BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เงินเพื่ออะไร ๒


เงินเพื่ออะไร ๒

ในข้อแรก บุคลควรเลี้ยงภาคบังคับ พระพุทธเจ้าได้ตรัสลำดับความสำคัญไว้ดังนี้ คือ ตัวเราเอง แม่ พ่อ ลูก เมีย (ผัว) และ คนใช้ จะเห็นได้เพียงแค่การแสวงหาโภคทรัพย์หรือเงินเพื่อมาเลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับนี้ก็ยากยิ่งแล้ว แต่เรายังมี มิตรสหาย หรือเพื่อน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นข้อต่อมา...

  • อลสสฺส กุโต สิปฺปํ                               อสิปฺปสฺส กุโต ธนํ
  • อธนสฺส กุโต มิตฺตํ                               อมิตฺตสฺส กุโต สุขํ
  • อสุขสฺส กุโต ปุญฺญํ                              อปุญฺญสฺส กุโต วรํ
  • คนเกียจคร้านจักมีความรู้แต่ที่ไหน    คนไม่มีความรู้จักมีทรัพย์แต่ที่ไหน
  • คนไม่มีทรัพย์จักมีมิตรแต่ที่ไหน     คนไม่มีมิตรจักมีความสุขแต่ที่ไหน
  • คนไม่มีความสุขจักมีบุญแต่ที่ไหน คนไม่มีบุญจักประเสริฐแต่ที่ไหน   

 

ตามบาลีภาษิตนี้ จะเห็นได้ว่ามิตรสหายหรือเพื่อน จะทำให้เรามีความสุขได้ และการคบมิตรนั้น บางครั้งก็จำเป็นต้องมีโภคทรัพย์หรือเงิน และถ้าไม่มีเงินหรืออื่นๆ โดยประการทั้งปวงแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะมีใครนิยมชมชอบหรือคบหาสมาคมด้วย นี้คือโลกแห่งชีวิตจริง ดังเช่นคำกลอนแบบไทยๆ ว่า

  • เมื่อมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง             เมื่อมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา
  • เมื่อไม่มีหมดมิตรมุ่งมองมา                  เมื่อมอดม้วยแม้นหมูหมาไม่มามอง        

 

ดังนั้น มิตรสหาย หรือเพื่อน พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็น ผู้ที่ควรเลี้ยง ในข้อที่สอง เหตุที่แยกออกมาจากข้อแรก ผู้เขียนคิดว่าเพื่อนนั้น มิใช่ภาคบังคับ แต่เป็นภาคสมัครใจ และจัดเป็นคนนอกบ้าน นั่นคือ เราไม่มีหน้าที่โดยตรงต้องเลี้ยงดูเพื่อนตลอดไป

เมื่อมาพิจารณาเพื่อนกับคนใช้หรือลูกน้อง จะเห็นได้ว่าอยู่ต่างข้อกัน และพระพุทธเจ้าตรัสให้คนใช้หรือลูกน้องสำคัญกว่าเพื่อน ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนยังเป็นภาคสมัครใจ มิใช่ภาคบังคับเหมือนแม่ พ่อ ลูก เมีย (ผัว) และคนใช้ ซึ่งเป็นคนภายในครอบครัว ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นคนมากน้ำใจ ชอบเลี้ยงเพื่อน ช่วยเหลือเพื่อน จนบางครั้งสิ่งที่ทำไปเพื่อเพื่อนเป็นสาเหตุให้ตนเองและครอบครัวเดือดร้อน แต่ตรงกันข้าม กลับไม่ค่อยใส่ใจหรือรับผิดชอบครอบครัวหรือคนของตนเอง ถือว่าเขาผู้นั้นประพฤติผิดหลักการจัดลำดับความสำคัญตามนัยนี้

ใช้ป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นจาก ไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เป็นต้น นี้คือประโยชน์ของเงินหรือโภคทรัพย์ข้อที่สาม ซึ่งข้อนี้มีคำว่า เป็นต้น เพิ่มเติมไว้ นั่นก็คือ เงินใช้ป้องกันอันตรายต่างๆ ได้ ดังที่ใครบางคนบอกว่า เงินใช้แก้ปัญหาได้ดีที่สุด แม้จะแก้ไม่ได้ทุกอย่างก็ตาม เราลองมาพิจารณาตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงระบุไว้

ตัวอย่างของอันตรายจากไฟก็เช่นไฟไหม้ ส่วนอันตรายจากน้ำก็เช่นน้ำท่วม คราวใดก็ตามถ้าเกิดไฟไหม้หรือน้ำท่วม คนที่มีเงินก็อาจแก้ปัญหาได้ไม่ยากนัก หรือแม้ไฟยังไม่ไหม้หรือน้ำยังไม่ท่วม แต่คนที่มีเงินมากก็อาจหาวิธีป้องกันได้ง่ายและรัดกุมยิ่งกว่าผู้ที่มีเงินน้อย ดังนั้น โภคทรัพย์หรือเงินจึงใช้ป้องกันอันตรายจากไฟและน้ำได้...

อันตรายจากพระราชา ข้อความนี้ ต้องจินตนาการย้อนไปถึงยุคสมัยโน้น พระราชาก็คือเจ้าเหนือชีวิต ผู้ปกครอง ซึ่งมิใช่ว่าจะเป็นคนดีประกอบด้วยคุณธรรมและมีเหตุผลทุกคนหรือตลอดเวลา ดังเช่นนิทานธรรมบทเรื่องหนึ่งเล่าว่า พระราชามีพระประสงค์จะพิสูจน์ว่าผัวเมียคู่หนึ่งเป็นคนมีโภคทรัพย์จริงหรือไม่ตามคำบอกเล่า จึงรับสั่งให้มีการจัดงานรื่นเริงขึ้นทุกหลังคาเรือน มิฉะนั้นจะถูกลงอาญา... นี้คือตัวอย่างแห่งความเดือดร้อนหรืออันตรายที่จะบังเกิดขึ้นได้จากพระราชาตามตำนาน

เมื่อพิจารณาสังคมปัจจุบัน คำว่าพระราชาตามตำนานก็คือผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น กำนัน นายอำเภอ ตำรวจ ตลอดเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป ซึ่งก็เป็นไปตามทำนองเดียวกัน บางคนก็อาจไม่ประกอบด้วยคุณธรรม เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจ ก็อาจกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย เบียดเบียน หรือขูดรีดเอากับเราได้ตามแต่กรณีนั้นๆ... ทำนองนี้อาจสงเคราะห์เข้าในคำว่าอันตรายจากพระราชาในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเงินหรือโภคทรัพย์ก็อาจช่วยป้องกันและปัดเป่าอันตรายที่บังเกิดจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมหล่านี้ได้

 

อันตรายจากโจร ประเด็นนี้ชัดเจน เงินอาจช่วยป้องกันอันตรายจากโจรได้ ตั้งแต่ใช้เงินซื้อกุญแจ สร้างกำแพงและประตูสถานที่อาศัยให้มั่นคง ติดตั้งเครื่องกันขโมย จัดหาอาวุธไว้ประจำตัว ตลอดใช้เงินไถ่ถอนสิ่งที่ถูกลักขโมย หรือรักษาชีวิตเอาไว้ได้เมื่อให้เงินและทรัพย์สินแก่โจรไป เป็นต้น

ส่วนในกรณีว่ามีเงินและทรัพย์สินจำนวนมากจนเป็นสาเหตุให้โจรทำอันตรายนั้น แตกต่างไปจากประเด็นนี้ จะไม่อ้างถึง

 

ประเด็นสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงอ้างมาเป็นตัวอย่างคือ ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ก็คือลูกๆ หลานๆ บางคนที่ทำตัวเหลวไหล เช่นบางคนติดยาเสพติดก็อาจมาขู่บังคับญาติผู้ใหญ่เพื่อจะนำเงินไปซื้อยา หรือบางคนประพฤติตัวเยี่ยงโจรชักชวนเพื่อนโจรด้วยกันมาลักขโมยของภายในบ้าน ถ้ามีเงินก็พออาจให้พวกเขาไปเพื่อป้องกันชีวิตตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยได้    

 นัยตรงข้าม ลูกๆ หลานๆ บางคนอาจทำตัวเหลวไหล เช่นไปขโมยสิ่งของผู้อื่น หรือไปเที่ยวทำร้ายร่างกายก่อการทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ต้องใช้เงินเพื่อช่วยเหลือปัดเป่าลูกหลานให้พ้นภัย และรักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลไว้... แม้นัยนี้ก็สงเคราะห์เข้าในข้อว่าใช้โภคทรัพย์เพื่อป้องกันอันตรายจากทายาทผู้ไม่เป็นที่รักได้เช่นเดียวกัน

ในการดำเนินชีวิตนั้น สิ่งที่จัดว่าอันตรายมีมากมาย ซึ่งโภคทรัพย์หรือเงินอาจช่วยป้องกันได้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เพราะสังเกตได้ง่าย แต่อันตรายทั้งหลายบรรดามี มิใช่ว่ามีตลอดเวลา มิใช่ว่าเกิดขึ้นทุกอย่าง ดังนั้น จึงจัดความสำคัญเป็นลำดับที่สาม

คำสำคัญ (Tags): #เงินเพื่ออะไร
หมายเลขบันทึก: 304711เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท