sha-รพ.หนองจิก
โรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี

เรื่องเล่าประสบการณ์ตรงจากพื้นที่ : ผู้ให้การเยียวยา


พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เรื่องเล่าประสบการณ์ตรงจากพื้นที่ : ผู้ให้การเยียวยา

อังคณา  วังทอง, ปัทมาวาตี มะอิง และวราภรณ์ สงขาว                   

                                                                                            ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต 

                                                                                                      โรงพยาบาลหนองจิก  จังหวัดปัตตานี

 

          สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่  ปัตตานี  ยะลา และนราธิวาส  ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นยาวนานและทวีความรุนแรงขึ้น (สุภัทร, 2549)  เป็นผลให้มีประชาชนบาดเจ็บ และล้มตายลง  สร้างความตื่นตระหนกและความโศกเศร้าทั่วทั้งชุมชน เกิดบาดแผลทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงและเรื้อรัง (กรมสุขภาพจิต, 2550) จากสถานการณ์ดังกล่าวมีหน่วยงานต่างๆ พยายามจะหาแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขเพื่อลดปัญหาการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน พร้อมเยียวยาบาดแผลทางจิตใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบฯ

          จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้หาแนวทางในการป้องกันและแก้ไข  เพื่อลดปัญหาการสูญเสีย ตลอดจนแนวทางในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ  เพื่อให้การดูแลเยียวยาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยได้ขยายเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด

          โรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี  ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้จัดตั้ง “ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต”  โดยมีบทบาทสำคัญในการดูแล เยียวยา ฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนภาคใต้  ให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตโดยรีบด่วน  โดยต้องมีการประเมินภาวะสุขภาพครอบคลุมองค์รวม  และให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจเบื้องต้น ซึ่งจะครอบคลุมการให้คำปรึกษา  การสร้างความเข้มแข็งของตนเอง  การให้การบำบัดทางจิตเวช รวมถึงการเยี่ยมบ้านติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง  การประสานหรือส่งต่อเครือข่าย ติดตามประสานข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบ  การรายงานผลการปฏิบัติงาน และพัฒนาคุณภาพในด้านการบริการ และวิชาการสุขภาพจิตให้มีความพร้อม และเป็นระบบในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่มี  ประสิทธิภาพ (กรมสุขภาพจิต, 2550)  ภายใต้การสนับสนุนของกรมสุขภาพจิต  ซึ่งศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เป็นพี่เลี้ยงในการกำกับดูแล ให้คำปรึกษา และคำแนะนำ รวมถึงการช่วยเหลือฝึกอบรมทางวิชาการและการปฏิบัติ 

          การเยียวยาเป็นเรื่องทางจิต เป็นการรักษาความสมดุลของจิตใจ นอกเหนือจากภาวะทางกาย ที่มองเห็นได้ของผู้ได้รับผลกระทบฯเหล่านั้น  จากประสบการณ์การเยียวยาจิตใจที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าปัจจัยสำคัญในการทำงานเยียวยาภายใต้พื้นที่เสี่ยง คือ  การเยียวยาต้องเริ่มต้นจากตัวเราก่อน ถามตัวเองว่าพร้อมหรือยัง เพราะความพร้อมทางจิตใจและทัศนคติของผู้ปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ  ที่ต้องมีใจเสียสละ พร้อมที่จะมอบความสุขกับการเยียวยา หรือการช่วยเหลือผู้อื่น เนื่องจากการเยียวยาไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ  มันมีองค์ประกอบเล็ก ๆ หลากหลายส่วนมารวมกัน  และที่สำคัญใจเราต้องพร้อม  เช่น เรามีโอกาสได้ช่วยเหลือเขา เราต้องทำให้ดีที่สุด เสมือนดูแลญาติเราเองต้องให้ความรัก ความจริงใจ พร้อมคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นคนเมื่อเราทำได้แล้ว   ปัจจัยต่อมาก็คือความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเยียวยา  ขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น งานเยียวยาเป็นงานที่ต้องบูรณาการ สร้างทีมในการลงพื้นที่ เช่น แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานและรับผิดชอบร่วมกัน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ทั้งผู้ให้และผู้รับการเยียวยา  ซึ่งลักษณะของการทำงานเป็นทีม  ทุกคนจะต้องมีความสำคัญเท่าเทียมกัน จึงจะทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพ   อีกทั้งยังเอาจุดอ่อน มาปรับปรุงพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น พร้อมเอาจุดแข็งมาพัฒนาต่อให้เกิดความยั่งยืน  จะสร้างให้เกิดตัวเชื่อม และฟื้นฟูสานสัมพันธ์ที่เป็นทางบวกระหว่างผู้ได้รับผลกระทบต่างศาสนา และชาวบ้านกับภาครัฐ  ทำให้สิ่งดี ๆ คืนมา เพราะงานเยียวยาเป็นงานที่ปราศจากความรุนแรง และงานเยียวยาโอบกอดให้อยู่ร่วมกัน  ซึ่งการเยียวยาจิตใจไม่ใช่การรักษาด้วยยาอย่างเดียว แต่เป็นการรักษาด้วยใจไปพร้อมๆ กัน  อาจจะรักษาโดยตัวของเขาเอง โดยศาสนานำสาธารณสุข โดยคนรอบข้าง หรือคนข้างนอกที่เข้าไปเยี่ยม ไปโอบกอด ไปร่วมรับความทุกข์ เพื่อลดและสลายอคติในใจ ลดความโกรธ ลดความแค้น การกล่าวโทษที่มีต่อผู้อื่น และคลี่คลายความเจ็บปวดอัน    หนักหน่วงจากความสูญเสีย

          ดังนั้น ผลผลิตของคำว่า “ให้” การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบฯ เป็นบทบาท   ที่อาสาเข้ามาทำด้วยใจ เพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน การเยียวยาจึงลึกซึ้งกว่าภาพที่เห็น  เพราะหัวใจสำคัญของการเยียวยาต้องใช้ทั้งความรู้และหัวใจ  คือความเมตตา เห็นใจ  เข้าใจ จริงใจ พร้อมจะช่วยเหลือ ด้วย   ความรัก และหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ดังเช่น กลุ่มสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์ที่เป็นผลผลิตที่ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต อำเภอหนองจิก  มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลผลิตกลุ่มนี้ประสบผลสำเร็จได้ เพราะการช่วยเหลือเยียวยาเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน  ด้วยหัวใจแห่งความรัก และคำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

          ชมรมสตรีสายสัมพันธ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 โดยมีสมาชิกในเบื้องต้น จำนวน  56 คน ในการจัดตั้งชมรมก็มีการแต่งตั้งคณะทำงานโดยสมาชิกเอง และมีท่านนายอำเภอหนองจิก คือ  นายสนั่น  พงษ์อักษร, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองจิก คือนายแพทย์อนุชิต  วังทอง  และศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต อำเภอหนองจิกเป็นที่ปรึกษาชมรม  จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มซึ่งผ่านกระบวนการในการให้ความช่วยเหลือ เยี่ยมเยียวยาดูแลจิตใจเบื้องต้นแล้ว  ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต อำเภอหนองจิก มีความตระหนักที่จะช่วยเหลือดูแลกลุ่มสตรีผู้สูญเสียสามีอันเป็นที่รักจากสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด   จึงได้จัดตั้งชมรมขึ้น เพราะคิดว่าน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้แก่กลุ่มสตรี   ผู้สูญเสียสามีอันเป็นที่รักได้ เพราะหลังจากที่ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลจิตใจเบื้องต้นแล้ว พบว่ากลุ่มสตรี     ผู้สูญเสียสามีอันเป็นที่รักจากสถานการณ์ยังคงมีความเครียด และปัญหาทางสุขภาพจิต  หลังจากรวมกลุ่ม หรือจัดตั้งชมรมสตรีสายสัมพันธ์ขึ้นแล้ว ในระยะแรกก็มีการประเมินระดับความเครียด  ประเมินระดับ  ความสุข และประเมินภาวะซึมเศร้าของสมาชิกในชมรมอีกครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสมาชิก ตลอดจนการพบปะพูดคุยเป็นประจำทุกเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นลักษณะ Self Help Group รวมถึงปัญหาและอุปสรรคซึ่งเป็น    ข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการให้การดูแลด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง  หลังจาก  ทราบถึงสภาพจิตใจ ปัญหา และความต้องการของสมาชิกในชมรมแล้ว  ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต อำเภอหนองจิก ก็นำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจได้ เช่น การฝึกสมาธิ  ฝึกโยคะ และฝึกการผ่อนคลายความเครียดด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ใช้เวลาในการทบทวนตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ นอกจากทำใจยอมรับกับการสูญเสียและหาแนวทางในการต่อสู้ชีวิต  ต่อไปท่ามกลางความไม่สงบที่ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ว่าจะยุติลงเมื่อไหร่

                หลังจากสภาพจิตใจของสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์เข้มแข็งขึ้น ทางศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตยังคงดูแลสมาชิกกลุ่มนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยการหากิจกรรมที่มีประโยชน์เพื่อส่งเสริมในเรื่องของการ   ฝึกอาชีพให้กับสมาชิก เพราะทางศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต อำเภอหนองจิก ไม่ได้ทำงานเยียวยาเพราะถือว่าเป็นหน้าที่  แต่เห็นว่าเป็นการให้ความดูแลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นการให้ด้วยใจที่บริสุทธิ์ ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ  เป็นการให้ที่สร้างความสุขให้กับทั้งผู้รับและผู้ให้ ซึ่งไม่สามารถหาสิ่งอื่นใดมาเปรียบเทียบได้  ดังนั้นศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต  อำเภอหนองจิก ก็ได้ส่งเสริมการฝึกอาชีพ โดยทุกส่วนราชการ และองค์กรท้องถิ่นมามีส่วนร่วม ให้กับสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์ขึ้น เช่น การฝึกทำลูกประคบ พิมเสนน้ำ  ของชำร่วย  ขนมไทย  อาหารกล่อง และนำผลผลิตที่ได้ออกจำหน่ายในงานต่างๆ  ซึ่งการฝึกอาชีพต่าง ๆ ดังกล่าวก็จะหาวัสดุอุปกรณ์จากธรรมชาติไม่ต้องหาซื้อ แต่สามารถหาได้จากท้องถิ่น เป็นการฝึกอาชีพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง  นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดชุดอาหารว่างในการประชุมของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาเป็นอาชีพเสริมได้อีกทางหนึ่ง  เพื่อเสริมรายได้ให้กับครอบครัว  และ เสริมความมีคุณค่าในตนเอง   ส่งผลให้เกิดพลังอำนาจในการดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีคุณค่า

                จากการดูแลช่วยเหลือสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมาชิกในชมรมมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ระดับความเครียดลดลง ความสุขเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน  ปัจจุบันชมรมสตรีสายสัมพันธ์ มีสมาชิกเพิ่มขึ้น และมีความเข้มแข็งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  จากในระยะแรกศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต อำเภอหนองจิก  จะเป็นผู้ให้การดูแลช่วยเหลือสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์  แต่ปัจจุบันสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์  ถือว่าเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต  อำเภอหนองจิก  ในส่วนของการเยียวยาจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ  เพราะสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์ เห็นว่าตนเองเป็นผู้ที่ประสบเหตุการณ์มาก่อน เข้าใจถึงความรู้สึกในตอนนั้นเป็นอย่างดี  น่าจะเป็นประโยชน์หากนำบุคคลที่มีประสบการณ์เหมือนกันมาเยียวยาซึ่งกันและกันได้  ดังนั้นในปัจจุบันเมื่อจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน  เพื่อเยียวยา ฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ  สมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์ของเราก็จะอาสาลงพื้นที่ โดยไม่หวังผลตอบแทน

          ปัจจุบันสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง  มีความเข้มแข็งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข  และสามารถให้การดูแลเยียวยาผู้อื่นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบได้เป็นอย่างดี  ตลอดจนสร้างเครือข่ายภาคีท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพจิตในชุมชนในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนได้ จึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต อำเภอหนองจิก ที่ประสบผลสำเร็จในการให้การดูแลเยียวยาสมาชิกชมรมสตรีสายสัมพันธ์  นับว่าเป็นผลตอบแทนที่มีค่า  คุ้มแก่การดูแล ด้วยหัวใจแห่งความรัก และคำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง และจะยังคงให้ความดูแลช่วยเหลือต่อไป

                   “…งานเยียวยา           สร้างคุณค่า           ทางจิตใจ

                       หากมีใคร              ปฏิบัติ                  จักรู้ผล

                       งานเยียวยา            สร้างคุณค่า           ความเป็นคน

                       ช่วยบันดล             ให้ทุกคน              พ้นทุกข์เอย...”

 

 

หมายเลขบันทึก: 300663เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
มูหะหมัด วันสุไลมาน

ขอให้น้องๆทั้ง3คน สู้ต่อไป อย่า...ย่อ....ท้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท