เรื่องเล่าจากชั้นเรียน


การแก้ปัญหาในชั้นเรียน

ประสบการณ์และการแก้ปัญหาในชั้นเรียน

ปัญหา : พฤติกรรมผู้เรียนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาที่เรียนและครูผู้สอน

              กระผมสอนวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งโดยธรรมชาตินักเรียนถือว่าเป็นวิชาที่ยากและรู้สึกไม่ชอบวิชานี้ เมื่อผู้เรียนเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนหรือครูผู้สอนจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรับรู้หรือเรียนรู้  ดังนั้นในฐานะครูผู้สอนเมื่อรู้ว่าผู้เรียนไม่ชอบหรือมีเจตคติไม่ดีต่อวิชาที่เราสอนอยู่ก็ควรวิเคราะห์ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร  อะไรคือสิ่งเร้าที่ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นแล้วพยายามไม่ให้สิ่งเร้าที่ผู้เรียนไม่ชอบนั้นเกิดขึ้น

สภาพปัญหา : ขณะที่ครูผู้สอนทำการสอนอยู่นั้นมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งมักจะเข้าห้องเรียนช้า ทำให้เกิดปัญหาต่างๆในชั้นเรียน เช่น ทำให้เกิดการหยุดการสอนในช่วงหนึ่งเมื่อนักเรียนที่มาสายเกิดเข้าในชั้นเรียนในขณะที่ทุกคนกำลังเรียน และเมื่อเข้าไปนั่งเรียนแล้วก็จะสอบถามเพื่อนที่นั่งใกล้ว่า อาจารย์สอนอะไรบ้างทำให้เกิดการพูดคุยในเวลาเรียน บางครั้งครูผู้สอนต้องเริ่มใหม่ทำให้นักเรียนที่ตั้งใจเรียนอยู่ก่อนเกิดความเบื่อหน่ายทำให้เสียเวลาในการเรียนการสอน  บางครั้งก็นั่งคุยโทรศัพท์  นั่งหลับ ไม่สนใจเรียน  มีพฤติกรรมหนีเรียน  ไม่ทำงานส่งตามที่ได้รับมอบหมาย

                วิธีการแก้ปัญหา: อันดับแรกผู้สอนใช้วิธีการสอบถามปัญหาโดยการสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล   เพื่อหาสาเหตุเพื่อค้นหาข้อมูลส่วนตัว ว่านักเรียนมีความต้องการอะไรและปัญหาการเรียนมีอะไรบ้างซึ่งส่งผลต่อการมีพฤติกรรมการเรียน ผู้สอนจะต้องแสดงออกกับผู้เรียนกลุ่มนี้ในทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมิตรที่ดีต่อศิษย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อครูกับลูกศิษย์ สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ครูจะต้องจำชื่อและเรียกชื่อศิษย์กลุ่มนี้ให้ถูกต้อง เพราะชื่อของใครย่อมเป็นความภาคภูมิใจของผู้นั้น เมื่อรียกจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี เมื่อเดินผ่านหรือเจอเด็กกลุ่มนี้ถึงแม้เขาไม่ทักทายเราก็ต้องเป็นฝ่ายที่ทักทายเขาก่อน  วิธีการที่ใช้คือ เดินเข้าไปใกล้พอสมควร  ยิ้มและมองหน้ากล่าวคำทักทาย ตามด้วยการเรียกชื่อเขา  และถามไถ่หรือสนทนาเพิ่มเติมตามสมควร เมื่อเริ่มกิจกรรมการเรียนก็จะมีการพูดคุยเพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นมิตร  อธิบายเนื้อหาโดยมีการแทรกตัวอย่างที่ใกล้ตัวเพิ่มตัวอย่างหรือเหตุการณ์ที่สนุกสนาน  หรืออาจจะดึงผู้เรียนคนนั้นคนนี้เข้ามาเป็นตัวละคร  เรียกชื่อให้เขาตอบคำถามหรือเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น  หากเขาไม่เข้าใจหรือตอบคำถามไม่ได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่เป็นการดูถูก  แต่เป็นคำพูดที่เร้าให้ผู้เรียนอยากจะตอบ  ให้การเสริมแรงทันทีเมื่อผู้เรียนสามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้องหรือทำได้ดี  เมื่ออธิบายจบแล้วให้ผู้เรียนลองทำแบบฝึกหัด ครูก็ควรเดินไปดูที่โต๊ะดูแลและให้คำอธิบายเป็นรายบุคคล   ลองทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง  สร้างนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม  เรียนจากง่ายไปยากเพื่อเร้าความสนใจผู้เรียนจากนั้นให้เขาได้สรุปเนื้อหาสาระสำคัญและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  นอกจากนี้เมื่อเขาไม่มาเรียนด้วยเหตุใดก็ตาม  ก็จะคอยถามถึงเพราะการถามถึงบุคคลใดย่อมแสดงว่าเราระลึกถึงและห่วงใยผู้นั้น  ต้องถามเพื่อนร่วมกลุ่มหรือเพื่อนร่วมชั้นว่าผู้นั้นไปไหน  ไม่สบายหรือเปล่า  ครูต้องแสดงให้เห็นว่าตนรักและห่วงใยลูกศิษย์ทุกคนปฏิบัติต่อทุกคนโดยเสมอภาคและเสมอหน้ากัน ถึงแม้ลูกศิษย์ผู้นั้นไม่รู้ไม่เห็น  คนอื่นๆ ที่รับรู้ย่อมเข้าใจว่าครูห่วงใยศิษย์คนนั้น แต่ละคนก็จะคิดต่อไปว่า เมื่อถึงคราวเขาเจ็บป่วยหรือขาดหายไป  ครูก็จะห่วงใยเขาเช่นเดียวกัน 

                จากนั้นนักเรียนกลุ่มนี้ก็มีท่าทางที่รู้สึกดีกับวิชานี้มากขึ้น เช่น เข้าเรียนตรงเวลา  การนั่งหลับและพูดคุยในห้องน้อยลง  ทำงานส่งตามที่ได้รับมอบหมาย  เมื่อเจอครูผู้สอนก็มีการทักทายและพูดคุยด้วย  อาจจะเป็นไปได้ว่า เขารู้สึกว่าครูห่วงใย สนใจเขาและหวังดีต่อเขา  ลูกศิษย์กลุ่มนี้ก็มีความสนใจเรียนและตั้งใจเรียนมากขึ้น  ซึ่งผลจากการกระทำอย่างนี้  การที่เป็นมิตรที่ดีย่อมส่งผลให้เพิ่มเป็นที่รักและศรัทธาต่อครูผู้สอน  นักเรียนก็มีความพร้อมด้านจิตใจในการรับรู้  ครูก็จะสามารถถ่ายทอดเนื้อหาหรือจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย จึงเป็นหน้าที่เราครูผู้สอนที่จะต้องใช้โอกาสนี้ จัดการเรียนการสอนวิชานี้ให้มีความน่าสนใจ  สนุกสนานและเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน  เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อศิษย์ให้โอกาสและรับฟังความคิดเห็นของเขา   คอยแนะนำในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจไม่ทักท้วงกลางคัน ตอบคำถามอย่างสร้างสรรค์   ติดตามดูแลด้วยความหวังดี ถึงแม้เขาจะทำได้ไม่ดีก็ชมในความพยายามและความตั้งใจในการทำงาน  และครูผู้สอนควรกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างไร และการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องสามารถวัดได้ว่าผู้เรียนรู้ในระดับใด ควรให้อะไรเพิ่มเติมแก่ผู้เรียนหรือต่อยอดการเรียนรู้  จากนั้นควรแบ่งเนื้อหาเป็นหน่วยย่อยๆ ให้ผู้เรียนเรียนทีละหน่วย ให้แต่ละหน่วยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน  เริ่มจากเนื้อหาที่ง่ายๆไม่ซ้ำซ้อนไปหาเนื้อหาที่ยากซับซ้อน นำเสนอไปอย่างช้าๆและคอยถามว่าผู้เรียนไม่ทันตรงไหน  อยากจะให้ผู้สอนอธิบายในส่วนใดเพิ่มเติม  นอกจากนี้ครูจะต้องดูความพร้อมของผู้เรียนว่ามีพื้นฐานในการเรียนเนื้อหานี้หรือยัง และควรปูพื้นฐานตรงจุดไหน   เลือกจัดประสบการณ์เนื้อหาการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอน   และควรให้การเสริมแรงเมื่อผู้เรียนทำได้ดีและพอใจในความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนถึงแม้อาจจะเป็นไปได้ช้าก็ควรให้กำลังใจผู้เรียน  หลีกเลี่ยงการคุมชั้นเรียนโดยวิธีการลงโทษ เช่น การกล่าวคำดุด่า พูดจาดูถูกผู้เรียน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนหรือครูผู้สอนและเป็นอุปสรรคต่อการเรียน 

                    เมื่อครูจะเริ่มทำกิจกรรมการเรียนการสอน  ครูควรให้นักเรียนเห็นโครงสร้างรวมของสิ่งที่จะเรียนแล้วค่อยไปเรียนทีละส่วนย่อย ๆ  มีการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจ  เร้าความสนใจหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความเอาใจใส่บทเรียนมากขึ้นและครูควรใช้เสียงดังขึ้นหรือย้ำซ้ำๆ  เมื่อต้องการเน้น ทบทวนเรื่องที่ผู้เรียนรู้มาก่อนแล้วเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจเนื้อหา   ให้ผู้เรียนได้สรุปสาระสำคัญด้วยตนเอง ให้ผู้เรียนฝึกฝนหรือมีกิจกรรมในเรื่องที่สอนนั้นซ้ำๆ เมื่อมีการสอนจบไปครึ่งตอนหรือจบเนื้อหาทีละบท  เน้นการปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน เพื่อฝึกให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ได้แก่ การจัดกิจกรรมตามความสนใจ  การให้เด็กวางแผนการเรียนร่วมกัน การให้เด็กได้ปฏิบัติจริงให้มากที่สุด เพื่อค้นหาคำตอบและลงสรุปความรู้ด้วยตนเอง   เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อพัฒนาเด็กให้เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน  ฝึกให้นักเรียนเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี  

 

                    ครูควรเน้นจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริงของผู้เรียนและสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ใกล้ตัวจนถึงสังคมโลก เช่น สภาพปัญหาในชุมชน การประกอบอาชีพในชุมชน ฯลฯ และประเมินผลตามสภาพจริงโดยเน้นความสำเร็จของผู้เรียน พิจารณาตัวบ่งชี้พฤติกรรม คุณลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ร่องรอยการแสวงหาความรู้ของผู้เรียน ชิ้นงาน องค์ความรู้ที่ผู้เรียนนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ ครูผู้สอนต้องปรับตัวบ่งชี้เหล่านี้ให้สอดคล้องกับแบบประเมินของหลักสูตรด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากขึ้นและเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย    ครูควรมีการแสดงตัวอย่างให้ผู้เรียนเห็นและนำเสนอหลายๆตัวอย่าง  อธิบายเนื้อหาควบคู่กับตัวอย่าง อาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ในการสร้างองค์ความรู้ แนะให้สนใจสิ่งเร้าที่ควรจะใส่ใจหรือเลือกใส่ใจ  ให้การเสริมแรงแก่ผู้เรียนที่สามารถเลียนแบบการกระทำได้อย่างถูกต้อง  ให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้และเป็นตัวอย่างแก่ผู้เรียนคนอื่นๆ  ซึ่งตัวแบบที่มีบทบาทมากที่สุดในห้องเรียนคือครูผู้สอนและเพื่อนๆในชั้นเรียนนั่นเอง

        นอกจากนี้ครูควรจัดกิจกรรมมุ่งเน้นให้เด็กใฝ่รู้  รู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักคิดแยกแยะ เชื่อมโยง เป็นระบบ กล้าแสดงออก ใช้หลักเหตุและผลในการรับฟังความคิดเห็น และประเมินผลร่วมกันเพื่อการพัฒนาและปรับปรุง เคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยจะคอยส่งเสริม จัดสภาพแวดล้อมและอำนวยการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ บนความเชื่อพื้นฐานว่า เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้แสดงความสามารถในทางที่ถูกอีกทั้ง ต้องยอมรับการกระทำนั้น ๆ ยกย่องและให้กำลังใจ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียน ใฝ่รู้ มีนิสัยชอบปฏิบัติและสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีความสุข

นอกจากนี้ควรมีความสามารถในการดำเนินการสอน ดังนี้

        1. มีความสามารถในการปรับบทเรียนให้เข้ากับนักเรียน สามารถปรับปรุงวิธีสอน ตลอดจนเนื้อหาให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล

        2. มีความสามารถเข้าใจนักเรียนตามสภาพเป็นจริงของเขา เพื่อให้การสอน และ การปกครองเป็นไปได้ด้วยดี เด็กแต่ละคนย่อมจะมีปัญหาและพื้นฐานแตกต่างกันไป ถ้าสามารถเข้าใจนักเรียนได้ดี เท่าไรก็ย่อมจะสามารถช่วยเหลือนักเรียนในด้านการเรียนและความประพฤติได้ดีขึ้นเท่านั้น

        3. มีความสามารถในกลวิธีการสอน การสอนจะได้ผลดีเพียงไรนั้นนอกจากความรู้ของครูแล้ว ยังขึ้น อยู่กับวิธี ดำเนินการสอนในชั้นเรียน ซึ่งจะให้ผลเพียงไรย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของครู

        ซึ่งจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้ในสิ่งที่สอน มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอนในรายวิชาและครูผู้สอน สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการจัดการเรียนการสอน

หมายเลขบันทึก: 301461เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท