เอกสารประกอบการเรียนรู้เรื่องภูเขาหินปูน..วิชาภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว


                วิชาภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว  เป็นวิชาภูมิศาสตร์ประยุกต์  ด้วยการนำความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์มาใช้ในการจัดการท่องเที่ยว  เป็นวิชาที่ผู้เรียนต้องมีความรู้ความเข้าในสาระวิชาทั้งสองร่วมกัน
              ผมเปิดวิชาภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว  เป็นวิชาเลือกให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5ด้วยวิเคราะห์บริบทของสังคมไทยในภาพรวมและจังหวัดเพชรบุรีแล้วว่า  การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย  คนทุกคนจึงมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์
             แม้ว่าจะมีตำรา เอกสารอ้างอิง เกี่ยวกับภูมิศาสตร์การท่องเที่ยวอยู่จำนวนมากก็ตาม  แต่ส่วนใหญ่จะเขียนมาเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเสียมากกว่า
            ปัญหาหนักของผมก็คือ..จะต้องใช้สื่ออย่างไรจึงจะเหมาะสมกับผู้เรียน...
            เอกสารประกอบการเรียน   เป็นสื่อแรกที่ผมนึกถึงเพราะว่า..เป็นสื่อที่เราสามารถจัดการทำเองได้  โครงสร้างก็ไม่ยุ่งยากอะไรอาจประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระของวิชา  แบบฝึกหัดและจบลงด้วยแบบประเมิน
           แต่ก่อนจะมาเป็นเอกสารประกอบการเรียนที่จัดทำเป็นหน่วยการเรียน  เป็นเล่มหรู  คงต้องพัฒนาอย่างยาวนานจากใบความรู้กันมาก่อน..
          ผมพูดเสียยาว...เรื่องสำคัญมีอยู่ว่า..อยากเล่าให้ฟังถึงใบความรู้เรื่องภูเขาหินปูนประกอบการเรียนวิชาภูมิศาสตร์การท่องเที่ยวของผมครับ....

ผมเริ่มต้นบอกว่า...เรามาเรียนรู้เรื่องภูเขากันดีกว่า...ผมชอบภูเขาในช่วงฤดูฝน เพราะว่า ป่าเขา  ลำเนาไพร  มีแมกไม้ที่เขียวขจี สดชื่นตาให้ชมกันทั่วไทย

            สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทย  ประกอบไปด้วยเทือกเขาสำคัญ ๆ มากมาย และมีชื่อเรียกกันแตกต่างกันไป
           คนไทยภาคเหนือเรียกภูเขาว่า ดอย  ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ภู จะมีอยู่ก็ ภูชี้ฟ้าเท่านั้น ที่ชื่อภู ซึ่งน่าจะอยู่ที่ภาคอีสาน แต่กับมาตั้งเด่นตระหง่านอยู่ชายแดนไทยฝั่งประเทศลาวที่จังหวัดเชียงราย..

          ภูเขาน้อยใหญ่ของประเทศไทยมีทั้งภูเขาหินแกรนิต ภูเขาหินปูน และภูเขาหินทราย..เวลาคุยกับนักเรียนก็สื่อสารกันง่าย ๆ ว่า เขาที่คดโค้งเป็นรูปโดมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาหินแกรนิต ส่วนที่เป็นยอดป้าน ยอดตัด นั้นจะเป็นภูเขาหินทรายซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคอีสานของไทย...

         ส่วนเขาหลวง  เขาวัง ข้างโรงเรียนของเรานั้น เป็นภูเขาหินปูน..

         หินปูน (Limestone)  เป็นหินตะกอนเคมีที่ประกอบด้วยผนึกแร่คัลไซท์ (Calcite) เป็นส่วนใหญ่  บางครั้งอาจมีซากบรรพชีวินหรือ Fossils ปนอยู่ด้วย  ภูเขาหินปูนมักเป็นยอดเขาสูงมีหน้าผาสูงชัน มียอดเขาหลาย ๆ ยอดซ้อนกัน เนื่องจากการกัดเซาะได้ง่ายจากน้ำที่มีกรดคาร์บอนิกละลายอยู่ เมื่อหินปูนทำปฏิกิริยากับน้ำ ทั้งน้ำฝนและน้ำใต้ดิน  ทำให้เกิดเป็นโพรง เป็นถ้ำ  มีหินงอกหินย้อยรูปลักษณ์ที่แปลกตา

                ประติมากรรมตามธรรมชาติผสมผสานกับจินตนาการของมนุษย์  ก่อให้เกิดเป็นตำนานเรื่องราวอย่างมากมาย เช่น เรื่องของเมืองลับแลที่ถ้ำเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี หรือเรื่องสังข์ทองที่เขานางพันธุรัต  อำเภอชะอำ ของจังหวัดเพชรบุรี 
                นิทานพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงมากทีสุดชายทะเลอ่าวไทยเห็นจะเป็นเรื่อง ตาม่องล่ายกับยายรำพึง ที่มีลูกสาวงามชื่อนางยมโดย..ความงามของลูกสาวตาม่องล่ายและยายรำพึงนั้นมีเลื่องลือไปไกล จนกลายเป็นตำนานชิงรักกันระหว่างหนุ่มไทยกับเจ้ากรุงจีน ซึ่งต่างยกขันหมากมาขอเจ้าสาวในวันเดียวกัน  เหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่สามารถลงเอยกันได้ จนเกิดเป็นการวิวาท ข้าวของต่าง ๆ ถูกขว้างปา กลายเป็นภูเขาและเกาะน้อยใหญ่ในอ่าวไทย  เช่น เขาตะเกียบ เขาสามร้อยยอด  เขาช่องกระจก เกาะทะลุ  เกาะนมสาว..
           ส่วนเกาะเจมส์ บอนด์ ที่อ่าวพังงานั้น ก็เป็นอีกหนึ่งในประติมากรรมของหินปูน  แต่ไม่ว่าเกาะนี้เดิมชื่อ เกาะตะปู  เผอิญทีมผู้สร้างภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ 007 เดินทางมาเห็นความงามของภูเขาและเกาะหินปูนบริเวณอ่าวพังงา 
           ความงามและความตื่นตาของหมู่เกาะน้อยใหญ่เหล่านั้น เหมาะสมกับเป็นฉากลี้ลับ ศูนย์บัญชาการของเหล่าร้ายในภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ ตอนเพชฌฆาตปืนทอง 
          ภาพยนตร์เรื่องนี้ไล่ยิงกันตั้งแต่กรุงเทพมหานคร และตามไปจบลงที่อ่าวพังงา เป็นฉากของเกาะตะปูถูกระเบิดทิ้งกลางทะเล..ดูแล้วยังใจหายที่เกาะตะปูถูกระเบิดหายไปจากจอ..
          เพราะภาพยนต์เรื่องเจมส์  บอนด์ 007 แท้ ๆ  เกาะตะปูจึงกลายเป็นเกาะเจมส์ บอนด์ ในการรับรู้ของชาวตะวันตกไปแล้ว
           เสน่ห์ของเขาหินปูนยังมีอีกมากมาย  สุนทรภู่เมื่อครั้งเดินทางมายังเมืองเพชร ได้เขียนถึงความงามของถ้ำเขาหลวง ในนิราศเมืองเพชรไว้ว่า..

           “ ดูว้างเวิ้งเชิงพนมน่าชมเชย  
             ต่างแหงนเงยชมชะง่อนก้อนศิลา
             เป็นลดหลั่นชั้นช่องเป็นห้องหับ 
             แลสลับเลื่อมลายคล้ายเลขา
             กลางคิรินหินห้อยย้อยระย้า 
             ดาษดาดูดูดังพู่พวง”
 
          เมื่ออ่านเขียนเรียนจบแล้ว...ก็มอบหมายให้นักเรียนสำรวจชุมชนของตน..เพื่อตามหาภูเขาหินปูน..และตำนานพื้นบ้าน..มาวิเคราะห์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวครับผม

หมายเลขบันทึก: 301185เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท