การขอโทษและการให้อภัย


อันใจนั้นฝึกได้ ฝึกอย่างใดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย...

การขอโทษ

และการให้อภัย

รูปภาพ

การขอโทษและการให้อภัย

                                      

       การรู้จักขอโทษนั้นเป็นมารยาทอันดีงามสำหรับตัวผู้ทำเอง และเป็นการช่วยระงับหรือช่วยแก้โทสะของผู้ถูกกระทบกระทั่งให้เรียบร้อยด้วยดีในทางหนึ่ง หรือจะกล่าวว่าการขอโทษคือการพยายามป้องกันมิให้มีการผูกเวรกันก็ไม่ผิด

      เพราะเมื่อผู้หนึ่งทำผิด อีกผู้หนึ่งเกิดโทสะเพราะถือความผิดนั้นเป็นความล่วงเกินกระทบกระทั่งถึงตน แม้ไม่อาจแก้โทสะนั้นได้ ความผูกโกรธหรือความผูกเวรก็ย่อมมีขึ้น ถ้าแก้โทสะนั้นได้ก็เท่ากับแก้ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้ เป็นการสร้างอภัยทานขึ้นแทน อภัยทานก็คือการยกโทษให้ คือการไม่ถือความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ
                                                                                               
     อันอภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน   คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด  จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ

      โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น 
                                                                                  
      ผู้ดูแลเห็นความสำคัญของจิต จึงควรมีสติทำความเพียรอบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล้วงล้ำก้ำเกินเพียงใดก็ตาม พยายามมีสติพิจารณาหาทางให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน
                                          
     ทำได้เช่นนี้จะเป็นคุณแก่ตนเองมากมายนัก ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโทสะลดน้อยลงเท่านั้น และเมื่อปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง ก็มักหาดับไปหมดสิ้นไม่ เถ้าถ่านคือความผูกโกรธมักจะยังเหลืออยู่ และอาจกระพือความโกรธขึ้นอีกในจิตใจได้ในโอกาสต่อไป

     ผู้อบรมจิตให้คุ้นเคยอยู่เสมอกับการให้อภัย  แม้จะไม่ได้รับการขอขมา ก็ย่อมอภัยให้ได้ 
                                                                               
     ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจให้คุ้นเคยกับการให้อภัยเลย โกรธแล้วก็ให้หายเอง แม้ได้รับการขอขมาโทษ ก็อาจจะไม่อภัยให้ได้ เป็นเรื่องของการไม่ฝึกใจให้เคยชิน

      อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างใดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย... 


                                     

P

ครูสุภาภรณ์

ครูสุภาภรณ์ พลเจริญชัย

โรงเรียนเทศบาล4(เพาะชำ)

: พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร..

ข้อมูลจาก

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=22765

 

หมายเลขบันทึก: 301159เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 03:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง เป็นเรื่องง่ายที่ยากที่จะปฏิบัติสำหรับบางคนที่ไม่เคยปฏิบัติ เป็นข้อมูลที่ดีมีประโยชน์ครับ

เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง เป็นเรื่องง่ายที่ยากที่จะปฏิบัติสำหรับบางคนที่ไม่เคยปฏิบัติ เป็นข้อมูลที่ดีมีประโยชน์ครับ

ยากจังเลย คุณครูขา!~!

 อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างใดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย... 

รู้ค่ะ แต่ยังทำใจไม่ได้!~!

 

สวัสดีค่ะ คุณP ดร. เมธา สุพงษ์  และคุณPครู ป.1

      ก็เป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่  แต่ปฏิบัติยากจริง ๆ นั่นแหละค่ะ  ดิฉันเองก็ต้องพยายามฝึกจิตไม่ให้โกรธใคร  ถ้าโกรธแล้วต้องรีบปรับจิตเพื่อให้อภัย   เกรงว่าจะทำบาปโดยไม่รู้ตัว  ครั้งหนึ่งเคยไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสาลวัน  นครราชสีมา  หลวงพ่อพุธท่านเตือนว่าคนที่ฝึกสมาธิเป็นประจำ  ต้องไม่โกรธใคร  เพราะเรามีพลังจิต  อาจทำร้ายเขาโดยไม่รู้ตัวก็ได้

                                          

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท