๖๑.การสังเคราะห์ประเด็นร่วมขึ้นจากเวทีระดมความคิดแบบเปิด


การจัดการความรู้และการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบเสริมพลัง สามารถทำได้หลายแนวทาง ที่สำคัญคือ ๑) การมีประเด็นนำและใช้ความรู้ชี้นำการปฏิบัติ ซึ่งจะเหมาะสมสำหรับการมีประเด็นไว้ก่อน กลุ่มที่จะทำไม่มีความแตกต่างหลากหลาย  รวมทั้งภายในกลุ่มหรือในพื้นที่ดำเนินการไม่มีความต้องการและความจำเป็นที่จะต้องทำไปพร้อมกันหลากหลายมากนัก  ๒) การไม่ต้องมีประเด็นของตนเองเป็นส่วนตัวไว้ก่อน ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานกับสภาพจริงและต้องการยกระดับการทำงานขึ้นจากความเป็นจริงของชุมชน พร้อมกับสามารถสะท้อนสิ่งที่ดำเนินการอยู่ก่อนหน้านั้น เข้าสู่สิ่งที่จะริเริ่มขึ้นใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งจะต้องพัฒนาการเกิดประเด็นร่วมให้ชุมชนและกลุ่มก้อนสามารถจัดองค์กรและเป็นชุมชนแห่งการผลิตในเรื่องต่างๆได้ทีละนิดๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และ ๓) การผสมผสานทั้งการใช้ประเด็นนำ และการค้นหาประเด็นออกมาจากชุมชนที่คิดกันอย่างไม่ต้องติดกรอบ

กรณีจัดเวทีระดมความคิดแบบเปิด นักวิจัยและวิทยากรกระบวนการเพื่อวิจัยสร้างความรู้อย่างมีส่วนร่วม พร้อมกับเสริมพลังชุมชนวิทยาศาสตร์ของชาวบ้านและชุมชนที่มีฐานวัฒนธรรมสร้างความรู้และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องสร้างประเด็นร่วมขึ้นจากความคิดเห็นและการระดมสมองแบบเปิด  ให้ค่อยๆยกระดับความร่วมกันและมีความเป็นส่วนรวม เชื่อมโยงกับระบบย่อยต่างๆ ได้มากขึ้นเป็นลำดับ

การระดมสมองแบบเวทีเปิดจะทำให้เวทีการทำงานเป็นกลุ่มประชาคมมีความเป็นธรรมชาติ ชาวบ้านมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าการถูกตีกรอบที่ตนไม่คุ้นเคย เมื่อมีกระบวนการสังเคราะห์ให้สิ่งต่างๆที่มีความแยกส่วน เป็นอิสระต่อกัน ให้พบความเชื่อมโยงเป็นประเด็นร่วมกันแล้ว การมีส่วนร่วมก็จะมีบทบาทเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ก่อเกิดการเรียนรู้แบบเสริมพลัง เพิ่มพูนสำนึกใหม่ต่อความเป็นส่วนรวมที่กว้างมากขึ้น ร่วมกันจัดวางตนเองให้เป็นกลุ่มประชาคม จัดการสังคมภายใต้การมีประเด็นร่วมและได้ความเป็นสาธารณะที่มีพลังต่อการสร้างสุขภาวะ เปลี่ยนผ่านจากสุขภาวะแบบปัจเจกสู่สุขภาวะสาธารณะ ส่งเสริมให้สังคมเข้มแข็งขึ้นจากชุมชนมากยิ่งๆขึ้น

กระบวนการดังกล่าวในด้านการสร้างและใช้ความรู้แก้ปัญหา ชี้นำการปฏิบัติในขอบเขตต่างๆ  ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโจทย์การวิจัยสำหรับระดมพลังเป็นกลุ่มของประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือการวิจัยเองของชาวสบ้าน ก่อนที่จะเรียนรู้ชุมชนและจัดการความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยการรวมตัวคิดและทำของประชาชน ยกระดับไปเรื่อยๆ

การบูรณาการและเชื่อมโยงแนวคิดกับความรู้ไปสู่การปฏิบัติ กับการแปรประสบการณ์จากการปฏิบัติให้เป็นความรู้โดยกระบวนการมีส่วนร่วม จะทำได้มากยิ่งๆขึ้น

หมายเลขบันทึก: 300579เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 01:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท