ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

28. คลินิกวัยรุ่นบางรัก


การปรับแนวคิดการให้บริการ ให้เห็นใจและเข้าใจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน อันจะเป็นการปรับสมรรถนะในการสื่อสารอย่างเข้าใจเยาวชน เพื่อให้บริการที่เป็นมิตรกับเยาวชนได้

... ข้อเสนอของผมที่มอบให้พี่ๆ เจ้าหน้าที่คลินิก เมื่อคืน

 

ข้อเสนอแนะและมุมมองต่อการพัฒนาแนวทางการดำเนินงาน 

คลินิกวัยรุ่นบางรัก 

 

นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ 27/09/09 แก้ไขเพิ่มเติม 28/09/09 -11.10 น.


1. มุมที่ได้สัมผัส : ความรู้สึกต่อคลินิกวัยรุ่นบางรัก

          จากการสัมผัสการดำเนินงานของคลินิกวัยรุ่นบางรัก โดยเริ่มตั้งแต่ในส่วนของการวางแผนที่มีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมการจัดเวทีระดมสมอง ณ โรงแรมนารายณ์ มาจนถึงกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ที่คลินิกจัดทำขึ้นร่วมกับเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน กทม.เขตวังทองหลาง ตลอดจนการสังเกตการณ์ทำงานของเจ้าหน้าที่รวมถึงการเข้ารับการรักษาของวัยรุ่นอย่างน้อยสามครั้ง

พบว่าในแต่ละครั้งที่ได้มีโอกาสพบกับพี่ๆเจ้าหน้าที่ มักจะเห็นความยิ้มแย้มแจ่มใส ตั้งใจตรวจรักษา อีกทั้งยังเห็นว่า คลินิกวัยรุ่นได้มีความก้าวหน้าในการปรับปรุงและพัฒนาระบบ-รูปแบบการรักษาพยาบาลแก่วัยรุ่น ถือเป็นมิติใหม่ที่ระบบการบริการของรัฐมีดำเนินงานด้านระบบการดูแลสุขภาพทางเพศอย่างเป็นมิตรให้แก่เยาวชน ทั้งนี้รูปแบบการให้บริการที่เป็นมิตรที่พบได้จากการเฝ้าสังเกตก็คือ การให้บริการด้วยท่าทีที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นกันเองกับผู้เข้ารับบริการ การไม่แสดงท่าทีรังเกียจและการซักประวัติในห้องพูดคุยที่เป็นสัดส่วน อันจะทำให้วัยรุ่นผู้เจ้ารับการรักษารู้สึกว่าเป็นส่วนตัว(การรักษาความลับ)

มีข้อเสนอจากเยาวชนในหลายเวที ทั้งในงานเวทีวิชาการขององค์การแพธ งานเอดส์ชาติ ที่เยาวชนแกนนำจากภูมิภาคต่างๆ ต้องการให้มีระบบบริการสุขภาพ ซึ่งให้ความดูแลครอบคลุมไปถึงขั้นการตรวจรักษาโรคติดต่อต่างๆ ที่วัยรุ่นไม่สามารถทำเองได้

  โครงการจำนวนมากมายในประเทศไทย ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนโลกและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ UNESCO และ UNICEF ที่มีความพยายามในการสนับสนุนกลุ่มเยาวชนแกนนำในเครือข่ายต่างๆ ให้มีการทดลองสร้างระบบบริการที่เป็นมิตรกับเยาวชนขึ้นมา ในรูปแบบต่างๆ กัน บ้างก็เป็นศูนย์ในโรงเรียน บ้างก็เป็นศูนย์บริการที่สำนักงานของกลุ่มเยาวชนนั้นๆ และเรียกขานด้วยชื่อที่แตกต่างกันออกไปตามแต่องค์กรที่ให้การสนับสนุนจะสร้างสรรค์ขึ้น มีทั้ง Youth Friendly clinic, Youth Friendly center หรือ Love care stations แต่ทั้งหมดนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ หวังจะให้เด็กและเยาวชน ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหญ่ในการติดเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการท้องไม่พร้อม เข้ามารับบริการ และหวังว่าจะก่อให้เกิดบริการให้คำปรึกษา การส่งต่อเพื่อการรักษา และการตรวจรักษาอย่างเป็นมิตรกับวัยรุ่นทั้งสิ้น

คลินิกวัยรุ่นบางรัก เป็นหนึ่งความกล้าหาญของกรมควบคุมโรค  (กลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) และโรงพยาบาลบางรัก ที่กล้าทดลองสนับสนุนและดำเนินการในเรื่องคลินิกวัยรุ่น เรียกได้ว่าเป็นความพยายามสร้างคลินิกที่มีบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น(ภาครัฐ) ที่จะเข้ามาทำการรักษาที่เป็นจุดเด่นคือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสอบถามความต้องการของวัยรุ่นที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่คลินิกจะได้นำข้อเสนอที่ได้รับมาจัดให้มีบริการ ที่ถูกจุดและตรงใจวัยรุ่น และยิ่งไปกว่านั้นการที่คลินิกสนับสนุนให้มีการทำกิจกรรมรณรงค์โดยผ่านเครือข่ายของสภาเด็กและเยาวชน กทม. เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักสถานบริการแห่งนี้ รวมทั้งช่องทางต่างๆ อาทิ การสร้างWebsite ( www.stithai.org ) การผลิตสื่อรณรงค์ต่างๆ ที่มีสีสันสดใส เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น

หลายสถานบริการ ที่มีการพัฒนาขึ้น ยกตัวอย่างการดำเนินงานของเยาวชน อาทิ โครงการกล้าเลือกกล้ารับผิดชอบ(เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เครือข่ายเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง) ที่ผู้เขียนได้สัมผัสกับเครือข่ายที่ปฏิบัติการในระดับพื้นที่ พบว่ารูปแบบบริการส่วนใหญ่จะเน้นการพูดคุย ให้คำปรึกษา หนุนเสริม ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำกิจกรรมของวัยรุ่นในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และเรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน รวมถึงการมีบุคลิกการดำเนินงานแบบเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง และมีบริการพื้นฐานด้านการป้องกัน เช่น การแจกถุงยางอนามัยให้กับวัยรุ่นที่ต้องการ และการส่งต่อ Case (ในกรณีที่ต้องรับการรักษา เช่น ติดโรค หรือท้อง หรือมีการร้องขอที่จะทำการตรวจเลือด) เพื่อไปรับการรักษายังสถานพยาบาลในท้องถิ่น

จากกรณีศึกษาดังกล่าว พบว่าพอมีการส่งต่อวัยรุ่นเพื่อเข้ารับการรักษา มักจะได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ให้วัยรุ่นเกิดความเขินอาย ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว และไม่ได้รับบริการที่รักษาความลับให้ ซึ่งอาจเป็นการแสดงออกอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของให้การรักษา(บุคลากรสาธารณสุข) เช่น การมองด้วยสายตาดูถูก การตั้งคำถามที่มีทัศนคติเชิงลบ การตัดสินและให้คุณค่า การบริการด้วยท่าทีไม่เป็นมิตร อาจมีการใช้น้ำเสียง ท่าทาง ที่ดุดัน แข็งกร้าว ทำให้วัยรุ่นที่เข้าไปรับการรักษารู้สึกไม่ปลอดภัย และขาดพื้นที่ในความเป็นส่วนตัว ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นเข้าสู่ระบบการรักษาสุขภาพน้อย หรือทำให้วัยรุ่นไม่กล้าใช้บริการเลย ซึ่งบริการด้านลบที่กล่าวมานั้นมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีให้เห็นในคลินิกบางรัก (เรื่องดีๆ แบบนี้ สามารถพบได้ในอีกหลายคลินิก เช่น 13 คลินิก Love care – ดูได้ที่ http://www.lovecarestation.com/th/ )  

การดำเนินงานของคลินิกวัยรุ่นบางรัก จึงถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของภาครัฐที่สนใจ ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานของตนเอง ให้เหมาะสมกับยุคสมัย (แม้อาคารจะเก่าไปบ้าง) ได้อย่างน่าชื่นชม  และจากการสัมผัสในหลายแง่มุมดังที่กล่าวมา ผู้เขียนสัมผัสและรู้สึกได้ว่าการดำเนินงานของคลินิกวัยรุ่นบางรัก “ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ”     

2. เรื่องที่ควรรักษาไว้ และพัฒนาให้ดีกว่าเดิม

          การดำเนินงานนั้นย่อมมีทั้งจุดเด่นจุดดี และจุดที่ควรพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงจะขอกล่าวถึงจุดเด่นที่ควรรักษาไว้ (โดยสรุป) คือ

  1. เรื่องบุคลิกของผู้ให้บริการที่มีความเป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส
  2. เรื่องของบริการการรักษาที่มีอยู่เกือบครบครัน
  3. การให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายในการเข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินงาน 

เนื่องจากพื้นที่การดำเนินงานของคลินิกบางรักอยู่ในพื้นที่ กทม. จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนรูปแบบการดำเนินงานอยู่เสมอ เพื่อให้คลินิกเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จึงยังมีข้อที่ควรหนุนเสริม และพัฒนาขึ้น คือ (อันนี้ ท่านที่อยู่ในวงการสาธารณสุขท่านไหนเอาไปปรับใช้บ้างก็ได้นะครับ)

  1. การส่งเสริมกิจกรรมรณรงค์เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเยาวชนในโรงเรียน และชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในเขตบางรักให้สามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองได้ ตระหนักถึงความสำคัญในการมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ และเปิดตัวคลินิกที่เป็นมิตร ให้เยาวชนรู้จักและกล้าที่จะเข้ามาขอรับการรักษา หรือบริการอื่นๆ ที่คลินิกมีโดยการจัดกิจกรรมให้ความรู้ในสถานศึกษา/ชุมชน หรือห้างสรรพสินค้าในเขตบางรัก เป็นต้น
  2. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย/กลุ่มเยาวชนต่างๆ ในเขตบางรัก ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เช่น การทำกิจกรรมรณรงค์ การพูดคุยกับเพื่อนวัยรุ่นที่เข้ารับการรักษา เป็นต้น
  3. เพิ่มพูนบริการ ในการบริการของคลินิก ควรเพิ่ม 3 เรื่องใหญ่เข้าไป คือ ให้ความรู้  ปรับทัศนคติ และสร้างทักษะ (ซึ่งปัจจุบัน มีการให้ความรู้ และสร้างทักษะ ยังขาดเรื่องปรับทัศนคติ ทำให้พบว่ามีบางรายที่รักษาจากอาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว กลับมารักษาเป็นครั้งที่สอง แสดงให้เห็นชัดว่า ขาดทัศนคติที่ดีในการป้องกันตนเอง) 

i.      ให้ความรู้ คลินิก มีการให้ความรู้เบื้องต้นผ่านการรักษาของเจ้าหน้าที่ โดยมีเอกสารแผ่นพับแจกให้ด้วย การให้ความรู้ในลักษณะนี้จะเป็นการให้ที่ไม่สามารถวัดได้ว่าวัยรุ่นนั้นต้องการหรือไม่ จากการได้อ่านแบบสอบถาม(ประเมิน)ของผู้เข้ารับการรักษา พบว่าหลายคนมีความรู้ แต่ไม่มีความเข้าใจและไม่ตระหนักในการใช้ความรู้ที่มีเพื่อการป้องกันตนเอง เช่น ความรู้เรื่องโรคติดต่อ ที่วัยรุ่นมีน้อยมาก และเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

ii.      ปรับทัศนคติ ข้อนี้คลินิกวัยรุ่นบางรัก และคลินิกหลายแห่ง ขาดแคลนอย่างมาก เพราะมุ่งมั่นตั้งใจให้บริการตรวจรักษาเพียงอย่างเดียว จึงอาจต้องเพิ่มให้มีนักจิตวิทยาเฉพาะด้านพฤติกรรมทางเพศ หรือ นักจิตวิทยา ให้คำปรึกษา หรือ นักจิตวิทยาพัฒนาการ เข้ามาร่วมทำงานด้วย เพื่อเป็นการบูรณาการงานรักษาพยาบาลอย่างเป็นองค์รวม  ทั้งนี้ อาจมีการทดลองจัดกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ หรือทดลอง(นำร่อง)จัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อปรับทัศนคติสำหรับผู้เข้ารับการรักษาควบคู่ไปด้วยได้

iii.      สร้างทักษะ ในส่วนนี้ ทางคลินิก มีอาสาสมัคร(เพศหญิง)เข้ามาทำกิจกรรมด้วยซึ่งเป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน กทม. เขตวังทองหลาง ซึ่งจะคอยช่วยทำหน้าที่สอนการสวมถุงยางอนามัยให้กับวัยรุ่นผู้เข้ารับการรักษา แต่ตัวอาสาสมัครเองซึ่งเป็นเพศหญิงจึงยังไม่ได้ทำกิจกรรมกับวัยรุ่นเพศชายนัก (เพราะว่ายังเขินอยู่ แต่ตอนนี้เริ่มลองพูดคุยกับวัยรุ่นชายบ้างแล้ว – ข้อมูลจากการสัมภาษณ์)  และจากการสอบถามพบว่าในบางราย ไม่กล้าปฏิเสธคู่มีเพศสัมพันธ์ของตนเพราะโดนร้องขอมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย จึงปล่อยเลยตามเลยและไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เห็นได้ชัดว่าการสร้างทักษะให้กับวัยรุ่นผู้เข้ารับการรักษา และอาสาสมัครเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง หรือหากในอนาคต ควรพัฒนาให้ผู้เข้ารับการรักษาพัฒนาตนเองจนสามารถเป็นอาสาสมัครมาช่วยให้ความรู้ในคลินิกได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก      

(น้องแป๊ก อาสาสมัครวัยรุ่น มาคอยสอนเพื่อนๆให้มีทักษะในการสวมและใช้ถุงยางอนามัย)

3. ก้าวไปข้างหน้า : ความจำเป็นในการศึกษาบทเรียน เพื่อพัฒนาต่อยอด

          จากที่กล่าวมาทั้งหมด เห็นได้ชัดเจนว่า คลินิกวัยรุ่นบางรัก เป็นคลินิกนำร่อง ที่ควรมีการศึกษาบทเรียนและพัฒนาแนวทางสำหรับการปฏิบัติการอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องของระบบการรักษาพยาบาล การปรับทัศนคติของบุคลากรผู้ทำหน้าที่ให้บริการ การส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลิตเป็นคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ถึงแนวทางการในการทำงานเพื่อส่งเสริมการรักษาพยาบาลสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างเป็นมิตร อย่างเป็นระบบ

          การดำเนินงานนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบของคลินิกวัยรุ่นบางรัก (และที่อื่นๆ) หากได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง จะทำให้สังคมได้พบว่าระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรนั้นสามารถสร้างได้อย่างไรบ้าง ด้วยวิธีใด ซึ่งจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขอย่างมาก ทั้งผู้ให้บริการก็จะได้รู้แนวทางของบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น(ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงยาก) วิธีการและขั้นตอนในการจัดบริการให้แก่เยาวชน การพัฒนาบริการที่เหมาะสมให้แก่เยาวชนในพื้นที่ของตนเอง จึงถือเป็นการนำร่องที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาระบบการให้บริการสถานบริการสุขภาพของภาครัฐ

          อีกทั้งจะเป็นการปรับแนวคิดการให้บริการ ให้เห็นใจและเข้าใจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน อันจะเป็นการปรับสมรรถนะในการสื่อสารอย่างเข้าใจเยาวชน เพื่อให้บริการที่เป็นมิตรกับเยาวชนได้   

          ทั้งนี้ การให้บริการ หรือความพยายามสร้างบริการที่เป็นมิตรทั้งหมดนั้น ควรอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์สถานการณ์และข้อมูลอย่างรอบด้านทั้งระบาดวิทยาพฤติกรรม สถานที่เสี่ยง สำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนในพื้นที่รับผิดชอบ มีการลำดับความสำคัญ เพื่อนำมาประมวลผลและสร้างระบบบริการที่แก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด โดยการมีการกำหนดพันธกิจ การจัดการประสิทธิผล การหนุนเสริมทรัพยากร การจัดทำแผนที่กลยุทธ์ การระดมทรัพยากร และการบูรณาการแผนปฏิบัติการ ให้มีความสอดคล้อง ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ กระบวนการทางนโยบายที่หนุนเสริมให้การดำเนินงานนั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างเต็มที่ ต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อสุขภาพทางเพศที่ดีของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย 

 

ขอบคุณ หัวข้อ ให้้ความรู้ ปรับทัศนคติ และสร้างทักษะ จากหนังสือคู่มือ (การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการป้องกันเอดส์ฯ - ผมจำชื่อจริงๆได้ไม่ถูกต้อง ขออภัยอย่างจริงจังครับ แต่มีเล่มสีแดง กับสีน้ำเงินเข้ม) ของมูลนิธิ สวน   ที่ทำให้ผมเอามาขยายความต่อได้อีกมากโข

ปล. ผมรีบเขียนไปหน่อย หากมีเวลาทบทวนมากขึ้น คงได้แก้ไข และคงบันทึกได้ดีกว่านี้ครับ

ท่านที่อยู่วงการสาธารณสุขท่านใด ที่ได้กรุณาแวะผ่านมา

หากอ่านแล้วท่านเห็นว่าขาดตกบกพร่องประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ

แลขอความกรุณาให้คำแนะนำ หรือชี้แนะเพิ่มเติมด้วย

เจ้ากบน้อยอย่างผมจะได้มองเห็นแสงสว่าง ผมยินดีน้อมรับและขอขอบพระคุณล่วงหน้าเลยก็แล้วกันนะครับ  

หมายเลขบันทึก: 301441เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะคุณตาเหลิม

อิอิ อ้าวยังไวรุ่นอยู่ นึกว่าเป็นคุณตา

คุณตาเหลิม สู้ๆ

  • ผมยังไม่ใช่ตา...ครับ กอ
  • ก็ไปช่วยพี่ๆ(ป้าๆ) ที่คลินิกเค้าทำกิจกรรมแหละ

ขอแสดงความชื่นชม อยากเข้าไปดูงานที่คลินิกบ้าง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการให้บริการค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักนะค่ะ

ตาเหลิมคุณเก่งมาก ขอชื่นชม......เยี่ยม........ขอให้เยาวชนเข้ามาอ่านเยอะๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท