BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เงินเพื่ออะไร (จบ)


เงินเพื่ออะไร (จบ)

เพราะเงินหรือโภคทรัพย์นั้นแสวงหามาได้ก็ด้วยความลำบาก และบางคนก็ได้มาโดยไม่ชอบธรรม นั่นคือประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม หรือผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม ข้อนี้จัดว่าเป็นการกระทำที่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่จัดว่าดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้ว

อีกอย่างหนึ่ง แม้เงินหรือโภคทรัพย์ที่ได้มาแล้วนั้น จะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม แต่ก็ได้ใช้จ่ายอย่างไม่ชอบธรรม คือใช้จ่ายผิดลำดับความสำคัญตามนัยที่ได้แสดงมาแล้วทั้งหมด เช่น ให้ความสำคัญของคนนอกบ้านมากกว่าคนในบ้าน คือให้ความสำคัญแก่เพื่อนฝูงมากกว่าพ่อแม่หรือลูกเมีย ดังนี้จัดว่าเป็นการทำตนให้เดือดร้อน ไม่จัดว่าดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้ว

หรือให้ความสำคัญแก่การทำบุญกับพระภิกษุสามเณรที่เป็นอลัชชีไม่มีความละอาย ชอบทำบุญกับคนทุศีลประเภทนี้เพื่อเอาหน้าเอาตา แต่ไม่เคยนำพาช่วยเหลือญาติพี่น้องหรือมิตรสหายผู้เป็นที่รัก หลีกเลี่ยงหรือโกงภาษีของรัฐ เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวในเรื่องอื่นๆ เป็นต้น ครั้นเมื่อประสบความเดือดร้อนในภายหลัง หลายๆ คนต่างก็พากันหมางเมิน ไม่มีใครยอมช่วยเหลือ บางคนเที่ยวบ่นเพ้อว่า ทำบุญไม่ได้บุญ เหตุที่เป็นดังนี้เพราะว่าบุญทานที่ทำไปแต่ก่อนนั้นผิดลำดับในการจัดความสำคัญการจ่ายเงิน ไม่ดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้วเช่นเดียวกัน

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสคาถาสุดท้ายไว้ในอาทิยสูตรว่า

  • โส เม อตฺโถ อนุปฺปตฺโต                  กตํ อนนุตาปิยํ
  • เอตํ อนุสฺสรํ มจฺโจ                          อริยธมฺเม ฐิโต นโร
  • อิเธว นํ ปสํสนฺติ                              เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ
  • นระผู้จะต้องตาย เมื่อระลึกข้อนี้ได้ว่า ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้วตามลำดับ
  • การกระทำที่ไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง เราก็ได้กระทำแล้ว
  • ดำรงอยู่ในอริยธรรม (คือธรรมของผู้เจริญแล้ว)
  • มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้
  • เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

ในการดำเนินชีวิตจริง มีความหลากหลาย ซับซ้อน ไม่นิ่ง คือเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา การบริหารโภคทรัพย์หรือการใช้จ่ายเงินก็เช่นเดียวกัน ยากยิ่งนักที่จะนำเอาอรรถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงให้ครบถ้วนและครอบคลุมทุกประการได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าประโยชน์ของการใช้เงิน การจัดลำดับการใช้เงิน และการใช้จ่ายเงินมิให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลัง จักบังเกิดผลแน่นอน ถ้าใครก็ตามใช้แนวทางตามอาทิยสูตร ซึ่งผู้เขียนได้ขยายความมาพอให้เห็นเป็นแนวทางโดยประการฉะนี้

คำสำคัญ (Tags): #เงินเพื่ออะไร
หมายเลขบันทึก: 304718เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการพระอาจารย์ครับ

เงินเป็นเครื่องมือให้มนุษย์โลกย์ ใช้แลกเปลี่ยนความอยาก(กิเลส)...เงินกลายเป็นกิเลสใหญ่(ที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน)เสียเอง...โลกจึงปั่นป่วนไปด้วยเงิน เป็นธรรมดา...

 

กราบ 3 หน

  • สาธุ ๆๆ ค่ะ
  • ตามคนพิโลกเข้ามาค่ะ อิอิ

ผมเห็นด้วยกับพระคุณเจ้า จนไม่มีคำแสดงความคิดเห็นใดๆอีก ผมอ่านทุกตอนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท