านนั้นมีไม่มาก เมื่อได้พบแล้วก็ประทับใจค่ะ

    ใบไม้ฯ พบคนทำงานมามากพอควร พบคนเก่งกาจก็มิใช่น้อย แต่กลับพบคนที่ได้ "ใจ" คนอื่นไม่มากนัก เรื่องเทคนิค ความชำนาญชาญฉลาด เป็นเรื่องรองในความรู้สึกของใบไม้ฯ เรื่อง"ใจ"ต่างหากที่สำคัญกว่า เพียงแต่ต้องใช้ควบคู่กับความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญในเทคนิควิธีการที่เหมาะสม

    ขอบคุณที่ให้โอกาสเรียนรู้ในการร่วมงาน แม้ว่างานจะยังไม่สำเร็จก็ตามที.. :P

    ขอให้ก้าวย่างทางเดินใหม่เต็มไปด้วยความเบิกบานและพรั่งพร้อมด้วยกัลยาณมิตรนะคะ..^__^..

     

    สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง

    ก็คงจะได้เจอกันพร้อมหน้าพร้อมตา ยังไม่แยกย้ายกันไปไหนหรอกครับ อาจจะคล่องตัวมากกว่าเดิมอีกด้วย หนังสือนี้เพื่อนๆของใบไม้นั่นแหละเป็นตัวตั้งตัวตี ฟังเขาคุยแย้มทีละนิดละหน่อยจนผมเองก็อยากเห็นทุกวันเลย ผมชอบศิลปะของการทำหนังสือ เวลาใครทำโดยมีการใส่ไอเดียและลูกเล่นต่างๆเข้าไปก็จะอยากเห็นครับ

    ผมก็ให้ใจทั้งกับชาวบ้านในชุมชนและมหิดลศาลายาด้วยเช่นกันครับ เพราะอยู่ทำงานเห็นน้ำใจและเหน็ดมาด้วยกันตั้ง ๒๕-๒๖ ปีเข้านี่แล้ว อยู่นานกว่าที่ไหนๆในชีวิตเสียอีก จนหลายคนนี่เคารพรักกันเหมือนเป็นญาติเลยทีเดียว นึกๆดูแล้วทำอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน คือวางแผนที่จะใช้เวลาสัก ๓-๔ ปีเพื่อค่อยๆออกจากชีวิตและการงานที่กรุงเทพฯทีละเล็กละน้อย หากจู่ๆก็ไปเลยนี่สงสัยเฉาตายเลย ผมติดคนและติดที่ครับ เลยต้องค่อยๆทำอย่างนี้แหละ 

    ขอบคุณคุณใบไม้ย้อนแสงด้วยเหมือนกัน ผมก็ประทับใจในความเป็นคนรุ่นใหม่ที่แข็งขัน เอาจริงเอาจัง มีทรรศนะวิพากษ์ และตื่นตัวที่จะเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอของใบไม้นะครับ

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    • ดิฉันอ่านบันทึกของอาจารย์ทุกบันทึกค่ะ
    • มีหลายบันทึกที่เกี่ยวกับทางวิชาการชั้นสูง  ก็พยายามอ่านแล้วอ่านอีก  เพราะต้นทุนทางการศึกษาต่ำกว่า  ทำให้ไม่ค่อยเข้าใจ  จึงไม่ได้แสดงความคิดเห็น
    • ดิฉันขอขอบพระคุณที่อาจารย์ไปอ่านบันทึกและแสดงความคิดเห็นไว้  จึงมีความมั่นใจมาแสดงความคิดไว้ที่บันทึกนี้ค่ะ
    • แต่ดิฉัน  ได้แรงยบันดาลใจที่จะเขียนเล่าเกี่ยวกับเรื่องราว วิถีชีวิต และคุณค่าของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ค่ะ
    • ขอขอบพระคุณอย่างสูง

    "มหิดล ปัญญาแห่งแผ่นดิน"....

    สมแล้วครับกับการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เพราะทรัพยากรบุคคลมีศักยภาพและสำคัญคือมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นสังคม...

    ชื่นชมเสมอมา...นะครับ

     

    สวัสดีครับครูคิม

    • ผมก็คงเหมือนครูคิมนั่นแหละครับ ก็ได้อาศัยอ่านบันทึกและบทความของหลายท่าน แต่ก็ไม่สามารถคุยแลกเปลี่ยนได้หมดอย่างที่ได้เข้าไปอ่าน
    • บางทีก็ทุนการศึกษาต่ำในเรื่องนั้นเช่นกัน เลยขออ่าน-ขอเรียนรู้ไปด้วย อย่างเดียว
    • บางทีก็...จะเรียกอย่างไรดี หากเป็นวงสนทนาก็เรียกว่าเกิดอาการคันปากยุบยิบ อยากคุย แต่ก็ต้องรู้ยั้งคิดยั้งคุย เพราะประเดี๋ยวจะกลายเป็นขาใหญ่ ทำให้กลุ่มพูดคุยที่กำลังได้บรรยากาศการเรียนรู้ดีจริงๆกร่อย
    • ขอบคุณครูคิมที่แวะมาเยือนและแลกเปลี่ยนกันครับ

    สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดินครับ

    • ชื่นชมอาจารย์แผ่นดินด้วยเช่นกันครับ ทั้งความริเริ่มทางวิชาการ ทั้งอุดมคติเพื่อสังคมท้องถิ่นและคนรุ่นใหม่ ทั้งความเป็นคนติดดิน-บ้านนอกที่ผสมผสานวิชาการเข้ากับความเป็นจริงของสังคม
    • ที่สำคัญคือมีภาษาของคนศิลปะมากครับ เป็นศิลปะของคนที่เห็น State of the art ของเรื่องต่างๆ

    คอมเม้นต์ของอาจารย์ณัฐพัชร์ :

    สวัสดียามดึกค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • แวะมาแสดงความยินดีล่วงหน้าสำหรับ หนังสือ Blog to Book ฉบับ "วิถีประชาศึกษา" เล่มนี้ค่ะ
    • วันนี้ (๑ ตุลา ๕๒) ฉบับปฐมฤกษ์ค่ะ เราคงจะได้เห็นโฉมซะที หลังจากที่อุบกันมานาน (คันปากยิบๆ ทุกครั้งที่ได้คุยกับอาจารย์)
    • เห็นด้วยกับข้อความของคุณณัฐรดา และคุณใบไม้ย้อนแสง ทุกประการค่ะ ถึงได้เกิด Blog to Book นี้ขึ้นมาค่ะ ..
    • ชื่นชมในผลงานเขียนของอาจารย์ทุกตัวอักษร และทุกภาพลายเส้นค่ะ ทรงคุณค่ามากค่ะ ...
    • การทำงาน เบื้องหลังมีเรื่องคุยกันเยอะค่ะ ตั้งแต่ปกหน้า จนถึงปกหลัง (อุบกันต่อไป จนกว่าจะได้เห็น และได้อ่านหนังสือเล่มนี้นะค่ะอาจารย์ขา) ...

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ ( ขออภัยครับผมไปก๊อบปี้เลยไปถึงกล่องสนทนาของอาจารย์ ทำให้ตรงที่อาจารย์เข้ามาคุยด้วยพังไปด้วยเลย เลยขอก๊อปปี้เอามาใส่ไว้ใหม่นะครับ )

    • นี่ก็เป็นคนหนึ่งละที่เป็นคนซุ่มทำกันอยู่เบื้องหลัง พอรู้สึกได้อยู่เหมือนกันว่าคงมีการอุบทำอะไรกันอยู่
    • อาจารย์ น้องๆ และเพื่อนๆ ทำอย่างนี้ ทำให้ผมดีใจไปด้วยว่าได้เป็นเหตุให้ทุกท่านได้ทำความงอกงามในใจตนเองผ่านการเลือกสรรทำสิ่งที่คิดว่าดีให้กับผู้อื่น สปิริตนี้งดงามและเป็นพลังชีวิตให้กับตนเองได้ดีในอนาคตครับ
    • การทำให้กับคนอื่นเพื่อให้ผู้อื่นได้มีความสุข เป็นภาษาของการปฏิบัติที่สะท้อนจิตใจและคุณธรรมของเราที่มีต่อผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ เหมือนกับในคติชาวบ้านที่มักน้อมตนเองกล่าวอนุโมทนาสาธุต่อผู้อื่นหรือน้อมตนลงเพื่อยกย่องชื่นชมผู้อื่น ซึ่งเมื่อมองในมุมกลับแล้ว คนที่ยิ่งทำอย่างนี้ได้ ก็ยิ่งบอกถึงการมีคุณธรรมสูง ดังนั้น จึงขอคารวะครับ
    • ผมก็มีกระเป๋าผ้าดิบ เพื่อมอบเป็นการขอบคุณเพื่อนๆและทุกสิ่งอย่างบนหนทางเดินในชีวิตและการงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาด้วยครับ อาจารย์และน้องๆทำให้ผมตระหนักในวาระนี้ เพราะแต่เดิมก็รู้สึกเฉยๆครับ แต่พอมาทบทวนดูแล้วก็ได้คิดว่า นี่ผมกำลังจะอำลาชีวิตการทำงานที่กรุงเทพฯและไปอยู่ต่างจังหวัดที่เหมือนกับคิดอยู่ในใจมาตลอดเลยนะนี่ ได้โชคดีเจอคนที่เป็นกัลยาณมิตรมากมาย เลยก็ขอทำกระเป๋านี้มาร่วมแจมด้วยครับ

                                 

    • บนกระเป๋าสกรีนรูปวาดลายเส้น เป็นภาพประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นชีวิตชุมชนและการรวมกลุ่มอย่างเป็นธรรมชาติในวิถีการผลิตของชุมชนชาวนาไทยในชนบทของบ้านเกิด คือที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ผมวาดเองครับ ดึงมาจากในบล๊อกนี้เองครับ ทำเป็นสื่อรณรงค์เรื่องต่างๆไปในตัว
    • ใต้ภาพก็มีคติว่า "เดินร่วมทางกันได้ ๗ ก้าว แม้เป็นคนอื่น ก็นับได้ว่าเป็นเพื่อน  กินข้าวร่วมกัน ๑ มื้อ แม้เป็นคนอื่น ก็ให้ความคุ้นเคยกันดังญาติ  นอนแรมทางกันเพียง ๑ ราตรี แม้เป็นคนอื่น ก็ให้ความวางใจกันเสมือนเป็นตัวเอง" นำมาจากพุทธวจนะที่ว่า ความคุ้นเคยกันเป็นญาติอย่างยิ่ง เพื่อขอบคุณที่โชคดีเหลือเกินที่ได้เจอกับผู้คนตลอดชีวิตการทำงานและได้ร่วมทุกข์สุขกันมากมายครับ

    ขอให้อาจารย์มีความสุขและประสบความสำเร็จในทุกสิ่งอย่างเช่นกันครับ

    ลุงม่อยคร้าบบบบ....... ยินดีด้วยกะ ... ซีรีย์แรก "วิถีประชาศึกษา"

    (1) แรก....นึกว่าเป็นกระเป๋าธรรมดา ดูข้อความและภาพที่สกรีนแล้วไม่ธรรมดาแล้ว.... "เดินร่วมทางกันได้ ๗ ก้าว แม้เป็นคนอื่น ก็นับได้ว่าเป็นเพื่อน กินข้าวร่วมกัน ๑ มื้อ แม้เป็นคนอื่น ก็ให้ความคุ้นเคยกันดังญาติ นอนแรมทางกันเพียง ๑ ราตรี แม้เป็นคนอื่น ก็ให้ความวางใจกันเสมือนเป็นตัวเอง"...... นี่ถือ "หลักและวิถีแห่งปราชญ์" โดยแท้ และผมว่านี่คือ "ตัวตน" ของลุงม่อยเลยล่ะ เมื่อสักประมาณ 2-3 ปี ผมไปร่วมงานรำลึกพระมหาเถระรูปหนึ่ง ศิษยานุศิษย์ได้จัดทำกระเป๋าแจกพร้อมหนังสือ บนกระเป๋าเขียนไว้ว่า"น้ำบ่อน้ำคลองยังเป็นรองน้ำใจ น้ำไหนๆ ก็สู้น้ำใจไม่ได้"......ถึงบัดนี้ผมยังเก็บไว้อย่างดีเลยครับ ข้อความบนกระเป๋าลึกซึ้ง งดงามมาก .... เช่นกันครับ... กระเป๋าลุงม่อยทั้งภาพลงแขกเกี่ยวข้าว และ ข้อความดังกล่าวที่อาจารย์คัดสรรมาแล้ว งดงามครับ งดงาม.........

    (2) หนังสือ Blog to Book ฉบับ "วิถีประชาศึกษา" .....ฉบับปฐมฤกษ์ ต่อแต่นี้ไปผมคงไม่ต้องลำบากเสียเวลาเปิดคอมฯ ตามอ่านใน Blog แล้วล่ะ ต้องบอกว่าไม่เบื่อครับที่จะอ่านแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า อ่านคราวใดได้ขบคิด ได้ความลุ่มลึก ได้มิติแห่ง"วิถี" และ "จิตวิญญาณ" แห่ง "ประชา" ทุกคราวไป ผมพลอยได้อานิสงส์เตือนตัวเองทุกครั้งไปว่า "วิถีประชา" เช่นนี้แหล่ะ คือชีวิตและจิตใจของสังคม ซึ่งเราเองก็ควรตระหนัก สังวรณ์ตัวเองให้นอบน้อม ค้นคว้าศึกษาไว้ และเผื่อแผ่ให้มวลมิตรให้ได้ลิ่มรสความงดงามเช่นนี้ด้วย..... ต้องบอกว่า บนเส้นทางแห่งการฝึกฝน บ่มเพาะ และเรียนรู้ และด้วยภูมิภาวะแห่ง"ครู" ลุงม่อยได้ตกผลึก เรียบเรียง และถ่ายทอด ได้อย่างมีอรรถรสอย่างยิ่งครับ......... (ทั้งหมดที่กล่าว... ประหนึ่งจะเอ่ยความในว่าจะรอเล่มต่อๆ ไปคร้าบบบ... )

    หลานชายลุงครับพ๊มม...

    "ช้างน้อยมอมแมม”

    • หลานช้างน้อยมอมแมม เป็นคนหนึ่งที่มีทุนทางสังคมที่จะทำงานวิจัยและงานวิชาการในแนวทางนี้ได้ดีมากๆนะครับ
    • หลานแสดงความคิด เขียน สะท้อนทรรศนะ และจับประเด็นออกมาต่อความคิด ได้ดีมากๆนะครับ เป็นคนเขียนหนังสือเพื่อสร้างความรู้และนำเสนอประเด็นต่างๆในแนวการวิพากษ์ดีนะครับ ไม่ต้องซุ่มมากก็ได้นะหลาน เอาออกมาใช้เหอะ ดีแน่ๆ 

    วิถีประชาศึกษา หนังสือ From Blog to Book

    • ออกมาแล้วครับ ประทับใจมาก-ถึงมากที่สุด หลังจากแอบรอดูว่าเขาอุบกันทำอะไร และหนังสือจะออกมาอย่างไร ซึ่งเห็นแล้วอึ้งครับ ที่หน่วยงาน น้องๆ  เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งชาวบ้านและกลุ่มประชาชนที่เคยทำงานขับเคลื่อนสังคมแนวประชาคมมาด้วยกัน เขาพากันทำให้
    • เห็นเขาทำกันอาทิตย์-สองอาทิตย์เท่านั้น ทำไมออกมาดูดีจังทั้งรูปแบบ รูปเล่ม เนื้อหา

                                

    • เนื้อหาข้างในมี ๒ ส่วน ส่วนที่ดึงไปจากบล๊อก เลือกไปจากหัวของ วิถีประชาศึกษา ซึ่งเป็น ๑ ใน ๑๒ หัวข้อบันทึกที่ผมเริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙
    • อีกส่วนหนึ่งที่ประทับใจอย่างที่สุดคือ การเขียนฝากความคิด-ความรู้สึกเพื่อเก็บไว้รำลึกถึงกันของเพื่อนร่วมงาน กับกลุ่มคนที่เป็นเครือข่ายทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมในระดับพื้นที่แนวประชาสังคม ทั้งในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และเครือข่ายต่างจังหวัด รวมไปจนถึงครูอาจารย์ อดีตผู้บังคับบัญชา และผู้ใหญ่ที่รักและเคารพนับถือ ซึ่งเขาไปรวบรวมและระดมกันเขียนให้ผม

                                

    • ในเล่มมีรูปวาดเป็นภาพประกอบรวมเป็นหนังสือขนาดพ๊อกเก็ตบุ๊ค ความหนากว่า๔๐๐ หน้า เนื้อในพิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตาขนาดเบาจนเหมือนกระดาษปรู๊ฟ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    วิถีประชาศึกษา

    • ขออนุโมทนาที่มีหนังสือน้องใหม่เกิดขึ้นมาให้ได้ยลโฉม

    กราบขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแลครับ เป็นหนังสือที่สวยครับ คนออกแบบกล้าเล่นดีครับ ดูเรียบง่ายเข้ากับลักษณะของเนื้อหามากครับ

    ยังอยู่ในห้วงกลิ่นอายยยย..... หนังสือ "วิถีประชาศึกษา" ครับ

    (1) มีโอกาสได้สัมผัส และสัมภาษณ์ทีมงานทำคลอด "วิถีประชาศึกษา" ทีมงานบอกว่า "อาจารย์อิ่มใจ น้องๆอิ่มบุญ" ขอรับ...

    (2) ผ่ะ.... เอิญ เช่นกันครับ อยู่ในห้วงรำลึก 50 วันหลังการเสียชีวิตอาจารย์กรุณา กุศลาสัย "ครูชีวิต" ท่านหนึ่งที่ผมชื่มชม ทั้งผ่านผลงาน และแบบอย่างของการครองตน ซึ่งท่าน ว.วชิรเมธี (ปธ.9) วัดเบญจมบพิตร ท่านได้ถอดบทเรียนไว้ว่าท่านเป็น "บุรุษอาชาไนย" (http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=69002)

    และ...... ผมลองถอดบทเรียน เจ้าของผลงาน "วิถีประชาศึกษา" เล่มนี้ครับ ... แม้นไม่แยบคายนัก แต่ขอนำเสนอโดยสังเขป

    ครองตน ครองสติ : บ่อยครั้งได้ยินคำว่า “ผมเป็นคนบ้านนอก ผมไถนาตั้งแต่วัยรุ่น” = แก่นของวิถีประชาเชียวหล่ะครับ "บ้านนอก" เป็น “สัปปายะ” อันรวมความถึงครอบครัว ผู้คน และวิถีแห่งสังคมและวัฒนธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดความงดงาม

    บ่มเพาะ และเรียนรู้ : บ่อยครั้งได้ยินคำว่า“ครูลักพักจำ” = ใช่เลยครับ....แบบฉบับของ Life-long Learning ของแท้ วงการศึกษา (เน้นย้ำว่า..ของไทย) ณ ปัจจุบัน พึงเรียนรู้จากบทเรียน "วิถีประชาศึกษา" ให้ถึงแก่น และเยื้อในกระดูก

    ธำรงตน : บ่อยครั้งได้ยินคำว่า“อย่างมากเขาก็ว่าเราโง่” = นี่ก็ใช่เลยครับ “อุเบกขาธรรม” เป็นวิถีแห่งพรหมเชียวล่ะครับ.... หนึ่งในหลักแห่งพรหมวิหารธรรม เรามักมุ่งมั่นเพื่อเข้าถึง "ความเป็นเลิศทางวิชาการ" บางคราวน่าจะนำคำนี้มาทบทวน เพื่อตั้งสติ ลดตัวตนลง และเพื่อเข้าถึง "ความเป็นเลิศทางวิถีประชา"

    เป้าหมาย : บ่อยครั้งได้ยินคำว่า“พาชาวบ้านกลับบ้านให้ถูกทาง” = สุดยอดเลยครับ..... ท่ามกลางสังคมที่ยึดเอา “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ในทางที่ผิดๆ เราละเลยคนรอบข้างไป การนำพาชาวบ้านกลับบ้านให้ถูกทางคือ"วิถีแห่งพระโพธิสัตว์" ครับ...นับถือ นับถือ

    อยากอ่านเล่มสอง สาม.... ฯลฯ ต่อไป

    ขอบคุณแทนผู้กระหาย...และใฝ่รู้ ทุกท่าน

    ช้างน้อยครับบบบ.......

    สวัสดีครับคุณช้างน้อย

    ๑. การทำหนังสือเป็นการได้เห็นภาพสะท้อนหลายอย่างของทีมที่ทำน่ะครับ คงจะเวลาทำที่จำกัดมากทีเดียว แต่ก็ทำออกมาได้ดีครับ ทำให้เห็นศักยภาพหลายอย่างของทีมที่ผสมผสานแล้วสะท้อนลงในความเป็นทั้งหมดของหนังสือ เลยอิ่มใจครับ

    อิ่มใจในฝีมือของทีมทำคลอดน่ะ ดูเผินๆแล้วก็มีหลุดและขาดความพิถีพิถันอยู่บ้าง แต่เมื่อดูภายใต้ความยุ่งยากของการดึงข้อมูลเพื่อนำมาจัดใหม่และระยะเวลาอันจำกัดมากแล้ว ก็นับว่าเยี่ยมและเห็นพลังของความทุ่มเทใจทำครับ

    ๒. การปาฐกถาพิเศษของท่าน ว.วชิรเมธี เนื่องในงานรำลึก ๕๐ ปีมรณกรรมอาจารย์กรุณา กุศลาสัยนั้น เป็นปาฐกถาที่กล่าวถึงชีวประวัติบุคลและการเรียนรู้บทเรียนจากชีวิต ที่เป็นการแสดงคารวาลัยต่อชีวิตอันสูงส่งของบุคคลที่หมดจรด ลึงซึ้ง แยบคาย และเชื่อมโยงไปสู่พรมแดนความเข้าใจสังคมและสิ่งต่างๆอย่างกว้างขวาง ผมได้ปัญญาและประทับใจมากอย่างยิ่งเช่นกันครับ

    ๓. เมื่อมองชนบทและการดำเนินชีวิตของผู้คน ผ่านวิถีประชาศึกษาและ Life-long Learning แล้ว ก็จะทำให้สามารถเห็นวิถีแห่งการเรียนรู้ที่ผสมผสานอยู่กับการทำมาหากินและการดำเนินชีวิตได้อย่างแจ่มชัดมากขึ้น รวมทั้งรู้จักสิ่งที่เป็นความรู้แบบ Tacit Knowlegde และการเรียนรู้ที่อยู่กับความเป็นชุมชน ที่ให้ทั้งความเติบโต งอกงาม ริ่นรมย์ในชีวิต และยกระดับการพัฒนาผู้คนในหลายด้าน

    พอมองในแง่นี้ แล้วก็นำมาถ่ายทอดและนำเสนอในอีกแบบหนึ่ง นอกจากจะเห็น ความสัมปายะ ต่อความงามแห่งชีวิตผู้ตนแล้ว ก็จะทำให้ทั้งคนจากชนบทเองและคนเมืองได้เห็นอีกหลายอย่างที่มีอยู่ในชนบท ไม่ใช่มีแต่ปัญหาและสิ่งที่ดูขาดไปหมดจนสังคมมุ่งแต่ทะยานไปข้างหน้าและละทิ้งหลายอย่างที่เป็นสิ่งดีๆของตนเองไปมากมาย ก็เลยชอบพูดและย้ำเมื่อมีโอกาสเสมอครับ คุณช้างน้อยจับประเด็นนี้ได้ดีนะครับ

    การพัฒนาการเรียนรู้ในวิถีประชาศึกษา และ Life-long Learning ในแง่มุมนี้ จึงเป็นการศึกษาของประชาชน พลเมือง และของชุมชน ที่ผมคิดว่าจะมีความสำคัญทั้งต่อการพัฒนาสุขภาวะสังคมที่ดี มากนะครับ

    ๔. ย่างมากก็ให้เขาว่าเราโง่ (แต่ขอให้งาน องค์กร และสังคม สามารถเดินไปข้างหน้า) เป็นหลักปฏิบัติที่ผมถือเอาแบบครูพักลักจำมาจากท่านพุทธทาสภิกขุครับ ท่านพุทธทาสท่านต้องดูหนังสือและบางทีก็เห็นการเขียนจดหมายติดต่องานของคนอื่นที่ผิดๆถูกๆ แต่เมื่อดูแล้ว หากไม่ใช่ตัวงานและไม่ใช่สาระสำคัญที่จะกระทบต่อสิ่งที่เป็นความต้องการหลักของงานนั้น ท่านก็จะลงนามและไม่พูดออกปากตำหนิให้ผู้ที่ทำกระทบกระเทือนจิตใจ

    บางครั้งท่านก็แก้ไขด้วยมือแล้วนำไปใช้เลย ไม่ต้องให้เสียกระดาษและกำลังคนเพิ่ม ท่านยอมให้งานเดินหน้าไปยังจุดหมายก่อน และให้ผู้ปฏิบัติได้ความเชื่อมัม่นที่จะเติบโต มากกว่าจะสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรเพิ่มเพียงเพื่อให้ตนเองดูแล้วมีความถูกต้องในเรื่องเล็กๆน้อยๆแต่งานสำคัญเสีย

    อันที่จริงเรื่องนี้ผมได้แก่ตนเองในแง่ได้ฝึกข่มใจ และเรียนรู้โลกรอบข้างไปในตัว เพราะหลายเรื่องไม่ใช่ความบกพร่องเล็กๆน้อย แต่บางที ผมสังเกตเห็นว่าเป็นการลองใส่เป็น Treatment เข้ามาด้วยซ้ำ ไม่ใช่ความบังเอิญผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นได้อย่างปรกติของคน อีกทั้งไม่ใช่เพียงแค่การลองภูมิธรรมดาๆ แต่เป็นการใส่เป็น Treatment อย่างมีวัตถุประสงค์ของการทำด้วย ซึ่งนอกจากต้องถือธรรมะเข้าข่มว่าอย่างมากก็ให้เขาว่าเราโง่แล้ว ยังต้องเรียนรู้เพื่อสู้กับความโกรธอย่างมากมายของตนเอง จนได้ความแน่ใจมากพอสมควรว่า เราสามารถรู้จักตนเองและจัดการกับตนเองได้ดีพอสมควร เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่ก็ได้การเรียนรู้ที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อนหลายเรื่องครับ

    ๕. จะได้พากันกลับบ้านถูก ....ชอบจังเลยครับที่คุณช้างน้อยเห็นประเด็นนี้ ผมและคนจากชนบทเป็นจำนวนไม่น้อย ตระหนักในวิถีวิชาการของตนเองดีว่า แทนที่จะไหลลู่ไปข้างบนสู่ยอดปิรามิดของสังคมเพื่อมุ่งสู่การเสริมกำลังแข่งขันไปข้างหน้าของกระแสหลักซึ่งดีมากแล้วอย่างเดียวนั้น เราควรมุ่งหันกลับลงสู่ฐานสังคม เชื่อมโยงกับผู้คนส่วนใหญ่อันเป็นภาคที่เราจากมาอันได้แก่ชนบทซึ่งเขาเสียกำลังคนที่ติดอยู่กับตัวลูกหลาน  การมุ่งในวิถีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมก็คิดว่าเป็นลูกบ้านนอกที่คุ้นเคยที่จะอดทนและทำได้ อีกทั้งควรจะทำ คิดว่าเป็นอีกแนวหนึ่งที่ช่วยเชิดชูสปิริตจากภาควิชาการของสังคมด้วยซ้ำนะครับ

    ชอบการสนทนาของคุณช้างน้อยนะครับ อ่านเพลินและได้หลายอรรถรส เอาอีก-เอาอีก

    • อ่านคำสนทนา (ถอดบทเรียน) ของคุณช้างน้อย ซึ่งเฉียบไม่แพ้ท่าน ว.วชิรเมธี เลยเชียว และการสนทนาตอบของอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์  แล้วไม่มีคำพูดใดใดสำหรับ "วิถี ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์" คนนี้ค่ะ

          

    • "ดูเผินๆแล้วก็มีหลุดและขาดความพิถีพิถันอยู่บ้าง" << ขนาดดูเผินๆ นะค่ะเนี่ยะ ถ้าดูจริงๆ ขึ้นมาคงเห็นแทบทุกหน้า .. จะขอแก้มือ แก้ตัวกันในเล่มหน้าค่ะ จะเนียบและพิถีพิถันกว่านี้นะค่ะ
    • "๒. การปาฐกถาพิเศษของท่าน ว.วชิรเมธี เนื่องในงานรำลึก ๕๐ ปีมรณกรรมอาจารย์กรุณา กุศลาสัยนั้น" <<< ขออนุญาตแก้ไขคำให้อาจารย์นิดนึงค่ะว่า ๕๐ วันมรณกรรมของอาจารย์กรุณา ค่ะ

           รอผลงานคุณภาพเล่มต่อๆ ไปของอาจารย์เช่นกันค่ะ

     

    สวัสดีครับคุณณัฐพัชร์

    • การได้ฟังปาฐกถาของท่าน ว.วชิรเมธี ครั้งนี้ ผมเห็นความรอบด้าน ความรอบรู้ และพลังแห่งคารวะธรรมที่สะท้อนสู่การเรียนรู้ชีวประวัติท่านอาจารย์กรุณาอย่างพิถีพิถัน แล้วก็นำออกมาแสดงได้อย่างงดงามไปหมด ท่านมีเครื่องมือทางปัญญาสำหรับส่องมองสรรพสิ่งดีจริงๆ
    • คุณช้างน้อยนี่พื้นฐานดีจริงๆครับ ทั้งประสบการณ์ชีวิต การศึกษาเรียนรู้หลายพรมแดน และการเปิดกว้างให้กับความเป็นวิชาการหลายสาขา หากมีวงจรได้ตกผลึกประสบการณ์ตนเองคู่ไปกับการได้ทำงานปฏิบัติซึ่งเต็มไปหมดอยู่เสมอ จะเป็นมือวิชาการและคนสร้างความรู้ในแนวชุมชนที่น่าสนใจมากคนหนึ่งครับ
    • อันที่จริงอยากบอกว่าคุณณัฐพัชร์ด้วยนะครับ
    • ขอบคุณที่ช่วยแก้ไข ๕๐ ปีเป็น ๕๐ วันให้ครับผม 

    จะติดตาม ตามร้านหนังสือนะคะ

    ได้มาอ่าน..เพราะความเมตตากรุณาของพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์ค่ะ..อ่านเพลินเกินห้ามใจ...ก่อนอ่านต้องทำแบบญี่ปุ่นคือดูปกหลังด้านในก่อนเป็นอันดับแรก แบบว่าอมยิ้มก่อนอ่าน ตาหวานก่อนเปิด..ฮาๆค่ะพี่อาจารย์..สร้างสุนทรียภาพในการอ่านร่วมกับพี่อาจารย์ผู้เขียนค่ะ..(คิดได้ไงไม่รู้ ถ่ายทอดออกมาเหมือนมากด้วยค่ะ)

    ไม่ได้ทำเผยแพร่ผ่านการวางแผงหรอกครับคุณkumfun ใช้แจกจ่ายไปตามหมู่มิตรอย่างเดียวครับ ตอนนี้จะหมดแล้ว กำลังจะดึงมาจัดเล่มและทำขึ้นใหม่อีกสักชุดครับ เป็นสื่อพูดคุยกับชาวบ้าน ชุมชน และคนทำงานด้วยกันที่ดีมากอย่างยิ่งครับ

    อมยิ้มผ่านหน้าประวัติ..มายิ้มกว้างๆที่หน้า 305 ที่ว่า

    จากการทำงานของเราเกิดขึ้นเหมือนดอกกล้วยไม้จะผลิช่อดอกงาม ก็ทำให้ผมต้องตาลีตาเหลือกมาตั้งหลักใหม่และเริ่มบันทึกสิ่งต่างๆพร้อมกับทำอีกหลายอย่างเพื่อรายงานและถ่ายทอดไว้แบบเบาๆ

    ตรงนี้สอนน้องๆและผู้อ่านไปในตัวว่าการบันทึกไว้เป็นปัจจุบันมันจะดีทันเหตุการณ์และเบากับการค้นคว้าข้อมูลในวันข้างหน้า..เวลาย้อนกลับไม่ได้..ปัจจุบันบันทึกไว้ดีกว่า..สบายกว่ากันเยอะเลย..

    ตรงนี้ขออัญเชิญแบบอย่างของสมเด็จพระเทพฯท่านทรงทำเป็นแบบอย่างอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันที่ข่าวในพระราชสำนักฯเสนอข่าวว่าท่านเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ใด พระองค์ท่านจะจดบันทึกไว้ตลอดเวลา..

     

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก : ผมเองเห็นแล้วก็ต้องยิ้มขำๆไปด้วยเหมือนกัน เพื่อนร่วมงานเขาอยากทำเซอร์ไพรซ์ผม เลยไม่อยากให้ผมเห็นต้นฉบับหนังสือก่อนทำเสร็จ อีกทั้งเขาช่วยกันอุบไม่ให้รู้อีกด้วยว่าจะทำหนังสือให้ เขาก็เลยไม่รู้ว่ารูปที่ผมวาดกว่า ๖๐ ภาพที่มีอยู่ในแฟ้มข้อมูลเดียวกันนั้น รูปนี้ไม่ใช่รูปผม แต่เป็นรูปวาดประกอบการคุยรำลึกถึงวัยเรียนของครูอ้อยเล็กกับเพื่อนในบล๊อก แต่ก็เป็นรูปปิดท้ายเล่มที่ชอบครับ ได้ถือเป็นหมายเหตุไว้รำลึกถึงการคุยกันซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท