ตักบาตรเทโว ที่คุ้มวัดศรีสวัสดิ์ ชาวพุทธยังสืบสาน ศรัทธา อย่างแน่นเหนียว


ซึ่งผลจากการเจริญเติบโตของสถาบันการศึกษาทั้งสามแห่งส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนของวิถีครอบครัวและวิถีชุมชนของ ชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ด้วยแน่นอนที่สุด นอกจากจะมีผู้คนที่เข้ามาศึกษาและดำรงอยู่ไม่น้อยกว่า ปีละสองถึงสามหมื่นคนอันส่งผลต่อกระแสการเคลื่อนไหวต่าง ๆ แล้ว ยังส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชนทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่จากผลของการต่อเนื่องของชุมชนจากรุ่นปู่ย่าสู่รุ่นลูกและหลาน อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ครอบครัวสืบสานวิถีชุมชนและวิถีครอบครัวได้มาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนที่ออกไปจากชุมชนศรีสวัสดิ์เพื่อไปประกอบอาชีพในถิ่นอื่น จึงมีไม่มากนัก ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนจนถึงปัจจุบัน งานตักบาตรเทโว จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเข้มแข็งดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

 

 

ตักบาตรเทโว ที่คุ้มวัดศรีสวัสดิ์ ชาวพุทธยังสืบสาน ศรัทธา อย่างแน่นเหนียว

 อิศรา ประชาไท

มูลเหตุ

            ประเพณีตักบาตรคำว่า "เทโว" เป็นคำย่อมาจาก "เทโวโรหณะ" หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานเล่าว่า  

" เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในแคว้นทั่วชมพูทวีป เริ่มตั้งแต่เมืองราชคฤท์, พาราณสี, เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ, พระพุทธบิดา, พระนางมหาปชาบดีโคตมี, พระนางยโสธราพิมพา และราหุลราชกุมาร ตลอดถึงพระประยูรญาติทั้งหลาย ให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของตนแล้ว พระองค์ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายา ซึ่งได้สิ้นพระชนม์หลังจากพระองค์ประสูติได้ 7 วัน ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา ซึ่งมีพระคุณมากมายยิ่งนัก จะหาอะไรเปรียบปานมิได้ ทรงวินิจฉัยโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่ามีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา เป็นการใช้หนี้ค่าน้ำนมให้คู่ควรกันได้ นั่นคือ พระอภิธรรม ฉะนั้นในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นออกพรรษาแล้ววันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธเจ้าจึงเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ มีประชาชนไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น "    นับตั้งแต่นั้นมาจึงมีประเพณีการตักบาตรเทโวสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

                การตักบาตรเทโวนี้ ในประเทศไทย จัดขึ้นตามความเหมาะสมในกรอบของท้องถิ่น และธรรมเนียมปฏิบัติ บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้ง อยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคน ลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์ สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าว อาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่าน คอยตักบาตร อาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวาน ประเพณีการตักบาตรเทโวนี้ เนื่องมาจากการเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุการณ์อะไรปรากฏในตำนาน ก็จะปรารภเหตุนั้นๆ เพื่อบำเพ็ญบุญกุศลเช่นการถวายทาน รักษาศีล เป็นต้น ตักบาตรเทโวจึงเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชน นับแต่นั้นมาซึ่งแสดงให้เห็นความเชื่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและความเข้มแข็งของชุมชนในขณะเดียวกันด้วยเช่นกัน ซึ่งการทำบุญดังกล่าวได้สะท้อนภาพของชุมชนและสังคมในชุมชนว่า มีความเป็นปึกแผ่นมากน้อยเพียงใด อันจะแสดงออกให้เห็นจาก จำนวนผู้คนในชุมชนที่เข้าร่วมงานและ แสดงให้เห็นถึงศรัทธา บารมีของคนในชุมชนที่มีต่อผู้นำ ซึ่งนับวันสังคม ชุมชนในประเทศไทย เริ่มมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนากลายเป็นสังคมทันสมัยมากขึ้น การตักบาตรเทโวจึงเป็นภาพสะท้อนสังคมอีกภาพหนึ่ง ที่สามารถบอกมิติทางสังคมวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

การตั้งบาตรเทโว ทีวัดศรีสวัสดิ์ ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม การสืบทอดยังคงอยู่

        ได้มีโอกาสไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโว ออกพรรษาปีนี้ที่คุ้มวัดศรีสวัสดิ์ บรรยากาศน่าชื่นใจอย่างยิ่ง ที่กล่าวเช่นนี้ก็มีมูลเหตุหลายประการในความชื่นใจดังกล่าว โดยส่วนตัวก็คือ ได้มีโอกาสพามารดาซึ่งปีนี้ชรามากแล้วไปร่วมตักบาตรดังที่ท่านได้ปฏิบัติทุกปี ถือเป็นอานิสงค์ แด่ตนเองและครอบครัว  นอกเหนือจากนั้นก็คือ การได้มองเห็นความงดงามของชาวคุ้มที่ยังศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาดำรงอยู่ในหัวใจของชาวอีสานอย่างต่อเนื่องมิเสื่อมคลาย แม้จะมีอุปสรรคมากมายมากั้นขวางโดยเฉพาะชุมชนในเขตเมือง ดังเช่น ชุมชนศรีสวัสดิ์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ที่มีทั้งมลภาวะ การเปลี่ยนจากชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทเริ่มมีสีสันชุมชนเมืองมากขึ้น ๆ แต่ที่สามารถยังดำรงกิจกรรมการตักบาตรเทโว แบบพื้นบ้านนี้ได้ น่าจะมีหลายสิ่งคอยสนับสนุน ซึ่งน่าจะประกอบด้วย ประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ คือ

ความเก่าแก่ของชุมชนประมาณเกือบ สองชั่วอายุคน

                ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่การสืบต่อวงศ์วานของคนรุ่นปู่รุ่นย่ายังสืบเนื่องต่อรุ่นพ่อรุ่นแม่รุ่นลูกรุ่นหลาน ในชุมชนอย่างต่อเนื่องอยู่มาก แม้กระแสเศรษฐกิจจะนำมาของผู้คนที่เข้ามาอยู่ใหม่ โดยเข้ามาซื้อที่ทางเพื่อทำกิจการร้านค้า หอพัก ร้านอาหาร อย่างมากมาย เพราะทำเลของบ้านโนนศรีสวัสดิ์ ชื่อเดิม อยู่ในทำเลทอง ที่มีสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขนาบทั้งด้านบนคือหนทางสู่เมืองอันได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งแต่เดิมคือ วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม และปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม การถือกำเนิดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ตั้งแต่ พุทธศักราช 2512 และปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ เมื่อ ปี 2517 และปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อ ปีพุทธศักราช 2538  แต่เหนือจากนั้นทางด้านล่างของคุ้มบ้านโนนศรีสวัสดิ์ บริเวณโคกอีด่อย ก็กลายเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งถือว่า บ้านโนนศรีสวัสดิ์น่าจะเกิดหมู่บ้าน จากการย้ายมาอยู่ตามที่นาและเกิดชุมชนการศึกษาที่เรียกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามนั่นเอง  ซึ่งสถาบันแห่งนี้ถือกำเนิดมาอย่างยาวนานคู่บ้านคู่เมืองมหาสารคาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 ในตอนนั้นเรียกว่า โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมขั้นต่ำ พอมาถึงปี พ.ศ.2498 ได้เปลี่ยนสถานะเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมหาสารคามและปรับเปลี่ยนสถานะเป็นวิทยาลัยครูมหาสารคามเมื่อปีพ.ศ.2505 และในปีพ.ศ. 2535 วิทยาลัยครูแห่งทุกร่วมทั้งมหาสารคามก็ได้รับพระราชทานนามว่า " สถาบันราชภัฏ จนกระทั้งปี 2547 ก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็น  มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม จนถึงปัจจุบัน นอกจากจะมีมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามอยู่ในตอนล่างหรือตอนท้ายหมู่บ้านแล้ว ในปีพ.ศ.2515 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคาม และเป็นสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยความเก่าแก่และความหลากหลายของการเป็นหมู่บ้านที่ติดกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษามาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เกิดพัฒนาการของหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง มีผู้คนแปลกหน้าเข้าออกปฏิสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาจากหมู่บ้านกสิกรรมเป็นหมู่บ้านกึ่งชนบทกึ่งเมืองและจะกลายเป็นเมืองในอนาคต เพราะสิ่งที่บ่งบอกก็คือ การพัฒนาด้านอาชีพของผู้คนดั้งเดิมจาก เกษตรกรรม เป็น พานิชยกรรม การเป็นเจ้าของหอพัก การเป็นเจ้าของร้านขายของชำ การเป็นเจ้าของร้านขายอาหาร การเป็นมนุษย์เงินเดือนของรัฐ และห้างร้าน บริษัทในเมือง เป็นต้น นอกจากนั้น การเข้ามาทำธุรกิจของคนภายนอกในหมู่บ้าน สามารถปรับเปลี่ยนบ้านเรือนในถนนหลักประจำหมู่บ้านสามสี่สายเป็นร้านขายอาหาร ร้านขายของชำ หอพัก แมนชั่น โรงแรม ร้านหนังสือ ร้านเกมและอินเตอร์เน็ท  ร้านขายเสื้อผ้า ร้านอาหาร ตลอดจนร้านเนื้อย่างเกาหลี ผับ ร้านนม เป็นต้น พร้อมกันนั้นร้านสะดวกซื้อของกลุ่มทุนใหญ่ก็เข้ามาครบวงจร ตั้งแต่ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งมีถึงสองแห่ง ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซีพี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย  ผู้คนดั้งเดิมถอยหลังบ้านเรือนเข้าไปอยู่ในซอยและถนนเครือข่าย ส่วนถนนสายหลักกลายเป็นของผู้คนที่มาใหม่ การปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มีในระยะไม่ถึง 15 ปี ตามกระแสของการพัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของมหาวิทยาลัยทั้งสามแห่ง ส่งผลให้หมู่บ้านเดิมแยกเป็นถึงสี่ส่วน คือ ชุมชนศรีสวัสดิ์ 1 คือบริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ที่ตั้งเดิม ชุมชนศรีสวัสดิ์ 2 บริเวณตั้งแต่โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาเรื่อยมาจนถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ชุมชนศรีสวัสดิ์ 3 คือบริเวณที่นาเก่าข้ามคลองสมถวิลไปถนนศรีสวัสดิ์รัตนโกสินทร์เพื่อออกไปแก่งเลิงจาน และชุมชนตักสิลา คือบริเวณหลังสถาบันราชภัฎมหาสารคามต่อกับสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคามีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

                ซึ่งผลจากการเจริญเติบโตของสถาบันการศึกษาทั้งสามแห่งส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนของวิถีครอบครัวและวิถีชุมชนของ ชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ด้วยแน่นอนที่สุด นอกจากจะมีผู้คนที่เข้ามาศึกษาและดำรงอยู่ไม่น้อยกว่า ปีละสองถึงสามหมื่นคนอันส่งผลต่อกระแสการเคลื่อนไหวต่าง ๆ แล้ว ยังส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชนทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่จากผลของการต่อเนื่องของชุมชนจากรุ่นปู่ย่าสู่รุ่นลูกและหลาน อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ครอบครัวสืบสานวิถีชุมชนและวิถีครอบครัวได้มาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนที่ออกไปจากชุมชนศรีสวัสดิ์เพื่อไปประกอบอาชีพในถิ่นอื่น จึงมีไม่มากนัก ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนจนถึงปัจจุบัน งานตักบาตรเทโว จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเข้มแข็งดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

วัดคือศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านอย่างแท้จริง

            เจ้าอาวาสวัดศรีสวัสดิ์องค์ปัจจุบัน นามว่า พระศรีปริยัติโสภิต เจ้าคณะอำเภอเมือง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส รูปที่ 11 ถือเป็นพระสงฆ์ที่ชาวคุ้มศรีสวัสดิ์และประชาชน คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ทั้งสามสถาบันให้ความเคารพศรัทธาอย่างยิ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญของชาวมหาสารคามในปัจจุบัน เป็นพระนักพัฒนาที่ทุ่มเทกำลังใจกำลังกายและกำลังทรัพย์เพื่อเผยแพร่พระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในท้องถิ่นแห่งนี้ คุณูปการที่สำคัญก็คือ ทำให้วัดเป็นวัดอย่างแท้จริง เป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี มีจะเป็นอุโบสถ กุฏิ หอระฆัง ฯลฯ ทุกอย่างมีครบหมด ภายในวัดยังประกอบไปด้วย ที่ตั้งศูนย์ประสานงานโครงการต่างๆ ของชุมชน มากมาย อาทิเช่น สาธารณสุขมูลฐาน ที่ทำการชุมชน ศูนย์บริการผู้สูงอายุเป็นต้น ปัจจุบันวัดได้รับการคัดเลือกให้เป็น"ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา" จึงมีสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคราชการ ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมอบรมศีลธรรม ปฏิบัติต่อเนื่องกันตลอดปี จากมูลเหตุนี้เอง เมื่อพระสงฆ์เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ชาวบ้าน ให้ชุมชน โครงสร้างของชุมชนแม้จะเปลี่ยนไป แต่วัดยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนเช่นเดิม การปรึกษาหารือ การทำกิจกรรมต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นที่วัด และวัดจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์และการดำเนินภารกิจทำให้ ชุมชนไม่ล้มและสืบต่อกันเรื่อยมา เพราะพระสงฆ์เป็นที่พึ่งและเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาชุมชนทั้งในด้านจิตใจและด้านกายภาพ จึงนับว่าชุมชนศรีสวัสดิ์ โชคดีอย่างยิ่งที่ได้  พระศรีปริยัติโสภิต มาเป็นผู้นำ พัฒนาจิตใจของผู้คนในชุมชนจนก่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้น การตักบาตรเทโวออกพรรษาในปีนี้จึงมีประชาชนมากมายมาร่วมกิจกรรมกับวัดจนแน่นขนัด ได้เห็นความศรัทธาของประชาชนในชุมชนที่มีต่อพระสงฆ์ ต่อพระพุทธศาสนา ได้เห็นครอบครัวดั้งเดิมหลากหลายครอบครัวยังจูงลูกจูงหลานเข้าร่วมงานกันอย่างต่อเนื่อง นั้นแสดงให้เห็นว่า ความเข้มแข็งพัฒนาการชุมชนแม้จะไปในทิศทางใด ประชาชนท้องถิ่นยังคงสืบต่อกิจกรรมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันและคงอยู่อีกนานเท่านาน

 
อ้างอิง

www.thaigoodview.com/library/.../5-5/.../takbarttavo.html

th.wikipedia.org/wiki/ตักบาตรเทโว

หมายเลขบันทึก: 303448เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2009 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

น่าชื่นใจที่มีผู้นำสงฆ์ช่วยพัฒนาชุมชนชาวบ้านให้ดำรงความเป็นชุมชนไว้ได้

แต่ชาวบ้านก็ถอยร่อยออกไปนอกพื้นที่ห่างชุมชนเช่นกัน

ดีที่อาจารย์ยังได้ช่วยสืบสานเรื่องราวของเก่าในชุมชนเอาไว้

คนมาใหม่มักมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำอย่างไรเราจะให้ผู้มาใหม่มองเห็นวิถีเก่าของชาวบ้านและอยู่ด้วยกันอย่างเป็นเพื่อนเป็นมิตรไม่แบ่งแยก ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถ้าจัดการได้รอบด้านทุกคนก็จะได้มีส่วนร่วมแรงร่วมใจกันในการพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อไป

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท